Entertainment

SERIES GUIDE : ‘Burn The House Down’ ซีรีส์คดีซ่อนเงื่อนกลิ่นอายเคโงะจาง ๆ ที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลยจนงง

By: GEESUCH July 31, 2023

** คิดว่าน่าจะสปอยล์ยับ ๆ ไปเลยนะ แต่เอาจริงส่วนตัวคิดว่าไปอ่านสปอยล์หนัง 100% แบบ 2 นาทีจบเลยก็ไม่พลาดอะไรหรอก ** 

ไม่ได้ตั้งใจจะรีวิวเกรี้ยวกราดเอายอดอ่านอะไรแบบนั้น แต่ถ้าทุกคนจะเอาเวลาเกือบ 8 ชั่วโมง นั่งตั้งใจดูซีรีส์เรื่องนี้อาจจะไม่คุ้มเท่าไหร่ (กันไว้ก่อนเผื่อมีคนดูที่ชอบซีรีส์เข้ามาอ่าน) เว้นแต่ว่าจะอยากเห็นรอยยิ้มโลกสดใสของคุณ Mei Nagano นั่นก็เป็นอีกเรื่องนึงล่ะ

Burn The House Down เป็นซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกันของอาจารย์ Moyashi Fujisawa ที่เขียนตอนปี 2021 ซึ่งเราเชื่อว่าดีกว่าฉบับซีรีส์แน่นอน ดูสิ เพียงแค่ 2 ปีก็ถูกเอามาทำเป็นซีรีส์ออริจินัลของเน็ตฟลิกซ์เลย

เนื้อเรื่องของ Burn The House Down เริ่มต้นขึ้นด้วยเหตุการณ์เลวร้ายของครอบครัว Mitarai ที่บ้านหลังใหญ่ของพวกเขาถูกไฟไหม้จนไม่เหลืออะไร ท่ามกลางกลองเพลิงที่มีชาวบ้านรายล้อมอยู่นั้น Satsuki Mitarai แม่ของลูกสาวสองคนผู้เป็นเจ้าของบ้าน ได้แต่คุกเข่าขอโทษลูก ๆ และสามีตัวเอง เพราะเชื่อว่าเธอเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านถูกไฟไหม้จากการลืมปิดเตาแก๊สตอนทำกับข้าว … 

เหตุการณ์ผ่านไป 13 ปีจากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เปลี่ยนหลายสิ่งอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างแรกคือการที่ Satsuki หย่ากับสามีของตัวเองทันทีที่หลังจากวันที่ไฟไหม้ และเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะช็อกอย่างรุนแรงจนสูญเสียความทรงจำไป จากนั้นสามีก็ไปแต่งงานใหม่กับผู้หญิงชื่อ Makiko ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเธอเอง และเป็นคนที่ Anzu ลูกสาวคนโตของบ้าน เชื่อว่าเป็นต้นเหตุของของการวางเพลิง !

ตลอดระยะเวลา 13 ปี Anzu ได้แต่สงสัยและเตรียมตัวมาตลอดที่จะคืนความยุติธรรมให้กับแม่ของตัวเอง พร้อม ๆ กับหวังว่าความทรงจำจะคืนย้อนมาด้วย และแล้ววันหนึ่ง เธอก็เริ่มแผนการปลอมตัวเป็นแม่บ้านเข้าสู่ตระกูล Mitarai ที่สร้างขึ้นใหม่และไม่มีลูกสาว 2 คนกับภรรยาคนก่อนอยู่แล้ว แต่ถูกควบคุมโดยภรรยาคนใหม่ Makiko สามี และลูกชาย 2 คน เพื่อหาหลักฐานและเปิดโปงให้จงได้

ตาย ๆๆๆ เห็นมั้ยว่าเรื่องย่อของซีรีส์มันน่าดูขนาดไหนเราถึงได้พลาดกดเข้าไปดู ถ้ายังเห็นภาพไม่พอหรือเขียนยาวไปก็กดดูตัวอย่างที่แปะลิงก์ให้ข้างล่างได้เลยนะ   

 

Burn The House Down เป็นซีรีส์ประเภทที่เพื่อนในบริษัทของเราเรียกว่า ‘เอาไว้ดูตอนกินข้าว’ สิ่งที่เศร้าสุด ๆ คือ มันเป็นหนังสืบสวนสอบสวนที่ควรจะมีดีเทลซับซ้อน ผูกเงื่อนแน่น ๆ คลายปมยาก ๆ แต่สำหรับเรื่องนี้กลับไม่มีอะไรแบบนั้นจนสามารถเปิดดูตอนกินข้าวก็ไม่ตกหล่นอะไรไปสักนิด จะบอกว่าเราดูแล้ว 8 ตอนแบบตั้งใจ ๆ เลยเพื่อเอามาเขียนนี่แหละ เพราะอย่างที่มีคนเคยบอกไว้ “หนังหรือซีรีส์ที่ไม่ดีก็มีบทเรียนสำคัญซ่อนอยู่ข้างในบ้างเหมือนกัน” ก็คงจริงแหละมั้งนะ 


ประเด็นจากมังงะมันดีมากแล้ว แต่ซีรีส์ทำออกมาดีไม่พอ

“คนเดียวที่จะเปลี่ยนชีวิตฉันได้ คือตัวฉันเอง”

– Anzu Murata (ลูกสาวคนโตอดีตบ้าน Mitarai)

นี่เป็นไง ขึ้นโควทคม ๆ ช่วยก่อนเลย เพราะจะบอกว่า Burn The House Down หยิบมรดกประเด็นดี ๆ จากฉบับมังงะมาใช้เต็มไปหมด แต่หยิบมาในรูปแบบไม่ได้ลงลึกอะไร ออกไปทางแปะให้พอมี แตะประเด็นนั้น ๆ แค่ผิวเผิน ทั้งประเด็นที่เป็นหัวใจหลักสำคัญอย่าง ‘สถานะทางสังคมที่ถูกสลับขั้วกัน’ ของตระกูล Mitarai เก่ากับใหม่หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ผ่านคำถามสำคัญของตัวละครที่ว่า “อยากรู้จังว่าถ้าเหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น ชีวิตของพวกเราจะดีกว่าที่เป็นอยู่มั้ย ?”

เราชอบมากตรงที่ส่วนนี้เขาวางให้ตัวละครมองว่า ‘ไฟ’ ในครั้งนั้นไม่มีทางรุนแรงเท่ากับไฟที่อยู่ในตัวของเราหรอก คนที่ทำชีวิตตัวเองพังก็มีแต่ตัวเรา และคนที่เปลี่ยนได้ก็คือเราเองด้วยเช่นกัน  

“คนที่ทำชีวิตฉันพังก็คือตัวฉันเอง” 

– Kiichi Mitarai (ลูกชายคนโตปัจจุบันบ้าน Mitarai)

ยังมีประเด็นดี ๆ อย่าง ‘ความสัมพันธ์ของพี่น้อง’ ที่ถูกยกขึ้นมาเล่าในการผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายของตัวละครเสมอ ๆ แต่อีกอันที่น่าสนใจคือ ‘การขโมยตัวตน’ ของตัวละครร้ายของเรื่อง Makiko ที่ฝันที่จะได้ใช้ชีวิตของคนที่เราไม่มีโอกาสฝัน โดยการทำทุกอย่างแม้แต่โขมยก็ยอม แต่สุดท้ายก็ทำให้เห็นว่าการที่เป็นคนอื่นโดยไม่ลืมหูลืมตาว่าเหมาะกับตัวเองมั้ยมันอันตรายกว่าที่คิดเยอะมาก


ทำไมมันถึงละครช่อง 7 ได้ขนาดนั้นนะ

พาร์ทนี้คือสิ่งที่เราเสียดายที่สุดของ Burn The House Down อย่างที่บอกว่ายังไม่เคยอ่านฉบับมังงะนะ แต่เวอร์ชั่นซีรีส์เนี่ย มันมีกลิ่นอายแบบนิยายฆาตกรรมของเคโงะลอยมาเลยเว้ย ทั้งคาแรคเตอร์ของตัวละคร เหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล เซตติ้งของบ้าน อพาร์ทเมนต์เก่า ห้องของเพื่อนสนิท แต่คือพี่เล่นทำออกมาเป็นละครช่อง 7 ได้ยังไง !

เราติดมาก ๆ ที่ตัวละคร Makiko ชอบเล่นหน้าเล่นตาแล้วพูดอยู่คนเดียวตลอดเวลา แล้วความโป๊ะความมีพิรุธชัดมากกก ไม่น่าเชื่อว่าจะปิดความลับร้ายแรงได้ถึงตั้ง 13 ปี ไหนจะตัวละครที่แย่ที่สุดของเรื่องอย่างสามีตระกูล Mitarai อีก เลิกเป็นสามีกับพ่อของใครเถอะนะขอร้อง คือมึงตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ และเปลี่ยนใจตลอดเวลาเลยเว้ย ว้อยยย โมโห !

พูดมาขนาดนี้แล้ว ก็ต้องพูดถึงเรื่องความไม่สมเหตุสมผลของเหตุการณ์และตัวลครด้วยแล้วล่ะ แต่บอกเลยว่าถ้าถอดสมองดูส่วนนี้จะเป็นอะไรที่บันเทิงมาก เพราะมันมีทุกตอน มีตลอดเวลา มีบ่อยด้วย เริ่มต้นที่ความบังเอิญก่อนเลย ขอยกตัวอย่างนะ มันจะมีซีนนึงที่ตัวนางเอกของเรา Anzu ถูกไล่ออกจากงานแม่บ้านที่ปลอมตัวแฝงเข้าไปสืบคดี แล้วอยากทำดีให้ตัวร้าย Makiko จ้างเธอเข้าบ้านอีกครั้ง ชีก็จัดการแฝงตัวเป็นพนักงานล้างจานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับตู้คอนเทนเนอร์เช่าเก็บของที่ตัวร้ายเช่าไว้เก็บขยะเพราะตัวเองขี้เกียจทิ้งขยะให้ตรงวัน (ญี่ปุ่นเคร่งเรื่องแยกขยะมากใครก็รู้) จนวันหนึ่งเกิดเรื่องขยะส่งกลิ่นเหม็นไปตู้อื่นมีคนจะมาเอาเรื่อง คนร้ายซวยทำตัวไม่ถูก นางเอกของเราก็ชะแว๊ปปรากฎตัวมาช่วยอย่างบังเอิญ ซึ่งตัวร้ายของเราก็บังเอิญเชื่ออีกว่าเราสองคนบังเอิญเจอกัน ก็ล้างความผิดครั้งเก่าให้นาวงเอกแล้วก็รับเข้าทำงานอีกครั้งเสียเลย อุตส่าห์ช่วยฉันไว้นี่นะ จบ. 

อีกอันที่เสียดายในการไปไม่ถึงเคโงะ คือพี่เฉลยปมแบบชวานผ่าซากที่สุดที่ผมเคยดูซีรีส์มาเลย มันขึ้นชื่อว่า Mystery & Suspence ใช่มั้ย มันก็ต้องใจเย็น ๆ เนาะ ไม่ใช่แบบจู่ ๆ อยากพูดขึ้นมาว่า “ฉันคือ Mitarai Aunzu และฉันปลอมตัวเป็นแม่บ้านเข้ามาคืนความยุติธรรมให้แม่ค่ะ” มันไม่ได้เลยยย จริง ๆ มีอีกหลายจุดมากแต่เอาอันเดียวพอละ 


Original Soundtrack คือสิ่งที่ดีที่สุดของซีรีส์


สิ่งที่ฮีลลิ่งจิตใจเกือบ 8 ชั่วโมงที่เกือบจะสูญเปล่าของเราได้ดีที่สุด คือเพลงประกอบซีรีส์ชื่อ ‘Carnival’ ซึ่งเขียน ทำดนตรี และร้องโดย
Vaundy ศิลปิน J-Rock เจนใหม่ที่เราเชียร์ที่สุดของตอนนี้ โอ้โห คือตอกย้ำความอัจฉริยะมาก ๆ พี่ทำเพลง Commercial โดยไม่ทิ้งความเป็นตัวเองเลย แล้วมันก็ยกระดับภาพของซีรีส์ให้ดูดีขึ้นด้วย เออหรือจริง ๆ แล้ว Netflix ญี่ปุ่นเขาเอาเงินไปลงกับเพลงประกอบหมดเลยก็ไม่รู้นะ เพราะศิลปินตัวนี้ก็ไฮป์ระดับท็อปจริง ๆ

ไม่รู้จะพูดถึงซีรีส์อะไรอีกแล้ว สำหรับคนที่ไม่คิดมากและมีเวลาก็ขอเชิญชวนครับ ไม่ต้องเชื่อเราทั้งหมดตัดสินด้วยตัวเองดีกว่าว่าถูกใจรึเปล่า เขามีพากย์ไทยให้ดูสบาย ๆ ไม่ต้องมองซับด้วยนะ 

แต่ไหน ๆ ก็พูดถึง Vaundy แล้ว ก็อยากจะอวยยศเพิ่มอีกหน่อย ด้วยการคัด  4 เพลงห้ามพลาด BY UNLOCKMEN เพราะว่าศิลปินหนุ่มที่เริ่มต้นเรียนรู้การทำเพลงด้วยตัวเองคนเดียว ซึมซับเมโลดี้อันสวยงามโดยมีเพลงประกอบอนิเมะทั้งหลายเป็นอาจารย์ กลายเป็นตัวท็อปของวงการ J-Rock สมัยใหม่ตั้งแต่อายุ 20 นิด ๆ นั้นมีบทสัมภาษณ์ฉบับภาษาอังกฤษน้อยมาก เราอาจจะไม่ได้เขียนถึงเขาแบบ full article ก็ขอฝากไว้ตรงนี้เลยละกันนะ

1.Vaundy – Bitter 

ซิงเกิ้ลล่าสุดจากปี 2023 ที่เราเรียกรูปแบบดนตรีว่าเป็น Normal Form สัดส่วนไม่เยอะ ไม่ซับซ้อน แต่โคตรจริงใจ ซึ่งมันก็โชว์เมโลดี้ที่งดงามของ Vuandy แบบสุดพลังกันไปเลย แล้วที่เจ๋งที่สุดคือมันโชว์ vibe ความเป็นวัยรุ่นในเพลงของเขาได้แบบชัดมาก ๆ คือฟังกี่ทีก็ให้อารมณ์ของวัยรุ่นทั้งสุข เศร้า สะใจปนกันอยู่ในนั้นตลอดเวลา และถ้าคุณตามศิลปินคนนี้สักพัก จะพบว่า cast ที่มาเล่นให้เอ็มวีของเขาโปรไฟล์ไม่เคยธรรมดา อย่าง Bitter ก็ได้ Marika Itō จาก it’s a summer film มาเล่นให้

2.Vaundy – 世界の秘密

นี่คือเพลง ‘ช่วยชีวิต’ ของ Vaundy สำหรับเรา คือไม่ว่าจะมีวันที่หม่นหมองแค่ไหน เปิดเพลงนี้ ดูเอ็มวีที่น่ารักมากกกประกอบไปด้วยคือหายเป็นปลิดทิ้งเลย เออเพลนี้มันโชว์ทักษะการอะเรนจ์เขามาก ๆ เหมือนกันนะ เพลงมันดูฟังง่ายใช่มะ แต่มีลูกเล่นแบบรีเวิร์สย้อนกลับ มีไดนามิคที่ทำมาให้วูบวาบ ลงตัวไปหมด

3.Vaundy – 瞳惚れ

ส่วนอันนี้เป็นเพลงเต้นตามฉบับ Vaundy จัดความกีตาร์แบนด์ให้สาวกแบบเต็มเปี่ยม ใส่ความเป็น city pop เรโทรหน่อย ๆ เข้าไปใน vibe ด้วย แล้วท่อนคอรัสคืองดงามมากกก มันทั้งชวนโยก ให้อารมณ์ฟีลกู๊ด ก่อนที่จะปิดแบบเหงา ๆ เหมือนว่าไฟของปาร์ตี้จบลง

4.Vaundy – Tokimeki

Mute เสียงดูยิ้มแสนซนของ Angela Yuen ก็คุ้มพอแล้วชีวิต : )

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line