GROOMING

เลือกกลิ่นให้คนจำ ‘4 ขั้นตอนหาน้ำหอมเฉพาะตัว’เพราะกลิ่นคือเสน่ห์ที่เลียนแบบกันไม่ได้

By: PSYCAT August 26, 2020

อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ชั่วขณะที่เรากำลังเร่งรีบ ดุ่มเดินไปในสถานที่สักแห่ง แล้วใครสักคนก็เดินผ่านเราไป ชั่วเวลาไม่กี่วินาที แต่เราต้องเหลียวมอง เพราะกลิ่นเฉพาะบางแบบ ดึงดูดและกระชากความสนใจเราได้อยู่หมัด อยากรู้แทบบ้าว่านั่นกลิ่นอะไร? น้ำหอม สบู่หรือยาสระผมยี่ห้อไหนที่ใครคนนั้นใช้?

ชั่วขณะแบบนั้น อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เข้าใจว่า “กลิ่นหอม” นั้นทรงพลังขนาดไหน กลิ่นที่เหมาะสมเป็นทั้งตัวเสริมบุคลิกภาพ เสน่ห์ ความมั่นใจ รวมถึงเสร็จ็นปัจจัยสร้าง First impression ต่อผู้อื่นที่สำคัญ

การเลือกกลิ่นที่เหมาะกับตัวเอง และเป็นกลิ่นเฉพาะที่ชวนให้ใครจดจำจึงเป็นสิ่งที่เราควรรู้

‘กลิ่นหอมที่ชอบ’ก็เหมือนอาหารที่ใช่ ต้องรู้จักไว้ เพื่อเข้าใจตัวเอง

เรารู้ว่าเราชอบกินอะไร เราชอบกินไก่ทอด เพราะเราชอบรสชาติกลมกล่อมเค็ม ๆ กรอบ ๆ ของมัน เราชอบกาแฟดำเพราะรสขมเข้มของมัน เมื่อเรารู้ว่าเราชอบกินอะไร เพราะอะไรก็ง่ายต่อการหาของกินที่เหมาะกับตัวเองและทำให้ตัวเองมีความสุข ในทางกลับกัน “กลิ่นหอม” ก็เช่นเดียวกัน เราควรต้องระบุว่าเราชอบกินแบบไหน และกลิ่นนั้นมีที่มาจากอะไรให้ได้ เพื่อเข้าใจตัวเองและตามหากลิ่นเฉพาะตัวเจอ

แต่มันไม่ได้ซับซ้อนถึงขนาดที่เราต้องจำตำรา Fragrances of the World นั่งท่องที่มาของน้ำหอมทุกสูตร แต่ลองจัดประเภทง่าย ๆ เช่น น้ำหอมที่มีอยู่ตอนนี้ ไปจนถึงสบู่ ยาสระผม ครีมหรืออะไรก็ตามเราที่ใช้หรือได้กลิ่นแล้วรู้สึกว่ามันหอม ลองถามตัวเองว่ากลิ่นมันเด่น ๆ ที่เราชอบนั้นมันแนวประมาณไหน? กลิ่นไม้ กลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นสดชื่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นผลไม้ ฯลฯ

เมื่อเราสามารถเข้าใจว่า “ตระกูลกลิ่น” ไหนที่เป็นกลิ่นหอมหลักที่เราชอบ หรือใช้ที่ไรคนก็ทัก จะช่วยให้เราเข้าใจกลิ่นเฉพาะของตัวเองได้ง่ายขึ้น ครั้งต่อไปเมื่อเลือกซื้อน้ำหอม หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่จะส่งผลต่อกลิ่นของเรา จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งเลือก นั่งดมใหม่ทั้งหมด แต่สามารถพุ่งตรงไปยังตระกูลกลิ่นหลักที่มีในใจ ก่อนจะหากลิ่นที่ย่อยไปจากแนวหลักที่เหมาะกับตัวเอง

‘ชอบกลิ่นใคร อย่าปล่อยผ่าน’ ถามกลิ่นอย่างมีมารยาทเพื่อรู้

มันต้องมีสักครั้งที่ได้กลิ่นใครสักคนแล้วรู้สึก “เหี้ย โคตรชอบเลยว่ะ” แต่หลายครั้งที่เราปล่อยผ่านไป แล้วก็ได้แต่เดาไปต่าง ๆ นานาว่ากลิ่นนั้นมันคือกลิ่นอะไรกันแน่ จริง ๆ เราสามารถถามได้ว่ากลิ่นนั้นคือกลิ่นอะไร เขาใช้น้ำหอมอะไร การเลือกถามอย่างมีมารยาทและไม่ละเมิดกาลเทศะนั้น เป็นเสมือนคำชมมากกว่าการเสียมารยาท

เพราะการที่เราเลือกใช้น้ำหอมกลิ่นไหน ก็เพราะเราอยากให้มันหอมสำหรับตัวเองและผู้อื่น การที่มีคนได้กลิ่นน้ำหอมเรา จนต้องมาถามว่ากลิ่นอะไรจึงเป็นคำชมมากกว่า ถ้าใช้คำพูดและเลือกกาลเทศะที่เหมาะสม

เมื่อได้คำตอบมาแล้ว ลองเข้าเว็บไซต์ Fragrances of the World หรือ Fragrantica เป็นเว็บไซต์ที่ผู้คนทั่วทุกมุมโลกจะเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกลิ่นต่าง ๆ ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร ไม่ใช่แค่เพื่อดูว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับกลิ่นนั้น ๆ แต่เราสามารถศึกษาความคงทนของกลิ่น หรือเมื่อทิ้งไว้สักระยะกลิ่นเป็นอย่างไร ก่อนที่เราจะตัดสินใจไปลองน้ำหอมกลิ่นนั้นจริง ๆ หรือตัดสินใจซื้อได้ด้วย

แต่อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือถ้าเราชอบกลิ่นของคนรู้จักห่าง ๆ (ที่ไม่ได้จะใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เดียวกันบ่อย) หรือคนแปลกหน้าที่พบกัน การจะเลือกใช้น้ำหอมกลิ่นเดียวกันเลยคงไม่เป็นไร แต่ถ้าดันเป็นคนรู้จักที่ต้องอยู่ด้วยกัน เช่น คนในแผนกงานเดียวกัน การถามว่าเขาใช้นำหอมอะไรแล้วซื้อตามเลยก็อาจไม่เหมาะเท่าไร

ลองจินตนาการว่าถ้าเดินเข้าไปในออฟฟิศแล้วมีคนใช้น้ำหอมกลิ่นนี้ 2-3 คน คนที่ใช้คนแรกอาจไม่ปลื้มนัก แม้มันจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ถ้าเราเองก็อยากมีกลิ่นเฉพาะตัว ก็ลองหากลิ่นตระกูลหลักเดียวกับน้ำหอมกลิ่นนั้น แต่เลี่ยงไปใช้ยี่ห้ออื่น ๆ ที่เหมาะ และสร้างภาพจำเฉพาะแบบจะดีกับตัวเราและเพื่อนคนนั้นมากกว่า

กลิ่นตามฤดูกาลผ่านมาแล้วผ่านไป ‘กลิ่นเฉพาะตัวจะถูกจดจำตลอดกาล’

แม้หลาย ๆ คนจะแนะนำว่าการเลือกใช้น้ำหอมตามฤดูกาล หรือสภาพอากาศจะช่วยส่งกลิ่นเฉพาะหรือให้อารมณ์ที่ส่งเสริมกับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า เช่น ถ้าอากาศเย็นลง เราต้องการน้ำหอมกลิ่นอบอุ่น ๆ อย่างไม้และเครื่องเทศ เมื่อฤดูร้อนจัดจ้า หรือต้องไปทะเลให้เลือกกลิ่นสดชื่น ๆ กลิ่นดอกไม้ กลิ่นส้ม ฯลฯ

แม้คำแนะนำเหล่านี้ดูเหมือนจะทำให้เราเลือกกลิ่นที่เหมาะกับโอกาสได้ปลอดภัยกว่า แต่ในแง่การมีกลิ่นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้นจำให้ขึ้นใจว่า ปล่อยกลิ่นตามฤดูกาลไป แต่หันมาใส่ใจกับการเลือกใช้กลิ่นที่เหมาะที่สุด และใช้มันเรื่อย ๆ ในระยะยาวนั้นชวนให้คนจดจำมากกว่า

การใช้กลิ่นเดิม (หรือกลิ่นที่มีตระกูลหลิ่นหลักคล้าย ๆ กัน) ในระยะยาว นอกจากทำให้กลิ่นนั้นกลายเป็นกลิ่นที่ผู้คนจดจำแล้ว ยังส่งผลต่อกลิ่นที่ออกมาจากร่างกาย จากข้าวของเครื่องใช้ของเราในระยะยาวร่วมด้วย ลองคิดดูว่าถ้าสามวันกลิ่นเท่ ๆ เยือกเย็น อีกสองวันกลิ่นสดชื่น อีกสองวันกลิ่นคลาสสิก ๆ แม้จะไม่มีอะไรผิดกติกาใด แต่ในแง่กลิ่นเฉพาะระยะยาววิธีนี้ไม่มีประสิทธิภาพเท่า

จงลองเผื่อเลือก ก่อนตกลงปลงใจ

เมื่อเรารู้แล้วว่าตระกูลกลิ่นหลักที่เราชอบคือกลิ่นไหน หรือได้ชื่อน้ำหอมที่ดมจากเพื่อนมาแล้วว่ามันโคตรจะใช่ แนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบตกลงปลงใจซื้อชวดนั้นทันที ให้ดูน้ำหอมอีก 5 ขวด จากตระกูลกลิ่นหลักเดียวกัน หรือถ้าเป็นยี่ห้อนี้มีกลิ่นหลักประมาณนี้ ก็ลองดูยี่ห้ออื่นที่มีกลิ่นหลักประมาณเดียวกัน

ไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อ อาจจะขอลอง จดบันทึกความรู้สึกของแต่ละกลิ่นในแต่ละวัน ในแต่ละช่วงเวลา เช่น ตอนฉีดใหม่ ๆ ตอนฉีดมาแล้ว 5 ชั่วโมง และตอนท้ายของวันหลังจากผสมกับกลิ่นเหงื่อตามธรรมชาติของเราแล้ว ฯลฯ

ความประทับใจแรกเราอาจมี 1 เดียว แต่การได้ลองกลิ่นคล้าย ๆ กันอีก 5 ตัว จะช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของกลิ่นแต่ละแบบในระยะเวลาที่ต่าง ๆ กันออกไปด้วย การจะเลือกกลิ่นเอกลักษณ์ของตัวเองไม่ใช่เรื่องด่วนสรุป ดังนั้นการคิดเผื่อเลือก ลองหลายตัวเลือกก่อนตัดสินใจ จะช่วยให้เลือกได้อย่างถูกต้องที่สุดอีกทางหนึ่ง

การเลือกน้ำหอมที่เป็นอีกรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ให้ผลที่แตกต่างอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นพิถีพิถันเพิ่มอีกหน่อย ให้เวลากับมันเพิ่มอีกนิด แต่รับรองว่าเมื่อเราได้น้ำหอมกลิ่นเฉพาะตัวมาแล้ว คุ้มค่ากับความใส่ใจที่เราลงไปแน่นอน

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line