CARS

THE ICONIC CARS: ‘โฟล์คสวาเกน บีเทิล’ตัวแทนวัฒนธรรมคลาสสิกของมนุษย์กับรถยนต์

By: SPLESS January 16, 2020

21,529,464 คัน คือยอดการผลิตทั้งหมดของรถยนต์ โฟล์คสวาเกน บีเทิล (Volkswagen Beetle) ตลอดระยะเวลา 65 ปี ทำให้รถยนต์ที่เราเรียกกันอย่างคุ้นปากว่า “โฟล์คเต่า” เป็นรถที่ออกแบบครั้งเดียว แต่สามารถทำยอดขายได้สูงสุด รวมถึงมีระยะเวลาการผลิตนานที่สุด

ทว่าตัวเลขและยอดขายกลับไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ โฟล์คสวาเกน บีเทิล เป็นหนึ่งในความคลาสสิก เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างบีเทิลกับผู้คนทั่วโลกต่างหากที่ผลักให้โฟล์คสวาเกน บีเทิลคือหนึ่งในเรื่องราวคลาสสิกตลอดกาลแห่งโลกยนตรกรรม

ตลอดระยะเวลาเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา โฟล์คสวาเกน บีเทิล ฝากความทรงจำอะไรเอาไว้ให้โลกใบนี้บ้าง?

stern

รถยนต์ของประชาชน

หลายท่านทราบถึงจุดเริ่มต้นของโฟล์คสวาเก้น บีเทิล ในฐานะ “The People’s Cars” แนวคิดจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำแห่งไรช์ที่ 3 หรือเยอรมนีในปัจจุบัน มองว่ารถยนต์ส่วนใหญ่นั้นหรูหราและฟุ่มเฟือยเกินไป จึงอยากให้มีการผลิตรถครอบครัวราคาถูกที่สมรรถนะดี แต่ประหยัดน้ำมันและค่าบำรุงรักษาไปในเวลาเดียวกัน เพื่อเป็นรถยนต์ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

แนวคิดดังกล่าวถูกส่งต่อให้ แฟร์ดีนันท์ พอร์เชอ วิศวกรรถยนต์ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบรถที่โดดเด่นจำนวนมาก นำไปสู่การสร้าง Volkswagen Type I และบริษัทโฟล์คสวาเกนขึ้น น่าเสียดายที่การเริ่มต้นของบีเทิลต้องหยุดกะทันหันเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 การรบที่เข้มข้นขึ้นทำให้รถครอบครัวที่ใช้งานง่ายไร้ปัญหาคันนี้ นำไปใช้ในกองทัพ หน่วย Afrika Korp และถูกเรียกว่า KdF-Wagen

หลังสงครามสิ้นสุด เยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม สถานการณ์ล่อแหล่มมากสำหรับโฟล์คสวาเกนเพราะถูกควบคุมโดยฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอังกฤษ และด้วยสนธิสัญญาและการควบคุมประเทศแพ้สงครามที่ระบุว่าเยอรมนีผลิตรถยนต์ได้ไม่เกินร้อยละ 10 จากปี 1963

โชคดีที่อังกฤษเห็นว่าโฟล์คสวาเกนเป็นแบรนด์รถราคาถูกเลยไม่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ รวมถึงเยอรมนีได้รับการผ่อนปรนจากฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้โฟล์คสวาเกนผลิต Type I เพิ่มมากขึ้นทุกปี ๆ โดยไม่ทราบเลยว่ารถยนต์ที่พวกเขาผลิตนั้นได้เดินทางไปถึงมือผู้คนทั่วโลกและกำลังจะสร้างเรื่องราวและความทรงจำขึ้นมา รวมถึงประเทศไทยที่เริ่มออกวางขายครั้งแรกปี 1952 โดย 3 ปีต่อมาโฟล์คสวาเกน บีเทิลก็ผลิตครบ 1 ล้านคันพอดี

60’ – 70’  ยุคทองของบีเทิลและการเข้าสู่วัฒนธรรมหลัก 

ปี 1960 ความนิยมล้นหลามทำให้โฟล์คสวาเกน บีเทิลขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเบลเยียม บราซิล เม็กซิโก อินโดนีเซียและอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะทวีปอเมริกาเหนือ นอกจากเสน่ห์ในการขับขี่ในชีวิตประจำวันที่ง่ายและมีสไตล์แล้ว สิ่งที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักโฟล์คสวาเกน บีเทิลมากขึ้นก็คือวงการภาพยนตร์และศิลปะในช่วงเวลานั้นนั่นเอง

โฟล์คสวาเกน บีเทิล ปรากฏโฉมในภาพยนตร์หลากหลายเรื่อง แต่ที่โดดเด่นนั้นคงต้องย้อนกลับไปยังปี 1963 ภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง It’s a Mad Mad Mad Mad World เรื่องราวการตามล่าเงินข้ามประเทศสุดวุ่นวายที่มี Volkswagen Convertible (Type I) คันสีแดงเป็นพาหนะประจำเรื่อง ถือเป็นอีกหนึ่งหนังคลาสสิกของบีเทิลเลยก็ว่าได้

แต่ภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลที่สุดต่อโฟล์คสวาเกน บีเทิลในยุค 60’s คงหนีไม่พ้น Herbie: The Love Bug ภาพยนตร์จาก Walt Disney ปี 1968 เรื่องราวว่าด้วยความรักของหนุ่มนักแข่งรถเจ้าของ Volkswagen Beetle รุ่นปี 1963 ตัวหนังประสบความสำเร็จท่วมท้น ทำให้ไม่เพียงในสหรัฐอเมริกา แต่ผู้คนทั่วโลกต่างอยากมีรถยนต์คู่ใจเป็นบีเทิลเหมือนกับ Herbie นี่จึงถือเป็นภาพยนตร์จุดประกายเริ่มต้นการสร้างชื่อให้โฟล์คสวาเกนเลยก็ว่าได้

ยุคต่อมา โฟล์คสวาเกน บีเทิล ยังปรากฏในภาพยนตร์จำนวนมาก ทั้ง Double Trouble (1967) พร้อมพระเอก Elvis Presley รวมถึงสุดยอดภาพยนตร์สั่นประสาทอย่าง The Shinning

แต่คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนถ่ายทอดอารมณ์การใช้ชีวิตคู่กับโฟล์คสวาเกน บีเทิลได้ดีไปกว่าบทของ Kevin Bacon จากภาพยนตร์คลาสสิกอย่าง Footloose (1984) ที่ทำให้หนุ่ม ๆ ทั่วโลกฝันอยากคุมพวงมาลัยบีเทิลสีเหลืองสักครั้งในชีวิต ขณะที่หนังและการ์ตูนในยุคปัจจุบันหลายเรื่องยังคงมีโฟล์คสวาเกน บีเทิล ปรากฏตัวอยู่ด้วย ทั้ง Transformers และ The Simpsom

ปี 1985 นอกจากภาพยนตร์แล้ว โฟล์คสวาเกน บีเทิล ยังปรากฏตัวบนงานศิลปะ แถมเป็นผลงานของศิลปินชื่อดังอย่าง Andy Warhol หนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดที่ชื่อ Volkswagen (Lemon) ผลงานโฆษณาที่แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายแต่ประสบความสำเร็จของ โฟล์คสวาเกน บีเทิล  โดยถ่ายทอดออกมาผ่านบีเทิลสีเขียวสนามหญ้าบนพื้นหลังสีน้ำเงินซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นผู้บริโภคในยุคนั้นให้หันมาเลือกซื้อสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นมากกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนให้ผู้คนทั่วโลกต้องการเป็นเจ้าของโฟล์คสวาเกน บีเทิล ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน ไฟหน้าทรงอะไร ทั้งเครื่องยนต์ 1,100 ซีซี 1,600 ซีซี ยุคสมัยดังกล่าวโฟล์คสวาเกน บีเทิล กลายมาเป็นอีกหนึ่งสมาชิกของหลายครอบครัวไปโดยปริยาย

 

 

เสื่อมความนิยม (ต่อคนบางส่วน) และสิ้นสุดสายการผลิต

หลังจากกราฟความนิยมพุ่งสูงเป็นเวลานาน เมื่อเข้าสู่ปี 1974 ดีไซน์และสมรรถนะของบีเทิลเริ่มถูกมองว่าตกรุ่น หากเทียบกับรถรุ่นใหม่ที่อยู่ในตลาด โฟล์คสวาเกนพยายามสร้างรถรุ่นใหม่ออกมาคือโฟล์คสวาเกน กอล์ฟ โดยประกาศเป็นรถรุ่นต่อเนื่องอย่างเป็นทางการของบีเทิล ที่ช่วยพยุงฐานะทางการเงินของบริษัทเอาไว้ได้ ขณะที่บีเทิลถูกลดฐานการผลิตเหลือเพียงที่ประเทศเม็กซิโก

ปี 2002 ยอดผลิตของโฟล์คสวาเกน บีเทิลเหลือเพียง 30,000 คัน/เดือน ทำให้โฟล์คสวาเกนตัดสินใจหยุดการผลิตบีเทิลอย่างเป็นอย่างการเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2003 โดยรถคันสุดท้ายที่ผลิตมีชื่อว่า “El Rey” หรือราชันย์นั่นเอง แม้ต่อมาโฟล์คสวาเกนจะเข็นรถรุ่นใหม่อย่าง นิว บีเทิล ออกสู่ตลาดแต่ก็แทนตำแหน่งที่บีเทิลคลาสสิกทำไว้ไม่ได้

การยุติการผลิตไม่ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกเลิกสนใจโฟล์คสวาเกน บีเทิล เพราะยังมีกลุ่มคนที่หลงใหลบีเทิลที่ยังคงใช้งาน ซ่อมแซมและซื้อขายโฟล์คสวาเกน บีเทิลหลากหลายรุ่นอยู่เสมอ แม้รถแต่ละคันจะเริ่มเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา และรถที่มีสภาพสมบูรณ์ก็เหลือน้อยลงไปทุกที

รู้ตัวอีกครั้งคือปี 2000 เหล่าโฟล์คสวาเกน บีเทิล รุ่นปี 50’s – 70’s กลายเป็นรถคลาสสิกหายากที่มีราคาพุ่งทะยานขึ้น และไม่มีแนวโน้มจะตกลง เพราะนี่คือยนตรกรรมแห่งยุคสมัยที่กาลเวลาไม่เคยทำให้เรื่องราวและความน่าประทับใจลดน้อยลงเลยสำหรับคนที่หลงใหลในบีเทิล

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line