World

Peter-Cat Jazz Bar โต๊ะทำงานตัวแรกของฮารูกิ มูราคามิ และความหลังถึงเพลงแจ๊ซ

By: GEESUCH July 13, 2022

3 สิ่งที่นึกถึง เมื่อคุยกับเพื่อนเรื่องนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ Haruki Murakami ก็คือ (1) บุหรี่ (2) แมว และ (3) เพลงแจ๊ซ โดยอย่างหลังน่าจะเป็นภาพจำที่ฝังอยู่ในหัวของใครหลาย ๆ คนมากที่สุด ทุกครั้งที่อ่านงานของเขา เราจะต้องได้ยินเสียงของเพลงแจ๊ซลอดออกมาจากตัวอักษรเสมอ

และแน่นอนว่า ความสามารถในการเขียนพรรณาถึงความสุนทรีย์ในเพลงแจ๊ซของมูราคามิเกิดจากประสบการณ์ตรง ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเปิดบาร์แจ๊ซจริง ๆ มาก่อน และนั่นคือ 4 ปีก่อนหน้าช่วงเวลาของการเริ่มเขียนนิยายเล่มแรก เราจะลงเข็มไวนิลชีวิต ย้อนกลับไปที่ร่องแรกของมูราคามิกัน


จุดเริ่มต้นของบาร์แมว

ฮารูกิ มูราคามิ เป็นคนที่เกลียดการทำงานเป็นพนักงานบริษัทมาก ซึ่งความคิดนี้เป็นชนวนเล็ก ๆ อันนำไปสู่ไอเดียของการอยากมีร้านที่ผู้คนสามารถมาชิล กิน ดื่ม และแน่นอนฟังเพลงแจ๊ซกัน โดยที่ไม่ได้เป็นผลดีต่อลูกค้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ร้านจะเป็นผลดีต่อตัวเขาเอง ที่จะได้ทำงานพร้อมซึ่งสามารถฟังเพลงแจ๊ซ ที่เขาตกหลุมรักตั้งแต่อายุ 15 ได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน

ปี 1974 หลังจากทำงานอย่างหนักหน่วงตลอด 3 ปีเพื่อสร้างร้านแห่งความฝัน เขากับภรรยา (ที่พบและแต่งงานกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย) ก็นำเงินเก็บทั้งหมดที่มีเปิดร้านเล็ก ๆ ที่เป็นคาเฟ่ในช่วงเช้า และเป็นบาร์ในตอนกลางคืนชื่อ Peter-Cat ชื่อซึ่งมาจากแมวที่เลี้ยง ในย่าน Kokubunji ซึ่งเป็นย่านสังสรรค์ของเหล่านักเรียนวัยรุ่น ณ โตเกียวตอนนั้นได้สำเร็จ

ที่ตั้งแรกของ Peter-Cat ใน Kokubunji (1974 – 1977)

เมื่อเป็นคนฟังเพลงแจ๊ซจริงจังที่เปิดบาร์แจ๊ซแล้ว ก็ต้องทำให้ถูกต้อง และมูราคามิในตอนนั้นก็แทบจะถอดแบบตัวละคร ‘ฮาจิเมะ’ ในนิยาย South of the Border, West of the Sun ของตัวเองยังไงอย่างงั้นเลย (หมายถึงในแง่ของการทำงานนะ) มูราคามิเอาเปียโนตัวเก่า (upright piano) จากที่บ้านของของพ่อ-แม่มาลงที่ร้าน และเปิดโชว์ดนตรีสดทุกสุดสัปดาห์ ซึ่งนักดนตรีที่มูราคามิจ้างก็เป็นเหล่าวัยรุ่นมากความสามารถจากย่าน Kokubunji นี่ล่ะ หลังจากเลิกจากร้านของเขาไปแล้ว หลาย ๆ คนก็ได้ดีกลายเป็นนักดนตรีที่เล่นในคลับแจ๊ซทั่วโตเกียวก็มี

ถึงรายรับของ Peter-Cat จะมีช่วงที่ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายที่ต้องชำระอยู่บ้าง แต่การได้ทำสิ่งที่รัก และได้เจอกับผู้คนที่น่าสนใจทุกวัน ก็ทำให้มูราคามิในช่วงวัยอายุ 20 ยังคงสนุกและลุยต่ออย่างไม่มีเหนื่อย


แมวย้ายถิ่น

Peter-Cat ที่ Sendagaya (1977 – 1981)

ปี 1977 หลังจากการเปิดร้านได้สามปี ก็ถึงเวลาที่แมว Peter-Cat ต้องย้ายถิ่นฐานออกจาก Kokubunji เสียแล้ว เมื่อเจ้าของตึกที่เช่าอยู่ต้องการปรับสภาพอาคารใหม่ มูราคามิและภรรยาจึงย้ายร้านไปตั้งอยู่ที่ย่าน Sendagaya ซึ่งคราวนี้อยู่ใจกลางโตเกียวกันไปเลย และร้านเองก็ใหญ่ขึ้นมากด้วย ดังนั้นเจ้าของบาร์แจ๊ซคนนี้จึงเปลี่ยนเปียโนใหม่เป็นระดับแกรนด์ (Grand Piano) พร้อมปรับให้วงแจ๊ซที่มาเล่นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเพื่ออรรถรสของคนฟังอีกด้วย

และแล้วชีวิตของมูราคามิก็ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนที่ภายหลังทั่วโลกรู้จักกันดี แต่ตอนนั้นเขายังไม่รู้ตัว มันคือฤดูร้อนเดือนเมษายน ที่สนามเบสบอลในปี 1978 แรงบันดาลใจบางอย่างจากการแข่งขันนั้น ทำให้เขาเริ่มเขียนหนังสือบนโต๊ะครัวทุกคืนหลังจากปิดร้านในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนรุ่งสาง โดยมีเจ้าแมว Peter คอยป่วนทุกครั้งที่ปั่นต้นฉบับ

6 เดือนหลังจากที่เริ่มเขียน หนังสือเล่มแรกของเขา Hear the Wind Sing ก็ปิดต้นฉบับเรียบร้อย ซึ่งในปีถัดมา 1979 หนังสือเล่มนี้ชนะรางวัลนักเขียนหน้าใหม่ครั้งที่ 22 ของนิตยสาร Gunzo ส่งให้มูราคามิกลายเป็นนักเขียนที่ต้องจับตามองของวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น


บ๊ายบาย Peter-Cat

ปี 1980 มูราคามิเริ่มเขียนนิยายอีกครั้ง เป็นภาคต่อจากเล่มแรกในชื่อ Pinball, 1973 บนโต๊ะครัวของบาร์ตัวเดิม และช่วงเวลาก่อนรุ่งสางเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความมุ่งมั่นที่มากกว่าเดิม มากเสียจนเส้นทางชีวิตของเขากำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง

ช่วงเวลาไม่นานหลังจากเขียน Pinball, 1973 จบ มูราคามิตัดสินใจเป็นนักเขียนเต็มตัว และต้องโบกมือลาบาร์แมว Peter-Cat อันเป็นจุดเริ่มต้นของตัวเองกับภรรยา พร้อมขายกิจการให้คนอื่นไปในปี 1981 ทิ้งความทรงจำที่ดีให้ผู้คนที่อยู่ทันช่วงเวลานั้น และแฟนนิยายของเขาคิดถึง

ถ้าจะบอกว่านิยายของมูราคามิเป็นบันทึกความทรงจำที่อุทิศให้กับความหลังอันสวยงาม ที่เขามีต่อบาร์ Peter-Cat ก็คงจะไม่ผิดนัก การใส่เพลงหรือบรรยากาศของบาร์แจ๊ซเข้าไปในหนังสือมาโดยตลอด ก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่เขาอุ้มแมวตัวนี้ แล้วเกาคางเบา ๆ ให้มันส่งเสียงเพิร์ลเสียงใส่ พร้อมกับกล่าวขอบคุณสำหรับการเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความหมายสำหรับเขาเสมอมา : )

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line