World

NIHON STORIES: วิถีนักรบสู่ฮาราคีรีของ MISHIMA YUKIO ชายผู้เรียกตัวเองว่าซามูไรคนสุดท้าย

By: TOIISAN November 24, 2018

ถ้าพูดถึงซามูไร และฮาราคีรี หลายคนคงรู้ความหมายอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงชื่อของ มิชิมะ ยูกิโอะ อาจจะยังไม่รู้ว่าเค้าคือใคร UNLOCKMEN จะพาไปทำความรู้จักกับวิถีนักรบญี่ปุ่น และลูกผู้ชายที่เรียกตัวเองว่า The Last Samurai ได้เต็มปาก

magnifisonz

แรกเริ่มเดิมทีซามูไรเป็นเพียงกลุ่มนักรบรับจ้างแก่จักรพรรดิและชนชั้นสูง แต่ต่อมาเหล่าซามูไรเกิดความคิดอยากรวมบรรดานักรบบ้าระห่ำให้อยู่เป็นกลุ่มก้อนเพื่อความเป็นปึกแผ่น จึงเกิดการจัดการกลุ่มนักสู้ที่เป็นระบบมากขึ้น ด้วยความเก่งกาจเรื่องการต่อสู้ที่ไม่กลัวตาย กฎระเบียบที่เคร่งครัด และความใจถึงพึ่งได้ ซามูไรจึงขึ้นมาเป็นกลุ่มชนชั้นที่มีบทบาททางการเมืองในฐานะนักรบชั้นนำที่ใครเห็นเป็นต้องก้มหน้า เด็กร้องไห้เดินเจอยังต้องหยุดร้อง

lawyers Guns & Money

ซามูไรมีบทบาทในสังคมญี่ปุ่นยาวนานกว่าร้อยปี ก่อนจะสิ้นสุดลงในยุคเมจิช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จากการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย สร้างรูปแบบกองทัพตามแบบประเทศตะวันตก ลดอำนาจของระบบศักดินารวมถึงเลิกสถานะซามูไร ยกเลิกสิทธิในการพกดาบ Katana ในที่สาธารณะ และสิทธิในการฆ่าใครก็ได้ที่ไม่ให้ความเคารพต่อซามูไร ด้วยเหตุผลต่าง ๆ จึงทำให้ซามูไรส่วนมากหันไปเป็นนักเขียนและทำงานในรัฐบาลแทน

สิ่งที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงซามูไรคือ บูชิโด และ ฮาราคีรี ซึ่งฮาราคีรีนั้นมีความหมายเดียวกับเซ็มปุกุ เป็นการสำเร็จโทษด้วยเกียรติของเหล่าลูกผู้ชายซามูไร อาทิ การไม่สามารถรักษาชีวิตของผู้เป็นนายได้ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนฐานอำนาจ ซามูไรที่จงรักภักดีไม่ยอมสวามิภักดิ์กับกลุ่มอำนาจใหม่ก็จะทำการคว้านท้องตัวเอง ซึ่งฮาราคีรีไม่ใช่แค่ความกล้าในการคว้านท้องปลิดชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่มันคือสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ที่แน่วแน่ จึงทำให้ฮาราคีรีเป็นสิ่งที่มีค่าน่านับถือในสังคมญี่ปุ่นสมัยโบราณ แม้จะหมดสิ้นยุคสมัยซามูไรไปแล้ว ก็ยังมีชายญี่ปุ่นรักชาติเลือดซามูไรที่ยึดถือเกียรติยศนี้อยู่ นั่นคือชายที่มีชื่อว่า Mishima Yukio (มิชิมะ ยูกิโอะ)

ซามูไรจะพกดาบประจำตัวอย่างดาบคาตะนะไปไหนมาไหนด้วยเสมอ รวมถึงดาบสั้นที่มีชื่อว่าชินโตไว้สำหรับเพื่อทำฮาราคีรีโดยเฉพาะ

 

 

จากเนิร์ดขี้โรคสู่ชายชาตรีที่เก่งกาจเรื่องเคนโด้และคาราเต้

magical afternoon

ชายผู้เรียกตัวเองว่าซามูไรคนสุดท้ายมีชื่อว่า มิชิมะ ยูกิโอะ เขาถือเป็นนักเขียนมีชื่อแห่งยุคคนหนึ่ง งานเขียนจำนวนกว่าสองร้อยเรื่องของเขามักสะท้อนมุมมองและจิตสำนึกอันสับสนของชาวญี่ปุ่น บ้างก็เป็นแนวอีโรติกรักร่วมเพศ เขามีงานเขียนเป็นที่รู้จักในวงกว้างหลายเรื่อง เช่น Patriotism รวมถึงนิยายชุดอย่าง The Sea of Fertility Tetralogy ที่ในภาคสามได้ใช้กรุงเทพฯ (ที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันในชื่อบางกอก) เป็นฉากหลังของเรื่อง

ในวัยเด็กเขาเป็นคนรูปร่างผอมกะหร่อง ขี้โรค บ้าอ่านหนังสือ จึงทำให้เขาไม่สามารถเข้ากับเพื่อน ๆ วัยเดียวกันได้มากนัก จากคำบอกเล่าของคนรู้จักกล่าวว่ามิชิมะมักถูกรังแกจากเด็กตัวโตกว่าแต่ไม่น่าเชื่อมากว่าพอเขาเติบโตขึ้น เด็กขี้โรคที่บ้าอ่านหนังสือจะกลายเป็นนักเขียนฝีมือดีที่มีร่างกายกำยำสมชายชาตรี แถมยังร่ำเรียนศาสตร์การป้องกันตัวอย่างคาราเต้และเคนโด้จนเก่งกาจ

bbc

มิชิมะเป็นชายที่ชื่นชมวิถีซามูไรเป็นอย่างเปิดเผยและมีแนวคิดชาตินิยมแบบสุดโต่ง เขาชื่ออย่างสุดหัวใจว่าตัวเองเป็นผู้สืบทอดจากตระกูลซามูไรชั้นสูง หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มิชิมะพยายามฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ของญี่ปุ่นให้กลับมาเหมือนช่วงก่อนสงครามอีกครั้งผ่านงานเขียนและการปลุกระดม

เหตุการณ์บ้าระห่ำที่สร้างชื่อให้กับมิชิมะ ยูกิโอะ เกิดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 เขานำกลุ่มพรรคพวกขวาจัดคลั่งชาติอีก 4 คน บุกยึดกองกำลังป้องกันตัวเองได้สำเร็จ ซึ่งกองกำลังแห่งนี้คือหน่วยงานที่ตั้งขึ้นแทนกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ถูกยุบไปหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2

มิชิมะปรากฏตัวตรงระเบียงห้องของผู้บัญชาการท่ามกลางเหล่ากองกำลังที่เฝ้าดูว่าเขาต้องการอะไร

มิชิมะสามารถบุกเข้าไปถึงห้องของผู้บัญชาการได้แม้จะมีจำนวนเพียงแค่ 5 คน จึงทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าทหารที่อยู่ในกองกำลังป้องกันตัวเองในเวลานั้นยอมให้พวกเขาทั้ง 5 เข้าไปได้เองมากกว่าใช้คำว่า ‘บุกยึด’ และเมื่อเข้าถึงห้องผู้บัญชาการได้แล้วจึงตั้งเครื่องกีดขวางไว้หน้าห้อง และจับนายใหญ่มัดติดกับเก้าอี้

หลังจากคนภายนอกเฝ้ารอดูว่ากลุ่มคนพวกนี้ต้องการอะไรจากกองกำลังป้องกันตัวเอง ในที่สุดมิชิมะปรากฎตัวที่ระเบียงห้องด้วยชุดเครื่องแบบทหาร (ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นทหาร) พร้อมกับเอ่ยคำปราศรัยถึงอุดมการณ์อันหนักแน่นของตัวเองว่า เขาต้องเรียกร้องให้กองกำลังป้องกันตัวเองและประชาชนร่วมใจกันฟื้นฟูกองทัพญี่ปุ่นขึ้นอีกครั้ง เพื่อชำระล้างความอับอายจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม เขาต้องการให้เกิดรัฐประหารในประเทศ และเอ่ยถึงความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูวัฒนธรรมแบบซามูไรให้กลับมาสู่สังคมญี่ปุ่นอีกครั้ง

imdb

หลายคนกล่าวว่า มิชิมะ ยูกิโอะอาจเป็นนักเขียนที่เก่งกาจ แต่เรื่องของการพูดปราศรัยหรือกล่าวสุนทรพจน์ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เขาไม่สามารถปลุกเร้าอารมณ์ของผู้ฟังให้คล้อยตามได้มากนัก เจ้าหน้าที่ที่ยืนฟังอยู่ไม่ได้มองว่าสิ่งที่มิชิมะพูดน่าฟังหรือต้องทำตาม อาจจะเป็นเพราะชาวญี่ปุ่นทุกคนยังเจ็บช้ำกับความพ่ายแพ้และสูญเสียหลายสิ่งไปจากการต่อสู้

การที่อยู่ ๆ ขึ้นมาพูดจาปลุกใจให้คนญี่ปุ่นจับอาวุธต่อสู้กับชาติตะวันตกอีกครั้งทั้งที่ประเทศเคยโดนระเบิดนิวเคลียร์ถล่มใส่เป็นสิ่งที่แค่คำพูดเฉย ๆ ไม่น่าจะเพียงพอ ชาวญี่ปุ่นในเวลานั้นบอบช้ำ ต้องการหันหลังให้กับความล้มเหลวสู่การเริ่มต้นใหม่ เมื่อมิชิมะปราศรัยจบและเห็นท่าทีที่ไม่คล้ายตามของพี่น้องชาวญี่ปุ่น เขารู้สึกหมดหวัง พาลคิดว่าจิตวิญญาณนักสู้ได้หายไปจากเกาะญี่ปุ่นจนหมดแล้ว ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเดินกลับเข้าห้องไปเพื่อทำสิ่งยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้าย

ec-dejavu

มิชิมะตั้งใจกระทำบางอย่างเพื่อยืนยันให้ผู้คนเห็นถึงอุดมการณ์ซามูไรที่เขายึดเหนี่ยว ให้ทุกคนเห็นว่าซามูไรจะไม่หายไปจากญี่ปุ่น และต้องการให้ผู้คนเริ่มตื่นตัวกับสิ่งที่เขาต้องพยายามจะบอก ดังนั้นการทำ ‘ฮาราคีรี’ ตามแบบวิถีซามูไรจึงเป็นความตั้งใจสุดท้ายที่น่าจะตอบโจทย์ มิชิมะหยิบมีดสั้นที่เตรียมมาไว้แล้วให้สมาชิกที่บุกเข้ามาด้วยคนหนึ่งถือดาบคาตานะไว้สำหรับตัดศีรษะของเขาเมื่อถึงเวลาที่สมควร หลังจากนั้นเขาจึงคว้านท้องตัวเองและโดนตัดศีรษะจากคนที่ไว้ใจตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม

การการทำอัตวิบากกรรมของมิชิมะ ยูกิโอะ ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในสังคมญี่ปุ่น ข่าวแทบทุกสำนัก หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างเอ่ยถึงการเสียชีวิตของเขา บางคนมองว่าการกระทำของเขาใจเร็วเกินไป ไม่มีใครสามารถทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้จากการพูดเพียงแค่ครั้งเดียว บ้างก็มองว่าเขาเป็นผู้ชายเพี้ยนที่ไม่ยอมหมุนตามโลก แต่ไม่ว่าใครจะมองเขาว่าอย่างไร แต่มิชิมะ ยูกิโอะก็จากไปพร้อมกับอุดมการณ์อันแน่วแน่ของตัวเอง

The last Samurai

Alfred A. Knopf บรรณาธิการของมิชิมะ ได้กล่าวถึงเขาว่า “เท้าข้างหนึ่งของเขาอยู่ในอดีต และเท้าอีกข้างอยู่ในอนาคต มิชิมะเป็นชายผู้ปรับความเปลี่ยนแปลงให้ลงตัวอย่างที่ไม่มีนักเขียนญี่ปุ่นคนไหนทำได้” ซึ่งบทสัมภาษณ์นี้ได้ถูกเผยแพร่ในชื่อ Mishima: A Man Torn Between Two Worlds เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 1970 วันรุ่งขึ้นหลังจากที่เขาได้กระทำการฮาราคีรีต่อหน้าสาธารณชน

มิชิมะ ยูกิโอะ เรียกตัวเองว่าเป็นซามูไรคนสุดท้ายอยู่บ่อยครั้ง แต่นักชาการชาวญี่ปุ่นหลายคนไม่ได้มองว่าเขาเป็นซามูไรคนสุดท้าย เพราะซามูไรคนสุดท้ายตัวจริงที่ใคร ๆ ต่างยอมรับคือ Saigo Takamori (ไซโก ทากาโมริ) ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai (2003) ที่เราเคยเขียนถึงเขาไปแล้วใน (NIHON STORIES: จากผู้ปราบกบฏสู่กบฏ “ไซโง ทากาโมริ” ชายที่โลกขนานนามว่าซามูไรคนสุดท้าย) แต่ก็มีคนบางกลุ่มยอมรับว่ามิชิมะ ยูกิโอะ คือซามูไรคนสุดท้ายเช่นกัน

manwithoutqualities

จากอุดมการณ์ชัดเจน ท่ามกลางสังคมญี่ปุ่นที่คนส่วนใหญ่เข็ดขยาดจากสงคราม ผู้คนหันหลังให้กับอดีตที่ขมขื่น กลายเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไหลไปตามกระแสทุนนิยม แต่มิชิมะก็ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเขาตามแบบวิถีซามูไรแล้ว แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในวันของเค้า แต่อย่างน้อยโลกก็ไม่ลืมเรื่องราวของเค้าจนกระทั่งวันนี้

 

เรื่องราวของยอดนักรบซามูไรคนอื่น ๆ ที่ UNLOCKMEN เคยเอ่ยถึงไปแล้ว:

NIHON STORIES: จากผู้ปราบกบฎสู่กับกบฎ “ไซโง ทากาโมริ” ชายที่โลกขนานนามว่าซามูไรคนสุดท้าย

NIHON STORIES: YASUKE ซามูไรผิวสีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์กำลังจะมีหนังเป็นของตัวเอง

NIHON STORIES: DATE MASAMUNE เจ้าของฉายา “มังกรตาเดียว” ผู้เป็นตำนานเล่าขานของชาวญี่ปุ่น

NIHON STORIES: TOMOE GOZEN ซามูไรหญิงคนแรกและกลุ่มนักรบที่หลบมุมในหน้าประวัติศาสตร์

NIHON STORIES: KUROSAWA AKIRA ผู้กำกับหนังซามูไรที่กลายเป็นตำนานจำไม่ลืมของวงการหนัง

 

 

SOURCE1 / 2  / 3 / 4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line