Life

ของใช้ส่วนพระองค์ที่สะท้อนคำสอนให้พวกเรารู้จักหลักชีวิตแบบ “พอเพียง”

By: Thada October 12, 2017

พอเพียง  คำง่าย ๆ แต่ความหมายสุดลึกซึ้ง  แต่ละคนตีความหมายของคำว่าพอไม่เท่ากัน  บางคนรู้จักพอในสิ่งที่มีไม่มากไม่น้อยเกินไป  พอใจกับชีวิตของตัวเอง  บางคนมีมากกว่าคนอื่นแต่ก็ยังรู้สึกไม่พอ ทำให้ต้องดิ้นรนพยายามให้มีมากขึ้น  สุดท้ายก็เบียดเบียนตัวเอง หรือลามไปถึงผู้อื่น  หาความสุขให้กับชีวิตตัวเองไม่ได้  ซึ่งในจุดนี้ไม่สามารถมีใครบอกได้ว่าจุดที่พอเพียงอยู่ตรงไหน  ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องส่วนบุคคล

ความจริงประเทศไทยมีต้นแบบที่ชัดเจนในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงที่ทุกคนสามารถทำตามได้  เพราะพระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างตลอดชีวิตในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ทั้งที่พระองค์ท่านมีทุกอย่างที่เพียบพร้อมในการใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย  ต้นแบบที่ว่านั้นไม่ใช่ใครเลย  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยทุกคน

ธ ผู้ทรงแบบอย่างความประหยัด  พระองค์ท่านไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับใด ๆ ยกเว้นนาฬิกาข้อมือเพียงเท่านั้น เวลาที่ทรงงาน  พระองค์ท่านมักทรงเลือกใช้ดินสอมากกว่าปากกา ด้วยพระองค์ท่านทรงเห็นว่าประหยัด ราคาถูก ผลิตได้ในประเทศ และเมื่อผิดก็สามารถลบได้อย่างง่าย  ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงดินสอราคาถูก แต่พระองค์ท่านก็ทรงใช้อย่างประหยัดและเห็นคุณค่าเสมอ โดยในปีหนึ่ง ๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอเพียง ๑๒ แท่ง และทรงใช้เดือนละแท่งจนกระทั่งสั้นกุด หรือกระทั่งไม่เหลือไส้ดินสอแล้ว

161018-sufficiency-2

ครั้งหนึ่งมหาดเล็กคนใหม่คนหนึ่งได้มีโอกาสเข้ามาจัดเก็บสิ่งของในห้องของพระองค์ท่าน  มหาดเล็กผู้นั้นมองเห็นดินสอแท่งหนึ่งซึ่งถูกใช้จนเหลือสั้นมากแทบจะกุดเต็มที

มหาดเล็กคนนั้นจึงตัดสินใจนำดินสอแท่งนั้นไปทิ้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้ามาในห้องก็ตรัสถามกับมหาดเล็กคนนั้นว่า

“ดินสอของเราอยู่ไหน?”

มหาดเล็กก็ตอบว่า “ได้นำไปทิ้งแล้ว”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินไปที่ถังขยะ ทรงหยิบดินสอแท่งนั้นขึ้นมาแล้วตรัสกับมหาดเล็กคนนั้นว่า

“ดินสอแท่งนี้ถึงแม้จะสั้นจวนจะกุดแล้ว แต่หากเรานำแท่งต่อดินสอมาใส่ ดินสอที่เหมือนจะใช้ไม่ได้แล้วแท่งนี้ก็สามารถใช้ได้เหมือนเดิม สามารถใช้ได้จนหมดแท่ง”

161018-sufficiency-3

ตัวอย่างที่สองของความประหยัดคือ เรื่องเกี่ยวกับสีพระทนต์ของในหลวง ที่พระองค์ท่านจะทรงแปรงพระทนต์ รีดใช้จนเกลี้ยงไม่หลงเหลือยาสีพระทนต์ในหลอดหลอดยาสีพระทนต์  ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ  โดยเฉพาะบริเวณคอหลอด ยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด  ซึ่งเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และ กดเป็นรอยบุ๋ม

161018-sufficiency-4

หรือจะเป็นเรื่องฉลองพระบาท ที่พระองค์ท่านจะใช้จนสภาพชำรุดทรุดโทรม ขาดหลุดลุ่ย  แต่ท่านไม่ทิ้ง และกลับเลือกที่จะนำมาซ่อมเพื่อใช้ต่อ  ท่านเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่ทรงทำเช่นนั้นกับของใช้ทุกชิ้นของพระองค์  ซึ่งหากเป็นเรา  พอรองเท้าขาดก็โยนทิ้ง ไม่ก็บริจาค  อาจไม่ได้เห็นคุณค่าของเงินที่ใช้จับจ่ายไปของเหล่านี้   พระองค์ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบ  สำหรับชาวไทยทุกคนให้เจริญรอยตามในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

161018-sufficiency-1

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ได้มีพระราชดำรัสแนะแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทยตลอดรัชสมัยของพระองค์  ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ( Sufficiency Economy )  เป็นหนึ่งในปรัชญาภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์  ความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่มีสิ่งเร้ามากมายให้เราต้องใช้ชีวิตอย่างประมาท  แต่พระองค์ทรงแนะนำหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่เป็นทางสายกลางให้ปวงชนชาวไทยใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และพอเพียงอย่างสุขใจ

161018-sufficiency-5

3  ห่วงที่ว่านั้นประกอบไปด้วย

ห่วงที่ 1 คือ พอประมาณ หมายถึง พอประมาณในทุกอย่าง ความพอดีไม่มากหรือว่าน้อยจนเกินไปโดยต้องไม่เบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่นให้เดือดร้อน

ห่วงที่ 2 คือ มีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

ห่วงที่ 3 คือ มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

2  เงื่อนไข ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้แก่

เงื่อนไขที่ 1  เงื่อนไขความรู้ คือ มีความรอบรู้เกี่ยวกับ วิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการ วางแผน และความระมัดระวังในขั้นตอนปฏิบัติ คุณธรรมประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

เงื่อนไขที่ 2  เงื่อนไขคุณธรรม คือ มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

หากเราสามารถเข้าใจถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถ่องแท้  ชีวิตของเราก็จะพบแต่ความสุขแบบพอดีในทางสายกลาง ตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงแบบเป็นอย่างให้กับปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line