Entertainment

ทำไม The 1975 ถึงเปิดอัลบั้มด้วยเพลงชื่อ The 1975 ทุกครั้ง?

By: GEESUCH October 21, 2022

อัพเดทข่าวดีของ #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต ปี 2023 เมื่อวงดนตรีตัวแทนความรู้สึกของชาวมิลเลนเนียม The 1975 ประกาศมาเมืองไทยเป็นครั้งที่ 3 ในเดือนเมษายนปีหน้า โดยก่อนหน้าก็เพิ่งปล่อยอัลบั้มชุดใหม่ Being Funny In a Foreign Language ไปไม่นาน จนเกิดเป็นกระแส The 1975 Fever ทั่วบ้านทั่วเมืองกันอีกครั้ง  

เมื่อพูดถึงการออกอัลบั้มใหม่ของวงนี้ มันจะมีวัฒนธรรมอยู่หนึ่งอย่างที่ใครหลายคน (รวมถึงเราเอง) รอคอยที่จะได้เจอทุกครั้ง ก็คือ Costume & Make Up ของวงนั่นเอง ไม่ใช่! (จริง ๆ อันนั้นก็รอแหละ) มันคือการรอฟังว่าเราจะได้เจอกับเพลงแบบไหนใน ‘อินโทรแทร็คแรก’ ที่ชื่อเดียวกับวง The 1975 อันเป็นเพลงเปิดของทุกอัลบั้ม ที่จะแนะนำว่าเราจะเจอกับเพลงประมาณไหนในอัลบั้มนั้น 

Mangosteenfest Presents “THE 1975 : At their very best” live in Bangkok 2023

และเนื่องจากผู้เขียนเป็นติ่งวง The 1975 อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2013 (9 ปี!) ตั้งแต่ที่วงปล่อยอัลบั้มแรก อยากชวนวิเคราะห์กันหน่อยดีกว่าว่ามีเหตุผลอะไรให้เพลง The 1975 เกิดขึ้น และจำเป็นต้องอยู่แทร็คแรกสุดของอัลบั้มอย่างสม่ำเสมอจนถึงตอนนี้


The 1975 กับวรรณกรรม On The Road ของ Jack Kerouac 

เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา Matthew Healy (ร้องนำ), Adam Hann (กีตาร์), Ross MacDonald (เบส), George Daniel (กลอง)

ขอเล่าย้อนกลับไปในช่วงเวลาหลังจากที่เพื่อนทั้ง 4 คนจากไฮสคูล Wilmslow High ประกอบไปด้วย Matthew Healy (ร้องนำ), George Daniel (กลอง), Adam Hann (กีตาร์), Ross MacDonald (เบส) เพิ่งเรียนจบไม่นาน

ที่ต้องรู้ก่อนเลย คือก่อนจะเป็นชื่อวงด้วยเลขปีที่เรารู้จักกันนั้น พวกเขาเคยใช้ชื่อเหล่านี้มาก่อน Forever Enjoying Sex, The Slowdown, Bigsleep และ Drive Like I Do ชื่อหลังสุดเป็นโปรเจ็คที่แมทธิวบอกว่าทำค้างเอาไว้ก่อน เดี๋ยวเวลาเหมาะสมจะกลับมาทำอีกครั้ง

หลังจากที่เล่นดนตรีด้วยกันมาตั้งแต่ไฮสคูลจนเรียนจบ ในปี 2012 กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มทั้ง 4 คน .. ตอนนั้นแมทธิวอายุได้ 19 ปี เขาไปเยี่ยมญาติในช่วงหน้าร้อน และได้หนังสือที่ชื่อ On The Road ของ Jack Kerouac มาอ่าน (ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Library House ในชื่อ ‘สู่หนไหน’) บนปกหลังของหนังสือเล่มนั้นมีคำว่า “1st June – The 1975” เขียนเอาไว้อยู่ หลังจากนั้นคงพอจะเดากันได้ใช่มั้ยครับว่าเกิดอะไรขึ้น  

วรรณกรรม On The Road เขียนโดย Jack Kerouac

จุดสังเกตุหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดของ The 1975 คือการเป็นวงที่เชื่อเรื่อง ‘ชื่อที่เหมาะสม’ มาก จากการเปลี่ยนชื่อวงถึง 4 ครั้งก่อนที่จะมาลงตัว เหมือนกับว่าทุกชื่อจะต้องมีความหมายกับวงจึงจะสามารถไฟนอลให้ใช้ได้ เอาจริง ๆ ถ้าพูดถึงชื่อเพลงของ The 1975 เพลงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อินโทรแทร็คแรกแล้ว ก็ดูเหมือนจะมีความประณีตในการตั้งชื่อค่อนข้างมากเหมือนกัน พวกเขามักจะไม่ค่อยมีชื่อเพลงที่ซ้ำกับวงอื่นแถมการตั้งชื่อก็มีความหลากหลายมาก บางครั้งก็ยาวสุด ๆ บางครั้งก็สั้นนิดเดียว แต่ที่เจ๋งคือชื่อเพลงเหล่านั้นสามารถเป็นตัวแทนภาพรวมของเพลงได้อย่างดี เช่น It’s Not Living (If It’s Not With You), I Always Wanna Die (Sometimes), Jesus Christ 2005 God Bless America เป็นต้น และชื่อวง The 1975 ที่ไม่เคยมีวงไหนใช้มาก่อน ทั้งยังเป็นชื่อที่ทำให้ทั้งโลกได้รู้จักพวกเขา ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่มีความหมายมากพอแล้วสำหรับการเป็นชื่อของอินโทรเพลงแรกของทุกอัลบั้ม


ความหมายของ The 1975 ที่เนื้อร้องเหมือนกัน แต่ดนตรีเปลี่ยนไป

Go down

Soft sound

Midnight

Car lights

Playing with the air

Breathing in your hair

Go down

Soft sound

Step into your skin?

I’d rather jump in your bones

Taking up your mouth, so you breathe through your nose

นี่คือเนื้อเพลงของอินโทร The 1975 ที่ใช้เหมือนกันใน 3 อัลบั้มแรก โดยมีคอนเซปต์ว่า ‘เนื้อร้องเดิม-ดนตรีเปลี่ยน’ และ Mood & Tone ก็จะมีความเป็นเพลงโหมโรง เป็นมหากาพย์ใหญ่ ๆ ราวกับซีนเปิดตัวในหนังสักเรื่อง ก่อนจะเข้าสู่เพลงที่ 2 ในอัลบั้มอย่างสง่างามทุกครั้ง

ในปีที่ The 1975 เดบิวต์อัลบั้มเดียวกับชื่อวงในปี 2013 ตัววงถูกวางสี CI ออกมาเป็น ‘ขาว-ดำ’ พร้อมแต่งตัวแบบ All Black มาเลย ดนตรีก็จะค่อนไปทาง British Rock เกรี้ยวกราดเป็นส่วนใหญ่ เนื้อหาของเพลงพูดถึงความสัมพันธ์ ความรัก ความขบฎของวัยรุ่น และแน่นอนเป็นช่วงเวลาที่ทำห้รู้สึกถึงตอนกลางคืนทุกครั้ง ย้อนกลับไปดูได้เลยว่าเอ็มวีแทบทุกตัวในตอนนั้นใช้ภาพเป็นสีขาว-ดำเกือบหมด ซึ่งตรงนี้เองก็จะเห็นว่าเนื้อเพลงของอินโทร The 1975 ค่อนข้างจะซัพพอร์ตภาพของวงในตอนนั้นเหลือเกิน จะพูดว่าถูกแต่งมาเพื่อนิยาม The 1975 ของปี 2013 เราว่าก็ค่อนข้างจะจริงอยู่นะ 

(ซ้าย) The 1975 / (ขวา) I Like It When You Sleep For You Are So Beautiful Yet So Unaware Of It

ความวายป่วงเกิดขึ้นกับวงในอัลบั้มชุดที่ 2 ชื่อ I Like It When You Sleep For You Are So Beautiful Yet So Unaware Of It ในปี 2016 ที่เรียกว่าแทบจะโละ All Black ของชุดแรกทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็น Colorful ที่ใช้สีชมพูนำไปเลย ก็เรียกว่าค่อนข้างถูกแฟนเพลงจากชุดก่อนที่ชอบภาพของ All Black ไปแล้ว โจมตีอย่างหนัก เป็นวงร็อคจะมุ่งหน้าสู่เพลงป็อปได้ไง (แล้วทำไมถึงไม่ได้อะ) ถ้าลองเปิดภาพปกอัลบั้มดู ก็จะเห็นว่าชุด 1 กับชุด 2 ใช้ภาพปกเดียวกันเป๊ะ เปลี่ยนแค่ภาพสีของหลอดไฟที่ใช้เท่านั้น ส่วนอินโทรแทร็คแรกเพลง The 1975 ของทั้ง 2 ชุดนี้ดนตรีไม่ได้ต่างกันมากเท่าไหร่ แต่ก็จะมีความป็อปบางอย่างในตัวอินโทรของอัลบั้มนี้ ที่แอบเล่าว่าเราจะเจอเพลงประมาณไหนอยู่บ้างอยู่เหมือนกัน   

ว่ากันด้วยภาพรวมของ The 1975 ในชุดที่ 3 ที่ชื่อ A Brief Inquiry Into Online Relationships ปี 2018 เรารักพาร์ทที่มีความเป็น Jazz, Gospel, Soul ที่ดนตรี Black Music ดูมีอิทธิพลกับวงในตอนนนั้นมากกก ซึ่งแนวดนตรีตรงนี้มันยังส่งผลถึงอินโทร The 1975 ในครั้งนี้ด้วย ทำให้เพลงค่อนข้างไปคนละทางกับสองชุดที่ผ่านมาเลย ส่วนแมทธิวให้สัมภาษณ์เรื่องคอนเซปต์เอาไว้แบบนี้

A Brief Inquiry Into Online Relationships

“ในตอนแรกเรามีอินโทร The 1975 หลายแบบมาก แต่ไม่มีแบบไหนที่ถูกใจสักที จนกระทั่งเหลืออีก 2 วันสุดท้ายก่อนจะต้องเข้าห้องอัดจริง ผมเลยลองไปนั่งเล่นเปียโนดูเล่น ๆ แล้วบังเอิญได้คอร์ดแบบที่ถูกใจมาในที่สุด”    

และเมื่อถูกถามว่าตัววงจะทำเพลงอินโทร The 1975 ไปตลอดเลยรึเปล่า นี่คือคำตอบ 

“เราคิดว่าจะเก็บธีมนี้ไปตลอดนะ มันจะเป็นป้ายบอกทางว่า The 1975 อยู่ตรงนี้เสมอ แทนที่จะถ่ายรูปใครสักคน เพลงก็เป็นเหมือนการถ่ายวิดีโอเก็บเอาไว้แทน” 


The 1975 ในอัลบั้มที่ 4 กับการยืนข้างเดียวกับโลก

Greta Thunberg & Matthew Healy

Greta Thunberg คือชื่อของเด็กหญิงชาวสวีเดนอายุ 16 (ในตอนนั้น) ที่ในปี 2020 ไม่มีใครไม่รู้จักเธอ นี่คือนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องเรื่อง ภาวะโลกร้อน (Climate Change) อย่างหนักหน่วง จนกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์โลก ถึงขนาดเกรต้าได้ขึ้นปกนิตยสาร Times เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของปีนั้นด้วย และเธอเกี่ยวกับอินโทรของ The 1975 ในชุดที่ 4 ชื่อ Notes on a Conditional Form

สามารถพูดได้เลยว่าอินโทร The 1975 ในครั้งนี้ มีดนตรีเป็นพื้นรองให้กับสุนทรพจน์ 2,244 ตัวอักษร ของเกรต้าได้แสดงพลังความหมายที่เธอต้องการจะสื่ออย่างเต็มที่ มันคือ Speech ให้มนุษย์ตระหนักถึงการล่มสลายของสิ่งแวดล้อมของโลก ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการล่มสลายของมนุษยชาติ (ตอนมาไทย The 1975 เปิดด้วยอินโทรตัวนี้ งดงามน้ำตาไหล)

Notes on a Conditional Form

อินโทรในครั้งนี้เป็นการใช้ดนตรีแสดงจุดยืนที่อยู่ข้างเดียวกับโลก และในขณะเดียวกันแมทธิวก็ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ genius ว่า เขาต้องการให้วงพูดถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือทันสมัย (modern) ที่สุดเสมอ และในช่วงเวลาที่ Covid เพิ่งมาใหม่ ๆ ถ้อยแถลงของเกรต้าก็มีอิทธิพลกับโลก ณ ช่วงเวลาของปี 2020 มาก ๆ ซึ่งวงต้องการแสดงถึงสิ่งนี้ออกไปเช่นกัน จึงให้เธอมาบันทึกเสียง โดยที่พวกเขามองว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกรต้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อปเล็ก ๆ น้อย ๆ ของใครบางคนเท่านั้น


  The 1975 อัลบั้มที่ 5 การเติบโตอีกครั้งของ Matthew Healy 

Being Funny In a Foreign Language

ตั้งแต่อัลบั้มชุดที่ 4 จนเรื่อยมาถึงอัลบั้มชุดล่าสุด Being Funny In a Foreign Language ในปี 2022 ที่เพิ่งปล่อยออกมาไม่นาน อินโทรของ The 1975 ก็ไม่เคยนำคอนเซปต์ ‘เนื้อร้องเดิม-ดนตรีเปลี่ยน’ กลับมาใช้อีกเลย แม้ว่าในอัลบั้มนี้จะเป็นเสียงของแมทธิวกลับมาร้องเอง แต่มันก็ไม่มีอะไรเหมือนเดิมกับที่ The 1975 ทำมา เพราะอินโทร The 1975 ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่อินโทรยาว 1 นาทีนิด ๆ แต่ได้กลายเป็นเพลงยาว 4 นาทีที่เรียบเรียงมีต้น กลาง จบไปเลย!

เนื้อร้องที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ในอินโทรครั้งนี้ แมทธิวบอกว่ามันคือการทบทวนกับตัวของเขาเองในวัย 33 ปี ช่วงเวลาที่โควิดเข้ามามีผลกระทบกับชีวิตอย่างหนักเป็นเวลาเกิน 2 ปี และเกี่ยวโยงกับตอนปี 2020 ที่เขาปิดแอคเคาต์ twitter ของตัวเอง หลังจากที่โดนวิจารณ์อย่างหนักกับการทวีตเรื่องการสังหาร George Floyd โดยตำรวจผิวขาว จนเกิดกระแสทางสังคม Black Lives Matter ไปทั่วโลกขึ้น โดยที่แมทธิวใช้เพลง Love It If We Made It ของตัวเองสื่อสารเจตนารมณ์ในครั้งนั้น และคนคิดว่าเขาโปรโมทเพลงของตัวเอง .. 

ทวีตถึงเหตุการณ์ George Floyd ของแมทธิว

แมทธิวบอกว่าตัวเองเติบโตขึ้นมากในอัลบั้มชุดนี้ ทั้งในทางสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ เขาต้องการเป็นนักเขียนที่ดีในเรื่องที่ตัวเองพูด และเมื่อพูดถึงสังคมกับการเมือง เขาก็คิดว่าตัวเองไม่สามารถเป็นกลางได้อย่างแน่นอน


The 1975 (2022)

ในวันที่ The 1975 เดินทางไกลด้วยระยะเวลา 9 ปี (นับตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก) ตัววงก็ยังคงเลือกใช้ชื่อวง The 1975 เป็นอินโทรอยู่ในตำแหน่งเพลงแรกสุดของอัลบั้มเสมอ ไม่ว่าอะไรในช่วงเวลานั้นจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายขนาดไหน เพื่อแสดงความเคารพต่อจุดเริ่มต้นที่ออกสตาร์ท และสำหรับเราคนฟังเอง มันยังเป็นการสื่อสารออกมาว่า

“ไม่ว่าจะอย่างไร เพลงของ The 1975 จะถูกแสดงออกแบบที่เคารพตัวเองและคนฟังทุกครั้งเสมอไป”


 Source : 1 / 2 / 3 / 4 / 5

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line