Entertainment

THE PROFILES: MARTIN SCORSESE ยอดผู้กำกับหนังและบทวิจารณ์ขวานผ่าซากที่ชวนให้คิดตาม

By: TOIISAN November 6, 2019

สำหรับคนที่ชื่นชอบการดูภาพยนตร์คงไม่มีใครไม่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อของ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ผู้กำกับหนังชื่อดังที่สร้างภาพยนตร์ สารคดี รายการโทรทัศน์มาแล้วกว่า 60 เรื่อง ใคร ๆ ก็ชื่นชมเขา ใคร ๆ ต่างก็นับถือเขา แต่ในตอนนี้เขากลับต้องเจอกับคำวิจารณ์ของสังคมครั้งใหญ่เพราะเขาบอกว่าหนังของ Marvel เป็นแค่สวนสนุก และทำให้เราต้องคิดตามว่า ‘แล้วหนังแบบไหนถึงจะเรียกว่าภาพยนตร์ที่แท้จริงได้บ้าง ?’

บางคนอาจยังสับสนว่า มาร์ติน สกอร์เซซี เป็นใคร เขามีผลงานโด่งดังอะไรบ้างที่ทำให้กลายเป็นตำนาน และทำไมมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์ของเขาสามารถสร้างผลกระทบให้กับวงการภาพยนตร์ได้มากมายขนาดนี้ UNLOCKMEN จะพาไปทำความรู้จักกับผู้กำกับชื่อดังคนนี้ให้มากขึ้น เพราะการสร้างสรรค์ผลงานผ่านการกำกับและงานเขียนสามารถทำให้เรารู้ลึกถึงความคิดของคนคนหนึ่งได้

 

ความสำเร็จของ MARTIN SCORSESE

ก่อนสกอร์เซซีจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนังที่มีอิทธิพลต่อวงการฮอลลีวูด เขาแจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่อง Mean Streets (1973) บอกเล่าสังคมของผู้คนและกลุ่มผู้มีอิทธิพลในโลกใต้ดินเมืองนิวยอร์กผ่านเด็กเก็บค่าคุ้มครอง แม้มีงบทำหนังจำกัดมาก ๆ แต่สกอร์เซซีทำให้ผู้คนเห็นว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาหลักในการสร้างภาพยนตร์ที่ดี 

Harvey Keitel in the 1973 motion picture Mean Streets /Getty Images

CANNES, FRANCE: American film producer Michael Phillips (C) receives the Palme d’Or for the movie Taxi Driver directed by Martin Scorsese (not on pic) 28 May 1976 during the closing ceremony of 1976 Cannes film festival. At right is American actor Robert Wagner (L) and at left actress Natalie Wood. (Photo credit should read AFP/AFP via Getty Images)

จากนั้นต่อด้วยเรื่อง Taxi Driver (1976) ชายผู้ผ่านสงครามเวียดนามที่เป็นโรคนอนไม่หลับเลยมาขับแท็กซี่ตอนกลางคืน แต่สุดท้ายจับพลัดจับผลูวางแผนฆ่าผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ด้วยการกำกับอันแยบคาย ดนตรีประกอบสไตล์แจ๊สที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชมเพราะเป็นผลงานสุดท้ายของ Bernard Herrmann นักดนตรีประพันธ์ดนตรีประกอบชื่อดัง ปัจจัยกลมกล่อมทั้งหลายทำให้ Taxi Driver คว้ารางวัลปาล์มทองคำซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้สำเร็จ แถมยังพาชื่อของเขาเข้าสู่การชิงรางวัลในเวทีใหญ่อย่างออสการ์มาแล้ว 

เมื่อแสงสปอตไลต์เริ่มฉายมายังตัวของเขา สกอร์เซซีไม่ทำให้ผู้คนที่เฝ้ารอการกำกับหนังของเขาต้องผิดหวังกับผลงานสุดตราตรึงเรื่อง Goodfellas (1990) บอกเล่าความสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อนมาเฟียได้อย่างจับใจ รวมถึงบทพูดทรงพลังผ่านตัวนักแสดง ดนตรีประกอบเร้าอารมณ์ ผลงานกำกับของเขาทำให้ชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นไปอีก และเป็นเครื่องการันตีว่าผลงานก่อน ๆ ของเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะฟลุ๊ก 

นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่อง The Departed (2006) สไตล์แอกชัน-ดราม่า แฝงอารมณ์ทริลเลอร์ กับเรื่องราวของสังคมมาเฟีย การต่อสู้ไร้เสียงของหนอนบ่อนไส้เป็นอีกเรื่องที่สร้างรายได้อย่างน่าประทับใจ เพราะ The Departed กวาดรายได้กว่า 291 ล้านดอลลาร์ จากทุนสร้างเพียง 90 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แถมยังส่งให้ชื่อของเขาเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกครั้งพร้อมคว้ารางวัลใหญ่อย่าง รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) และผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director) รวมถึงรางวัลสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม (Best Film Editing) และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Adapted Screenplay) มาครอง  

ผลงานส่วนใหญ่ของเขาเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมสไตล์อเมริกัน-อิตาลี อ้างอิงถึงศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นหลัก ชูประเด็นเรื่องปรัชญาความคิดที่แฝงอยู่ในความดิบเถื่อนของลูกผู้ชาย โดยตัวของสกอร์เซซีเองก็รับรู้ความชอบและสไตล์ของตัวเองเป็นอย่างดี

“ชีวิตของผมมีแค่ภาพยนตร์กับศาสนา ไม่มีอะไรเพิ่มมากกว่านี้แล้ว”

คงจะจริงอย่างสกอร์เซซีพูด เพราะคนในวงการหนังตลอดจนผู้ชมที่มองดูผลงานของเขาเสมอมาต่างเห็นการทุ่มเทเพื่อภาพยนตร์ของเขากันถ้วนหน้า

 

MARTIN SCORSESE กับดราม่าที่ชวนให้เราต้องคิดตาม

ผู้กำกับหนังชื่อดังอย่างสกอร์เซซีเมื่อว่างเว้นจากงานภาพยนตร์ เขาก็แวะเวียนไปเป็นนักเขียนรับเชิญให้กับสื่อดังหลายเจ้า เขาเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเว็บไซต์ให้คะแนนหนังชื่อดังอย่าง Rotten Tomatoes และเว็บ CinemaScore ในสื่อดังของอเมริกาอย่าง The Hollywood Reporter 

ประเด็นที่เขาเขียนถึงเว็บไซต์รีวิวให้คะแนนหนังเริ่มขึ้นเมื่อเว็บ CinemaScore ให้คะแนนภาพยนตร์เรื่อง Mother (2017) ของผู้กำกับ Darren Aronofsky ไว้ที่เกรด F มุมมองน่าสนใจของสกอร์เซซีระบุไว้ว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีหลายอย่างเปลี่ยนไปในวงการภาพยนตร์ การสร้างหนังเปลี่ยน การวิจารณ์หนังของคนดูก็เปลี่ยนตาม สิ่งที่เรียกว่า ‘Box Office’ (การจัดอันดับหนังจากรายได้และยอดขายตั๋วภาพยนตร์) ทำให้คนส่วนใหญ่หมกมุ่นกับคำวิจารณ์และคะแนนหนัง มากกว่าตัวหนังเสียอีก 

เว็บไซต์ Rotten Tomatoes ไม่ได้ทำสิ่งที่เรียกว่าวิจารณ์ภาพยนตร์จริง ๆ ด้วยซ้ำ พวกเขาเพียงแค่รวมคำวิจารณ์ของคนอื่นมาแปะไว้และให้คะแนนภาพยนตร์เหมือนดูการแข่งม้า ชี้บอกว่าเรื่องนี้ดี เรื่องนั้นห่วย สั้น ๆ เท่านั้น พวกเขาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวงธุรกิจหนังแต่ไม่ได้ทำอะไรสร้างสรรค์หรือแม้แต่การมอบมุมมองแนวคิดที่ฉลาดให้กับวงการหนัง คนทำหนังกลายเป็นแค่ผู้ผลิตเนื้อหาที่ต้องทำเอาใจตลาด ส่วนผู้ชมถูกลดระดับให้เป็นเพียงผู้บริโภคของดาด ๆ ไม่กล้าริลองสิ่งใหม่ (เพราะเชื่อคำวิจารณ์ว่าเรื่องไหนน่าดูมากกว่าความสนใจจริง ๆ ของตัวเอง) 

Getty Images

การแสดงความคิดเห็นผ่านบทความของสกอร์เซซีเต็มไปด้วยความน่าสนใจชวนให้คิดตาม แท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์มันส่งผลกระทบอะไรมาก รสนิยมการเสพหนังของผู้ชมเปลี่ยนไปเพราะคะแนนรีวิวบนเว็บไซต์จริง ๆ อย่างที่สกอร์เซซีหรือไม่  เว็บไซต์ให้คะแนนหนังสร้างประโยชน์ต่อคนดูจริงหรือ แต่ละคนต่างมีคำตอบแตกต่างกันไป ซึ่ง UNLOCKMEN และสกอร์เซซี หรือแม้แต่ผู้อ่านทุกคนคงมีความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้ต่างกันไปเช่นกัน แต่ที่แน่ ๆ งานเขียนชิ้นนี้ของผู้กำกับชื่อดังทำให้ใครหลายคนตระหนักคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมากขึ้น 

 

สงครามของ SCORSESE กับ MARVEL  

ด้วยผลงานมากมายและฝีปากพูดตรงไปตรงมา สกอร์เซซีมักกลายเป็นชายสร้างดราม่าโดยไม่ตั้งใจ อีกหนึ่งคำวิจารณ์ที่ทั่วโลกพูดถึงคงหนีไม่พ้นการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Empire Magazine เมื่อโดนถามไปถึง Marvel Sutdio ซึ่งเขาให้คำตอบน่าสนใจว่า

“ผมไม่ดูหนังมาร์เวล เคยพยายามลองแล้วนะ แต่มันไม่น่าเรียกว่าภาพยนตร์ได้หรอกครับ และด้วยความสัตย์จริงผมคิดว่ามัน (หนังมาร์เวล) คงเป็นได้แค่สวนสนุก เพราะหนังไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ ไม่ได้เล่าถึงอารมณ์ ความคิดจิตใจของมนุษย์คนหนึ่งที่จะสื่อถึงมนุษย์อีกคนหนึ่งเหมือนกับสิ่งที่ภาพยนตร์ทำมาตลอดเลย” – Martin Scorsese 

ไม่รู้ว่าสกอร์เซซีเตรียมรับกับแรงกระแทกหลังจากให้สัมภาษณ์กับ Empire Magazine อย่างไรบ้าง แต่ทันทีที่ให้สัมภาษณ์ก็เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงในโลกโซเชียล ฝ่ายของคนชื่นชอบภาพยนตร์ของมาร์เวลไม่พอใจมากกับคำสัมภาษณ์ของเขา บ้างกล่าวว่าสกอร์เซเซีเป็นคนโง่เง่าที่พยายามเอาตำราการสร้างภาพยนตร์มาอ้าง ภาพยนตร์ทั้ง 23 เรื่องของมาร์เวลมันคือภาพยนตร์ไม่ต่างกัน

ชาวเน็ตอีกคนกล่าวว่า ภาพยนตร์เป็นได้ทั้งความบันเทิงและกระตุ้นความคิด สกอร์เซซีอาจมองว่าหนังของเขาเป็นหนังที่ดี แต่การมาวิจารณ์ว่าหนังคนอื่นเป็นได้แค่สวนสนุกก็อาจจะแรงไปหน่อย ส่วนคนที่เห็นด้วยกับสกอร์เซซีก็ทวิตว่ารอดูดราม่าของแฟน ๆ มาร์เวลได้เลยเพราะพวกเขาโกรธง่ายเหมือนกับยักษ์เขียวก็มี

บทสัมภาษณ์อันร้อนแรงของเขาอาจไปกระทบใจใครหลายคนไม่ใช่แค่กับแฟนหนังของมาร์เวล เพราะผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Avengers และ Fantastic Four อย่าง Johnathan Hickman ทวิตข้อความล้อเลียนสกอร์เซซีว่า “ผมไม่ชอบกินปีกไก่สไปซี่ (สกอร์เซซี) ลองแล้วก็ไม่ชอบ เพราะมันคือไก่เผ็ด ๆ ชิ้นหนึ่งที่ไม่ใช่อาหาร มันก็แค่ทำให้ปากเผ็ดร้อน” หลายคนมองว่าเขาค่อนข้างไม่พอใจบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับชื่อดังเอามาก ๆ 

ผู้กำกับ James Gunn จากเรื่อง Guardians of the Galaxy ของมาร์เวลออกมาทวิตอย่างผิดหวังว่าเขาเป็นแฟนคลับของสกอร์เซซีมาโดยตลอด เคยว่าคนที่วิจารณ์หนังเรื่อง The Last Temptation of Christ (1988) ของสกอร์เซซีทั้งที่ยังไม่ได้ดูด้วยซ้ำ และมันน่าเศร้ามากเมื่อเขากำลังตัดสินหนังของผมโดยที่ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน 

นอกจากแฟนคลับ คนทำหนัง ตัวของนักแสดงในจักรวาลมาร์เวลหลาย ๆ คนก็ไม่พอใจกับคำพูดของสกอร์เซซีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นนักแสดงผิวสีตัวพ่อผู้มีคำวลีติดปากว่า “Motherf***er” อย่าง Samuel L. Jackson รับบทเป็น Nick Fury ในหนังมาร์เวลหลายเรื่องให้สัมภาษณ์กับ Variety ถึงประเด็นดังกล่าวว่า “มันคงไม่ต่างอะไรกับเวลาได้ยินคนพูดว่าการ์ตูนเรื่อง Bugs Bunny ไม่ตลก หนังก็คือหนัง แถมไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบหนังของเขา (สกอร์เซซี) เสียเมื่อไหร่ แต่สุดท้ายทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่คำวิจารณ์จะไม่ทำให้ใครเลิกทำหนังได้หรอก”

หลังจากเกิดกระแสร้อนแรงแถมเหล่าคนดังยังออกมาแสดงความคิดเห็นมากมายเกี่ยวกับบทสัมภาษณ์ของเขา สกอร์เซซีจึงเขียนบทความอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีของมาร์เวลบนหนังสือพิมพ์ New York Times ไว้ยาวเหยียดแต่เราสรุปใจความสำคัญของการชี้แจ้งครั้งนี้ให้กระชับขึ้น

“จากบทสัมภาษณ์ที่ถูกถามเรื่องหนังมาร์เวล หลายคนจับประเด็นท่อนสุดท้ายที่ว่าหนังมาร์เวลเหมือนกับสวนสนุกว่าเป็นการดูหมิ่น ผมยืนยันว่าไม่ได้เกลียดหนังของมาร์เวล แต่ถ้าใครจะคิดแบบนั้นก็คงห้ามไม่ได้ 

ภาพยนตร์คือการตีแผ่ความงามทางศิลปะ จิตวิญญาณ อารมณ์ของตัวละครอันซับซ้อน ทั้งความรู้สึกรัก รู้สึกเกลียด ความย้อนแย้งของมนุษย์ ภาพยนตร์จะทำหน้าที่ตีความทั้งหมดออกมาให้เป็นศิลปะซึ่งหนังบางเรื่องไม่มีสิ่งเหล่านี้ มีแค่การสร้างฉากอันน่าทึ่ง เอฟเฟกต์ตระการตาและจัดวางองค์ประกอบแล้วตัดต่อให้สมบูรณ์ แต่ขาดจิตวิญญาณ อารมณ์ ความเจ็บปวดหรือความรู้สึกรักที่เป็นสิ่งสำคัญของหนัง

ผมกังวลว่าเงินจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและลดความสำคัญขององค์ประกอบภาพยนตร์ลง บางคนในวงการภาพยนตร์ไม่สนใจเรื่องศิลปะอีกต่อไปจนในที่สุดศิลปะสำคัญในหนังถูกลดให้เหลืออยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ เท่านั้น”

พอได้อ่านแง่มุมของสกอร์เซซีมากขึ้น หลายคนค่อนข้างเข้าใจความคิดของผู้กำกับชื่อดังดีขึ้น เขาไม่ได้เกลียดมาร์เวล แต่มองว่าหนังของค่ายนี้ขาดอารมณ์ ไม่รู้สึกถึงความเสี่ยง อันตรายชวนลุ้น จึงเปรียบว่าเหมือนกับสวนสนุกที่ทำให้ผู้คนวิ่งเข้าไปเสพความบันเทิงจากเครื่องเล่นล้วน ๆ 

ท้ายที่สุดนิยามของคำว่า “หนังเรื่องไหนจะสามารถเรียกว่าเป็นภาพยนตร์ได้เต็มปาก” มันขึ้นอยู่กับความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคน เราสามารถวิจารณ์แลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล แล้วคุณละครับ คิดว่าปัจจัยหรือองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะทำให้หนังเรื่องหนึ่งเป็นภาพยนตร์ หรือว่าหนังมันก็คือหนัง ทุกเรื่องต่างก็มีคุณค่าในตัวเองที่ต่างไปกันแน่ ? 

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

Cover photo: SOURCE

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line