Business

ยิ่งยุ่ง = ยิ่งขยัน? TOXIC BUSYNESS เมื่อคนต้องทำตัวยุ่งเข้าไว้ เพราะกลัวถูกหาว่าขี้เกียจ

By: PSYCAT October 27, 2020

เคยทำงานเสร็จเร็วกว่าเวลาที่มีกันไหม? ไม่ว่าจะเพราะเตรียมตัวมาดี มีประสบการณ์กับงานนี้แล้ว หรือบริหารเวลาได้มีประสิทธิภาพก็ตาม แต่เรา (และคนอื่น) มักไม่ชื่นชมคนทำงานเสร็จเร็วในแง่ดีนัก เพราะเมื่อทำงานเสร็จเร็วกว่าเวลาที่กำหนด นั่นหมายความว่าจะมีเวลาที่เหลือแล้วดูว่างหรือไม่มีอะไรทำ

รวมไปถึงคนกลับบ้านตรงเวลา กับคนที่ถึงเวลาเลิกงานก็ยังไม่ยอมกลับ นั่งลุยต่อไปจนดึกดื่น คนที่ดูยุ่งขิงกับงานยันดึกดื่นค่อนคืนนั่นเองที่มักถูกมองว่าขยัน มุมานะ ฝ่าฟัน และนั่นจึงเป็นที่มาของการที่ใคร ๆ ก็อยากดูงานยุ่ง ดูมีอะไรทำตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ถูกคำครหา (ทั้งจากตัวเองและผู้อื่น) ว่าไอ้นี่ทำไมมันดูชิลจัง วัน ๆ ทำไมไม่ยุ่งเลยล่ะ? มันทำงานบ้างไหมวะเนี่ย! โดยลืมไปแล้วว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิทุกประการที่จะบริหารจัดการงานและเวลาของตัวเอง ความยุ่งจึงไม่ใช่สัญลักษณ์หรือบ่งบอกคุณภาพการทำงานได้เสมอไป

แล้ววันนี้คุณยุ่งไหม? ยุ่งเพราะงานเยอะบริหารเวลาไม่ทัน หรือยุ่งเพราะอยากทำตัวยุ่ง ๆ ให้ดูมีงานทำอย่างหนัก? UNLOCKMEN อยากชวนมาสำรวจ และหาทางปรับพฤติกรรม

รู้จัก Toxic Busyness เมื่อเราเสพติดความยุ่งที่ลวงตา

Toxic Busyness หรือ ความยุ่งเป็นพิษ คือสภาวะที่มนุษย์เหมือนกันมุ่นอยู่กับการทำตัวให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแพร่หลายในโลกยุคโมเดิร์นนี้ ไม่ใช่แค่กับการทำงานเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงกิจกรรมสารพัดสารพัน ออกกำลังกาย เรียนภาษา หัดเล่นเซิร์ฟ อ่านหนังสือ ซึ่งไม่ได้แปลว่าทั้งหมดมานี้ไม่ดีแต่อย่างใด แต่บางคนเลือกทำกิจกรรมหลายอย่างเพราะกลัวจะไม่ทันคนอื่น กลัวคนอื่นจะมองว่าเราอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ในวันหยุด เราจึงต้องแสวงหาสารพัดกิจกรรมมาทำให้ยุ่ง ๆ ไว้เพื่อไม่ให้ดูเป็นคนหลักลอย

แม้หลายคนจะพยายามแย้งว่าก็โลกเมื่อก่อนมันชิลกว่านี้ อะไร ๆ ก็ง่ายกว่านี้ แต่ตอนนี้อะไร ๆ มันก็แย่ โลกมันหมุนเร็วขึ้นและการแข่งขันสูงขึ้นต่างหาก เราถึงต้องยุ่ง ต้องหาอะไรทำ ต้องทำสิ่งที่น่าจะมีประโยชน์ตลอดเวลา แต่จากการรวบรวมข้อมูลของ Jonathan Gershuny  นักสังคมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้เวลาในชีวิตประจำวันของมนุษย์กลับแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ยุ่งอย่างที่เราคิด

เขาค้นคว้าเปรียบเทียบแนวโน้มการใช้เวลาของมนุษย์ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และได้คำตอบว่าเวลาทำงานของมนุษย์ไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการพยายามให้ความหมายเรื่อง “ความยุ่ง” เพราะในปัจจุบันความยุ่งไม่ได้แค่ใช้อธิบายสภาวะ แต่ความยุ่งเป็นเสมือนถ้วยรางวัลไว้ประกาศเกียรติคุณ ใครยุ่งน้อยอาจถูกลดทอนว่าเป็นพวกไม่ยอมทำอะไร ในขณะที่คนยุ่งมากมักได้รับการยอมรับมากกว่า


สำรวจตัวเองให้แน่ใจ “เรายุ่งจริง หรือ เสพติดความยุ่งเป็นพิษ?”

ไม่ได้หมายความว่า “ความยุ่ง” ไม่มีอยู่จริง ความยุ่งเพราะทำงานไม่ทัน ทำงานไม่เสร็จ เพราะบริหารจัดการเวลาไม่ลงตัว หรือเพราะปริมาณงานล้นมือเกินกำลังและเวลาที่มีนั้นมีอยู่จริง แต่ในขณะที่ความยุ่งเป็นพิษหรือ Toxic Busyness ที่ไม่อยากให้ตัวเองดูว่างเนื่องจากรู้สึกผิดต่อตัวเอง หรือกลัวคนอื่นครหานั้นก็มีอยู่จริงเช่นกัน เราจึงอยากชวนมาสำรวจตัวเองในกรณีที่เราไม่แน่ใจว่าเรายุ่งจริง หรือเรากำลังทำตัวเองให้ยุ่งกันแน่?

เบื้องต้นเราย่อมรู้ตัวเองว่าเรายุ่งอยู่ไหม? แต่เมื่อได้คำตอบว่ายุ่ง คำถามต่อไปคือเรากำลังยุ่งมากเกินไปอยู่หรือเปล่า? คำตอบของคำถามนี้มักไม่ตายตัวถ้าเราเอาร่างกาย หรือแรงใจที่ยังตอบว่าไหวอยู่ตลอดเป็นเกณฑ์ ดังนั้นลองตอบคำถามต่อไปนี้เพื่อทบทวนตัวเอง

  1. คุณกำลังยุ่งขนาดนี้เพื่อใคร?
  2. ทำไมคุณทำสิ่งนี้?
  3. คนใกล้ชิดรอบตัวกำลังเริ่มเป็นห่วงคุณอยู่หรือเปล่า?
  4. ความยุ่งนี้เริ่มกระทบความสัมพันธ์ของคุณหรือไม่?
  5. คุณนอนหลับเพียงพอไหม?
  6. สุขภาพของคุณแย่ลงหรือเปล่า?

ชุดคำถามนี้ไม่มีผิดหรือถูก แต่เป็นชุดคำถามที่เราจะได้ทบทวน ไตร่ตรองตัวเอง และเห็นภาพทางที่ตัวเองเลือกเดินอยู่ได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงเริ่มเข้าใจว่าเรากำลังยุ่งมากเกินไปหรือไม่? โดยเฉพาะถ้าคำตอบคือสิ่งที่เรากำลังยุ่งอยู่นี้เริ่มกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ การนอนหลับ รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบตัว นั่นอาจหมายความว่าคุณกำลังมีชีวิตที่ยุ่งเกินไป

แต่การยุ่งเกินไปก็อาจมาจากเงื่อนไขเรื่องการบริหารจัดการเวลา หรือเรื่องปริมาณงานหรือกิจกรรมไม่สัมพันธ์กับเวลาที่มี เราเชื่อว่าคำถามข้อ 1 และ 2 จะเป็นตัวบอกคุณได้ว่าคุณกำลังยุ่งเพราะเรื่องการบริหารจัดการหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ลองเริ่มบริหารเวลาทำงานหรือกิจกรรมใหม่ ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หมดข้ออ้างว่าไม่มีเวลา! “กฎ 168 ชั่วโมงต่ออาทิตย์”ที่จะทำให้การจัดเวลาในชีวิตเปลี่ยนไป, POMODORO TECHNIQUE กฏการเคลียร์งาน 25 นาทีจบ ที่จะช่วยให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปตลอดกาล“วิธีคิดของนักปรัชญาสองพันปีก่อน”ที่จะสอนให้ผู้ชายจัดการเวลาและชีวิตได้อย่างมั่นคง)

แต่ถ้าทบทวนตัวเองแล้วเริ่มตระหนักว่าบางทีงานเราก็เสร็จแล้ว หรือในวันพักผ่อนเราก็อยากนั่งนอนเฉย ๆ ไม่ทำอะไร แต่เรากลับต้องขุดตัวเองมาทำนั่นทำนี่อยู่ตลอด เนื่องจากรู้สึกผิดที่ตัวเองนั่งนิ่งนานเกินไป หรือกลัวว่าคนอื่นจะมองเราเป็นคนไม่เอาไหน นั่นอาจหมายความว่าคุณกำลังเสพติดความยุ่งในฐานะเกราะป้องกันบางอย่าง มันอาจไม่ผิด แต่ถ้ามันเริ่มกระทบชีวิต สุขภาพ และความสัมพันธ์เราอาจต้องหาทางรับมือกับมัน


เสพติดได้ ก็เลิกได้ “วิธีคลี่คลายความยุ่งที่เป็นพิษ”

การใช้เวลาไปทำในสิ่งที่ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขขึ้น และไม่ได้มีประโยชน์กับชีวิตมากขึ้น เพียงเพื่อไม่อยากถูกครหาว่าเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อมันกระทบกับชีวิต ความสัมพันธ์และสุขภาพ เราควรหาทางคลี่คลายมัน การไม่ยุ่ง ไม่ได้แปลว่าเราทำงานไม่มีคุณภาพ หรือหมดคุณค่า หมดความหมายแต่อย่างใด

นอนให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมง: การจัดลำดับความสำคัญเป็นสิ่งสำคัญ อะไรที่เราตั้งมันไว้เป็นเบอร์หนึ่งเสมอ แปลว่าเราจะต้องให้ความสำคัญกับมันก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหน ลองจัดความสำคัญอันดับหนึ่งเป็นการนอนให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะต้องไม่ละเมิดกฎข้อนี้ นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจจากการได้พักผ่อนเพียงพอเสมอ การกำหนดเวลานอน จะช่วยให้เราบริหารจัดการเวลาที่เหลืออยู่ได้ดีขึ้น ไม่ใช่ยุ่งจนจะเบียดบังเวลานอนอย่างไรก็ได้

ปฏิเสธให้เป็น: การปฏิเสธไม่ได้หมายความถึงแค่การปฏิเสธคนอื่น แต่หมายถึงการปฏิเสธความคิดตัวเองให้เป็นด้วย การที่เราสามารถบริหารจัดการเวลาหรือปริมาณงานได้ดี แล้วเหลือเวลาพักผ่อนเยอะ ไม่ได้หมายความว่าเราขี้เกียจ ณ ชั่วขณะที่เราได้มีเวลาของตัวเองอย่ารู้สึกผิด ปฏิเสธความคิด หรือคำชวน (ทั้งจากตัวเองและผู้อื่น) ว่าคนเราต้องออกไปทำกิจกรรมอยู่เสมอลง เลือกทำเฉพาะสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ ไม่ใช่ทำเพราะกลัวคำครหา

กำหนดเขตแดนของตัวเองและความสัมพันธ์: การเสพติดความยุ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างกระทบกระเทือน ถ้าเรายุ่งกับงานหรืออย่างอื่นจนไม่มีเวลาให้คนที่มีความหมาย เราควรกำหนดเวลาให้ตัวเอง เช่น เราจะกินข้าวกับครอบครัวทุกวันอาทิตย์ เราจะไปเจอแฟนทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ฯลฯ เรามีเวลาให้กับสิ่งที่เรากำหนดไว้เสมอ แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลย แล้วคิดว่ารอให้ว่างก่อนค่อยไปเจอคนที่เรารัก เราก็จะมัวแต่หมกมุ่นกับความยุ่งจนละเลยมิติอื่น ๆ ของชีวิต

ในขณะที่เส้นแบ่งเขตแดนของตัวเองก็สำคัญ อย่าปล่อยให้ใครมาชวนไปไหนก็ได้ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้อยากไป หรืองานบางอย่างที่ไม่ใช่หน้าที่เราอย่างสิ้นเชิง แต่เขามาขอให้ทำนอกเวลา เพราะเห็นว่างานเราเสร็จแล้ว การกำหนดวันเวลาเพื่อดูแลตัวเอง ให้ตัวเองได้อยู่เฉย ๆ ผ่อนคลายตามใจก็เป็นอีกกฎเหล็กที่ลองทำดูก็ไม่เสียหาย

 

เราไม่ได้กำลังบอกว่าการยุ่งไม่ดี แต่การยุ่งที่เกิดจากการพยายามทำตัวยุ่ง เพราะรู้สึกผิดต่อตัวเองและคนอื่น รวมถึงส่งผลต่อสุขภาพกายใจ ความสัมพันธ์ อาจหมายถึงการที่เราต้องปรับตัวขึ้นอีกหน่อย UNLOCK ตัวเองขึ้นอีกระดับ เพื่อการทำงาน และบาลานซ์ชีวิตให้ลงตัวมากที่สุด


 

SOURCE: 123

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line