Survival

ADSPARK: “ซื้อไปทำแมวน้ำอะไร” เช็คลิสต์ 3 ข้อที่ควรคิดก่อนจะซื้อ แคมเปญที่ไม่จบชวนให้คนไปคิดต่อ

By: LIT November 16, 2018

สงครามชอปปิงออนไลน์ 11.11 เพิ่งสงบไปหมาด ๆ แต่เชื่อได้เลยว่าคงจะปะทุขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน เพราะเม็ดเงินจากการชอปปิงออนไลน์พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ของที่ซื้อมาใหม่แรก ๆ ก็รู้สึกตื่นเต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็รู้สึกชินชา จนต้องหาสิ่งใหม่เร้าใจความตื่นเต้นกว่าเดิม สิ่งที่ใหญ่ขึ้นเพิ่มระดับขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายเลี้ยงแมวน้ำไว้เต็มบ้าน ทั้งที่ของเก่าได้ใช้งานบ้างหรือไม่เคยได้ใช้งานอีกเลยก็มี

“ซื้อไปทำแมวน้ำอะไร” อินไซต์จากวงการฟุตบอล เปรียบเปรยการซื้อตัวนักเตะเข้าทีมโดยคิดว่าไม่น่ามีประโยชน์ “แมวน้ำ” จึงกลายเป็นอินไซต์โดน ๆ มาสู่สิ่งของที่มองว่า ”ซื้อมาก็ไม่ได้ใช้งาน” หรือสร้างประโยชน์ให้เจ้าของ

คุณสหรัฐ สวัสดิ์อธิคม Managing Director จาก บริษัท CJ WORX ชี้ว่านี่คือตัวจุดประกายไอเดียของแคมเปญ คิดก่อนควักชะงักก่อนเปย์ ที่ธนาคารกรุงไทย มอบโจทย์ให้ CJ WORX ต่อยอดไอเดีย “จากที่ในเฟสแรกเป็น HI-SA-TI Shop ที่มีสินค้า 6 ชนิดที่มีชื่อเตือนใจคนเวลากำลังจะตัดสินใจซื้อ แต่พอมาเฟส 2 “แมวน้ำ” มุ่งเน้นสำหรับคนที่ซื้อของมาแล้ว แต่ไม่เกิดประโยชน์ โดยใช้แมวน้ำเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งของเหล่านั้น”

ไม่ใช่แค่ของไม่มีประโยชน์เท่านั้นที่เป็น ‘แมวน้ำ’ ของมีประโยชน์บางอย่าง อาทิ หนังสือ โดรน จักรยาน เครื่องออกกำลังกาย ฯลฯ ก็ล้วนกลายร่างเป็นแมวน้ำได้ทั้งนั้น เรามีเช็คลิสต์ 3 ปัจจัยมาให้ทำกันลองมาเช็คกันว่าบ้านใครมีแมวน้ำบ้าง

1. แมวน้ำต้องไม่ได้ใช้งาน แม้จะไม่มีค่า แต่ถ้าเราใช้งานมันบ่อยครั้ง ก็ถือว่ามันไม่ใช่แมวน้ำแน่นอน เพราะแมวน้ำต้องไม่ได้ใช้งานเลยหรือใช้งานแค่ในช่วงนี้ แต่ช่วงหลังไม่ได้ใช้งาน

2. แมวน้ำไม่มีคุณค่าทางจิตใจ แมวน้ำไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาว่าตัวนี้แพงหรือถูก แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งมันจะต้องสร้างพลังเชิงบวก แม้อาจไม่ได้หยิบจับใช้งาน แค่เราได้เห็นแค่นี้ก็สร้างความรู้สึกดีทางใจได้ เป็นแรงผลักดันเชิงบวก สร้างแรงบันดาลใจแบบนี้ไม่ใช่แมวน้ำเช่นกัน

3. แมวน้ำสร้างมูลค่าไม่ได้ เพราะอะไรเปลี่ยนเป็นรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นก็ถือว่า เป็นการลงทุน อย่างของเล่นหรือของสะสมเราอาจไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน แต่นับวันราคาสูงขึ้นตามความต้องการของนักสะสม อาทิ ของเล่นโบราณ แสตมป์ หุ่นฟิกเกอร์ ฯลฯ

ยอดวิวแค่เฉพาะจากแฟนเพจ KTB สูงถึงเกือบ 4 ล้านวิว ที่ส่วนใหญ่เป็นออร์แกนิกตามด้วยยอด Engagement ล้นหลาม คอมเมนต์ 100% Positive ทั้งโดนใจ เพราะเคยมีประสบการณ์ซื้อแมวน้ำกันมาแล้วทั้งนั้น แถมด้วยประโยคฮิต “ซื้อไปทำแมวน้ำอะไร” กลายเป็นคำฮิตไว้ถามถึงพฤติกรรมการซื้อของที่ส่อแววว่าจะเป็นแมวน้ำแน่ ๆ อะไรทำให้คนโดนใจตลาดขนาดนี้ เรื่องราวอาจจะไม่ได้มีสิ่งของจับต้องได้เหมือนตอนเฟสแรกอย่าง Hi Sa Ti Shop แต่เป็นการเน้นเล่าเรื่องราวบนออนไลน์ล้วน ๆ กลับมากระแสตอบรับดีมาก

ในหนังโฆษณานี้ไม่ได้เน้นขายของหรือภาพลักษณ์ของแบรนด์ตรง ๆ แถมยังสื่อสารในแง่มุมที่ดี ไปพร้อมกับการไม่ได้เฉลยว่าทุกอย่างคืออะไร แมวน้ำคืออะไร แต่ชวนให้คนดูสงสัย และติดตามชมจนจบ

ที่สำคัญกระบวนท่าในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นภาพยนตร์ของคลิปนี้ สร้างให้เกิดการจดจำว่า “ซื้อไปทำแมวน้ำอะไร” ไม่ใช่เน้นแค่ดูคลิปจบแล้วจบกัน แต่ต้องการให้คิดต่อ ต้องการให้ย้อนไปถึงพฤติกรรมการซื้อของตัวเองที่ผ่านมาและตั้งคำถามกับสิ่งของรอบ ๆ ตัวด้วย

ช่วงนี้มีแต่ภาพยนตร์โฆษณามากมาย แต่ภาพยนตร์ที่สร้างให้คนคิดต่อเนื่องไปนั้น มีไม่มากและไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่จบในตัว แต่เรื่องนี้ต้องการให้คนดูไปคิดต่อว่า แมวน้ำคืออะไร เคยซื้อแมวน้ำกันไปบ้างไหม แมวน้ำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งของที่ไม่ใช้งาน

หนังโฆษณาชิ้นนี้ทรงพลังมากกว่าทั่วไป เพราะผลลัพธ์คือ ผู้ชมต่างคิดต่อ และวิเคราะห์ถึงของในบ้านตัวเอง จนกลายเป็นคอมเมนต์เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองและเพื่อนที่ล้วนเคยเลี้ยงแมวน้ำ รวมถึงการส่งต่อคลิปในกรุ๊ปไลน์ครอบครัว และวงสนทนาอื่น ๆ เพื่อเตือนสติให้คนที่รักว่า ซื้อแมวน้ำกันมาบ้างหรือเปล่าภาพยนตร์โฆษณาแคมเปญนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของตัวละครในคลิปเท่านั้น แต่สุดท้ายอาจกลายเป็นเรื่องของทุกคนที่ชมนั่นเอง

LIT
WRITER: LIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line