DESIGN

เจาะลึก ‘MASTER CHRONOMETER’ บททดสอบเข้มสำหรับสุดยอดเรือนเวลา อีกขั้นของมาตรฐานที่ OMEGA ภาคภูมิใจ

By: NTman October 30, 2019

หากจะให้พูดถึงความน่าหลงใหลในมนต์เสน่ห์แห่งเรือนเวลา ประเด็นหลัก ๆ ที่บรรดาเซียนนาฬิกาทั้งหลายไม่พลาดที่จะกล่าวถึงคงหนีไม่พ้นชื่อชั้นประวัติศาสตร์แบรนด์ ตลอดจนเรื่องราวของวัสดุชั้นยอด งานดีไซน์ที่งดงาม  และแน่นอนว่าจะขาดไปไม่ได้กับสิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของนาฬิกา นั่นก็คือกลไกเครื่องบอกเวลาสุดซับซ้อน อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ที่คิดค้นสร้างสรรค์จากฝีมือมนุษย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งการบอกเวลาที่แม่นยำในระดับเสี้ยววินาที

Louis Brandt

ซึ่งชื่อของแบรนด์นาฬิกาหรูระดับโลกสัญชาติสวิสอย่าง OMEGA ถือเป็นอีกสัญลักษณ์ของการบอกเวลาอันเที่ยงตรงแม่นยำ ที่เหล่านักสะสมนาฬิกาต่างรู้จักกันดี กับเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ที่สามารถการันตีถึงความใส่ใจในความแม่นยำของกลไกบอกเวลาแบบสุดขั้ว นับย้อนไปในปี ค.ศ.1848  ที่บุรุษนามว่า Louis Brandt (หลุยส์ บลาดต์) ริเริ่มก่อตั้งบริษัทนาฬิกา ด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะประดิษฐ์กลไกบอกเวลาความแม่นยำสูงสุดเท่าที่เคยมีมา 

The original OMEGA calibre, the Company’s namesake

จนกระทั่งในปีค.ศ. 1894 แม้ Louis Brandt จะจากโลกนี้ไป แต่ความอุตสาหะของเขาได้ผลิดอกออกผลในรุ่นลูก ที่ยังคงมุ่งมั่นพัฒนากลไกบอกเวลา จนเกิดเป็นผลงานชิ้นสำคัญ นั่นคือกลไก 19-ligne ‘OMEGA’ calibre (19-ลิญจน์ ‘โอเมก้า’ คาลิเบอร์) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ถูกยกให้เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมนาฬิกาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ และชื่อ ‘OMEGA’ ของกลไกบอกเวลารุ่นตำนานในครั้งนั้น ได้กลายมาเป็นชื่อแบรนด์ที่รู้จักกันไปทั่วโลกจวบจนถึงปัจจุบัน

และต้องบอกว่า OMEGA คือผู้ผลิตนาฬิการายเดียวของโลกที่ตั้งชื่อแบรนด์ตามชื่อกลไกบอกเวลาประสิทธิภาพสูงที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมาด้วยความภาคภูมิใจ เพื่อให้ชื่อนี้เป็นตัวแทนเรื่องราวของเรือนเวลาที่ใส่ใจในกลไกที่เที่ยงตรงแม่นยำจากจุดเริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตลอดเส้นทางที่ผ่านมา OMEGA ได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการคว้ารางวัลจากการทดสอบความแม่นยำมาแล้วนับไม่ถ้วน และหนึ่งในตัวอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ การได้รับความไว้วางใจในฐานะผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่ปีค.ศ. 1932 จนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าสถิติของนักกีฬาที่ดีที่สุดในโลก ล้วนมาจากการบันทึกเวลาที่แม่นยำและเชื่อถือได้ของ OMEGA แทบทั้งสิ้น

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครกำลังคิดว่าที่ผ่านมา OMEGA ได้พิสูจน์ความสามารถด้านการบอกเวลาที่เที่ยงตรงแม่นยำมาอย่างยาวนานจนเป็นที่ประจักษ์ ตอนนี้คงอยู่ในจุดที่เรียกว่าสุดทาง เป็นเสือนอนกินกับชื่อเสียงของกลไกบอกเวลาชั้นยอดไปได้อีกยาว เราบอกได้เลยว่าคิดผิด เพราะการคิดค้นกลไกบอกเวลาที่แม่นยำนั้นได้กลายเป็นภารกิจหลักที่ฝังลึกเข้าเส้น ไหลเวียนอยู่ในเลือดของคน OMEGA อย่างเข้มข้น แม้จะเคยได้รับเสียงชื่นชมว่าโคตรจะแม่นยำแล้วก็ไม่สน ยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อ เพื่อแสวงหาคำตอบของเทคโนโลยีกลไกบอกเวลาที่เที่ยงตรงแม่นยำยิ่งขึ้น มีความเสถียรยิ่งกว่า 

จนในปีค.ศ. 1999 ทาง OMEGA ก็ได้ปฏิวัติวงการนาฬิกาอีกครั้ง กับการเปิดตัวกลไกพร้อมเทคโนโลยี Co-Axial escapement (โค-แอ็กเซียล เอสเคปเม้นต์) ซึ่งช่วยลดการเสียดสีของชิ้นส่วนภายในนาฬิกา ยืดอายุการใช้งานของกลไกให้ยาวนานขึ้น โดยไม่ต้องส่งเข้าศูนย์บริการเพื่อหยอดน้ำมันหล่อลื่นบ่อยครั้ง แถมยังช่วยให้กลไกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเสถียรเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น นับเป็นการพลิกโฉมเอสเคปเม้นต์สำหรับนาฬิกาครั้งแรกในรอบ 250 ปี และถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของความเป็นเลิศด้านวิศกรรมของกลไกนาฬิกาที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

แม้จะดูเหมือนกับว่าทั้งหมดที่กล่าวมานั่นคือจุดสูงสุดของกลไกบอกเวลา แต่ OMEGA ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะในปี 2015 มาตรฐานของกลไกบอกเวลาจาก OMEGA กำลังจะถูกท้าทายอีกครั้ง ด้วยกระบวนการทดสอบสุดโหดที่เรียกว่า Master Chronometer (มาสเตอร์ โครโนมิเตอร์) กับนาฬิกาทุกเรือน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เรือนเวลาจาก OMEGA ที่ส่งมอบลูกค้านั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความแม่นยำและประสิทธิภาพการบอกเวลาอันเป็นเลิศ นับเป็นอีกก้าวย่างสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของกลไก ให้ไปสู่จุดสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

 

MASTER CHRONOMETER CERTIFICATION

หากสงสัยว่า Master Chronometer ยกระดับมาตรฐานของกลไกได้อย่างไร คงต้องขอเล่าย้อนกลับไปว่า โดยปกติกลไกในอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสที่มีความเที่ยงตรงระดับ Chronometer จะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบัน COSC เพื่อรับรองผลการทดสอบความเที่ยงตรงดังกล่าว (ทดสอบการคลาดเคลื่อนของกลไกนาฬิกาต้องไม่เกิน -4 / +6 วินาทีต่อวัน ใช้การทดสอบ 5 ตำแหน่ง)

ซึ่งการทดสอบดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานกระบวนการผลิตของ OMEGA มาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นการทดสอบมาตรฐาน Master Chronometer จึงเปรียบเสมือนการยกระดับมาตรฐานกลไกขึ้นไปอีกขั้น ด้วยกระบวนการทดสอบที่โหดยิ่งกว่า ซึ่งจะมีการรับรองการทดสอบโดยองค์กรอิสระที่เชื่อถือได้อย่าง ‘สถาบันมาตรวิทยาแห่งสมาพันธรัฐสวิส (The Swiss Federal Institute of Metrology)’ หรือที่รู้จักในชื่อ METAS กับการทดสอบอันเข้มข้นภายใต้เงื่อนไข 8 ประการ ในระยะเวลายาวนานกว่า 10 วัน เริ่มตั้งแต่

เรือนเวลาที่ผ่านการทดสอบจะมาพร้อมกับ METAS Certificate Card

  1. ตรวจสอบการทำงานของกลไกในนาฬิกาด้วยการวางไว้ในสองตำแหน่งที่แตกต่างกันและส่งเข้าไปอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็ก 15,000 เกาส์ (สนามแม่เหล็กความเข้มข้นสูงระดับเดียวกับเครื่อง MRI) ในระหว่างนั้นการทำงานของกลไกจะถูกวัดความถี่จากไมโครโฟน
  2. ตรวจสอบการทำงานฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของนาฬิกาที่อยู่ภายใต้สนามแม่เหล็ก 15,000 เกาส์ โดยจะถูกตรวจสอบด้วยความถี่จากไมโครโฟน
  3. ทดสอบความเที่ยงตรงแม่นยำทุกวันหลังจากกลไกสัมผัสสนามแม่เหล็กเข้มข้นระดับ 15,000 เกาส์
  4. ทดสอบค่าเฉลี่ยความเที่ยงตรงแม่นยำทุกวันของนาฬิกา  โดยขั้นตอนนี้จะกินเวลาดำเนินการถึง 4 วัน โดยนาฬิกาจะอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน 6 ตำแหน่งและส่งเข้าไปใน 2 โซนที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน ต่อด้วยการทดสอบภายใต้สนามแม่เหล็ก 15,000 เกาส์ จากนั้นจะมีการบันทึกความแม่นยำของนาฬิกาในแต่ละวัน สุดท้ายข้อมูลทั้งหมดจะถูกใช้ในการคำนวณหาค่าเฉลี่ยรายวันออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้าย
  5. ทดสอบประสิทธิภาพการสำรองพลังงานของกลไกนาฬิกา เพื่อพิสูจน์ว่าการสำรองพลังงานยังคงทำงานตามขีดความสามารถสูงสุดของกลไกอย่างครบถ้วน
  6. ทดสอบค่าคลาดเคลื่อนจากการวางนาฬิกาในลักษณะที่แตกต่างกัน 6 ตำแหน่ง อาทิ หงายด้านหน้าขึ้น คว่ำหน้าลง เม็ดมะยมตั้งขึ้น เป็นต้น ในระหว่างทดสอบจะบันทึกความแม่นยำของแต่ละตำแหน่งอย่างละเอียด จากผลลัพธ์ทั้ง 6 ตำแหน่งจะแสดงค่าคลาดเคลื่อนระหว่างผลลัพธ์ที่มากที่สุด 2 ตำแหน่งหรือที่เรียกว่าเดลต้า เพื่อให้มั่นใจว่า นาฬิกายังแม่นยำไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม
  7. ทดสอบค่าคลาดเคลื่อนระหว่างนาฬิกาที่มีพลังงานครบ 100 เปอร์เซนต์และมีพลังงาน 33 เปอร์เซนต์ โดยนาฬิกาจะถูกวางไว้ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน 6 ตำแหน่งและบันทึกความแม่นยำของของนาฬิกาที่มีพลังงานสำรอง 100 เปอร์เซนต์หรือเต็มลานและพลังงานสำรอง 33 เปอร์เซนต์ ในแต่ละตำแหน่งอย่างละเอียด จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดหาค่าความคลาดเคลื่อนเพื่อให้แน่ใจว่า นาฬิกานั้นเที่ยงตรงจนพลังงานหมดลาน
  8. ทดสอบประสิทธิภาพของระบบการกันน้ำ ด้วยการนำอุปกรณ์หย่อนนาฬิกาลงไปในน้ำ แล้วเพิ่มแรงดันน้ำให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับความต้านทานน้ำตามคุณสมบัติของนาฬิกา ขั้นตอนนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่า นาฬิกาทุกเรือนได้ผ่านการทดสอบด้วยสภาวะใต้น้ำมาแล้วจริง ๆ

 

และภายหลังจากการเปิดตัวมาตรฐานการทดสอบกลไกสุดโหดที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน METAS ไปแล้ว ในปีเดียวกัน ทาง OMEGA ยังภูมิใจเสนอเรือนเวลารุ่นใหม่ ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานกลไกอันแสนเข้มงวดนี้ได้แบบสบาย ๆ ไม่ว่าจะถูกสนามแม่เหล็กความเข้มข้นสูงระดับ 15,000 เกาส์รบกวนในสภาวะไหน ก็ไม่อาจระคายถึงกลไกที่ยังคงบอกเวลาได้อย่างแม่นยำตามมาตรฐานที่กำหนด (การคลาดเคลื่อนของกลไกนาฬิกาต้องไม่เกิน 0 / + 5 วินาทีต่อวัน และทดสอบใน 6 ตำแหน่งขึ้นอยู่กับหมวดหมู่) ดังนั้นสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันที่ต้องพบเจอสนามแม่เหล็กจากเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จึงเรียกได้ว่าหายห่วง (สมาร์ตโฟนปลดปล่อยสนามแม่เหล็กประมาณ 380 เกาส์, แล็ปท็อปปลดปล่อยสนามแม่เหล็กประมาณ 1,200 เกาส์)

Co-Axial escapement Master Chronometer calibre 8901

ซึ่งนาฬิกาเรือนที่ว่านั่นก็คือ OMEGA Globemaster ที่ถือกำเนิดมาพร้อมตำแหน่งนาฬิการุ่นแรกของโลกที่ติดตั้งสุดยอดกลไกมาตรฐาน Master Chronometer ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเครื่อง Co-Axial escapement Master Chronometer calibre 8901 โดดเด่นด้วยตัวเรือนและขอบตัวเรือนทองคำ Sedna™ Gold 18k มีหน้าปัดสีเงินมุกแบบ Pie Pan จัดเต็มด้วยคุณสมบัติสุดคลาสสิกที่ได้รับแรงบันดาลจากนาฬิกา Constellation รุ่นแรกในปีค.ศ. 1952

นอกจากนี้ OMEGA ยังได้ปล่อยสุดยอดเรือนเวลาที่มาพร้อมกลไกชั้นเยี่ยม ที่ผ่านการทดสอบภายใต้เงื่อนไขอันเข้มข้นเป็นเวลานานกว่า10 วัน ออกมาอีกหลายต่อหลายรุ่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

The Constellation Small Seconds 27 mm – หัวใจสำคัญของนาฬิกาอันเรือนนี้อยู่ที่กลไก OMEGA Co-Axial Master Chronometer Small Seconds calibre 8704 หรูหราด้วยหน้าปัดเปลือกหอยมุก หลักแสดงเวลาประดับเพชร 10 เม็ดและหน้าปัดย่อยแสดงวินาทีประดับเพชรแทนหลักแสดงเวลา 4 ตำแหน่งอย่างสวยงาม ทั้งหมดคือคำตอบแห่งความหรูหราและแม่นยำที่ลงตัวที่สุด

Seamaster Aqua Terra 150M – หน้าปัดสีเงินมาพร้อมลายขวางได้รับแรงบันดาลใจจากดาดฟ้าของเรือสำราญสุดหรู มาพร้อมตัวเรือนทองคำ Sedna™ Gold 18k ตัดกับตัวเรือนสแตนเลสสตีลขนาด 41 มม. ขับเคลื่อนด้วยกลไก OMEGA Master Chronometer calibre 8900 สุดแม่นยำ

Seamaster Aqua Terra 150M – สง่างามด้วยตัวเรือนสแตนเลสสตีลตัดกับทองคำ Sedna™ Gold 18k ขนาด 34 มม. ล้อมรอบด้วยเพชรเม็ดงาม ภายในติดตั้งกลไก OMEGA Master Chronometer calibre 8800 ซึ่งทำให้นาฬิกาเรือนนี้ทนสนามแม่เหล็กความเข้มข้นสูงได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Seamaster Planet Ocean 600M – ขนาดตัวเรือน 39.5 มม. กำลังพอดีข้อมือ โดดเด่นด้วยวัสดุสแตนเลสสตีลและทองคำ Sedna™ Gold 18k จับคู่กับสายนาฬิกาหนังสีขาวบริสุทธิ์ เฉกเช่นเดียวกับหน้าปัดและขอบตัวเรือนเซรามิกสีขาวกลมกลืนไปด้วยกัน ส่วนสเกลเวลาบนขอบตัวเรือนสำหรับดำน้ำทำจากทองคำ Seragold™ เอกสิทธิ์ของ OMEGA ฝาหลังผนึกด้วยกระจกคริสตัลแซพไฟร์เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็นการทำงานของกลไก OMEGA Master Chronometer calibre 8800

Speedmaster Racing  – ขับเคลื่อนการแสดงเวลาอย่างแม่นยำด้วยกลไก OMEGA Master Chronometer calibre 9900 ตัวเรือนสแตนเลสสตีลขนาด 44.25 มม. จับคู่มากับขอบตัวเรือนเซรามิกสีดำขลับสง่างาม พร้อมมาตรวัดความเร็วทาคีมิเตอร์และรายละเอียดแห่งความเร็วสมกับชื่อรุ่น

ด้วยเทคโลยีการพัฒนากลไกที่ล้ำหน้า ภายใต้การทดสอบสุดรัดกุมที่ช่วยยกระดับมาตรฐานความแม่นยำของกลไกไปอีกขั้น ประกอบรวมเข้ากับการสร้างสรรค์เรือนเวลาที่มาพร้อมกลไกมาตรฐาน Master Chronometer  ออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ OMEGA จะยืนหยัดอยู่บนทำเนียบของเรือนเวลา ที่ผู้หลงใหลในเสน่ห์อันสวยงามและซับซ้อนของกลไกบอกเวลาต่างก็ถวิลหาการได้นาฬิกา OMEGA ที่สลักตรา Master Chronometer มาไว้ในครอบครองโดยไม่มีทีท่าว่าจะเสื่อมความนิยมลงง่าย ๆ

ส่วนใครที่กำลังสนใจอยากเก็บเรือนเวลา OMEGA เอาไว้เป็นหนึ่งในคอลเลคชัน เราขอเชิญไปสัมผัสนวัตกรรมกลไกบอกเวลาชั้นเลิศ และประสบการณ์เหนือระดับไปกับ OMEGA ได้ที่บูติคสาขาเซ็นทรัล เอ็มบาสซี โทร. 02-160-5959, สาขาสยามพารากอน โทร.02-129- 4878 และ สาขาดิ เอ็มโพเรียม โทร.02-664-9550

หรือดูรายละเอียดการทดสอบ Master Chronometer เพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2Vo2HO3

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line