Entertainment

THE PROFILES: “โลกขมขื่น ชนชั้นปรสิต และบงจุนโฮ”ชายผู้ตีแผ่ความจริงผ่านหนังได้โคตรเจ็บแสบ

By: TOIISAN February 10, 2020

เวลานี้คงไม่มีผู้กำกับคนใดมีคนพูดถึงมากไปกว่า Bong Joonho (บง จุนโฮ) ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ที่พาภาพยนตร์ Parasite (2019) กวาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยมจากงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 92 ไปครองอย่างน่าภูมิใจ โดยถือเป็นผู้กำกับคนที่ 2 ของเอเชียและเป็นผู้กำกับคนแรกของเกาหลีใต้ที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม

ภาพยนตร์ Parasite (2019) เล่าเรื่องราวของชนชั้นได้อย่างเจ็บแสบ ตลกร้าย และเสียดสีสังคมจนใครที่ดูแล้วต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “หนังแม่งโคตรเจ๋ง!” แถมยังสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ให้วงการภาพยนตร์เมื่อ Parasite และชื่อของ Bong Joonho ถูกสลักไว้บนถ้วยรางวัลน้อยใหญ่จากหลายเวทีก่อนหน้านี้

ความสำเร็จทางด้านรายได้และคำชมเชยท่วมท้นส่งผลให้ใคร ๆ ต่างใคร่อยากรู้จักชีวิตกับแนวคิดของชายคนนี้มากขึ้น อยากรู้ว่าเขาสนใจอะไร มองโลกมุมไหน อะไรบ้างที่หล่อหลอมให้เขาเป็นชายมากความสามารถและมีมุมมองเฉียบคม ทำหนังออกมาได้เจ็บแสบขนาดนี้ 

 

ผลงานเก่าของนักเล่าเรื่องเสียดสีที่เติบโตในสังคมเผด็จการ 

CANNES, FRANCE – MAY 23: Korean Director Bong Joon-Ho poses for a picture at the Noga Hilton during the 59th International Cannes Film Festival on May 23, 2006 in Cannes, France. (Photo by Carlo Allegri/Getty Images)

ช่วงชีวิตของชายที่ชอบเล่าเรื่องราวผ่านภาพยนตร์ เริ่มต้นขึ้นเพราะหลงใหลการทำหนัง ครอบครัวของเขาก็สนใจสายวรรณกรรมและสังคมอยู่แล้ว แถมตัวของจุนโฮเองก็เข้าศึกษาในคณะสังคมวิทยาพร้อมกับสมัครเข้าชมรมภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัย สนใจการทำหนังสั้นฟิล์ม 16 มิลลิเมตร ฝึกฝนการเขียนบทและอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับเมื่อมีการทำหนัง ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ต่างจากคนรักหนังคนอื่น ๆ 

สภาพแวดล้อมที่เติบโตมาอาจมีส่วนทำให้จุนโฮกลายเป็นนักเล่าเรื่องมีลีลาเอกลักษณ์ เขามักใช้เวลาว่างนั่งดูภาพยนตร์ฮอลลีวูด ระหว่างยุค 70-80 ประเทศเกาหลีใต้อยู่ใต้อำนาจของประเทศสหรัฐฯ อย่างเต็มตัว เขาเฝ้ามองสังคมเกาหลีใต้ที่เต็มไปด้วยความคิดแนวอนุรักษ์นิยมที่มีรัฐบาลเผด็จการขับเคลื่อนประเทศ และเสพหนังจากอเมริกาซึ่งเล่าเรื่องแตกต่างจากหนังเกาหลีสมัยนั้น เขาได้เห็นมุมมองแตกต่าง เห็นการเล่าเรื่องทันสมัย เห็นแง่คิด ความรุนแรง ฉากสะเทือนอารมณ์ที่คนเกาหลีทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจ

เมื่อได้ลองดูหนังหลากสไตล์ จุนโฮพบว่าตัวเองชื่นชอบหนังยุค 1970 เป็นอย่างมาก ชื่นชมผลงานการกำกับของสตีเวน สปีลเบิร์ก (steven spielberg), มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese), ไบรอัน เดอ พัลมา (Brian De Palma ), คิโยชิ คุโรซาวะ (Kiyoshi Kurosawa) และ โชเฮ อิมามูระ (Shohei Imamura) ชอบการเล่าเรื่องประเด็นหนัก ๆ ดราม่าใส่ไม่ยั้ง บางครั้งก็สยดสยองชวนขนลุก เพราะภาพยนตร์เรื่องโปรดที่จุนโฮมักดูซ้ำบ่อย ๆ คือเรื่อง Psycho (1960) หนังสยองขวัญระดับตำนานของอัลเฟรด ฮิตซ์ค็อก (alfred hitchcock) ผลงานของผู้กำกับชื่อดังทั้งหลายหล่อหลอมให้เขาเริ่มสร้างหนังเป็นของตัวเอง เป็นแรงบันดาลใจทำให้เขาเล่าเรื่องได้หนักแน่นกินใจ 

เวลาที่จุนโฮรอคอยเพื่อพิสูจน์ตัวเองก็มาถึง เขาได้นั่งแท่นกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 2000 ที่มีชื่อว่า Barking Dogs Never Bite ซึ่งผลของมันไม่สามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้า ถึงแม้ผลงานเรื่องแรกจะยังไม่ได้ดั่งใจเท่าไหร่นักแต่จุนโฮก็ยังคงทำหนังต่อ โดยเรื่อง Memories of Murder (2003) เขาเลือกหยิบคดีฆาตกรรมต่อเนื่องปริศนาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศเกาหลีใต้มาเล่า 

จุนโฮถ่ายทอดความเศร้าของพ่อแม่ที่ลูกสาวหายไปได้น่าประทับใจ เล่าถึงกระบวนการสืบสวนของตำรวจเกาหลีที่หละหลวม ดึงประเด็น ‘แพะผู้น่าสงสาร’ มาเล่นและล้อกับผู้ชมว่าจะเชื่อได้อย่างไรว่าคนร้ายที่เจ้าหน้าที่บอกเป็นคนทำจริง? นอกจากนี้เขายังเล่าเรื่องราวเหนือธรรมชาติใน The Host (2006) เรื่องสยองกลางแม่น้ำฮัน เมื่อสัตว์ประหลาดที่กลายพันธุ์จากสารพิษออกสู่สังคม แล้วผู้คนที่มีอำนาจจะจัดการอย่างไรกับปัญหาครั้งนี้

แม้ The Host (2006) จะจั่วหัวด้วยหนังสัตว์ประหลาดสยองขวัญ แต่เนื้อเรื่องภายในนั้นอัดแน่นไปด้วยการวิพากษ์สังคม นำเสนอความเหลื่อมล้ำของเกาหลีใต้ คนรวยอยู่ไหนก็รอดเพราะรวย ส่วนคนชนชั้นล่างก็ต้องก้มหน้ารับกรรมกันต่อไป แล้วด้วยประเด็นสังคมที่จุนโฮจับมาใส่ในหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะ The Host ได้ฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์หมวด Directors Fortnight และกวาดคำชมไปมากพอดู

 

ก้าวขาเข้าสู่โลกฮอลลีวูดอย่างภาคภูมิ

The Host (2006) คือภาพยนตร์ที่ทำให้ชื่อเสียงของบงจุนโฮเริ่มเป็นที่รู้จักของคนนอกประเทศเกาหลีใต้ แต่ถ้าจะให้พูดถึงผลงานที่โลดแล่นในฮอลลีวูดคงหนีไม่พ้น Snowpiercer (2013) หนังไซไฟที่อันแน่นด้วยกลิ่นอายสไตล์ดิสโทเปีย เล่าเรื่องของโลกที่เข้าสู่ยุคน้ำแข็งและมนุษย์กลุ่มสุดท้ายยังเหลือรอดอยู่ต่างก็ใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟที่วิ่งรอบโลก เพราะไม่มีใครสามารถออกไปใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศแสนโหดร้ายข้างนอกได้ 

ช่องว่างทางชนชั้นของคนในโบกี้คือของหวานสำหรับบงจุนโฮ บนขบวนรถไฟยาวเหยียดผู้ใครสักคนเป็นผู้กำหนดฐานะทางสังคม โบกี้ท้าย ๆ คือคนชนชั้นล่าง แออัดท่ามกลางสภาพแวดล้อมสกปรก จากนั้นจึงไล่ระดับมาสู่ชนชั้นกลาง และกลุ่มหัวขบวนคือผู้นำที่ใช้ชีวิตเพียบพร้อม เมื่อความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นชัดเจนบนรถไฟสิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ‘การปฏิวัติ’ 

การเล่าเรื่องในสถานการณ์แปลกประหลาดอย่างรถไฟถือเป็นความแปลกใหม่ที่ผู้คนให้ความสนใจ รวมถึงนักแสดงชื่อดังของฮอลลีวูดทั้งคริส อีแวนส์ (Chris Evans) ที่เราคุ้นตาจากบทกัปตันอเมริกา จอห์น เฮิร์ท (John Hurt) ผู้ล่วงลับ และตัวแม่ของวงการ ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) ก็ดึงกระแสให้กับหนังเรื่องนี้ที่ผู้กำกับถือว่ายังใหม่อยู่ในเวทีสากลให้เปิดใจรับชมเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ 

2013년 7월 29일 오후 서울 영등포 타임스퀘어에서 영화 의 VIP 시사회 행사가 열렸다. /Getty Image

หลังจากผลงานเรื่อง Snowpiercer (2013) บงจุนโฮก็ยังคงแสดงฝีมือการกำกับเล่าเรื่องได้ดีเยี่ยม แต่เมื่อผลงานแล้วเสร็จเขากลับมองเห็นช่องโหว่ใหญ่ของงานตัวเอง จุนโฮทุ่มเวลาไปกับการดูแลเรื่องเอฟเฟกต์สมจริง ความอลังการที่ต้องทำให้คนดูเชื่อให้ได้ว่าทุกคนในหนังใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟ เขาอยากเล่าเรื่องสังคม ชนชั้น การเสียดสีสังคมแบบเจ็บแสบ เลยคาดหวังไว้ล่วงหน้าว่าหากเขาจะทำหนังสไตล์นี้อีกครั้ง สเกลของหนังจะต้องเล็กลงพร้อมกลับเข้าสู่โลกแห่งความจริงมากขึ้น 

“สังคมในโลกปัจจุบันยังเต็มไปด้วยระบบชนชั้นวรรณะ เราเพียงแค่มองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ว่ามีอยู่” – บง จุนโฮ 

บงจุนโฮยังคงเดินหน้าสร้างภาพยนตร์ในแบบของตัวเองต่อไป สั่งสมชื่อเสียงกับประสบการณ์เรื่อยมาจนกระทั่งเขาได้ทำให้วงการหนังปี 2019 ต้องลุกเป็นไฟ เมื่อ Parasite (2019) เข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์สามารถครองใจแฟน ๆ รวมถึงเหล่านักวิจารณ์จนสามารถคว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palmes d’Or) ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของงาน พร้อมคำชมของคนในวงการว่า “นี่เป็นหนังรางวัลที่เข้าถึงและย่อยง่ายที่สุด” และได้รับเสียงปรบมือยาวนานหลังจากภาพยนตร์ฉายจบ

 

‘ชนชั้นปรสิต’ ที่โดดเด่นในเวทีรางวัล

Parasite (2019) ของบงจุนโฮ เล่าเรื่องของครอบครัวชาวเกาหลีใต้แสนธรรมดาครอบครัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในชั้นใต้ดินของอพาร์ตเมนต์ เป็นที่ซุกหัวนอนไม่อาจเรียกว่า ‘บ้าน’ ได้เต็มปาก พวกเขาต่างมีความฝันเหมือนเราทุกคน ฝันเล็ก ๆ ว่าอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่น่าเสียดายว่าชีวิตดีมันไขว่คว้ามาได้ยากเหลือเกินในสังคมปัจจุบันแถมยังขยี้ความจนด้วยการเล่าเรื่องไปพร้อม ๆ กับครอบครัวของ ‘คุณพัค’ นักธุรกิจชีวิตเพียบพร้อม สมบูรณ์แบบครบถ้วนตามแบบสังคมทุนนิยม เป็นครอบครัวชนชั้นนำตัวอย่างที่ใคร ๆ ก็ฝันอยากจะมีชีวิตแบบนี้ 

การจิกกัดอย่างเจ็บแสบของความเหลื่อมล้ำทางสังคม การตั้งคำถามว่า “เพราะคนจนขี้เกียจไม่ทะเยอทะยานก็เลยจนอยู่แบบนั้น” แท้จริงมันเป็นเรื่องจริงหรือเป็นแค่คำพูดเท่ ๆ ของคนรวย ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันโดนใจผู้ชมไปทั่วโลก แม้ภาพยนตร์จะเป็นภาษาเกาหลีทั้งหมดแต่ก็สามารถสื่อสารกับผู้ชมที่ไม่ได้ใช้ภาษาเกาหลีได้อย่างง่ายดาย มันลึกซึ้ง กินใจ ตลกร้าย ชวนให้ย้อนมองสังคมที่เราอาศัยอยู่ว่าชนชั้นยังอยู่ตลอดไปและจะไม่มีวันข้ามไปได้ 

CANNES, FRANCE – MAY 25: Director Bong Joon-Ho, winner of the Palme d’Or award for his film “Parasite” speaks at the Closing Ceremony Press Conference during the 72nd annual Cannes Film Festival on May 25, 2019 in Cannes, France. (Photo by John Phillips/Getty Images)

ด้วยเหตุผลหลายประการจึงทำให้ Parasite ถูกเสนอชื่อเข้าชิงหลายสาขาในงานประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) ที่มอบรางวัลให้กับภาพยนตร์ทั่วโลกด้วยการโหวตของนักข่าวกับสื่อมวลชนสหรัฐอเมริกา ที่ใคร ๆ ต่างก็บอกว่าเป็นงานรางวัลหนังที่ใหญ่รองลงมาจากออสการ์เท่านั้น และถ้าหนังเรื่องอะไรได้รางวัลในงานนี้ก็มีโอกาสสูงมากที่จะคว้ารางวัลออสการ์ในสาขาเดียวกัน ซึ่ง Parasite สามารถคว้าชัยในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากงานนี้มาแล้ว

LONDON, ENGLAND – FEBRUARY 02: Bong Joon-ho collects the Bafta Award for Parasite, which won awards for Original Screenplay and Film Not in the English Language, in the Winners Room during the EE British Academy Film Awards 2020 at Royal Albert Hall on February 02, 2020 in London, England. (Photo by Dave J Hogan/Getty Images)

ถัดจากงานลูกโลกทองคำก่อนจะถึงออสการ์ กระแสของภาพยนตร์จะเบนไปยังเกาะอังกฤษในงาน British Academy Film Awards (BAFTAs) ครั้งที่ 73 Parasite ก็คว้ารางวัลภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมและรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมมาครองได้อีกครั้ง กระพือให้วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ร้อนแรงอย่างต่อเนื่องหลังจาก The Handmaiden (2016) ของผู้กำกับชาวเกาหลี พัค ชานวุค (Park Chanwook) ก็เคยได้รางวัลในเวที BAFTA มาแล้ว ทั้งหมดยิ่งสร้างเสียงฮือฮาว่า Parasite ก็จะต้องคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจากออสการ์มาได้ด้วยเช่นกัน 

โดย Parasite สามารถเข้าชิงออสการ์ได้มากถึง 6 สาขาด้วยกัน คือ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม, ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และรางวัลใหญ่สุดของงานอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ความน่าสนใจอยู่ที่สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม เพราะบงจุนโฮเป็นผู้กำกับชาวเอเชียคนที่ 4 ที่ได้เข้าชิงรางวัลในสาขานี้ ก่อนหน้านี้ผู้กำกับชาวเอเชียที่ได้เข้าชิงคือ ฮิโรชิ ทาชิเกฮาระ (Hiroshi Teshigahara) จากเรื่อง Woman in The Dunes (1965) ถัดมาคือปราจารย์ผู้กำกับ อากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa) จากหนังซามูไรเรื่อง Ran (1985) และผู้กำกับชาวไต้หวันอังลี (Ang Lee) เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) และ Life of Pi (2012) ที่คว้ารางวัลได้ จนมาถึงบงจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้คนแรกที่ได้เข้าชิงในสาขานี้

CANNES, FRANCE – MAY 16: South Korean Director and President of the Camera d’Or Jury Joon Ho Bong, poses during a photo session at the 64th Cannes Film Festival on May 16, 2011 in Cannes. (Photo by Laurent KOFFEL/Gamma-Rapho via Getty Images)

ภาพยนตร์ที่เล่าชีวิตของมนุษย์ สังคมปัจจุบันของคนที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ต้องพบเจอจริง ๆ ต่างคนต่างก็เป็นปรสิตของใครสักคนและเราเองในบางครั้งก็ถูกปรสิตเกาะแน่นจนสะบัดไม่ออก ด้วยเรื่องราวที่กินใจกับผู้คนทั้งชายหญิง ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน มันไม่แปลกเลยที่ Parasite จะเข้าไปสะกิดความจริงอันเจ็บปวดของผู้ชมได้ง่าย ๆ พาผู้คนไปชมโศกนาฏกรรมของเหล่า ‘มนุษย์’ ที่ไม่ต่างจาก ‘ปรสิต’ เท่าไหร่นัก เพราะ

“ในชีวิตจริงเราเจอทั้งคนรวยและคนจน เราสัมผัสถึงความเหลื่อมล้ำได้โดยไม่ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์เลยด้วยซ้ำ” – บง จุนโฮ

SOURCE:  1 / 2 / 3

 

บทความอื่น ๆ ของ UNLOCKMEN ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และผู้กำกับ:

‘PARASITE’ หรือ ‘WEATHERING WITH YOU’ การฟาดฟันระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในเวทีออสการ์

PSYCHO ตำนานหนังสยองขวัญยุค 60 การแหกกฎและฉากฆาตกรรมที่ปฏิวัติวงการฮอลลีวูด

THE PROFILES: MARTIN SCORSESE ยอดผู้กำกับหนังและบทวิจารณ์ขวานผ่าซากชวนให้คิดตาม

NIHON STORIES: KUROSAWA AKIRA ผู้กำกับหนังซามูไรที่กลายเป็นตำนานจำไม่ลืมของวงการหนัง

 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line