Life

แด่ ‘ผู้ชายขี้ลืม’คุณทำของหายบ่อยๆ ใช่ไหม? ถ้าใช่ นี่คือ 6 วิธีเอาตัวรอดของคุณ

By: PSYCAT April 7, 2017

เรื่องน่าหงุดหงิดใจอันดับต้น ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างเรา ๆ ก็คือการหาสิ่งของที่ใช้เป็นประจำไม่เจอ กุญแจบ้านเอย กุญแจรถเอย แว่นกันแดดบ้าง กระเป๋าตังค์บ้าง ทั้ง ๆ ที่ก็ใช้อยู่ประจำ นึกได้ว่าเพิ่งวางเอาไว้ตรงนั้นแป๊ป ๆ ทำอะไรนิดหน่อย ทำไมกลับมาอีกทีหาไม่เจอเสียอย่างนั้น

ปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อยธรรมดาจนคิดเอาเองว่าเราอาจจะประสบปัญหานี้อยู่คนเดียว แต่ผิดถนัด! ใคร ๆ ต่างก็เจอปัญหานี้ จนมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าปัญหาการทำของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันหายมีวิธีจัดการอย่างไร และนี่คือวิธีการหาของหายอย่างมีประสิทธิภาพ แบบไม่ต้องเสียเวลาวนหามั่ว ๆ อีกต่อไป

Man-Stupid-Dumb-Face-Young

ใจเย็นก่อนน้องชาย ทำใจให้สงบ ค่อย ๆ หามันก่อน

UNLOCKMEN บอกแล้วว่าคุณไม่ใช่ผู้ชายคนเดียวในโลกที่ประสบปัญหานี้ แต่ใคร ๆ ก็ทำของหายกันทั้งนั้น มีคนขี้ลืมมากจนกระทั่ง Michael Solomon เขียนหนังสือเรื่อง “How to Find Lost Objects.” หรือวิธีตามหาของที่หายไป ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวเลยล่ะ

Michael Solomon บอกหนึ่งประโยคกระแทกใจเอาไว้ว่า “บนโลกนี้ไม่มีของที่หายหรอก มีแต่คนที่ไม่รู้จักวิธีหาของอย่างเป็นระบบต่างหาก!”

ดังนั้นขั้นตอนเริ่มแรกที่ Michael Solomon แนะนำคือให้เริ่มต้นมองหาจากที่ที่มันควรจะอยู่เสียก่อน เช่น ปกติวางกุญแจไว้ที่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ อย่างโต๊ะหน้าประตูก็ให้ดูที่ตรงนั้นก่อน ส่วนใหญ่ของที่หาไม่เจอมันจะถูกวางอยู่ตรงที่ที่เราใช้มันเป็นครั้งสุดท้ายนั่นแหละ

ส่วนอีกความลับที่เขาบอกเพิ่มเติมก็คือสิ่งของมักจะอยู่ในรัศมี 18 นิ้ว จากจุดที่มันมักจะวางอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ขั้นแรกอย่าเพิ่งโวยวายทำใจให้สงบแล้วหาจากจุดเริ่มแรกก่อนนะ

17-04-04-conscription-008

อย่าหาสะเปะสะปะ ให้หาอย่างมีระบบ

ฟังดูยิ่งใหญ่มาก แค่การหาของมันต้องมีระบบขนาดนั้นเลยเหรอ? Corbin A. Cunningham นักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตวิทยาและสมอง จาก Johns Hopkins University บอกว่ากับดักง่าย ๆ ที่คนขี้ลืมอย่างเรามักตกลงไป คือการที่วนหาของซ้ำ ๆ ในที่เดิม ๆ ที่ก็วนหามาเป็นสิบรอบแล้ว ซึ่งมันเสียเวลาใช่ไหมล่ะ?

ดังนั้นการหาอย่างเป็นระบบ (ถ้าหาภายในระยะ 18 นิ้วจากที่ที่วางเป็นประจำเสร็จแล้ว) ก็คือการหาไปที่ละห้อง ทีละส่วน โดยอย่าข้ามไปข้ามมา ในหนึ่งห้องให้มองหาให้ครบทุกส่วนของห้อง แล้วค่อยเดินหน้าหาในห้องต่อไป

ถ้ามั่นใจว่ามองครบทุกส่วนแล้ว ก็อย่าวนกลับมา เพราะถ้าของที่หายไปไม่ได้วางอยู่ที่นั่นตั้งแต่แรก ต่อให้เรามองหา สองรอบสามรอบ มันก็ไม่มีทางโผล่มาอยู่ที่นั่นได้หรอก (นอกจากเราจะมองไม่ดีน่ะนะ)

17-04-07-missing-stuff-001

พุ่งความสนใจไปที่พื้นที่รก ๆ เข้าไว้

University of Aberdeen ในประเทศ Scotland ทำการทดลองเรื่องการค้นหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งทำให้รกสุด ๆ ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งทำแบบคลีน ๆ เป็นระเบียบ แล้วสั่งให้กลุ่มตัวอย่างหาไอคอนที่กำหนดไว้

ผลจากการใช้กล้องอินฟาเรดจับการเคลื่อนไหวของสายตา พบว่าคนเรามักเลือกมองหาจากพื้นที่ที่โล่ง เป็นระเบียบ สะอาดตา แม้ว่าของที่เราตามหาจะไม่ได้วางอยู่ตรงนั้นเลยก็ตาม

ดังนั้นคุณนักวิจัยเลยแนะนำว่าการหาของหายก็เช่นกัน ถ้าของมันวางเด่น ๆ ในที่คลีน ๆ เราก็คงเหลือบไปเห็นมันเข้าบ้างแล้ว แต่ในที่สุดรก สุดไม่เป็นระเบียบนี่แหละให้ระวังไว้ให้ดี เพราะสายตาเราจะมองหามันได้ไม่ดีนัก (เพราะไม่ค่อยอยากมองอยู่แล้ว) เพราะฉะนั้นก็โฟกัสที่พื้นที่รก ๆ เป็นพิเศษ สิ่งของที่เราตามหาอาจจะซ่อนตัวอยู่ในนั้น

17-03-30-reduce-stress -005

ทบทวนความทรงจำครั้งสุดท้าย

Irene Kan ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Villanova University ผู้เชี่ยวชาญด้านความจำ แนะนำว่าอีกวิธีที่ดีที่สุดในการหาของหายคือค่อย ๆ ทบทวน ค่อย ๆ นึกย้อนกลับไปว่า “เราเห็นมันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?” มันอยู่ตรงไหนในความทรงจำสุดท้ายของเรา

พยายามนึกทบทวนรายละเอียดในความทรงจำครั้งสุดท้ายที่เราเจอของสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุด ทั้งสถานที่ เวลา คนที่อยู่รอบ ๆ หรือเรากำลังทำอะไรกับมัน

กระบวนการนี้เรียกว่า “context reinstatement” ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าถึงรายละเอียดที่เราไม่ทันนึกมาก่อนได้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดถ้าเราทบทวนได้ว่าเราจับสิ่งของที่หายไปครั้งสุดท้ายที่ไหน เราก็สามารถมองหารอบ ๆ ในระยะ 18 นิ้วจากที่ที่เรานึกออก และเพิ่มโอกาสที่จะเจอของที่หายไปได้มากยิ่งขึ้น

17-03-29-helpful-001

เช็คความทรงจำกับคนรอบข้าง

ดร.Gayatri Devi นักประสาทวิทยาจากโรงพยาบาล Lenox Hill ใน Manhattan บอกว่าการทบทวนความทรงจำว่าเห็นของที่หายไปครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่นั้นเป็นวิธีที่ดี แต่ก็ต้องระวังด้วย บางทีเราก็อาจจำผิดได้ แต่ก็อย่ากังวลไป ถ้ามีคนอยู่กับเราด้วยก็จะยิ่งช่วยยืนยันได้มากขึ้นว่าสิ่งที่เราจำได้นั้นมันจริงแค่ไหน?

วิธีการก็ไม่ยาก ให้เราย้ำความมั่นใจจากคนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์กับเรา เช่น ถ้านึกได้ว่าเห็นกุญแจบ้านครั้งสุดท้ายตอนที่ไขประตูเข้าบ้านพร้อมแฟนสาว เราก็ถามเขา แต่ไม่ควรเป็นคำถามแบบชี้นำ แต่ให้ถามคำถามปลายเปิดเข้าไว้ เช่น ควรถามว่า “คุณเห็นผมถือกุญแจบ้านครั้งสุดท้ายที่ไหน เมื่อไหร่นะ” มากกว่าจะถามว่า “คุณเห็นผมถือกุญแจบ้านตอนไขประตูเข้ามาใช่ไหม?” การยืนยันความทรงจำของตัวเองด้วยการเช็คกับคนอื่นอีกรอบช่วยได้มากทีเดียว

17-03-21-sex-helps-05

ป้องกันไว้ได้ ก็ดีกว่าตามแก้ทีหลัง

อย่างหนึ่งที่จะช่วยหนุ่มขี้ลืมจากการทำของหายได้ก็คือการฝึกนิสัยตัวเอง ให้วางของไว้ในที่เดิม ๆ เสมอ เช่น มีที่แขวนกุญแจบ้านไว้ข้างประตู วางกระเป๋าตังค์ไว้หัวเตียงทุกวัน ของที่เราวางไว้เป็นที่เป็นทางมีแนวโน้มที่จะหาเจอได้ง่ายกว่าปกติ หรือถ้าหาย ก็จะง่ายต่อการนึกย้อนไปว่าเราวางมันผิดจากที่เดิมที่เคยวางอย่างไร รวมถึงจะทำให้เรามองหาจากที่ที่มันเคยอยู่ก่อนได้ง่ายมากขึ้น

การลืมเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่ถ้าลืมมากไปก็อาจทำให้เราเสียเวลาทำอะไรดี ๆ ในชีวิตเอามาหมดไปกับการหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่รู้จบ ถ้าเราประหยัดเวลาในการหาของแล้วเอาไปทำอย่างอื่นได้มากกว่าเดิมก็เป็นเรื่องที่ดี ลองเริ่มต้นง่าย ๆ จากการวางของไว้ที่เดิมประจำดูสิ ของที่หายอาจไม่หาย หรือถ้าหายก็หาได้ง่ายขึ้นอย่างไม่เชื่อเลย

SOURCE1SOURCE2

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line