Life

“ทำงานอยู่บ้านห่างเหินเพื่อนฝูง” มาดูวิธีการรักษา sense of belonging ในวันที่เราเจอหน้ากันน้อยลง

By: unlockmen August 20, 2021

ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม เวลาทำอะไร หรือ ไปเที่ยวที่ไหนก็ทำและไปกันเป็นกลุ่มอยู่เสมอ ทุกคนล้วนอยากมี ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (sense of belonging) ของกลุ่ม ของสังคม หรือ ของสิ่งที่ยิ่งใหญ่บางอย่าง แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าความรู้สึกนั้นจะเริ่มเข้าถึงยากมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโรคระบาดทำให้เราต้องอยู่บ้านกันนานขึ้น ใช้ชีวิตคนเดียวบ่อยขึ้น และสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือ คนรอบตัว น้อยลง ปรากฎการณ์นี้อาจทำให้หลายคนรู้สึกใกล้ชิดหรือเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มเพื่อนน้อยลงตามมาด้วย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อชีวิตเราได้อย่างใหญ่หลวงทีเดียว

ตามทฤษฎีของนักจิตวิทยา อับราฮัม มาสโลว์ มนุษย์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (belongingness) กล่าวคือ ทุกคนต่างมองหาการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนอื่น และอยากให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวคงอยู่ในระยะยาว ถ้าเกิดว่าเราใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว โดยไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับอะไรเลย ผลเสียที่จะเกิดขึ้นนั้นอาจมากกว่าแค่ความรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว

งานวิจัยจาก Harvard study ที่ใช้เวลาในการศึกษานานกว่า 80 ปี พบว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิด (close relationships) เป็นสิ่งสำคัญต่อความสุขของคน และการรักษาความสัมพันธ์ประเภทนี้กับ ครอบครัว เพื่อน หรือ กลุ่มสังคม จะช่วยชะลอการเสื่อมถอยของสุขภาพจิต และร่างกายของเราได้ด้วย สอดคล้องกับ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (2020) ที่พบว่า sense of belonging มีความเกี่ยวข้องกับ ความสุขที่เพิ่มขึ้น และความเป็นอยู่ (well-being) ที่ดีขึ้น และยังบรรเทาปัญหาทางด้านสุขภาพจิตหลายอย่างด้วย เช่น อาการตื่นตระหนก ซึมเศร้า ความสิ้นหวัง ความโดดเดี่ยว รวมถึง ความคิดฆ่าตัวตาย

ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เราเห็นถึงความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือ เพื่อนร่วมงาน เมื่อเรารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม รู้สึกห่างเหินกับคนอื่น หรือ รู้สึกถูกความโดดเดี่ยวครอบงำ ชีวิตเราจะพัง อาจจะอายุสั้นลง และเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น การรักษา sense of belonging จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่การพบหน้าคนอื่นดูจะเป็นเรื่องยากซะเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม การสร้าง sense of belonging ไม่ใช่แค่การสร้างกลุ่มเพื่อนใหม่เพียงอย่างเดี่ยวเท่านั้น แต่มันต้องเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มคน ที่ให้การยอมรับ ให้ความสนใจ และให้การสนับสนุนแก่เรา และคนอื่นในกลุ่มอย่างเสมอภาคด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความทุ่มเทและพลังงานมาก และเพื่อให้มันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น ทางเราเลยอยากมาแนะนำขั้นตอนง่าย ๆ ในการพัฒนา sense of belonging ได้แก่

รักษาความพยายาม – การสร้าง sense of belonging เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามในการทำ เพราะมันอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำสำเร็จภายในครั้งแรก หรือ ครั้งเดียว พอเราเริ่มทำแล้ว เราอาจจะไม่ได้เจอกับกลุ่มที่คลิ๊กกับเราในเวลาอันสั้น และมันอาจต้องใช้ความพยายามในการค้นหา จนกว่าจะเจอกิจกรรมใหม่ หรือ กลุ่มคนหน้าใหม่ที่มีความสนใจเหมือนกับเรา ดังนั้น การรักษาความพยายาม และความสามารถในการลุกทุกครั้งที่ล้ม จึงเป็นสิ่งสำคัญ

รักษาความอดทน – นอกจากความพยายามแล้ว เราควรมีความอดทนด้วย เพราะกว่าเราจะได้รับการยอมรับ ความสนใจ และ การสนับสนุนจากสมาชิกในกลุ่มใหม่ที่เราเข้าร่วม เราต้องใช้เวลายาวนานในการพูดคุย ทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนม และสร้างความเชื่อใจกับคนในกลุ่ม หากเราอดทนจนถึงที่สุดแล้ว รับรองว่าผลที่ออกมาคุ้มค่าแน่นอน

ยอมรับความแตกต่าง – น้อยครั้งมาก ๆที่ เราจะเจอกับคนที่เหมือนกับเราแบบ 100% เรามักเจอกับคนที่คล้ายกับเราเท่านั้น คนเหล่านั้นอาจเห็นด้วยกับเราในบางเรื่อง และคัดค้านเราในบางเรื่องเช่นกัน ถ้าเรายอมรับความต่างนั้นไม่ได้ มันอาจกระตุ้นความบาดหมางได้เหมือนกัน และจะทำให้เราอยู่ในกลุ่มได้อย่างไม่มีความสุข ดังนั้น เราควรโฟกัสไปที่ความคล้ายคลึงมากกว่าความเหมือน และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของคนอื่น เพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข และสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับคนอื่นได้ยาวนาน

องค์กร หรือ ธุรกิจ ก็สามารถใช้หลักของ sense of belonging ในการสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การออกนโยบายให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็น และโชว์ความสามารถในการทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้พนักงานรู้สึกถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเสี่ยงต่อภาวะเบื่องานและ burn out รวมไปถึงการสร้างกลุ่มหรือชมรมที่รวบรวมสมาชิกลูกค้า เพื่อจัดกิจกรรมหรือเป็นช่องทางที่ทำให้ลูกค้าได้คุยกับแบรนด์ได้อย่างใกล้ชิด วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งกับคอมมูนิตี้ของแบรนด์ และจะทำให้แบรนด์รักษาฐานลูกค้าไว้ได้นาน

อย่างไรก็ตาม การสร้างความสัมพันธ์มักมีความซับซ้อนเสมอ เพราะคนแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน เมื่อพวกเขามีเรื่องที่ทำให้เราพอใจ พวกเขาก็ต้องมีเรื่องที่เราไม่พอใจเป็นปกติ ดังนั้น ความสามารถในการระงับอารมณ์ ความสามารถในการรับฟังคนที่มีความเห็นที่แตกต่าง ความสามารถในการใช้เหตุผล และวาทะศิลป์ ล้วนเป็นสกิลที่เราควรฝึกฝนและพัฒนามันอยู่เสมอ เพื่อให้เรารับมือกับความสัมพันธ์ได้อย่างมีความสุข


Appendix: 1 / 2 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line