DESIGN

SHENZHEN DESIGN CITY: เมืองประมงเก่าริมฝั่ง สู่ผู้นำด้านการออกแบบและนวัตกรรมของแดนมังกร

By: unlockmen March 14, 2020

ถ้าพูดถึง ‘เมืองแห่งการออกแบบ’ เชื่อว่านิยามของแต่ละคนคงต่างกันอย่างสิ้นเชิง บางคนนึกถึงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีที่เต็มไปด้วยสถาบันออกแบบชื่อก้องโลก บ้างว่ามอนทรีออลของแคนาดานี่แหละที่เป็นตัวเต็ง เพราะนอกจากจะพัฒนาเมืองด้านการออกแบบอย่างจริงจัง ยังมีผลงานเจ๋ง ๆ ซ่อนอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของเมืองนับไม่ถ้วน

แต่ใครหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ‘เซินเจิ้น’ เมืองชาวประมงเก่าแก่ของประเทศแดนมังกร เปลี่ยนแปลงและพัฒนาข้ามขั้นจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการออกแบบและนวัตกรรมที่ถูกยอมรับในระดับสากลไปเรียบร้อยแล้ว

จากเมืองประมงริมชายฝั่งสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ย้อนไปในอดีตเซินเจิ้นเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเก่าที่อยู่ตรงข้ามกับฮ่องกงเท่านั้น แต่ในช่วงปี 1980 เมืองนี้กลับถูกเลือกให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของประเทศจีน จากนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 หลังจากนั้นเซินเจิ้นก็ถูกพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย และกลายเป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่สำคัญของจีน

นอกจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งแล้ว ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจก็มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเมืองนี้ไม่แพ้กัน เมื่อ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประกาศมอบสถานะพิเศษให้เซินเจิ้นเป็นพื้นที่ทดลองปฏิรูปเศรษฐกิจและการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นับแต่นั้นเซินเจิ้นก็กลายเป็นหนึ่งในเมืองกลุ่ม Greater Bay Area อันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก เช่นเดียวกับ ฮ่องกง, มาเก๊า, กวางโจว, จูไห่ และอีกหลายเมืองสำคัญ

รากฐานความสร้างสรรค์ของเจ้าแห่งการจำลอง

ดูเผิน ๆ แล้วเซินเจิ้นแทบไม่มีรากฐานด้านศิลปะหรือการออกแบบเฉกเช่นปารีส มิลาน หรือฟลอเรนซ์ แต่เราเชื่อว่าเซินเจิ้นเองก็คงมีบางสิ่งเป็นเบ้าหลอมให้มุ่งมั่นพัฒนาเมืองไปในทิศทางการออกแบบอย่างแน่วแน่เช่นนี้

ถ้าเปรียบเทียบเรื่องราวของเซินเจิ้นให้เป็นเรื่องใกล้ตัวยิ่งขึ้น คงคล้ายกับเมืองโบราณในจังหวัดสมุทรปราการของบ้านเรา ที่รวบรวมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของไทยเอาไว้ในรูปแบบการจำลอง

แต่เซินเจิ้นไม่ได้จำลองสถานที่ในประเทศจีน (ที่ว่าใหญ่) เซินเจิ้นจำลองแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งหอไอเฟลของฝรั่งเศส สุสานหินอ่อนทัชมาฮาลในอินเดีย ซิดนีย์โอเปราเฮาส์ที่ออสเตรเลีย หอเอนเมืองปิซาของอิตาลี หรือแม้แต่วัดพระแก้วของไทยก็ตาม

โมเดลเมืองแห่งการออกแบบที่ถูกสร้างจริง

สำหรับเราภาพจำของเซินเจิ้นในอดีตก็ไม่ได้ผิดแปลกไปจากภาพความคิดของใครหลายคน ที่รู้จักเซินเจิ้นในฐานะเมืองแห่งการลอกเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ดังหรือสิ่งปลูกสร้างสำคัญทั่วมุมโลก แต่ในช่วงสิบปีให้หลังภาพลักษณ์เหล่านั้นเลือนรางจนจะหายไปเสียด้วยซ้ำ

นับตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปัจจุบัน พูดได้เต็มปากว่าเซินเจิ้นพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด และความได้เปรียบด้านเศรษฐกิจตลอดจนเทคโนโลยีช่วยขับเคลื่อนเมืองประมงเก่าแห่งนี้ให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

การเดินทางของเซินเจิ้นเริ่มจากแหล่งการค้าการลงทุนที่สำคัญและห้อมล้อมไปด้วยความก้าวหน้าล้ำสมัย ก่อนกลายเป็นเมืองโรงงานรับจ้างผลิตสินค้า และขึ้นแท่นเมืองศูนย์กลางการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ

ด้วยประสบการณ์ด้านสายการผลิตที่สั่งสมมาหลายสิบปี ทำให้เซินเจิ้นเริ่มหันมาพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตให้แน่นขึ้น ส่งเสริมและพลักดันการสร้างแบรนด์ของตัวเอง และเลือกใช้ ‘การออกแบบ’ เป็นตัวชูโรงของเมือง

เซินเจิ้นประกาศตนในฐานะเมืองแห่งการออกแบบและนวัตกรรม ผ่านการจัดงาน Shenzhen’s Design Week จัดเวทีแข่งขัน Shenzhen Global Design Award รวมทั้งกิจกรรม Shenzhen Design Award for Young Talents ที่ได้ UNESCO เป็นผู้สนับสนุน

dezeen.com

งานดีไซน์สร้างสรรค์ในเมืองที่เคยเป็นสวรรค์ของการลอกเลียน

นอกจากจะเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจภายในระยะเวลา 41 ปี การออกแบบที่เซินเจิ้นให้น้ำหนักยังช่วยให้เมืองนี้โดดเด่นด้วยผลงานดีไซน์และนวัตกรรมหลากชิ้น จนในที่สุดเซินเจิ้นได้รับเลือกให้เป็น ‘เมืองแห่งการออกแบบ’ เมืองแรกของจีนที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO Creative Cities Network (UCCN)

ปัจจุบันเซินเจิ้นมีสตูดิโอออกแบบหลายพันแห่งทั่วเมือง มีนักออกแบบมืออาชีพหลายแสนคน ครอบคลุมทั้งการออกแบบกราฟิก อุตสาหกรรม แฟชั่น เครื่องประดับ งานฝีมือ การออกแบบภายใน รวมถึงสถาปัตยกรรม และผลงานดีไซน์เจ๋ง ๆ ก็สอดแทรกอยู่แทบทุกย่านของเมืองนี้

dezeen.com

Voisin Organique Restaurant

นี่เป็นหนึ่งในผลงานการออกแบบของสตูดิโอ Various Associates ในเซินเจิ้น สร้างร้านอาหารจีนในเขตฟูเทียนที่เน้นเสิร์ฟอาหารจีนดั้งเดิมและจีนร่วมสมัยแบบ farm-to-table ตัวร้านได้แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากประสบการณ์หลงทางในหุบเขามืดมิด

เพดานที่ฉาบสลับขึ้นลงตั้งใจเล่นกับความสูงชันและดีไซน์สเปซออกมาให้คล้ายกับช่องว่างระหว่างหุบเขา แต่นอกจากเพดานต่างระดับจะดึงดูดผู้คนให้แหงนมองขึ้นไปด้านบน นักออกแบบยังจัดไฟสปอตไลต์บนเพดานให้สาดแสงยาวลงมา ราวกับแขกในร้านกำลังนั่งรับประทานอาหารจากก้นบึ้งหุบเขา

dezeen.com

Oppo Headquarters

ผลงานสถาปัตยกรรมจาก Zaha Hadid Architects ที่ออกแบบอาคารเพื่อเป็นสำนักงานใหญ่สำหรับ Oppo บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนชั้นนำของจีน แม้จะมีขนาดต่างกัน แต่อาคารทั้งสี่หลังดีไซน์ให้เชื่อมต่อกันที่ล็อบบี้และห้องโถงขนาดใหญ่ในชั้น 20 โดยอาคารหลังที่สูงที่สุดจากอาคารทั้งหมด ครอบคลุม 42 ชั้น และสูงถึง 200 เมตร

พื้นที่ภายในเน้นการออกแบบสไตล์ open plan เพื่อเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกัน แถมกระจกโปร่งใสที่เป็นพื้นผิวของตัวอาคาร ยังเอื้อให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเข้ามาและสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี

dezeen.com

Vanke Design Community

ภูมิสถาปัตยกรรมฝีมือ FCHA ผนวกพื้นที่ทำงานสุดสร้างสรรค์เข้ากับสวนสาธารณะจากโครงสร้างคอนกรีตทรงเรขาคณิตและหลังคาสีเขียวธรรมชาติ ที่ดินทั้งสองแปลงถูกเนรมิตให้เป็นสำนักงาน พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ห้องประชุม ห้องบรรยาย และพื้นที่สำหรับจัดเวิร์กช็อป

จากโจทย์ที่ต้องการสร้างสมดุลระหว่างอาคารและธรรมชาติ ทีมออกแบบจึงจัดสรรพื้นที่ตั้งแต่ระดับพื้นดินไปจนถึงหลังคาที่อยู่บนสุดเพื่อปลูกต้นไม้น้อยใหญ่ พร้อมเว้นระยะห่างระหว่างอาคารให้ผู้คนสัมผัสแสงและลมจากธรรมชาติได้ง่ายขึ้น

dezeen.com

Geijoeng Store

Studio 10 นำวัสดุสะท้อนแสง โปร่งแสง และโปร่งใส มาออกแบบร้านสำหรับ Geijoeng แบรนด์เสื้อผ้าสตรีสายมินิมัลในเมืองเซินเจิ้น ตลอดพื้นที่ 120 ตารางเมตรตกแต่งด้วยผนังอิฐแก้ว พื้นอิฐแก้ว พื้นหินขัดสี รวมทั้งเพดานกระจก ไม่เพียงออกแบบภายในร้านให้เข้ากับแบรนด์มินิมัล หากยังชูความโดดเด่นของเสื้อผ้าแต่ละคอกเลกชันได้ดีทีเดียว

เมื่อก้าวเข้าไปในร้านลูกค้าจะรับรู้ได้ว่า วัสดุที่ใช้ตกแต่งกำลังสื่อสารตอบโต้กันผ่านการสะท้อนและหักเหของแสง นอกจากจะได้เลือกซื้อเสื้อผ้าตัวโปรดแล้ว อาจได้เห็นลำดับชั้นของอวกาศและมิติเชิงพื้นที่ที่ Studio 10 สร้างไว้อีกด้วย

dezeen.com

Neobio Family Park

สตูดิโอสถาปัตยกรรม X + Living สร้างอาณาจักรเล็ก ๆ ด้วยสีพาสเทลและลวดลายที่ศูนย์การค้า Neobio Family Par ในเซินเจิ้น ที่นี่เป็นเหมือนเมืองในฝันที่มอบความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับเด็ก ขณะที่ผู้ปกครองของพวกเขากำลังรับประทานอาหารอยู่ที่โซนข้างกัน

Neobio Family Park อยู่ในห้องโถงขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยเฉดสีสดใส มีลายจุด ลายขวาง และลายตารางผสมปนเปกันอย่างนุ่มนวล ภายในเมืองนี้สร้างร้านพิซซ่า โซนห้องแต่งตัว คลินิกหมอฟัน และโซนเล่นสนุกอื่น ๆ ไว้ให้เด็ก ๆ อีกไฮไลต์ของที่นี่คือรถของเล่น รถเข็น หรือเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดภายในเมืองล้วนดีไซน์ขนาดมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ

แม้หลายคนจะยังมองว่าเซินเจิ้นเป็นเมืองแห่งการเลียนแบบ แต่ต้องยอมรับว่าความสามารถด้านการลอกเลียนในวันนั้นหยั่งรากลึกลงในวัฒนธรรมการผลิตและสร้างสรรค์ เคี่ยวกรำจากการเรียนรู้และนำสิ่งพื้นฐานมาต่อยอด จนกลายเป็น ‘เมืองแห่งการออกแบบ’ ที่สากลยอมรับ

ในวันนี้ที่เซินเจิ้นได้รับสมญานามว่าเป็น ‘บ้านเกิดของงานออกแบบจีนสมัยใหม่’ และกำลังเติบโตในสายออกแบบอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง อาจพิสูจน์ว่าการออกแบบหลากแขนงที่เริ่มจากความความหลงใหล มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม หรือยกระดับคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้นได้โดยที่ใครไม่ทันสังเกต

 

COVER SOURCE , SOURCES: 1234

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line