Entertainment

#SURVIVAL รวมวิธีเอาตัวรอดในงานเทศกาลดนตรี ท่ามกลางฝูงชนนับพัน ผมจะมันส์กว่าใคร!

By: Synthkid November 14, 2019

เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่เทศกาลดนตรีต่างผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ทั้งในไทยเองก็ดี ประเทศข้างเคียงก็ดี คอเพลงอย่างเรา ๆ ถ้ามีกำลังทรัพย์มากพอก็นับว่ามีตัวเลือกที่เยอะขึ้น ตอบโจทย์ได้มากขึ้น เพราะบางครั้งการดูให้ครบจำนวนวงที่ชอบ อาจทำให้เสียทั้งเงินและเวลา ในขณะที่การไปงานเทศกาลดนตรีสักแห่ง แม้บัตรจะราคาสูงกว่าก็นับว่าคุ้มค่า เพราะสามารถเก็บแต้มดูได้หลายวงในคราวเดียว

แน่นอนว่างานใหญ่ ๆ จัดยาว ๆ ที่มาพร้อมผู้ร่วมงานจำนวนมหาศาล ย่อมเป็นแหล่งรวมความวุ่นวายหลายสิ่งไว้ในสถานที่เดียว รายละเอียดยิบย่อยของมันจึงเพิ่มขึ้นอีกระดับ เหนือกว่าคอนเสิร์ตทั่ว ๆ ไปที่จัดคืนเดียวจบ ยิ่งคนที่ลงทุนแบกกระเป๋าไปกางเต็นท์นอนค้างอ้างแรมถึงต่างแดน ยิ่งต้องเตรียมความพร้อมมากเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจากความสนุกที่ควรได้รับ อาจกลายเป็นประสบการณ์สุดเฟลครั้งใหญ่!

credit: pixabay

แน่นอนว่าทางลัดที่ดีที่สุดในการเตรียมตัวไปมันส์กับเทศกาลดนตรีที่ต่างแดน (หรือจะในไทยก็ได้) ไม่ใช่การร่ำเรียนจากตำรา แต่เป็นการ ‘สอบถาม’ ผู้ที่เคยไปงานเหล่านั้นและผ่านประสบการณ์จริงมาก่อนเราแล้วนั่นเอง

สำหรับมือใหม่ไร้ชั่วโมงบิน วันนี้ UNLOCKMEN ได้หยิบยกคำแนะนำดี ๆ จากเหล่ามนุษย์คอนเสิร์ตหลายชีวิตที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในเทศกาลดนตรีต่างแดน ทั้งที่ไปกับกลุ่มเพื่อนก็ดี ไปคนเดียวก็ได้ ว่ามีอะไรบ้างที่เขาอยากจะแนะนำนักผจญคอนฯ หน้าใหม่ ๆ กันบ้าง​ ? แน่นอนว่าเพียบ ในระดับร่ายยาวเป็นห่างว่าว! เราจึงคัดสรรสิ่งที่เป็นประโยชน์คร่าว ๆ มาให้ทุกคนได้รู้ไว้ใช่ว่า จะมีอะไรบ้าง มาดู!

1. ติดตามแฟนเพจที่อัปเดตข่าวสาร

ฟังดูอาจจะรู้สึกว่า ‘โห นี่มันเรื่องพื้นฐาน!’ แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ควรฟอลแค่ช่องทางเดียวนะครับ เพราะบางครั้งเพจ Official ของงานอาจอัปเดตบางอย่างล่าช้า ไม่ทั่วถึง ในกรณีที่เป็นงานในประเทศไทย คุณก็ควรจะติดตามเพจสายเพลงหรือสายคอนเสิร์ตเอาไว้เยอะ ๆ เพราะแต่ละเพจอาจเผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจของแต่ละงานแตกต่างกันไป

แต่ในกรณีที่ไปคอนเสิร์ตในต่างประเทศ เราเข้าใจว่าอาจจะหาเพจลักษณะนี้ยาก พวกมนุษย์คอนเสิร์ตเขาจึงแนะนำให้คุณติดตามโซเชียลของงานที่คุณจะไปเอาไว้ ‘ทุกช่องทาง’ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางงานอาจมีมากกว่า Facebook แต่มี Twitter และโซเชียลมีเดียช่องทางอื่น ๆ ด้วย รวมไปถึงการหมั่นเช็ก Hashtag ของงาน ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดี เพราะมักจะมีผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับงาน

2. กล้าพูด กล้าผูกมิตร

จากการพูดคุยกับมนุษย์คอนเสิร์ตหลากหลายท่าน พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการกล้าผูกมิตรสำคัญที่สุด! ไม่ว่าคุณจะเป็นหนุ่มพูดน้อย ขี้อายแค่ไหน เชื่อเถอะครับว่าด้านได้อายอด เพราะการผูกมิตรหน้างาน อาจทำให้คุณได้รับการช่วยเหลือที่ไม่คาดคิดจากคนท้องถิ่น เช่นการรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ หรือข้อมูลแหล่งจับจ่ายใช้สอยราคาถูก​ เป็นต้น ยิ่งถ้าคุณชอบศิลปินคนเดียวกับเขา อาจจะได้เพื่อนใหม่ในระยะยาวก็ได้ใครจะรู้​ ?

แต่สำหรับผู้ที่กังวลเรื่องกำแพงทางภาษา มนุษย์คอนเสิร์ตท่านหนึ่งผู้เคยไปผจญภัยถึงแดนปลาดิบก็ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจกับเราไว้ว่า “ถ้าไปประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เขาอาจจะไม่ประกาศให้ต่างชาติฟัง ถึงแม้จะพูดภาษาเขาไม่ได้ ก็ลองเอาบัตรเข้างานในมือยื่นให้เจ้าหน้าที่หรือคนรอบข้างดู บางครั้งการชี้โบ๊ชี้เบ๊ก็มีประโยชน์ ไม่งั้นเราอาจจะพลาดคิวดี ๆ ไปเลย”

3. ยาดม ถึงไม่ชอบดมก็ต้องพก

หลายคนไม่ชอบดมยาดมก็เลยไม่พก แต่อันที่จริงพกไว้ดีที่สุดนะครับ! เฟ้นหากลิ่นที่คุณชอบที่สุด รู้สึกสบายกับมันมากที่สุด คนยิ่งเยอะ อากาศหายใจยิ่งน้อย แต่! ควรรู้ไว้ว่า ไม่ใช่ทุกประเทศจะอนุญาตให้นำยาดมเข้างาน จากประสบการณ์มนุษย์คอนเสิร์ตท่านหนึ่ง เขาเคยพกยาดมเข้าบริเวณงานเทศกาลดนตรี ณ ประเทศมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต (ซึ่งเราก็ไม่ทราบสาเหตุ) อาจจะแก้ปัญหาด้วยการหยดพิมเสนใส่ผ้าเช็ดหน้าแล้วพกไว้แทนก็ได้ครับ

4. เจอคนเต้นแรง อย่ายืนเฉย

นี่คือประสบการณ์จริงจากหญิงสาวที่ไปงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศเกือบสิบครั้ง เธอเล่าให้เราฟังว่าที่นั่นคนอาจทั้งเต้นทั้งกระโดดกันแรงมาก ๆ รวมถึงอาจเกิดการ ‘Mosh Pit’ ที่ทำให้เราเจ็บตัว วิธีรับมือก็คือ อย่ายืนนิ่ง และอย่าจับมือกับเพื่อน เพราะไม่งั้นอาจล้มกันทั้งหมด คุณต้องเต้นตาม และกระโดดตามเขาไป! ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นฝ่ายที่เจ็บตัวเอง ส่วนใครที่ไปดูวงร็อกหรือวงที่เพลงหนัก ๆ แต่ไม่อยากเจอสิ่งนี้ ควรหลีกเลี่ยงด้วยการเลือกยืนข้างหลัง เพื่อเซฟตัวเองก็ต้องยอมยืนไกลหน่อยครับ

5.ล้มได้ แต่ต้องรีบลุก

หากคุณล้มท่ามกลางฝูงชน รีบสะกิดคนข้าง ๆ ให้ช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุด เพราะอันตรายและมีสิทธิ์ถูกเหยียบได้ง่ายมาก ล้มเมื่อไหร่รีบตะโกน “Help Me” ไม่ต้องเขินครับ!

6. กระเป๋าใบเล็ก

ไปคอนเสิร์ตใหญ่พกกระเป๋าใบเล็กก็พอ (แนะนำกระเป๋าคาดอก) ควรเลือกอันที่สะพายสบาย และไม่จำเป็นต้องพกกระเป๋าสตางค์ ป้องกันมิจฉาชีพล้วง เพราะถ้าเกิดหายขึ้นมา ‘ทุกสิ่งที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์คุณจะหายทั้งหมด’ ลำบากแน่นอน ถ้าจะให้ดีควรโยกย้ายเงินกับบัตรบางส่วนที่จำเป็น ไปใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงแทน

7. พัดลมมือถือ & ทิชชู่

อย่าคิดว่าต่างประเทศอากาศเย็นกว่าไทยนะครับ บางที่อาจร้อนมากไม่ต่างกับบ้านเราเลย อย่าเขินการพกพัดลมมือถือไปด้วย เพราะสิ่งนี้อาจกลายเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับคุณ ส่วนทิชชูดูเผิน ๆ เหมือนเป็นของธรรมดาสามัญ ไปซื้อที่นั่นเอาไม่ได้เหรอ​ ? เตือนไว้ก่อนเลยว่าอย่าหวังไปตายเอาดาบหน้า เพราะในงานที่มีคนนับพัน ทิชชู่อาจกลายเป็นแรร์ไอเทมก็ได้ ยิ่งมีทิชชู่เปียกไว้ได้ยิ่งดี รับรองว่าได้ใช้ และจะเป็นประโยชน์กับคุณอย่างแน่นอนครับ

8.เสื้อกันฝน

ในกรณีที่เช็กสภาพอากาศแล้วไม่ค่อยสู้ดี ได้โปรดเตรียมเสื้อกันฝนตั้งแต่อยู่ประเทศไทย เพราะคุณกำลังจะไปต่างบ้านต่างเมือง ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าคุณจะหาซื้อสิ่งนี้ได้ง่าย ๆ (ยกเว้นคุณเคยไปประเทศนั้นแล้ว รู้แหล่งซื้อแล้ว) การไปดูโชว์ที่มีกำหนดเวลาบนเวทีแน่นอน ทำให้คุณไม่สามารถหลบเข้าร่มได้ตามอำเภอใจ พกเสื้อกันฝนมาเอง อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่าต่อให้ฝนตก คุณจะไม่เสียโอกาสในการชมวงโปรด ณ ช่วงเวลานั้นอย่างแน่นอน

Tips อื่น ๆ 
  • ผู้จัดคอนเสิร์ตต่างประเทศบางเจ้า อาจใช้วิธีส่งตั๋วให้เราถึงบ้าน อย่างล่าช้าสุดที่มีผู้เคยพบเจอ คือก่อนวันจริงราว 5 วันเท่านั้น ในกรณีที่คุณจะเดินทางล่วงหน้า อาจขอให้ผู้จัดส่งตั๋วไปให้ที่โรงแรมหรือที่พักของคุณแทน
  • ถ้าคุณเลือกจะนอนเต็นท์ อย่านำไปแต่ไฟฉาย แต่ให้นำเชือกไปด้วย แล้วใช้เชือกขึงไฟฉายไว้กับเต็นท์ อำนวยความสะดวกในการมองเห็นยามค่ำคืน
  • ยารักษาโรคต่าง ๆ บางประเทศอาจไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ต้องเข้าโรงพยาบาลเท่านั้น ควรเตรียมตัวล่วงหน้าด้วยการพกไปเองครับ
  • Dry Shampoo ผู้ชายก็ใช้ได้ครับ ดีกว่าทนหัวเหม็น
  • เช็กเวลาขึ้นแสดงของแต่ละวงให้ดี เพราะศิลปินที่คุณอยากดูอาจขึ้นเวลาชนกัน! วางแผนไว้มีชัยไปกว่าครึ่ง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด อาจจะยังไม่ครอบคลุมสิ่งที่คุณต้องพบเจอในสถานการณ์จริงเสียด้วยซ้ำ แต่เชื่อเถอะครับว่าเตรียมตัวไว้มีชัยไปกว่าครึ่ง มันอาจจะดูจุกจิกตอนเริ่มต้น แต่สุดท้ายพอถึงหน้างาน เอาหัวเป็นประกันเลยว่าคนที่เตรียมตัวมาดีคือคนที่จะสนุกสุดเหวี่ยงได้มากที่สุด ไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง

ขอให้คอเพลงทุกท่านได้ระเบิดความมันส์ ดื่มด่ำความสนุกไปกับดนตรี และได้รับแต่ประสบการณ์ดี ๆ อย่างเต็มที่นะครับ Good Luck!

 

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line