Must Read

เรียนรู้วิธีรับมือกับการทำงานชวนปวดหัวจากหนังสือติด BEST SELLER ทั่วโลก

By: unlockmen February 1, 2021

ไม่ว่าคุณเพิ่งเริ่มต้นชีวิต Jobber หรือคร่ำหวอดในโลกการทำงานมาพอสมควรแล้ว หากงานที่ทำอยู่ทำให้คุณรู้สึกปวดหัวจนอยากพักรัว ๆ เกิดฟีลลิ่งไม่อยากลุกขึ้นไปทำงานอยู่บ่อย ๆ หรืออยากเดินไปยื่นใบลาออกกับหัวหน้าให้รู้แล้วรู้รอด ขอให้หยุดไว้แค่ในความคิดก่อน

เพราะทุกปัญหามีทางออกเสมอแม้แต่ปัญหาการทำงานชวนปวดหัว ที่สำคัญ การหลีกหนีก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่แท้จริง แต่แค่หนีจากปัญหาที่เจอในที่หนึ่งเพื่อไปเจอปัญหาแบบเดิมอีกที่หนึ่งเท่านั้น แทนที่จะทำอย่างนั้น เปลี่ยนมาเรียนรู้วิธีรับมือกับมันดีกว่า มาดูกันว่าวิธีรับมือกับการทำงานชวนปวดหัวที่ได้จากการตกตะกอนความคิดของหนังสือติดอันดับขายดีทั่วโลกจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง

หากอ่านแล้วรู้สึกว่าวิธีนี้มันเวิร์ก ก็อย่าลืมติดตามหาฉบับเต็มมาอ่านกันด้วยนะ


ปล่อยมันไป: The Subtle Art of not Giving a Fuck!

ต้นกำเนิดของ The Subtle Art of not Giving a Fuck! (หรือในชื่อภาษาไทยว่า ชีวิตติดปีกด้วยศิลปะแห่งการ “ช่างแม่ง”) เกิดจากบล็อกเกอร์นามว่ามาร์ก แมนสัน ที่ต้องการเขียนเรื่องที่เขาอยากเขียน โดยถ่ายทอดออกมาในภาษาดิบ ๆ ตรงไปตรงมา แต่กลับโดนใจผู้อ่านมากมาย และได้ตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือขายดีถล่มทลาย

Image Source: Goodreads

สิ่งหนึ่งที่หนังสือชื่อประชดโลกเล่มนี้ได้บอกคนอ่านก็คือ ไม่จำเป็นต้องสะกดจิตตัวเองให้มองโลกในแง่บวกตลอดเวลาหากรู้สึกแย่กับสิ่งที่เจอ โดยเขาเปรียบว่ามันก็เหมือนกับการพยายามแปรรูปผลเลมอนรสเปรี้ยว ไม่ถูกปาก ให้กลายเป็นน้ำเลมอนเนดโอชารส เพื่อที่จะได้กลืนมันได้ง่ายขึ้น แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น ก็สู้กินแบบทั้งที่ยังเป็นลูกเลมอน เพื่อให้ท้องไส้ได้สัมผัสและคุ้นชินกับความเปรี้ยวจี๊ดที่แท้จริงไม่ดีกว่าหรือ

เพราะทุกวันนี้เราต่างต้องเผชิญกับคนและสถานการณ์ไม่น่าอภิรมณ์ใจอย่างเลี่ยงไม่ได้ การรับรู้ขีดจำกัดทางอารมณ์ว่ามีเท่าไหร่และยอมรับว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไรคงดีกว่าเก็บกดแล้วพยายามบอกว่าตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” ทั้งที่เป็นไร หันมาเผชิญกับความรู้สึกเจ็บปวด กลัว เสียใจ อาจทำให้เราได้ปลดปล่อยอย่างแท้จริง และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับเรื่องวุ่นวายในวันข้างหน้ามากขึ้นกว่าเดิม


รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง: The Asshole Survival Guide

The Asshole Survival Guide หรือที่รู้จักกันดีในชื่อภาษาไทยว่า ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย เล่มนี้ เขียนโดยโรเบิร์ต ไอ ซัตตัน ศาตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การจัดการ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญและทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นความเป็นผู้นำ นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงขององค์กร จริง ๆ แล้ว เราทุกคนมีโอกาสเจอกับคนเฮงซวยไม่จำกัดรูปแบบ สถานที่ และบุคคลเสมอ แต่ “คนเฮงซวย” ในที่ทำงานอาจดูเป็นกรณีพิเศษขึ้นมาหน่อย เพราะเราเลี่ยงได้ยากนั่นเอง

Image Source: Bobsutton

ประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้สอนให้รู้จักรับมือกับการทำงานน่าปวดหัวนั้นก็คือ รู้จักคน และรู้จักวิธีรับมือ ก่อนจะตัดสินใจว่า “ถอย” หรือ “สู้” เมื่อมีคนมาทำตัวเฮงซวยใส่นั้น ให้ดูว่าเขาเป็นคนเฮงซวยประเภทไหนระหว่าง Temporary Asshole หรือ Certified Asshole โดยคนเฮงซวยแบบแรกอาจทำตัวไม่ดีเพราะเจอเรื่องแย่ ๆ ของวัน เลยเผลอทำตัวไม่น่ารักใส่คนอื่นได้ ถ้าเจอแบบนี้คงต้องพยายามทำความเข้าใจว่าเป็นเพราะ being out of emotion control และปล่อยไป แต่หากเจอแบบหลังที่เป็นคนเฮงซวยแบบเนื้อแท้ (หรือโดยสันดาน) อยู่แล้ว ก็ต้องเรียนรู้วิธีแบ่งรับแบ่งสู้อย่างมีชั้นเชิง

วิธีที่ว่านั้นมีสี่แบบด้วยกัน ได้แก่

1. เงียบใส่ไม่ต้องข้องเกี่ยว
2. อยู่ห่างให้ไกลที่สุด (หากโต๊ะทำงานห่างกันอย่างน้อย 45 เมตร ก็ถือว่าอยู่ไกลจากคนเฮงซวยได้ระดับหนึ่ง ยิ่งไกลเท่าไหร่ ยิ่งลดความเสี่ยงเจอความเฮงซวยมากเท่านั้น)
3. เล่นเกมจิตวิทยาวัดกันไป
4. ตอบโต้กลับตรงไปตรงมา (ใช้ใน worst cases แล้วจริง ๆ )

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่เพียงที่จะช่วยให้คุณรับมือกับคนเฮงซวยในที่ทำงาน แต่ยังป้องกันไม่ให้ตัวเองกลายเป็นคนเฮงซวยกับเพื่อนร่วมงานอีกด้วย เพราะลำพังแค่ทำงานให้ดีก็ถือว่ายากแล้ว อย่าสร้างภาระด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของ toxic environment ในที่ทำงานเลย


เลิกคิดเยอะ แล้วลงมือทำ: Who Moved my Cheese?

เมื่อได้ยินชื่อหนังสือครั้งแรก เชื่อว่าหลายคนคิดว่า Who Moved my Cheese (ใครเอาเนยแข็งของฉันไป) เป็นนิทานเล่าให้เด็กฟัง แน่นอนว่ามันถูกต้องครึ่งหนึ่ง เพราะ สเปนเซอร์ จอห์นสัน ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวการตามล่าหาชีสของตัวละคร 4 ตัว (หนู 2 ตัว กับ คน 2 คน) ในเขาวงกตออกมาในรูปแบบ fable หากแต่ fable เรื่องนี้สะท้อนแนวคิดการใช้ชีวิตและการทำงาน ไม่เพียงเด็กที่อ่านได้ ผู้ใหญ่อย่างเราก็ควรอ่านด้วย

Image Source: Goodreads

เนื้อเรื่องมีอยู่ว่าตัวละครทั้งสี่ต้องตามหาชีสภายในเขาวงกต โดยชีสจะถูกเคลื่อนย้ายหนีไปเสมอ เจ้าหนูสองตัวลงมือตามหาชีสทันทีตามสัญชาตญาณของมัน ไม่ได้วางแผนซับซ้อนอะไรมากมาย ส่วนฝั่งมนุษย์นั้นมักบ่นพร่ำคร่ำครวญ ก่อนจะคิดหาทางตามหาชีสด้วยหลักการต่าง ๆ ซึ่งพาไปเจอชีสในที่สุด ทว่าพวกเขากลับไปเจอช้ากว่าฝั่งหนูทุกครั้ง

นี่เองที่ทำให้เห็นว่าคนเรามีโอกาสเจอความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเสมอ ทุกคนล้วนมีความฝัน เป้าหมาย และความปรารถนา (ซึ่งในที่นี้เปรียบเปรยชีสเป็นเป้าหมายชีวิต) ไม่มีใครที่อยากเจอเรื่องไม่คาดคิด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว การรีบลงมือแก้ไขให้ถูกต้องน่าจะเป็นทางออกที่ดี และช่วยพาให้ไปถึงสิ่งที่ต้องการได้ มากกว่ามานั่งโทษฟ้าด่าคนอื่น เพราะนอกจากจะเสียเวลาเปล่าแล้ว ก็อาจเสียโอกาสที่ควรจะได้ไปให้คนอื่นก่อนด้วย


อย่าคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง: Why Zebra don’t get ulcers

แม้หนังสือเล่มนี้จะว่าด้วยกลไกร่างกายทางวิทยาศาสตร์ แต่ข้อเขียนของ โรเบิร์ต ซาโปลสกี ได้ทำให้คนอ่านตกตะกอนและมองเห็นแนวคิดการใช้ชีวิตที่ลึกซึ้งกว่านั้น โดยเนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า เมื่อม้าลายต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอด แน่นอนว่าต้องหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเครียด แต่ทำไมความเครียดของม้าลายถึงไม่ทำให้มันป่วยเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ในขณะที่มนุษย์กลับป่วยเป็นโรคนี้มาก โดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศอย่างเรา ๆ

ภาวะสู้หรือหนี (Flight or Fight) คือสภาวะร่างกายที่เกิดขึ้นกับสัตว์และมนุษย์ มีกลไกสั่งการสารสื่อประสาทในสมองเหมือนกันทั้งนั้น ต่างกันตรงที่สัตว์อย่างม้าลายหรือสิงโตจะสั่งการสมองให้สู้หรือหนีเมื่อเผชิญเหตุการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น เพื่อเอาชีวิตให้รอดจากการเป็นผู้ล่าหรือผู้ถูกล่าในระบบนิเวศของพวกมัน หากแต่มนุษย์มีระบบความคิดซับซ้อนกว่านั้น สิ่งที่ทำให้เราต้องเข้าสู่สภาวะดังกล่าวไม่ใช่หนีการตามล่าใคร แต่เป็นความวิตกกังวลหรือเครียดกับเรื่องงาน เงิน ความสัมพันธ์ และความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันยาวนานเป็นสัปดาห์ นับเดือน หรือนับปี เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาตลอดเวลา ย่อมทำให้ระบบภายในต่าง ๆ เกิดการอักเสบ ไม่สามารถฟื้นฟูเป็นปกติได้ อันนำไปสู่การป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ในที่สุด

Image Source: Goodreads

เรื่องราวใน Why Zebra don’t get ulcers จึงเหมือนเป็นสัญญาณเตือนอยู่ในทีว่าให้รู้จักรักและนึกถึงตัวเองบ้าง จริงอยู่ว่าคุณต้องจริงจังและคร่ำเคร่งกับการทำงานและใช้ชีวิตพอสมควร เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปตามแบบแผนและบรรลุเป้าหมายได้ แต่อย่าปล่อยให้สิ่งเหล่านั้น อันรวมไปถึงสภาพแวดล้อมการทำงานมาครอบงำพื้นที่ความคิดทุกอย่างในชีวิต จนมองข้ามการหาเวลาผ่อนคลายตรงหน้า อะไรที่ยังไม่เกิดก็อย่าเพิ่งไปนึกถึงมัน ก็แค่นั้น


กล้าที่จะพูดความคิดตัวเองออกมา: Ignore Everybody

ช่างหัวคุณสิครับ! ชื่อไทยของหนังสือ Ignore Everybody ผลงานจากปลายปากกา ฮิวจ์ แมคเลาด์ ก็อปปี้ไรเตอร์ที่ตั้งคำถามกับโลกว่า เราจะนึกไอเดียสร้างสรรค์ได้อย่างไรในเมื่อโลกเต็มไปด้วยเรื่องที่กัดกินความรู้สึกผู้คนอยู่ทุกวัน แรงบันดาลใจดี ๆ หาได้จากที่ไหน หรือคนเราจะเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการเป็นคนชอบคิดฝันได้จริงหรือ ทั้งหมดนี้ถูกระบายออกมาด้วยการวาดเป็นรูปลวก ๆ หลังนามบัตรตัวเอง ก่อนจะถูกนำมาตีพิมพ์แปลเป็นหนังสือหลายภาษาทั่วโลก

Image Source: Goodreads

หากคุณทำงานในแวดวงเดียวกับ ฮิวจ์ แมคเลาด์ หรือต้องขายฝัน ขายไอเดียให้ลูกค้าซื้ออยู่แล้วนั้น คงเข้าใจและรู้ซึ้งว่าทุกอย่างไม่ได้ง่ายหรือสวยหรูเหมือนที่คนนอกมองเลยสักนิด หรือต่อให้เขาซื้อไอเดียคุณไปแล้วในที่สุด ก็คงต้องผ่านการทุบและเคี่ยวกรำจนน่วมพอตัว ถึงจะรู้สึกเข็ดขยาดแค่ไหนก็เลี่ยงไม่ได้อยู่ดี เพราะคุณได้เลือกมาทำงานตรงนี้แล้ว เมื่อรู้ว่าต้องเจออะไรบนเส้นทางนี้บ้าง ก็อย่าได้กลัวหรือยอมแพ้มันไปเสียก่อน แต่จงนำเสนอทุกความคิดออกมาให้เขารู้ว่าคุณเจ๋งแค่ไหน เหมือนที่ฮิวจ์บอกไว้ว่า You are responsible for your own experience. Nobody can tell you if what you’re doing is good, meaningful, or worthwhile.


เชื่อมั่นและซื่อสัตย์กับงานที่ทำ: No Rules Rules: Netflix and the Culture of Reinvention

หากจะไม่พูดถึง No Rules Rules คงไม่ได้ ต้องยอมรับว่าเป็นหนังสือแห่งยุคสมัยกันทีเดียว เพราะนอกจากจะติดหนึ่งใน shortlisted ของหนังสือธุรกิจของ Financial Times & McKinsey ประจำปี 2020 แล้ว เรื่องราวที่ รีด ฮาสติงส์ และ เอริน เมเยอร์ สองผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายทอดออกมานั้น ยังเหมาะกับการทำงานยุคดิจิทัลมาก ๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการอยู่ให้รอดและรุ่ง

Image Source: Bookdepository

หัวใจสำคัญในการรับมือกับงานชวนปวดหัว (ซึ่งมาจากตัวงานและความเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น) มี 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ เชื่อมั่นในทีม ซื่อสัตย์กับงานที่ทำ ที่สำคัญ ไม่เลียนาย ซึ่งถือเป็นสูตรสำเร็จขั้นพื้นฐานของการทำงานที่เน็ตฟลิกซ์ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดเดินหน้าสักวัน หากอยากตามโลกให้ทันก็ควรโฟกัสกับเป้าหมายของงานและคนที่เราทำงานร่วมด้วย ซึ่งเป็นวิธีทำงานที่ช่วยให้เราคิดหาวิธีแก้ไขเมื่อเจอปัญหาได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เน้นผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร มากกว่าความพึงพอใจของใครคนใดคนหนึ่ง

Source:  Rochester / Newscientist/ Diamond Alexander

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line