Girls

NO BRA: เสื้อในของเธอ แต่หนักหัวของใคร “คุณคิดอย่างไรถ้าผู้หญิงไม่ใส่ยกทรง?”

By: PSYCAT August 22, 2019

ในวันธรรมดาสามัญวันหนึ่ง เราอาจเดินสวนกับมนุษย์ผู้หญิงสิบคน ร้อยคน พันคน หรือหลายพันคน บางวันเรากลับบ้านไปเพื่อระลึกว่าจำใครไม่ได้สักคน บางวันอาจมีสักคนที่โดดเด่นออกมาด้วยเสื้อผ้า ด้วยทรงผม ด้วยบุคลิกจนเราต้องเหลียวหลังมองและจดจำเธอไว้

แต่หากมีผู้หญิงสักคน สักคนที่ “NO BRA” เดินสวนเราไป โดยอัตโนมัติ โดยสัญชาตญาณ เราจะประหลาดใจ เราจะฉงนฉงาย เราจะเกิดคำถามมากมายในหัว หรือถึงขั้นจ้องมองอย่างไม่เจตนา (หรือเจตนา) เราจะจำเธอไว้ ในฐานะความแปลกปลอม ความไม่คุ้นเคย ความไม่เข้าพวก หรือถึงขั้นมองว่าเธอละเมิดกฎเกณฑ์อันดีงามของสังคม

ทำไม?

ทำไมเราถึงตื่นตระหนกกับการที่ผู้หญิง No Bra ไม่สวมยกทรง ไม่ใส่เสื้อในได้ถึงขนาดนั้น? เราอาจไม่เคยถามคำถามนี้กับตัวเอง เพราะเราดันเกิดมาในยุคที่ผู้หญิงใส่เสื้อชั้นในเป็นเรื่องปกติ และผู้หญิงต้องเขินอาย ถ้าไม่ใส่มัน แต่ในวันที่โลกหมุนไป หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงเริ่มกลับมาไม่ใส่เสื้อในอีกครั้ง UNLOCKMEN ชวนตั้งคำถามและสำรวจความเห็นไปพร้อม ๆ กันว่า “คุณคิดอย่างไรถ้าผู้หญิงไม่ใส่ยกทรง?”

FREE THE NIPPLE!

แม้ขบวนการสตรีนิยมในหลายประเทศจะพูดถึงสิทธิเสรีภาพเหนือเรือนร่างของผู้หญิงมาโดยตลอด จนถึงขั้นมีแคมเปญ Free the Nipple ที่พยายามบอกว่า “ที่หัวนมของพวกเรามันดูโป๊ ก็เพราะมีคนบอกว่ามันมีความหมายทางเพศไงล่ะ!?” แต่ถ้าพวกเราเปิดเปลือยให้เห็นเป็นปกติ เพื่อบอกทุกคนว่านมเราก็เหมือนนมคุณและมันเป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ

อย่างไรก็ตามแคมเปญ Free the Nipple ไม่ได้ตะโกนกรอกหูสาว ๆ ให้ถอดเสื้อ ถอดผ้า ไม่ใส่เสื้อในเดินโทง ๆ ตลอดเวลา แต่พวกเธอกำลังจะบอกว่าถ้ามีผู้หญิงที่ไม่ต้องการใส่ในเล่นน้ำเหมือนที่ผู้ชายทำ หรือร้อนและอึดอัดเกินกว่าจะใส่เสื้อในไปไหนมาไหน พวกเธอควรมี “สิทธิที่จะเลือก” เหมือนที่เพศอื่น ๆ มีสิทธิเลือก

แต่แคมเปญ Free the Nipple ก็มักถูกมองว่าเป็นขบวนการสตรีนิยมหัวรุนแรง หรือเรียกร้องความสนใจ จนกระทั่งแฮชแท็ก #NoBra กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง เนื่องจาก “ซอลลี” นักแสดงและนักร้องชาวเกาหลีใต้โพสต์ภาพตัวเองไม่สวมใส่ยกทรงลงอินสตราแกรมของเธอที่มีผู้ติดตามราว ๆ 5 ล้านกว่าคน โดยวิธีการของเธอต่างออกไปจากแคมเปญของนักรณรงค์สตรีนิยมตรงที่เธอทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

ใช่ เธอเป็นผู้หญิงที่ในวันธรรมดาบางวันเธอก็ขี้เกียจใส่เสื้อใน บางวันเธอก็ร้อน บางวันเธอก็อึดอัด และเธอโพสต์รูปเพื่อบอกว่าการ No Bra มันก็แค่เรื่องธรรมดา ๆ ของฉันและเรื่องธรรมดา ๆ ของผู้หญิงทุกคนนี่แหละ!

“ซอลลี” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของคน “โนบรา” ที่เกาหลีใต้ และแสดงให้เห็นว่าเรือนร่างของเธอ หน้าอกของเธอ เสื้อในของเธอนั้นเป็น “เสรีภาพส่วนบุคคล”

มีคนจำนวนมากที่พยักหน้าเห็นด้วยกับการแสดงออกครั้งนี้ แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ส่ายหัวไม่เอาเด็ดขาด พร้อมประณามการกระทำของเธอ UNLOCKMEN จึงอยากสำรวจความคิดเห็นของผู้ชายและเพศสภาพอื่น ๆ ที่ไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นผู้หญิงว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้กันแน่?

อริสโตเติลบอกว่านมผู้หญิงบกพร่อง!

เรือนร่างของหญิงสาวเป็นเรื่องลึกลับสำหรับมนุษย์มาโดยตลอด เพราะแนวความคิดเรื่องเรือนร่างของผู้หญิงแบบกรีกและโรมันมองว่าเรือนร่างของผู้ชายเท่านั้นที่สมบูรณ์แบบ ถ้านึกไม่ออก ลองนึกถึงประติมากรรมเทพเจ้าผู้ชายที่เปิดเปลือยเห็นทุกสัดส่วนเพื่อบอกว่า สภาวะอันสมบูรณ์พร้อมของเทพเจ้าที่เป็นผู้ชายไม่สมควรถูกปกปิดหรือปิดบังด้วยเสื้อผ้า จำเป็นต้องเปลื้องออก

ภาพหรือประติมากรรมที่แสดงให้เห็นเรือนร่างอันเปลือยเปล่าเหล่านี้จะแสดงเฉพาะเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของชายหนุ่มซึ่งมีศัพท์เรียกเฉพาะว่า Kouroi เท่านั้น

ด้านอริสโตเติลซึ่งเป็นนักปราชญ์คนสำคัญยังมองว่าอวัยวะของผู้หญิงในส่วนที่แตกต่างไปจากผู้ชายคือ “อวัยวะเพศ” และ “หน้าอก” ถือว่าเป็นส่วนที่บกพร่องของร่างกายผู้หญิง

ในขณะที่วิธีคิดว่าร่างกายผู้หญิงไม่ปกติ (เมื่อเทียบกับร่างกายอันสมบูรณ์ของผู้ชาย) ยังส่งต่อมายังยุโรป โดยชาวยุโรปในยุคกลางยังเชื่อด้วยว่าหน้าอกคืออวัยวะที่ผู้หญิงใช้ในการดึงดูดผู้ชาย โดยเฉพาะแม่มดที่ใช้หน้าอกเพื่อการล่อลวงผู้ชายให้หลงกล!

จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเราถึงคิดว่าหน้าอกของผู้หญิงต้องปิดไว้ ต้องห้ามเปิดเผย เพราะรากฐานวิธีคิดจากแหล่งความคิดสำคัญของโลกเริ่มต้นมาแบบนี้นี่เอง

NO BRA: บ้างหวง บ้างห่วง บ้างบอกว่าก็โอเคออก

การไม่ใส่เสื้อในเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเลือก และถ้าเธอเลือกแล้วมันเป็นเรื่องของเธอ คนอื่น ๆ อาจมีสิทธิแสดงความคิดเห็น ให้ความหมาย (แต่ไม่มีสิทธิล่วงละเมิดหรือคุกคาม ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจา) เราจึงลองถามผู้มีเพศสภาพเป็นชายว่าเขาคิดอย่างไรถ้าผู้หญิงจะไม่ใส่เสื้อในไปไหนมาไหน เราได้คำตอบหลากหลาย ชายหนุ่มอายุ 28 คนหนึ่งตอบสั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า

“คิดว่าเป็นสิทธิของการเลือกเครื่องแต่งกายของใครของมัน แต่จะดูถึงความเหมาะสมในสถานที่และวาระใส่ไป”

เขายังระบุอีกว่าถ้าแฟนของเขาเลือกไม่ใส่ยกทรง เขาก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติ “หากทำข้อตกลงถึงความเหมาะสมเรื่องสถานที่ที่ต้องไปแล้ว จะไม่รู้สึกอะไร  ยิ่งเป็นสถานที่อย่างทะเล หรือต่างประเทศจะปล่อยให้สวมใส่ได้ตามความต้องการ” แต่ผู้ชายบางคนก็ยอมรับว่าหวง “เอาตรง ๆ ก็หวงนะ ของงี้ แต่ถ้าคนอื่นใส่ ผู้ชายร้อยทั้งร้อยแม่งก็มองว่ะ”

ในขณะที่ผู้ชายวัยราว ๆ  30 อีก 3 คนให้ความเห็นเรื่องการไม่สวมใส่ยกทรงว่า

“มองอีกแง่ จริง ๆ เป็นผู้หญิงที่น่ามองนะ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับกาลเทศะและสถานที่ด้วย”

“เขาคงเป็นผู้หญิงมั่นใจและได้รับวัฒนธรรมตะวันตกมา”

“มองว่าเป็นแค่แฟชั่น บางคนน่าดู บางคนก็ไม่น่าดู”

เมื่อเราลองถามความคิดเห็นของผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นหญิงรักหญิง พวกเธอก็มีความคิดเห็นที่น่าสนใจเช่นกันโดยคนหนึ่งตอบว่า “แรก ๆ ก็รู้สึกแปลก ๆ นิดนึงถ้าเป็นคนไทย เพราะเราหัวโบราณ แต่ตอนนี้เฉย ๆ ” เธอคนนี้ยังระบุด้วยว่าแฟนของเธอก็มักไม่ค่อยสวมใส่ยกทรง “เราชินแล้ว (หัวเราะ) บอกให้ระวังตอนก้มก็พอ”

ส่วนอีกคนมองว่าเป็นสิทธิ แต่เมื่อมองจากสภาพสังคมที่เห็นเรือนร่างผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เธอก็อดเป็นห่วงไม่ได้ “คิดว่าเรื่องของเขา แต่ถามว่าเป็นห่วงไหม ก็ห่วงแหละ ถึงเรายึดมั่นใน Dont Tell Her How To Dress แต่บางคนมันตีความว่าผู้หญิงไปเชื้อเชิญจริง ๆ ตราบใดที่เรายังปลูกฝังเรื่องนี้กันไปไม่ถึงไหน ผู้หญิงก็ต้องหวาดกลัวกันแบบนี้จากรุ่นสู่รุ่น ฉะนั้นการ Educated เรื่องนี้จึงสำคัญ ถ้าคน Woke เรื่องนี้มากกว่านี้มันจะดีมาก ๆ ผู้หญิงทุกคนก็จะได้สบายมากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น”

ในขณะที่คนสุดท้ายให้ความเห็นว่าเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะเลือก ตราบที่ไม่ละเมิดใคร แต่ถ้ามีคนเกิดอารมณ์ทางเพศก็เป็นเรื่องที่คนเกิดอารมณ์ทางเพศต้องจัดการความรู้สึกตัวเอง ไม่ใช่โทษผู้หญิง

“เป็นสิทธิที่สามารถทำได้เพราะไม่ผิดกฎหมาย เราไม่ควรจะไปจำกัดการแต่งตัวของใครหรือไปห้ามให้ใครใส่อะไรที่เขาอยากใส่ ถ้าการแต่งตัวแบบโนบรามันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนก็ปล่อยให้เขาทำไปเถอะ หรือถ้ามีคนเดือดร้อน (เวลาเห็นแล้วน้องชายแข็งตัว) มันก็ไม่ใช่ความผิดของผู้หญิงโนบรา แต่เราคิดว่าคุณต้องจัดการความรู้สึกของตัวเองให้ได้ และไม่ควรโทษว่าเกิดอารมณ์ทางเพศเพราะเห็นนมผู้หญิง”

เพราะนมผู้หญิงอันตราย หรือผู้ชายไม่รู้จักจัดการอารมณ์?

“ชุดชั้นในของผู้หญิงนั้นเป็นได้ทั้งสิ่งยั่วยุทางกามารมณ์ ขณะเดียวกันหากผู้หญิงไม่สวมใส่ชุดชั้นในก็ถูกประณามว่าเป็นการยั่วกามอีกลักษณะหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่กางเกงใน ในรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเพิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 30 ด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยดังนั้นคนรุ่นยายเรามิได้สวมใส่กางเกงในเสียด้วยซ้ำ” นี่คือข้อความที่ยกมาจากหนังสือก็ไพร่นี่คะ ที่แสดงให้เราเห็นว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเพิ่งมาสวมใส่กางเกงในหรือเสื้อในเมื่อไม่นานมานี้

“แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมาว่าผู้หญิงจะใส่หรือไม่ใส่ชุดชั้นใน เพราะเรามักวางผู้หญิงไว้ในฐานะ ‘ตัวอันตราย’ วางไว้ในฐานะของความมักมากในกามโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอ”

สังคมมักกังวลว่าผู้หญิงที่ไม่ใส่เสื้อในแปลว่าอ่อย แปลว่ายั่ว เพราะเรามองว่าผู้หญิง เป็นตัวอันตรายที่ต้องควบคุม หรือคิดว่าผู้หญิงต้องแสดงออกเพื่อดึงดูดทางเพศเท่านั้น ในทางกลับกัน หนังสือชื่อ “ส้นสูง สโนไวท์ ลิปสติก” จึงพยายามโยนคำถามกลับมาที่สังคมว่า ทำไมเราเอาแต่สอนให้ผู้หญิงปิดนั่นปิดนี่ โดยไม่สอนผู้ชายบ้าง?

“ที่รัฐบาลจะพยายามห้ามไม่ให้ผู้หญิงใส่สายเดี่ยวเพราะกลัวว่าผู้หญิงจะถูกฉุดคร่าคุกคาม แต่ไม่ยักไปสอนให้ผู้ชายเข้าใจว่าเขาไม่มีสิทธิ์ไปคุกคามผู้หญิงหน้าไหนทั้งนั้น ไม่ว่าเธอจะใส่เสื้อปิดกระดุมคอทุกเม็ดหรือเปลือยอกเดินอยู่กลางถนนก็ตาม” – คำ ผกา

UNLOCKMEN คงไม่มีคำตอบให้ว่า No Bra ถูกหรือผิด? แต่เราเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะเลือก ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ว่าแต่คุณล่ะ

คิดอย่างไรถ้าผู้หญิงไม่ใส่ยกทรง?

 

คำ ผกา, ก็ไพร่นี่คะ, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อ่าน, 2553), หน้า 1-6.

กุสุมาลย์ ณ กำพู และ คำ ผกา, ส้นสูง สโนไวท์ ลิปสติก, (กรุงเทพมหานคร: ฟรีฟอร์ม, 2552), หน้า 201.

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line