CARS

TOYOTA Past Forward EP.3 : Design Together ร่วมสร้างนิยามใหม่แห่งการออกแบบไปด้วยกัน

By: NTman June 9, 2017

วิถีแห่งงานดีไซน์ คือการนำเอาเรื่องของศาสตร์ และ ศิลป์ เข้ามารวมกันไว้ได้อย่างกลมกล่อม โดยมีจินตนาการและแรงบันดาลใจทำหน้าที่เป็นตัวผสานชั้นยอด ซึ่งเมื่อมองในแง่ของการออกแบบผลิตภัณฑ์ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่างานออกแบบที่สวยงามนั้นมีผลต่อการตัดสินใจ ไม่แพ้อรรถประโยชน์ที่จะได้รับจากชิ้นงานนั้น ๆ

TOYOTA คืออีกหนึ่งแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับศาสตร์แห่งการดีไซน์มาโดยตลอด และได้มีการสื่อสารเรื่องราวของปรัชญาการออกแบบในแนวทางของ TOYOTA ผ่านแคมเปญ PAST FORWARD โดยจัดเป็นรูปแบบของกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งทาง UNLOCKEN มีโอกาสได้เข้าร่วมซึมซับปรัชญาด้านการออกแบบของ TOYOTA ที่เล่าย้อนไปถึงความเป็นมาเมื่อครั้งอดีต พร้อมส่งต่อจิตวิญญาณแห่งดีไซน์ผ่านแนวคิดเพื่ออนาคต จากกิจกรรมที่ผ่านมาทั้ง 2 เฟส อย่าง BEGIN: Design Culture (Behind the Design) นำเสนอ History of TOYOTA’s Sport Car Design จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ควบคู่ไปกับ History of Sneakers ในเรื่องราว และแนวคิดของการออกแบบรองเท้า Sneakers วัฒนธรรมที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น ต่อเนื่องมาจนถึงเฟส 2 BEYOND: Design for Future (Next Design) การนำเสนอเรื่องราวของ Emotional Design รวมถึงปรัชญาการออกแบบของ TOYOTA ที่เรียกว่า “Vibrant Clarity” ซึ่งมีแนวทางที่คล้ายคลึงกัน โดยเน้นไปที่แรงดึงดูดที่ชวนให้หลงใหล และวิวัฒนาการของแสง สี เสียง ที่มีอิทธิพลต่องานดีไซน์

170609-TheStyle-Toyota-18

ล่าสุดแคมเปญ PAST FORWARD ได้เดินทางมาถึงเฟส 3 BUILD UP: Design Together (Change the World of Design) ซึ่งเป็นบทสรุปของงานดีไซน์ที่ทรงคุณค่า ด้วยการต่อยอดประสบการณ์จากอดีต ผสานแนวคิดเพื่ออนาคต โดยใช้แรงบันดาลใจผลักดันทุกจินตนาการ ทุกความคิดสร้างสรรค์ ให้ออกมาเป็นผลงานจริง ผ่านการประกวด “i” Style Design Together เวทีค้นหาทีม Designer ระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ทางด้านการออกแบบไปกับ TOYOTA ถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากน้อง ๆ สมัครร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 20 มหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 75 ผลงาน

UNLOCKMEN ไม่พลาดที่จะตามติดผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ไปเข้าร่วมกิจกรรม Workshop ที่จัดขึ้น ณ The Style by TOYOTA – Siam Square One เพื่อเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “Design Process” แบบเจาะลึกทุกขั้นตอนการทำงานออกแบบในแต่ละส่วน ก่อนจะออกมาเป็นผลงานจริงจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา โดยเริ่มต้นจาก…

RESEARCH & ANALYSIS

170609-TheStyle-Toyota-9

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นฐานความต้องการของผู้ใช้งาน คือหัวใจหลักของงานออกแบบผลิตภัณฑ์ แม้ว่าในการเริ่มต้นลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง จะต้องมีแรงบันดาลใจ (Inspiration) และแรงปรารถนา (Passion) ส่วนตัวของผู้สร้างงานเป็นตัวผลักดัน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ชิ้นงานของเราจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานด้วย ซึ่ง Session นี้จะเน้นไปที่การค้นหา และวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมาย โดยมี พี่ ‘ปู’ จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Cheeze และบรรณาธิการบริหารหนังสือ looker มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ถ่ายทอดแนวคิดในการวิเคราะห์เจาะลึกถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายจากประสบการณ์อันเข้มข้นเมื่อครั้งก่อตั้ง Cheeze

เริ่มจากกระบวนการเจาะลึกไล่ไปตามลำดับ Target-Insight-Demand มุ่งค้นหาความต้องการ พฤติกรรม นิสัย อายุ อาชีพ ค่าใช้จ่าย ความเหมาะสมและจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงปัญหาต่าง ๆในการคมนาคมของคนเมือง เจาะลึก Insight เข้าไปในส่วนนั้น ๆ เพื่อที่จะหาเป้าหมายในการออกแบบ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มบริโภคได้อย่างเข้าใจ และก่อให้เกิดความประทับใจ ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าทางจิตใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการค้นหา คิด วิเคราะห์ ความต้องการของผู้บริโภคในครั้งนี้ ได้ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับสร้างแนวความคิดในการออกแบบ และร่างเป็นสเก็ตช์ดีไซน์เพื่อใช้ในการ Workshop ครั้งต่อไป

170609-TheStyle-Toyota-11

170609-TheStyle-Toyota-15

DESIGN WORKS

170609-TheStyle-Toyota-19

เมื่อผ่านการค้นหา และ วิเคราะห์ถึงความต้องการของผู้บริโภค จนได้มาเป็นแกนหลักของไอเดียในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ Workshop ครั้งนี้คือเวลาที่จะถ่ายทอดไอเดียนั้นออกมาเป็น Sketch Design หรือภาพร่างที่ช่วยให้จินตนาการของน้อง ๆ ผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีม กลายมาเป็น Concept Design ที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมี คุณ ‘เก่ง’ ณัฐวงศ์ รอดพันธ์ธนโชติ นักออกแบบ แผนกวางแผนรถเพื่อการพาณิชย์ ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รับหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว “5 Process Design Work” หรือ 5 ขั้นตอนในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของ TOYOTA ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน เริ่มจาก

1. Concept Making

กระบวนการออกแบบรถเริ่มต้นด้วยการสร้างคอนเซ็ปต์ โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้มาจากการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย และขั้นตอนแรกที่จะทำให้ไอเดียของรถคอนเซ็ปต์ในจินตนาการ กลายมาเป็นภาพที่จับต้องได้ คือ
Idea Sketch-freehand ซึ่งเป็นการร่างภาพความคิดนั้นออกมาด้วยมือ โดยต้องคำนึงถึงแนวคิด และเงื่อนไขต่าง ๆ ตามคอนเซ็ปต์

2. Idea Development

หลังจากได้แบบที่ลงตัวสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ จนมาเป็นภาพร่างด้วยมือจากลายเส้นของดินสอที่ขีดเขียนลงบนกระดาษ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอน Idea Sketch-computer หรือ Digital Design บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถทำให้ Designer แสดงแนวคิดจากภาพร่าง Freehand ออกมาในรูปแบบสามมิติ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเมื่อเห็นภาพร่างของรถได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าภาพร่าง 2 มิติ ด้วยเส้นสายและพื้นผิวที่ดูสมจริง ซึ่งในกระบวนการแปลงนี้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และความชำนาญในการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

3. Color Development

หลังจากที่ได้ภาพร่างของรถต้นแบบที่สวยงาม และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว การเลือกสีที่สามารถสร้างเอกลักษณ์ ดึงความโดดเด่นของตัวรถ ถือเป็นงานที่ดีไซเนอร์จำเป็นต้องลงลึกถึงรายละเอียดการผสมสี วิเคราะห์ข้อมูลของสีที่ได้รับความนิยมจากกระแสแฟชั่น และวงการออกแบบตกแต่งทั่วโลก เพื่อเลือกสีที่สอดคล้องทั้งสีตัวถังภายนอก และอุปกรณ์ภายใน ทั้งแผงหน้าปัด พวงมาลัย ผ้าหุ้มเบาะ เพดานห้องโดยสาร พรม รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งภายในอื่น ๆ ด้วยการทดลองจัดวางในหลากหลายมุมมองจากภาพ Perspective เพื่อให้ได้สีที่เหมาะสมสำหรับประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งแสดงออกถึงความเอาใจใส่ของทีมออกแบบ และถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้บริโภค

4. Mock-Up

แม้ว่าจะมีคอมพิวเตอร์ทรงประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์แบบจำลอง 3 มิติ ที่สมจริงแค่ไหน แต่งานออกแบบรถยนต์นั้นต้องการความละเอียดทางด้านมุมมอง สัมผัส และความรู้สึกที่จับต้องได้ จึงหนีไม่พ้นขั้นตอนขึ้นรูปจำลองด้วยดินเหนียว หรือ Clay Modeling ซึ่งทำควบคู่ไปกับการออกแบบของดีไซน์เนอร์ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเข้าใจในแนวความคิดหลักที่ตรงกัน ด้วยการใช้ตา และมือ ตรวจสอบสิ่งที่เห็น สัมผัสพื้นผิว และรูปทรงของแบบจำลอง ว่าสอดคล้องกับเป้าหมายการออกแบบที่ตั้งใจไว้ และแบบจำลองนี้จะถูกทำขึ้นมาให้มีความใกล้เคียงของจริงมากที่สุด วัสดุเสริมที่ใช้ในขั้นตอนนี้ไม่ได้มีแค่พลาสติก แต่มีการใช้ไม้ โลหะ ผ้า รวมถึงวัสดุที่หลากหลายอื่น ๆ เพื่อให้ดีไซน์เนอร์สามารถตรวจสอบความกว้างขวาง ความรู้สึกของห้องโดยสาร การมองเห็นภาพ และการควบคุมในระดับเสมือนจริงได้

5. Decision Hall

ในขั้นตอนการออกแบบขั้นสุดท้าย มุมมองของผู้บริโภคเป็นสิ่งจำเป็น จึงต้องมีการทดสอบผ่าน Decision Hall ซึ่งมีหลังคาที่เปิด – ปิดได้ เมื่อหลังคาถูกเปิด ผลงานการออกแบบจะถูกวางอยู่บนแท่นหมุน เพื่อให้ดีไซน์เนอร์สามารถมองชิ้นงานภายใต้แสงธรรมชาติจากทุกทิศทุกทาง นอกจากนี้ยังมีการจำลองแสงให้มีสภาพใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติในวันที่ฝนตกและในเวลากลางคืน เพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์แบบ สวยงามในทุกมุมมอง ก่อนที่จะส่งต่อไปถึงมือผู้บริโภค

170609-TheStyle-Toyota-3

170609-TheStyle-Toyota-6

3D MODELING & CNC PROCESS

170609-TheStyle-Toyota-13

การ Workshop ในครั้งนี้ได้ อาจารย์ อภิชาต ภูมิศุข อาจารย์พิเศษ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สุดยอดปรมาจารย์ด้านการออกแบบยานยนต์ในเมืองไทย มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับน้อง ๆ
เรียนรู้กลเม็ดเคล็ดวิชาในการนำ Sketch Design มาออกแบบเป็นผลงานในโปรแกรม 3D เพื่อเตรียมการสำหรับนำไปใช้ในการขึ้นรูปเป็นต้นแบบในกระบวนการต่อไป

โดยอาจารย์ได้พูดถึงภาพรวมทั่ว ๆ ไปในกระบวนการก่อนการออกแบบเป็น 3D นั่นคือการวาง ENGINE DESIGN และ SHAPE DESIGN รวมถึงการเน้นย้ำเรื่องของการฝึกวาด SKETCH DESIGN ให้มาก และหลากหลาย เพื่อสร้างความเข้าใจในการออกแบบชิ้นงานต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งต้องทำความเข้าใจในการวางรูปแบบ การวาง Layout ของเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อคิดในการออกแบบที่ต้องคำนึงถึง LIFESTYLE ของผู้บริโภคที่เป็นหลัก พร้อมทั้งให้คำปรึกษาการขึ้นรูปจาก 2D SKETCH DESIGN มาสู่ 3D MODELING กันแบบใกล้ชิดชนิดทีมต่อทีม ก่อนที่น้อง ๆ จะนำผลงาน 3D MODEL ไปผลิตเป็นโมเดลชิ้นงานจำลองที่สามารถสัมผัสจับต้องได้ด้วยเครื่อง CNC ในขั้นตอน CNC PROCESS

170609-TheStyle-Toyota-16

170609-TheStyle-Toyota-4

170609-TheStyle-Toyota-7

COMMUNICATION DESIGN

170609-TheStyle-Toyota-20

ปิดท้ายการ Workshop ครั้งสุดท้าย ด้วยการติดอาวุธไอเดียให้เฉียบคม กับสกิลการออกแบบเพื่อการสื่อสาร เพราะงานออกแบบที่ดีจะต้องสามารถสื่อสารแนวคิดของดีไซน์เนอร์ออกไปให้ผู้บริโภครับรู้ได้ โดยมี คุณ ‘เอก’ คมสัน แย้มชื่น Creative Director แห่ง Storyteller Bangkok ผู้คว่ำหวอดในแวดวงโฆษณาด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปี ทั้งในไทยและต่างประเทศ เจ้าของรางวัลระดับโลกมากมาย เช่น Cannes Lions, Oneshow, Clio Awards, Adfest มาสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานการคิดงานโฆษณาเบื้องต้น (Basic Advertising) เราสรุปให้เข้าใจง่าย ๆให้ว่างานโฆษณาที่ดีต้องเริ่มจาก

Objective: หรือวัตถุประสงค์ว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นเราทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร

Target: เมื่อมีหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ก็มาตามหากกลุ่มเป้าหมายว่าเราต้องการสื่อสารวัตถุประสงค์นั้นกับใคร

Insight: เมื่อเจอกลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการสื่อสารแล้ว เราควรลงลึกไปอีกถึง Insight ที่ไม่ใช่แค่ผิวเผินเช่น ‘วัยรุ่นกรุงเทพ อายุ 18-25 ปี’ เท่านั้น แต่หาให้เจาะลึกไปอีกว่า เป็นคนแบบไหน มีนิสัยยังไง พฤติกรรมเป็นยังไง เค้าชอบอะไร เกลียดอะไร อยากได้อะไร ชีวิตเค้ามีปัญหาอะไรบ้าง มีความต้องการลึก ๆ อย่างไร

Idea: เป็นส่วนที่เรานำสิ่งที่ได้จากการเจาะลึกไปในหัวใจของกลุ่มเป้าหมาย มาหาแนวความคิดหรือไอเดียที่พูดไปแล้วน่าสนใจ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เกิดความอยากรู้ อยากเห็น อยากติดตาม ในเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอ

Execution: เมื่อมีไอเดียที่ดีแล้ว ก็ต้องหาวิธีการเล่าหรือสื่อสารไอเดียนั้นออกมาให้น่าสนใจที่สุด
Execution เป็นสิ่งประกอบย่อยที่จะช่วยส่งเสริมไอเดีย โดยต้องทำจากแนวความคิดหรือไอเดียหลักมาพัฒนาต่อยอดให้มีความกลมกลืนลงตัว

170609-TheStyle-Toyota-14

170609-TheStyle-Toyota-17

ซึ่งประสบการณ์จากการ Workshop ในทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา สามารถเพิ่มความรู้เรื่องงานดีไซน์ในมุมมองใหม่ เปิดกว้างให้น้อง ๆ ทั้ง 10 ทีมได้แสดงฝีมือให้เกิดขึ้นจริง จนกลายมาเป็นผลงานการออกแบบรถยนต์ที่ส่งเข้าประกวดในรอบสุดท้ายของงาน “i” Style Design Together

ในรอบสุดท้าย 3 ทีมเยาวชนคนเก่ง ที่มีผลงานการออกแบบโดดเด่นเข้าตากรรมการ จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ได้แก่ ทีม The Signature จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, ทีม Automotive จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และทีม I-Job จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมเตรียมตัวเดินทางไปเปิดประสบการณ์ เยี่ยมชมงานดีไซน์สุดล้ำสมัยถึงประเทศญี่ปุ่น ดินแดนต้นแบบแห่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ Popular Vote อีก 1 รางวัล ซึ่งเป็นรางวัลที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมในรอบชิงชนะเลิศ ร่วมเป็นหนึ่งในการโหวตให้ทีมในดวงใจของตน ซึ่งผู้ที่คว้ารางวัล Popular Vote ก็คือทีม The Signature จาก วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ที่คว้าเพิ่มไปอีก 1 รางวัล

ทีม The Signature

ทีม The Signature

UNLOCKMEN ได้มีโอกาสสอบถาม นายทีปกร สุทร ตัวแทนจากทีม The Signature ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และความรู้สึกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในครั้งนี้ว่า “นอกจากผมแล้ว ยังมีเพื่อนอีก 2 คนคือ นายพงศ์พิรัชย์ ศรีโตงาม และ นางสาวกานต์พิชชา ภาเกียรติอนันต์ เราทั้ง 3 คนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ ผลงานที่เราออกแบบส่งประกวดนั้นชื่อว่า ‘I feel’ ซึ่งมีแรงบัลดาลใจจากคำถามที่พวกเราคิดว่า ทำไมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน จะต้องทำลายธรรมชาติ เราจึงนำสองสิ่งมาผสานเข้าด้วยกัน โดยมีรถ I feel เป็นสื่อกลาง

จุดเด่นของผลงานที่นำเสนอ คือรถที่ออกแบบมุ่งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งรูปลักษณ์ แนวคิด การใช้งาน และคอนเซ็ปต์ที่คำนึงถึงธรรมชาติ ผมและทีมรู้สึกดีใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลย เป็นการชนะงานประกวดการออกแบบครั้งแรกของพวกเรา และยังได้รางวัล Popular Votes ควบอีกด้วย รู้สึกภูมิใจที่เห็นคนชื่นชอบผลงานของเรา ไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ พวกเราจะนำความรู้ที่ได้จากการประกวดครั้งนี้ทั้งจากการเวิร์คช็อป และที่กำลังจะไปดูงานด้านดีไซน์ที่ญี่ปุ่น มาพัฒนางานออกแบบของตัวเองทั้งด้านการเรียนและการทำงานในอนาคต และตั้งใจจะนำประสบการณ์ที่ได้มาไปแนะนำน้อง ๆ นักศึกษาด้านออกแบบรุ่นต่อ ๆ ไปด้วยครับ”

ทีม Automotive

ทีม Automotive

ทางด้านตัวแทนทีม Automotive นายรวี บุญกนก พร้อมด้วยนายปฏิพล เขมพิมุก และนายฉัตรชัย ดวงใจ สมาชิกในทีม ได้พูดถึงความภูมิใจและการเข้าร่วมการประกวดกับทาง ​TOYOTA ว่า “พวกเราได้ส่งผลงานในชื่อ ‘Istyle Concept’ เข้าประกวด รู้สึกดีใจและภูมิใจกับผลงานที่ทำให้เราได้รับรางวัลชนะเลิศ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ

การประกวดที่​ TOYOTA จัดขึ้นครั้งนี้ พวกเรามองว่าเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้กับเยาวชนหลายคน เป็นเวทีการประกวดที่ให้แสดงออกถึงไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ ในงานดีไซน์ เพราะงานประกวดออกแบบรถยนต์นั้นมีผู้จัดค่อนข้างน้อย จึงทำให้ผู้ที่สนใจด้านการออกแบบรถยนต์มีเวทีในการแสดงออกน้อย งานประกวดของ ​TOYOTA ครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้ผู้ที่สนใจงานดีไซน์ และทำให้เราทั้ง 3 คนมายืนในจุดนี้ได้ ภูมิใจมาก ๆ ครับ”

ทีม I-Job

ทีม I-Job

อีกหนึ่งทีมผู้ชนะก็คือทีม I-Job มีสมาชิกในทีมได้แก่ นายนิติธร หอมทวนลม, นายสารัช เพิ่มศิริ และ นายเอกบุรุษ มีอิ่ม ร่วมกันกล่าวถึงความรู้สึกที่มีโอกาสได้เข้าร่วมการประกวดว่า “เราทั้ง 3 คนรู้สึกตื้นตันและยินดีมาก ๆ หลังจากที่ได้ยินประกาศว่า ผลงานที่ชื่อ ‘Hornage’ จากทีม I-Job ของเราได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลนี้ทำให้เรามีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานด้านการออกแบบต่อไป แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานออกแบบชิ้นนี้ มุ่งหวังให้ผู้คนทุกช่วงวัยสามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด รองรับความต้องการพื้นฐานของผู้ใช้ในทุกช่วงอายุ ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด และจากการที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้ พวกเราตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็อยากจะฝากไปถึงเพื่อน ๆ ว่า เยาวชนไทยอย่างพวกเราล้วนมีความคิดที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ไอเดียดี ๆ มีความคิดที่หลากหลายและแตกต่างกันไป ขอให้นำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม และอยากให้ทาง TOYOTA รวมถึงองค์กรอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับเยาวชนไทยและจัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ต่อไปครับ”

170609-TheStyle-Toyota-8

นอกจากนี้ คุณปู จิรัฏฐ์ หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกและความคิดเห็นที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดการออกแบบกับทาง ​TOYOTA ครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เหมือนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมงานออกแบบ สังคมเราต้องการนักออกแบบรุ่นใหม่ ๆ ประเทศที่เจริญได้จะต้องมีนักออกแบบเก่ง ๆ อยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานออกแบบกันเยอะ ๆ ส่งประกวดกันเยอะ ๆ ได้หรือไม่ได้ก็ช่างมัน เพราะแค่เข้าร่วมประกวด ก็เหมือนเป็นการวัดความสามารถของคนคนนั้นแล้ว อย่างน้อยคือความกล้า กล้าที่จะแสดงสิ่งที่เรามีออกไปให้คนอื่นเห็น

การประกวดในครั้งนี้เห็นได้ว่า น้องหลายทีมมีแววที่ดีมาก จากสเก็ตช์ครั้งแรกที่เข้ารอบ กับงานหลังจากที่มีโอกาสเข้า Workshop กับมืออาชีพ งานพัฒนาไปไกลมาก และแต่ละทีมก็คงเก็บเกี่ยวข้อดีข้อด้อยของตัวเองในการทำงานครั้งนี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ ในเวทีต่อไป และสำหรับการคัดเลือกทีมชนะเลิศนั้น ผมเน้นทีมที่ให้คุณค่าของการหาข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย ว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร มีปัญหาอะไร “เราต้องออกแบบเพื่อตอบสนองสิ่งเหล่านี้แก่กลุ่มเป้าหมาย ออกแบบแล้วตอบสนองเขาได้ แก้ปัญหาสิ่งที่เขาเจอได้ แค่นี้ก็นำมาซึ่งผลงานการออกแบบที่เราเรียกว่า “โดน” มันคือโดนใจ อะไรที่โดนใจก็ขายได้” ปู จิรัฎฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

170609-TheStyle-Toyota-12

ถือว่าแคมเปญ PAST FORWARD เป็นกิจกรรมที่ไม่เพียงแต่สื่อสารปรัชญาการออกแบบของ TOYOTA จากอดีตสู่ทิศทางการออกแบบในปัจจุบัน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการคิดเพื่อรองรับอนาคตได้เป็นอย่างดี แต่ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงพัฒนาศักยภาพให้เด็กไทยสามารถเติบโตขึ้นไปเป็นนักออกแบบเลือดใหม่ที่มีคุณภาพ ซึ่งเราเชื่อว่า The Style by TOYOTA – Siam Square One ยังคงยืนหยัดเดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป และสำหรับใครที่ไม่อยากพลาดเข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ ในครั้งต่อไป สามารถติดตามอัพเดทข่าวสารได้ที่ https://www.facebook.com/toyotamotor.th/

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line