Life

THE LIFE ON DECK: PREDUCE บาดแผล มิตรภาพ หยาดเหงื่อ ศิลปะ กับชีวิตบนกระดานไม้ที่ขับเคลื่อนตามฝัน

By: Thada April 18, 2018

UNLOCKMEN ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดมามากมายในช่วงที่ผ่านมา จนหลายคนอาจจะคิดว่าทำไมถึงหยิบประเด็นสเก็ตบอร์ดซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัว ดูไม่ค่อยจะเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์คนไทยเสียเท่าไหร่ แต่วันนี้เรามีกลุ่มคนที่รวมตัวกันมากว่า 20 ปี เพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และเป็น passion ส่งต่อเรื่องราว พร้อมสร้างวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ด ใช้เวลาบ่มเพาะตัวเองจนก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มแถวหน้า แถมยังคอยผลักดันวงการสเก็ตบอร์ดไทยให้ก้าวไปไกลถึงระดับโลก ด้วยผลงาน mixtape รวมถึงบริษัทของตัวเอง  “Preduce Skateboards”

Preduce คือกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อจุดมุ่งหมายหนึ่งเดียว นั่นคือหัวใจที่รักกีฬาสเก็ตบอร์ด ก่อนจะสร้างตัวจนกลายเป็น Pro Skate ทีมอันดับต้น ๆ ของประเทศ พวกเขาถือว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดให้เปิดกว้าง และเป็นที่แพร่หลายสำหรับเด็กวัยรุ่นอีกด้วย แม้แต่คนที่อาจจะไม่เคยเล่นสเก็ตบอร์ดมาก่อน หากหลงใหลในวัฒนธรรมไลฟ์สไตล์กระดาน 4 ล้อ ชื่อ Preduce จะต้องเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างอย่างแน่นอน ซึ่งวันนี้ทีมงาน UNLOCKMEN จะขอนำทุกท่านไปรู้จักกับพวกเขา รวมถึงเบื้องหลังวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดที่เราอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

หลังจากนัดคิวกันอยู่เนิ่นนาน เพราะสมาชิกแต่ละคนล้วนมีงานที่รัดตัว ต้องเดินไปทางไปโชว์ตามประเทศต่าง ๆ กว่าจะรวมตัวกันได้ครบจึงต้องใช้เวลาเกือบเดือน แต่หลังจากที่พวกเขาเคลียร์คิวได้ ก็รีบตอบตกลงคอนเฟิร์มนัดกับเรา ให้เดินทางไปพูดคุยกันที่ร้านสยามสแควร์ ก่อนที่จะชวนเราออกไปเล่นสเก็ตกันต่อยังสถานที่ประจำในช่วงบ่าย

ทำให้บรรยากาศการพูดคุยในช่วงเช้าเป็นไปอย่างสบาย ก่อนที่จะเข้มข้นขึ้นพร้อมกับแสงแดดร้อน ๆ ในยามบ่ายวันนี้  ซึ่งคนที่ออกมาต้อนรับเราเป็นคนแรกพร้อมเปิดประตูร้านเชิญให้ทีมงานเข้ามานั่งระหว่างรอสมาชิกคนอื่น ๆ ก็คือ คุณ เต๋า กิจพูลลาภ Pro-Skate และหนึ่งในผู้ก่อตั้งทีม Preduce

เต๋า กิจพูลลาภ

จุดเริ่มต้นของทีม PREDUCE

“เราน่าจะทำอะไรที่มันจริงจังกว่าแค่การเล่นสเก็ตบอร์ดนะ”  ถือเป็นจุดเริ่มต้นย้อนกลับไปสำหรับทีม Preduce ในปี 2003 ก่อนที่จะเปิดร้านแฟชั่นสโตร์ที่สยามสแควร์ในปี 2006 และยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้

“ตอนนั้นก็เป็นเด็ก เริ่มเล่นสเก็ตบอร์ดกันอายุ 10 กว่า ๆ  ส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างจังหวัด อย่างผมก็จะเป็นกลุ่มลำปาง เชียงใหม่ เวลามีแข่งสเก็ตที่กรุงเทพก็จะมารวมตัวกัน แข่งไปแข่งมา กลายเป็นเพื่อนเล่นสเก็ตด้วยกันโดยปริยาย ซึ่งย้อนกลับไปน่าจะประมาณ 17-18 ปีล่ะ

พวกเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ตั้งแต่เดินทางด้วยกัน นั่งรถคันเล็ก ๆ อัดมาหลายคนได้ห้าหกปี อยู่บ้านหลังเดียวกัน 20 กว่าคน เมาด้วยกัน โตด้วยกัน จนกล้าเรียกได้เต็มปากว่า นี่คือครอบครัวจริง ๆ “

แล้วการมาเริ่มก่อตั้งแบรนด์ที่เป็นรูปเป็นร่างสำหรับแบรนด์ Preduce นั่นเกิดขึ้นในปี 2006 โดย

ตอนนั้นเหมือนเป็นทีม Preduce เฉย ๆ ไม่คิดว่าจะทำอะไรกันต่อ ซึ่งอยู่ดี ๆ คุณหนึ่ง อาทิตย์ พันนิกุล (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Preduce) ก็สกรีนเสื้อมาให้ใส่แล้วบอกว่าเราจะเป็นทีม Preduce  ซึ่งเขาเปิดร้านสเก็ตบอร์ดที่อุบลชื่อ Preduce อยู่แล้ว ส่วนไอ้คำว่า Preduce มันมาจากภาษาไทย “พลิ้วดี” เหมือนสไตล์ของทีมเรา เล่นพลิ้วดี จนได้มาเจอหุ้นส่วนอีกคน มาเล่นสเก็ตบอร์ดด้วยกันจากสวิตเซอร์แลนด์ คุณหนึ่งกับคุณไซม่อนเลยคุยกันว่า เราน่าจะทำอะไรที่จริงจังกว่านี้นะ เลยเปิดเป็นบริษัทสเก็ตบอร์ดขึ้นมา ในยุคนั้นน่าจะเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยเลยนะ”

“ปัจจุบัน Preduce เป็นบริษัทสเก็ตบอร์ดที่มีร้านค้าคือสยามสแควร์ซอยหนึ่ง ตอนนี้มีสาขาเดียว และเป็นตัวแทนจำหน่ายนำเข้าสินค้าแบรนด์สเก็ตบอร์ด เสื้อผ้า รองเท้า หลากหลายยี่ห้อชั้นนำ เรายังมีผลิตสเก็ตบอร์ด เสื้อผ้า ของตัวเอง มีทีมสเก็ตบอร์ดมืออาชีพเทิร์นโปร มีเงินเดือนจ่ายอย่างจริงจัง แต่พวกเราไม่ได้เน้นแข่งขัน จะเป็นเชิงบันทึกวิดีโอถ่ายคลิป ถ่ายรูปลงหนังสือมากกว่า”

วัฒนธรรมสเก็ตบอรด์ในเมืองไทย

เคยโดนตำรวจจับบ่อยมาก เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจการที่เรามาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่งตัวไม่เหมือนชาวบ้าน ดูเกเรอันธพาลบ้าง แต่เราไม่ได้ทำอะไรผิดเรา แค่เล่นสเก็ตกันเท่านั้น

หากจะพูดถึงสเก็ตบอร์ดกับสังคมไทย อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสอดคล้องกันเท่าไหร่ เพราะหลายคนยังมองว่าเป็นกิจกรรมที่อันตรายเกินไป เลยสั่งห้ามไม่ให้เล่นกีฬาประเภทนี้ และอาจจะแนะนำให้ไปเล่นดนตรีแทนเสียดีกว่า ลองถามคุณเต๋าว่าเคยเจอปัญหาดังกล่าวบ้างหรือไม่

มีบ้างครับ เราเป็นคนไทยนะ ต้องเตะตะกร้อดิ ใส่ชุดไทยอะไรอย่างงี้ ทำไมไปรับวัฒนธรรมอื่น เคยโดนมองว่าเป็นพวกเกเรอันธพาลด้วย ผมก็เลยสงสัยว่าถ้างั้นพวกคุณตีกอล์ฟทำไม ใส่เสื้อ POLO ทำไม แต่พวกเราไม่แคร์เพราะเปลี่ยนมุมมองความคิดใครไม่ได้ “

เก่ง จักรินทร์

อธิบายได้ไหมว่าทำไมพวกผู้ใหญ่ถึงคิดเช่นนั้น 

“อย่างแรกเลยคงเป็นเรื่องการแต่งตัว เพราะสเก็ตบอร์ดมันไม่มีกฎเกณฑ์เนอะ เราเลยสามารถแต่งแบบไหนก็ได้ แต่งตัวไม่เหมือนชาวบ้านเขา พฤติกรรมก็ไม่เรียบร้อย แถมชอบนัดรวมตัวกันตอนดึกออกมาเล่นสเก็ตด้วย จริง ๆ มันหลายอย่างเวลาเขาสั่งห้าม เราก็ไม่ฟัง มันเลยดูเกเร ทั้งที่มันอาจไม่ผิดก็ได้นะ (ขำ) เพราะไปไหนก็โดนตำรวจตรวจประจำ แต่เราไม่ได้ทำอะไรผิด แค่มารวมกลุ่มกันเล่นสเก็ต

สุดท้ายใครก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเรามีอิสระทางความคิดไม่มีกรอบจำกัด” 

โจเซฟ สิรินัท

ถ้าอย่างนั้นอยากฝากอะไรถึงผู้ใหญ่เราบ้านเราบ้างไหม

“คิดว่ามันคือหน้าที่เขาเลยนะ ในการจัดหาพื้นที่ให้วัยรุ่นปลดปล่อยพลังงาน มีสถานที่แฮงค์เอาท์ทำกิจกรรม ซึ่งสเก็ตบอร์ดเป็นกิจกรรมสากลแล้วตอนนี้มันควรจะมีพื้นที่ให้พวกเราบ้าง ไม่ต้องไปเล่นแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ก็ดูไม่ดีอีก ภาครัฐควรต้องจัดสรรพื้นที่ให้อย่างจริงจัง”

แก่นที่แท้จริงของสเก็ตบอร์ด

ผมมองสเก็ตบอร์ดเป็น Art Performance อย่างหนึ่ง ไม่ได้มองเป็นกีฬา ซึ่งตอบไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร แต่ถ้าเป็นมุมมองของผม มันคือไลฟ์สไตล์ เป็น Sub Culture ที่ไม่มีกรอบ อิสระทางความคิด

อ๊อด สุริยัน

ระหว่างที่นั่งคุยกันไปมา บรรดาสมาชิกทีม Preduce ต่างเริ่มทะยอยกันเข้ามาในร้านกันอย่างคับคั่ง จนคุณเต๋าได้พาไปเจอกับดาวรุ่งประจำทีมอย่าง Jasper Dohrs หนุ่มไทยลูกครึ่งอเมริกา ซึ่งปัจจุบันได้เป็นก้าวขึ้นมาเป็นโปรสเก็ต เดินทางไปโชว์ตัวตามประเทศต่าง ๆ มีรายได้เงินเดือนจากสปอนเซอร์มากมาย ทั้งที่เพิ่งจะมีอายุเพียงแค่ 23 ปีเท่านั้น

เราก็ได้ถาม Jasper ว่า สำหรับเด็กที่ได้เติบโตมากับวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดจากแหล่งกำเนิดอย่างอเมริกาว่าเขารู้สึกเช่นไร

“สำหรับผม สเก็ตบอร์ดคือการที่ได้เห็นโลกกว้าง แถมมันยังสอนผมในทุก ๆ เรื่องของการใช้ชีวิต มันทำให้ผมมีรายได้ และที่สำคัญสุดคือมันให้มิตรภาพระหว่างเพื่อน จนผมได้เจอคนเจ๋ง ๆ มากมายผ่านการเล่นสเก็ตบอร์ด ซึ่งมันมีค่ามากจริง ๆ”

Jasper Dohrs

เราสนใจอยากจะเป็นโปรสเก็ตเหมือนกับ Jasper ต้องทำอย่างไรบ้าง

ต้องซ้อม ซ้อมจนเล่นสเก็ตบอร์ดให้เก่งครับ มีรางวัลจากการแข่งขันหรือผลงานวีดิโอคลิปที่ทุกคนยอมรับ สปอนเซอร์ก็จะเทิร์นให้คุณเป็นโปร ความต่างระหว่างโปรกับมือสมัครเล่นนั้นเป็นหน้าที่ของสปอนเซอร์ที่จะเทิร์นให้เรา พอเราได้เซ็นสัญญาปุ๊ป ก็จะมีเงินเดือน แล้วจะได้สัญลักษณ์มาติดชื่อบนสเก็ตบอร์ดของบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์โปรโมเดลของเรา”

ทำไมดูเหมือนง่าย แล้วยังมีหน้าที่อื่น ๆ สำหรับโปรสเก็ตต้องทำอีกบ้างไหม

“ความจริงไม่ง่ายนะ บางคนใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะขึ้นเทิร์นโปร แต่พอได้เป็นโปรสเก็ตแล้วหน้าที่ก็เล่นสเก็ตบอร์ดอย่างเดียวครับง่าย ๆ ก็สร้างผลงานแล้วก็เล่นสเก็ตบอร์ดอีก ท่องเที่ยวเดินทางให้เยอะ ๆ แค่นั้นเลย งานหลัก งานรองก็ถ่ายรูปสัมภาษณ์แบบที่กำลังทำอยู่นี่แหละ (ขำ)”

หลังจากสมาชิกทุกคนมารวมตัวกันครบแล้ว ทั้งทีมงาน UNLOCKMEN และ Preduce ก็ได้มุ่งหน้าเดินทางไปยังสะพานพระราม 8 ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวในการเล่นสเก็ตบอร์ดกันเป็นประจำ พอขาแตะพื้นปุ้ป แต่ละคนก็รีบหยิบสเก็ตบอร์ดไถลไปราวกับมนุษย์ที่กลับคืนสู่ธรรมชาติอันคุ้นเคย

จากนั้นพอทีม Preduce โชว์ลีลาเทพกันจนเรียกเสียงฮือฮาจากคนที่ผ่านมาผ่านไปบริเวณนั้น ก็สบโอกาสกลับมานั่งคุยกันต่อถึงเรื่องแก่นของวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ด เราอยากจะรู้เหลือเกินว่าแท้จริงแล้ว การจะเป็นสเก็ตเตอร์บอย จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแต่งตัวเป็นคอนเซ็ปต์ลุคเพื่อให้ออกมาได้รับการยอมรับ

“เราจะเห็นชัดที่สุดในยุคสเก็ตบอร์ด 90 ทุกคนจะฮิปฮอปหมดเลย Baggy เสื้อตัวใหญ่ ๆ ตอนนั้นกระแสฮิปฮอปมันแรงมาก บางคนก็มาเป็นพังค์สเก็ต ส่วนใหญ่รสนิยมการแต่งตัวจะขึ้นอยู่กับคนนั้นชอบฟังเพลงแบบไหนมากกว่า แล้วก็แต่งตัวออกมาเป็นสไตล์นั้น คนชอบฟังพังก์ มันก็แต่งพังค์ ให้ใส่กางเกงหนังรัด ๆ เสื้อหนาม ๆ หมุด ๆ รองเท้าบู้ท มาเล่นสเก็ตก็คงไม่เข้าท่า ก็มีการประยุกต์กันไป  บางคนใส่กางเกงบอลเสื้อบอลเล่นยังได้เลย คือถ้าพูดถึงหลักความเป็นจริงแล้ว มันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แฟชั่นคือศิลปะ ขึ้นอยู่กับจินตนาการไลฟ์สไตล์ว่าเป็นแบบไหน ก็ตามนั้นเลย”

แล้วรู้สึกแอนตี้ไหมถ้าคนไม่ได้เล่นสเก็ตบอร์ด แต่มาใส่เสื้อผ้าแต่งตัวแบรนด์สเก็ตบอร์ดเต็มประดา 

ก็ไม่แปลกครับ ถ้าเราเป็นเด็กที่แต่งตัว คงไม่ชอบให้ใครมาวิจารณ์การแต่งตัว บางคนไม่ได้เล่นสเก็ตบอร์ดแต่ชอบแบรนด์สเก็ตอย่าง Supreme หรือที่ฮิต ๆ ตอนนี้อย่าง Palace ซึ่งดีครับ เพราะสเก็ตมันทำให้คนรู้จักแฟชั่นมากขึ้น คนชอบแฟชั่นก็รู้จักสเก็ตบอร์ดมากขึ้น วันหนึ่งเขาศึกษาลงไป อาจจะเปลี่ยนใจหันมาเล่นสเก็ตบอร์ดก็ได้ถูกไหม”  

หลังจากนี้  Preduce อยากจะเห็นอะไรในวงการสเก็ตบอร์ดเมืองไทยต่อไป

อยากเห็นเด็กไทยรุ่นใหม่ออกมาเล่นสเก็ตบอร์ดเยอะขึ้น  มันไม่ง่ายครับ แต่ถ้าคุณชอบอะไร หรือมีฝัน ก็ลงมือทำเลยอย่างน้อยก็เคยได้ลองทำ”

เก่ง จักรินทร์

หลังจากอ่านมาถึงตอนนี้แล้วเราเชื่อว่าชาว UNLOCKMEN น่าจะมีความคิดที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ด หากคุณเอาจริงเอาจังกับมัน ก็สามารถต่อยอดแบบที่ทีม Preduce ทำได้ และก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเราก็ยังขอข้อมูลจากสมาชิกทีม Preduce ถึงประเภทของสเก็ตบอร์ด และส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เราควรจะเรียนรู้หากอยากจะลองซื้อกระดานบอร์ดมาฝึกเล่น อย่างน้อยสเก็ตบอร์ดก็จัดเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่คุณสามารถเล่นได้ด้วยตัวคนเดียว

ANATOMY OF DECK

แผ่นกระดาน (Deck) :  โดยส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้เมเปิ้ล ประกอบกัน 7 ชั้น แต่บางบริษัทก็ลดจำนวนชั้นลง  เพื่อให้แผ่นกระดานมีน้ำหนักเบาลง โดยใช้กาว และใช้แรงอัดไฮดรอลิกกดให้แน่น ใช้เลื่อยฉลุตกแต่งความโค้งเว้า ทำลวดลายต่าง ๆให้กับตัวแผ่นกระดาน โดยขนาดของกระดานจะขึ้นอยู่กับรูปร่าง ลักษณะ ความถนัดของแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวสำหรับ Deck ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเล่นกันที่ขนาดกว้างราว ๆ 8-8.5 นิ้ว

กระดาษทราย (Grip Tape) : เป็นส่วนประกอบเพื่อไว้ยึดติดกับ deck ใช้สำหรับทำให้การยืน และเวลาเล่นท่าต่าง ๆ ง่ายมากขึ้น เพราะกระดาษทรายมีความสาก เพิ่มแรงเสียดทานกับรองเท้าได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการเลือก grip tape ขึ้นอยู่กับความชอบของนักสเก็ตบอร์ดอีกเช่นกัน

ทรัคก์ (Truck) :   แกนกลางที่ใช้ยึดติดล้อกับแผ่นกระดาน โดยส่วนใหญ่ทำมาจากอลูมิเนียม หรือ โลหะอื่น ๆ สำหรับสเก็ตบอร์ดที่ประกอบมาสำเร็จ โดยการเลือกขนาดของทรัคก์จะแปรผันตรงกับขนาดของ deck เช่นกัน ยิ่งแผ่นใหญ่ ทรัคก์ที่ใช้ก็ต้องใหญ่ตามไปด้วย

ล้อ (Wheels) : ล้อคืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สเก็ตบอร์ดใช้งานได้ ล้อมีขนาดแตกต่างกันออกไป ซึ่งมีคุณสมบัติในการเคลื่อนที่ และยังเป็นตัววัดความเร็วของสเก็ตบอร์ดอีกด้วย

ลูกปืน (Bearing) : เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ล้อกับทรัคนั้นเข้าด้วยกัน รวมไปถึงช่วยในการหมุนของล้อให้ลื่นขึ้น

ฮาร์ดแวร์ (Hardware) : น็อตอะไหล่อุปกรณ์ไว้ใช้ยึดส่วนประกอบของชิ้นส่วนต่างให้ติดเข้าด้วยกัน

ตัวยก (Riser) : ตัวนี้ถือว่าเป็นส่วนประกอบเสริมครับ ไว้รองกันแผ่นสเก็ตบอร์ดไม่ให้เป็นรอยอีกทั้งกันกระแทกเวลาลงพื้นหนัก รวมถึงช่วยยกความสูงของทรัคก์ขึ้นด้วย อันนี้แล้วแต่ถนัดว่าจะใช้หรือไม่

สุดท้ายนี้จากการที่เราได้ไปพูดคุย รวมถึงคลุกคลีกับกลุ่มสเก็ตบอร์ดแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง Preduce ต้องยอมรับเลยว่าเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสเก็ตบอร์ดไปอย่างสิ้นเชิง แถมที่สำคัญยังได้ข้อคิดต่าง ๆ อีกมากมายว่าการที่จะลงมือทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ บางครั้งแค่ชอบเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่พอ คุณต้องใช้จิตใจอันมุ่งมั่นเกิน 100% เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เพราะมีประโยคหนึ่งที่ดีมาก ๆ  ซึ่งคุณเต๋า กิจพูลลาภ ได้บอกว่า

“บางครั้งเขาใช้เวลา 3-4 ปี เพื่อเล่นท่าเดียวให้ได้ มันเป็นบทเรียนล้ำค่าที่สอนให้รู้ว่า ชีวิตถ้าได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น” ดังนั้นเราก็อยากจะให้เรื่องราวของทีม Preduce เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่มีฝัน แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับสเก็ตบอร์ดก็ตาม แต่เราเชื่อว่าทุกบทเรียนล้วนมีค่า สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตทุกคนได้เสมอ

 

ขอบคุณทีม Preduce ที่เอื้อเฟื้อสถานที่และเวลา โดยสามารถติดตามผลงานและอัพเดทข่าวสารจากพวกเขาได้ที่ Instagram : Preduceshop  Facebook : Preduce

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line