DESIGN

SNOOPY/NASA/OMEGA : การ์ตูน-ภารกิจอวกาศ-นาฬิกา ไขข้อข้องใจ 3 ความต่างที่ผูกพันกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

By: NTman November 26, 2017

หากพูดถึงความเกี่ยวข้องระหว่างนาฬิกา OMEGA กับองค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐอเมริกาอย่าง NASA เชื่อว่าสาวกเรือนเวลาแทบทุกคนคงจะเคยรับรู้ถึงกิตติศัพท์ของตำนาน Moonwatch กับการที่นาฬิกา OMEGA Speedmaster ได้ถูกสวมใส่อยู่บนข้อมือนักบินอวกาศในการลุยภารกิจพิชิตดวงจันทร์กันมาบ้างแล้ว

แต่เมื่อมีชื่อของอีกหนึ่งตัวละครหลักอย่าง Snoopy ตัวการ์ตูนสุนัขบีเกิ้ลที่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งมักจะปรากฎตัวอยู่ในเรือนเวลารุ่นพิเศษรำลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง OMEGA และ NASA เข้ามาร่วมด้วย งานนี้คงมีอีกหลายคนนึกสงสัยในใจว่าเหตุใด Snoopy ถึงได้มีบทบาทในวาระสำคัญต่าง ๆ ของ OMEGA และ NASA มาโดยตลอด

และในวันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจถึงที่มาที่ไปของความความผูกพันระหว่าง SNOOPY, NASA และ OMEGA ที่มีมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษให้ชาว UNLOCKMEN และเหล่าผู้หลงใหลในเรือนเวลา ที่อาจยังไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้ได้กระจ่างกัน


 

SNOOPY ไอคอนแห่งโลกการ์ตูน
สู่สัญลักษณ์ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ และรางวัลแห่งเกียรติยศ

ถ้าจะต้องเล่าเรื่องราวสายสัมพันธ์สุดพิเศษระหว่าง Snoopy และ NASA คงต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 60 เมื่อ Charles M. Schulz ได้วาดการ์ตูนที่มีสุนัขพันธุ์บีเกิ้ลนาม Snoopy สวมชุดอวกาศพร้อมเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการ Apollo 10 จนทำให้เหล่าอเมริกันชนเริ่มรู้จัก และหันมาให้ความสนใจภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของสหรัฐฯ อย่างกว้างขวาง แถมยังจุดประกายให้ Snoopy กลายเป็นสัญลักษณ์ของการสำรวจดวงจันทร์ไปโดยปริยาย

จากนั้นในปี 1968 เมื่อทาง NASA ต้องการมองหา “ตัวแทน” ในโครงการ Watchdog เพื่อสร้างการรับรู้ถึงเรื่องราวความปลอดภัยในภารกิจ แน่นอนว่าเพื่อนเก่าอย่าง Snoopy ได้ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างไร้ข้อกังขา ซึ่งคาแรคเตอร์สุนัขบีเกิ้ลที่ใคร ๆ ต่างก็หลงรักตัวนี้ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่เป็น “สุนัขระวังภัย” เท่านั้น แต่ตัวตนของ Snoopy ยังสะท้อนถึงความสำเร็จของภารกิจ และช่วยผ่อนคลายบรรยากาศให้ภารกิจระดับประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาตินั้นไม่ตึงเครียดจนเกินไปอีกด้วย

และนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ประชาสัมพันธ์ภารกิจต่าง ๆ ขององค์การ NASA ไปยังกลุ่มคนหมู่มาก ในขณะเดียวกัน Snoopy ยังรับตำแหน่งขวัญใจเหล่าบรรดาคนวงในอย่างนักบินอวกาศของ NASA เรียกได้ว่าป็อปปูล่าร์ขนาดที่นักบินอวกาศของโครงการ Apollo 10 ถึงกับตั้งชื่อเล่นให้ยานส่วนควบคุมว่า Charlie Brown และตั้งชื่อให้ยาน Lunar Module ว่า Snoopy มิหนำซ้ำยังนำ Snoopy มาตั้งเป็นรางวัล Silver Snoopy Award เข็มกลัดเงินภาพบีเกิ้ลใส่ชุดนักบินอวกาศพร้อมกับผ้าพันคอเสืออากาศสุดเท่ ซึ่ง Charles M. Schulz ศิลปินผู้ให้กำเนิด Snoopy ได้ลงมือออกแบบรางวัลนี้ให้ด้วยตัวเอง


 

SILVER SNOOPY AWARD
รางวัลเกียรติยศที่มีผู้ครอบครองไม่ถึง 1%

สำหรับรางวัล Silver Snoopy Award ที่เหล่านักบินอวกาศของ NASA ร่วมสถาปนาขึ้นมา บอกเลยว่าแม้จะใช้สัญลักษณ์สบาย ๆ อย่างตัวการ์ตูน Snoopy แต่ศักดิ์ศรีของรางวัลนี้มันเป็นอะไรที่จริงจัง และเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับเป็นอย่างยิ่ง เพราะรางวัลนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบุคคล บริษัท หรือหน่วยงานใด ๆ ที่มีส่วนร่วมสำคัญในความสำเร็จของ “ภารกิจการบินอวกาศแบบมีมนุษย์” 

แน่นอนว่าการได้รับรางวัล Silver Snoopy Award ที่นักบินอวกาศในภารกิจนั้น ๆ เป็นผู้มอบรางวัลให้ด้วยตัวเอง ถือเป็นเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจไม่ว่าสำหรับใครก็ตาม และที่สำคัญคือนับตั้งแต่ปี 1968 จนถึงปัจจุบัน จำนวนของผู้ที่ได้ครอบครองรางวัลนี้มีไม่ถึง 1% เสียด้วยซ้ำ ซึ่งมันถือเป็นการตอกย้ำว่ารางวัลนี้มีความสำคัญและทรงคุณค่ามากเพียงใด


 

OMEGA เจ้าของรางวัล SILVER SNOOPY AWARD
กับภารกิจที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มเดาทางได้ว่า ความเกี่ยวข้องระหว่างตัวการ์ตูน Snoopy และ เรือนเวลาอย่าง OMEGA นั้นต้องมีรางวัลเกียรติยศจากนักบินอวกาศ NASA เป็นโซ่ข้อกลาง ทำหน้าที่คอยประสานความสัมพันธ์  แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเรื่องราวหักมุม เพราะรางวัล Silver Snoopy Award ที่ OMEGA ได้รับนั้นไม่ได้มาจากการเป็นนาฬิกาแบบที่แรกถูกสวมใส่บนดวงจันทร์ในภารกิจส่งมนุษย์ขึ้นยาน Apollo 11 บุกพิชิตดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จในปี 1969 แต่อย่างใด

เพราะรางวัล Silver Snoopy Award ที่ OMEGA ได้รับมานั้น สืบเนื่องมาจากภารกิจของยาน Apollo 13 ในปี 1970 ซึ่งถือเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่ความเที่ยงตรงของ OMEGA และความ “ปลอดภัย” ที่ Snoopy ได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลก

ย้อนไปในวันที่ 13 เมษายน ปี 1970 หรือผ่านไปเพียงสองวันหลังจากปล่อยตัว ถังออกซิเจนของยาน Apollo 13 ก็ระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้ลูกเรือต่างรีบย้ายไปรวมที่ส่วนของยาน Lunar Module แต่ในความเป็นจริงยานนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับลูกเรือหลายคนพร้อมกันได้นานนัก ดังนั้น เพื่อประหยัดพลังงาน นักบินอวกาศจึงทำการปิดระบบเกือบทุกระบบ ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวจับเวลาดิจิตอลที่กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย

ขณะที่ยาน Apollo 13 ประสบกับอุปสรรคใหญ่มากมายตลอดหลายวันบนห้วงอวกาศ ทาง NASA เองก็ต้องแข่งกับเวลาเพื่อแก้ปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  ยานเริ่มทำมุมมุ่งหน้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกผิดไปจากวิถีที่ควรจะเป็น ซึ่งจะส่งผลให้ยานถูกเหวี่ยงกลับเข้าไปสู่อวกาศอันเวิ้งว้างแบบไร้หนทางช่วยเหลือ และในช่วงที่กรอบเวลาในการช่วยเหลือเหล่านักบินอวกาศเริ่มงวดเข้ามาทุกที ในที่สุดทีมผู้เชี่ยวชาญจาก OMEGA จึงถูกเรียกตัวเข้าไปพบ เพราะทางออกเดียวคือต้องแก้วิถีของยานด้วยการเปิดการทำงานเครื่องยนต์เป็นเวลารวมทั้งหมด 14 วินาทีเท่านั้น ห้ามขาดหรือเกินเด็ดขาด

ในเมื่อไม่มีที่ว่างให้กับความผิดพลาด เมื่อปราศจากเครื่องจับเวลาดิจิตอล ลูกเรือภายใต้การบัญชาการของ James Lovell ผู้บัญชาการยานจึงใช้งาน OMEGA Speedmaster ซึ่งเป็นเรือนเวลาที่ถูกเลือกมาให้เหล่านักบินอวกาศสวมใส่ เพื่อจับเวลาในการเผาไหม้เชื้อเพลิง จนทำให้การเปลี่ยนวิถีของยานประสบความสำเร็จด้วยดี และในที่สุดทุกชีวิตบนยาน Apollo 13 ก็กลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัยในวันที่ 17 เมษายน ปี 1970

เพื่อแทนคำขอบคุณที่มีส่วนร่วมเสมอมา รวมถึงความสำเร็จในภารกิจสุดอันตรายดังกล่าว OMEGA จึงได้รับรางวัล Silver Snoopy Award ในวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมปี 1970 เข็มกลัดเงินสเตอร์ลิ่ง 925 สุดพิเศษถูกมอบให้โดยนักบินอวกาศ  Thomas P. Stafford ผู้บัญชาการยาน Apollo 10 พร้อมกับประกาศนียบัตร Manned Flight Awareness ที่มีการลงนามโดยนักบินอวกาศของยาน Apollo 13 ทุกนาย ทั้ง James Lovell, Jack Swigert และ Fred Haise

“เมื่อนาฬิกาประจำยานดับลง ตอนนั้นเองที่เราต้องการ Speedmaster เมื่อขาดอุปกรณ์นำร่อง เราต้องใช้โลกเป็นจุดอ้างอิง จากนั้นก็ต้องเปิดการทำงานของเครื่องยนต์แค่ 14 วินาทีแล้วค่อยดับมัน ตอนนั้นเราใช้นาฬิกาที่ Jack Swigert ใส่เป็นตัวจับเวลา” James Lovell ผู้บัญชาการยาน Apollo 13 เคยให้สัมภาษณ์ถึงวินาทีชี้เป็นชี้ตาย ที่ผ่านมาได้ด้วย OMEGA Speedmaster

“ผมยังจำได้ดี เมื่อตอนที่ผมจัดพิธีเล็ก ๆ เพื่อมอบรางวัล Snoopy ให้กับ ดร. Widmer จาก OMEGA ที่ออฟฟิศของผมได้ ผมกล่าวขอบคุณเขา และนาฬิกา OMEGA ที่รับใช้เราอย่างไม่ขาดตกบกพร่องตลอดทั้งโครงการอวกาศ โดยเฉพาะกับภารกิจ Apollo 13 เพราะ Speedmaster มีส่วนสำคัญในการพาพวกเรากลับสู่โลก ด้วยเหตุนี้ OMEGA จึงสมควรได้รับรางวัล Silver Snoopy Award จากพวกเรา” คำกล่าวของ Thomas P.Stafford ผู้บัญชาการยาน Apollo 10  ที่เล่าย้อนให้ฟังถึงพิธีมอบรางวัล Silver Snoopy Award ให้แก่ OMEGA เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมปี 1970

Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความผูกพันทางประวัติศาสตร์ระหว่าง Snoopy, NASA และ OMEGA ก็กลายเป็นหนึ่งเดียวกันมายาวนานถึง 50 ปี และในช่วงเวลาพิเศษแบบนี้  จึงได้มีการเปิดตัวเรือนเวลารุ่นพิเศษอย่าง Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ที่ OMEGA ได้รับรางวัล Silver Snoopy Award  จาก NASA ซึ่งต้องบอกว่ารุ่นนี้เป็นที่หมายปองของบรรดาสาวก OMEGA Speedmaster เป็นอย่างยิ่ง  และเราจะพาไปสัมผัสความพิเศษในแง่มุมต่าง ๆ ที่ตอกย้ำให้ Speedmaster เรือนนี้คือนาฬิกาที่ควรค่าแก่การครอบครองอย่างแท้จริง


 

 Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary

หลังจากผ่านช่วงเวลาแห่งเกียรติยศมานานถึง 50 ปี Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary คือเรือนเวลารุ่นพิเศษที่ OMEGA ได้บรรจงรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อร่วมเฉลิมฉลองให้กับวาระดังกล่าว ซึ่งพระเอกของนาฬิกาเรือนนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Snoopy ในชุดนักบินอวกาศซึ่งอวดโฉมอยู่บนหน้าปัดย่อยสีน้ำเงินที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาในลักษณะรูปนูนต่ำ แบบเดียวกับรางวัล Silver Snoopy Award เข็มกลัดเงินที่นักบินอวกาศ NASA มอบแทนคำขอบคุณให้กับ OMEGA

หน้าปัดของ Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary ทำจากเงิน Ag925 ซึ่งผ่านการสลักตกแต่งอย่างละเอียดและงดงามด้วยเลเซอร์ พร้อมหน้าปัดย่อยสีน้ำเงินอีกสองวง (รวมทั้งหมดเป็น 3 วง) และในส่วนของชุดเข็มกับหลักชั่วโมงล้วนเคลือบด้วย PVD สีน้ำเงินสุดเรียบหรู

แค่แรกเห็นตัวเรือนจากด้านหน้ายังรู้สึกว่างามจับใจ ขอบอกว่ายังมีหมัดเด็ดไม้ตายซ่อนอยู่ที่ฝาหลังที่เห็นแล้วชวนให้ใจสั่นยิ่งกว่า เพราะพื้นที่ด้านหลังตัวเรือนนั้นมีไว้สำหรับบอกเล่าการเดินทางสู่วงโคจรของ Snoopy ด้วยกลไกพิเศษที่ติดตั้งเข้ากับยานส่วนควบคุมและบริการ (CSM) สีขาวขนาดจิ๋ว เมื่อมีการใช้งานเข็มจับเวลา นักบินอวกาศ Snoopy ก็จะควบยานมุ่งหน้าเดินทางไปยังด้านไกลสุดของดวงจันทร์เพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์เป็นแรงส่งให้ยานโคจรกลับสู่โลก ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่ลูกเรือของ Apollo 13 ใช้ในการเดินทางกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้บนกระจกแซฟไฟร์ยังได้รับการตกแต่งให้เหมือนพื้นผิวของดวงจันทร์โดยกระบวนการพ่นพอกโลหะขนาดไมโครในวิธีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่มีใครเหมือน

และในขณะที่มองไกลออกไปยังอีกฟากของดวงจันทร์ จะเห็นโลกขนาดย่อมจะหมุนด้วยอัตราหนึ่งรอบต่อนาที เท่ากับรอบของเข็มวินาทีย่อย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการโคจรรอบตัวเองของโลก ซึ่งแต่ละการเคลื่อนไหวของกลไกฝาหลังนั้นช่างมีเสน่ห์ที่มองได้ไม่รู้เบื่อ นอกจากนี้ยังมีประโยคอมตะ “Eyes on the Stars” สลักอยู่กลางห้วงอวกาศอันมืดมิด พร้อมตัวอักษรระบุเดือน/ปี ของภารกิจ Apollo 13 สุดอันตราย และระบุวันแห่งความภาคภูมิใจที่ OMEGA ได้รับ รางวัล Silver Snoopy Award เมื่อปี 1970 ซึ่งตัวอักษรทั้งหมดที่ถูกสลักเอาไว้นั้นสามารถแสดงตำแหน่งที่แท้จริงได้เหมือนกันในทุกเรือน ด้วยระบบล็อกฝาหลัง NAIAD LOCK เทคโนโลยีเฉพาะของ OMEGA

อีกหนึ่งจุดที่สะท้อนความใส่ใจทุกรายละเอียดในการออกแบบนาฬิกาเรือนนี้ของ OMEGA ออกมาได้อย่างดี คือสายนาฬิกาไนลอนสีน้ำเงินที่เข้ากันได้ดีกับโทนสีของตัว ซึ่งได้มีสอดแทรกรายละเอียดวิถีการโคจรของ Apollo 13 ผ่านเทคนิคการเย็บสาย โดยตัวสายนาฬิกาถูกประกอบเข้ากับตัวเรือนสแตนเลสสตีลขนาด 42 มิลลิเมตร ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการออกแบบของ Speedmaster เจเนอเรชั่นที่ 4 (แบบเดียวกับนาฬิกาที่ถูกสวมใส่บนภารกิจพิชิตดวงจันทร์ในปี 1969) ขอบตัวเรือนเซรามิกสีน้ำเงิน [ZrO2] มาพร้อมกับสเกลทาคีมิเตอร์บรรจุด้วยอีนาเมลสีขาวแบบ “Dot over Ninety” สุดโดดเด่น

และที่จะขาดไปไม่ได้หากพูดถึงนาฬิกา OMEGA Speedmaster นั่นคือเรื่องของทักษะการผลิตกลไกบอกเวลาที่ให้ความแม่นยำระดับสูงสุด และนั่นคือเหตุผลที่เรือนเวลารุ่นพิเศษอย่าง Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary นั้นถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกของเครื่อง OMEGA Co-Axial Master Chronometer Calibre 3861 ที่ถือเป็นมรดกล้ำค่าซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ OMEGA ก่อตั้งขึ้นในปี 1848

จึงยากจะปฏิเสธว่ากลไก OMEGA Co-Axial Master Chronometer Calibre 3861 ใน Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary คือกลไกบอกเวลาที่ยกระดับให้กลไก Moonwatch อันเลื่องชื่อนั้นก้าวไปสู่มาตรฐานใหม่ที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่า กับมาตรฐานที่เรียกว่า Master Chronometer

ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง OMEGA และสถาบันมาตรวิทยาแห่งสหพันธ์สวิสหรือ METAS (Swiss Federal Institute of Metrology) ซึ่งกำหนดกระบวนการทดสอบกลไกที่ผ่านมาตรฐาน COSC แบบดั้งเดิม แล้วมาเพิ่มเติมเงื่อนไขใหม่สุดหฤโหดถึง 8 ขั้นตอนอาทิการทดสอบกลไกภายใต้สนามแม่เหล็กเข้มข้น 15,000 เกาส์หรือเทียบเท่าเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), ทดสอบประสิทธิภาพของระบบกันน้ำภายใต้แรงดันน้ำมหาศาล, ทดสอบประสิทธิภาพการสำรองพลังงานของกลไก, ทดสอบการทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ภายใต้อุณหภูมิสุดขั้วทั้งเย็นจัดและร้อนจัด เพื่อให้ได้มาซึ่งเรือนเวลาที่บอกเวลาได้อย่างแม่นยำในทุกสถานการณ์

ด้วยงานออกแบบ งานผลิตที่ประณีตงดงาม รวมถึงกลไกบอกเวลาที่เที่ยงตรงยิ่งกว่ามาตรฐานใด ๆ ผสานด้วยเรื่องราวสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ เราเชื่อว่าหลายคนคงหมดคำถามว่าเหตุใด OMEGA Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary เรือนนี้จึงควรค่าแก่การครอบครองเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับใครที่สนใจสามารถเป็นเจ้าของ OMEGA Speedmaster “Silver Snoopy Award” 50th Anniversary ได้แล้ววันนี้ในราคา 334,000 บาท พร้อมแพ็คเกจพิเศษที่มียาน Apollo 13 จำลอง, ผ้าไมโครไฟเบอร์สำหรับทำความสะอาด, แผ่นพับ และแว่นขยายสำหรับส่องรายละเอียดความงามของเรือนเวลารุ่นพิเศษเรือนนี้ได้อย่างใกล้ชิด

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บูติก OMEGA

สาขาเซ็นทรัลเอ็มบาสซี โทร. 02-160-5959
สาขาสยามพารากอน โทร. 02-129-4878
สาขาดิเอ็มโพเรียม โทร. 02-664-9550

LINE OA: @OMEGAThailand

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line