Life

UNLOCK CORP: งานทำให้ใครตายได้จริงไหม ? มองอีกมุมผ่านการทำงานของญี่ปุ่นสังคมเป๊ะ สุดกดดัน

By: anonymK December 12, 2019

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเล็ก ๆ บนเกาะที่หลายคนลงความเห็นว่าน่าอยู่และเจริญที่สุดประเทศหนึ่ง บางคนก็มองว่ามีเสน่ห์น่าหลงใหลเพราะความตั้งใจจริงของคนในชาติ แต่เราเชื่อว่าหลายคนยังคงตั้งคำถามว่า การอยู่ในกรอบสังคมญี่ปุ่นที่เป๊ะไปเสียทุกอย่างมันสร้างความกดดัน และเกี่ยวพันกับอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น

หลังจากมีโอกาสพูดคุยกับ ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เราพบมุมมองที่น่าสนใจว่า “งานไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของการตาย” และมีคำอธิบายมุมมองที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่ทำให้รู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้องค์กรของญี่ปุ่นเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ยอดฆ่าตัวตาย ไม่ได้มาจากคนตั้งใจทำงาน

“ครูมองว่ามันต้องแยกกันค่ะ คนที่ตั้งใจทำงานอาจจะเป็นคนละกลุ่มกัน
มันไม่ได้แปลว่าคนที่ตั้งใจทำงานจะทำงานหนักจนต้องฆ่าตัวตาย”

บางคนอาจเชื่อมโยงสถิติการฆ่าตัวตายวันจันทร์เข้ากับเรื่องการทำงานท่ามกลางสภาพความกดดัน เป๊ะ ๆ ของสังคมญี่ปุ่น แต่นั่นคือภาพมองแบบเหมารวม เพราะหากเราติดตามรายละเอียดจริง ๆ สถิติการตายเหล่านี้มีคณะวิจัยระบุว่าอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น นั่นแปลว่าเขารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เครียด เมื่อไร้การทำงานจนต้องจบชีวิตตัวเองต่างหาก

การทำงานเป็น A MUST สำหรับคุณ แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน

แม้จะมีความเป็นไปได้ที่บางคนรู้สึกทุกข์ทนถึงขนาดหดหู่ที่ต้องตื่นลืมตามาทำงาน แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นในองค์กรญี่ปุ่นทุกองค์กร เพราะตามประสบการณ์ที่ ดร. กฤตินี พบแม้จะทำงานหนักแค่ไหน แต่ผู้คนในญี่ปุ่นกลับรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของการทำงานจนไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ทำคือการทำงาน

เธอยกตัวอย่างของเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ทำเว็บไซต์การทำอาหารและส่งเสริมให้คนรับประทานอาหารในบ้านมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการทำอาหารคือการส่งมอบความรัก แม้ ดร. กฤตินีให้คำแนะนำว่าสังคมไทยเป็นสังคมรับประทานอาหารนอกบ้านและเสนอให้จ้างอินฟลูเอนเซอร์ตามค่านิยมการตลาดไทย แต่เพื่อนยืนยันว่าจะทำงานหนักแทนโดยให้เหตุผลว่า “เราต้องทำให้คนรักจากหัวใจ”

“เขามานั่งทำงานหนักมา ปรับโปรแกรม ปรับเว็บไซต์ให้คนไทยใช้งานง่าย ๆ ปรับรูปภาพให้อัปโหลดขึ้นได้ง่าย ๆ เขามองเห็นสิ่งที่เราไม่เห็น เขามองเห็นสิ่งสวยงามของผลลัพธ์ที่มันกำลังจะเกิดขึ้น แล้วเขาก็เชื่อว่าเขากำลังช่วยให้เด็กไทยหลายคนได้กินอาหารฝีมือแม่ ช่วยให้ครอบครัวได้รักกันมากขึ้นจากการทำอาหาร ซึ่งพอเขาทำงานหนัก ๆ หรือว่าพูดแบบนี้กับเราเยอะขึ้น เราก็รู้สึกว่าฉันต้องทำอาหารบ้างแล้ว คือกลายเป็นเขาเริ่มอินฟลูเอนซ์แล้ว”

นี่คือหนึ่งตัวอย่างของการทำงานแบบญี่ปุ่นที่เชื่อในวัตถุประสงค์ของการทำงานและสนุกกับความยากลำบากเพราะเชื่อในผลลัพธ์ที่ดีจากการหว่านเมล็ดพันธ์ุ จนทำให้คนรอบข้างรู้สึกและทำตามในที่สุด

“เราก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำงานนะ แต่ว่ากำลังทำให้คนอื่น ๆ มีชีวิตที่ดีขึ้นจริง ๆ ซึ่งตรงนี้มันทำงานหนักไหม หนักจริง แต่ว่าคนทำรู้สึกดีใจ ถ้าเกิดว่าเราเปลี่ยนเป็นการทำงานล่ะค่ะ การทำงานทุกวันมันคือการที่เราได้บริจาคแรงงาน บริจาคความรู้ของเราแล้วช่วยให้คนอื่นมีชีวิตดีขึ้น เราจะไม่รู้สึกว่าเราทำงานเลยค่ะ”

 

อะไรคือสาเหตุของการฆ่าตัวตาย

เมื่อความตายไม่ได้มาจากการทำงานหนักเพราะความเนี้ยบที่มีตอบโจทย์ความตั้งใจของเขา แล้วอะไรที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย คำตอบนั้นคือ “ความกดดัน” ซึ่งเป็นปัจจัยอื่นนอกเหนือจากเนื้องานที่ลงมือทำ บ้างอาจจะโดนเจ้านายกดดัน บ้างก็การกดดันตัวเอง

“เพื่อนญี่ปุ่นเคยเล่าให้ฟังว่าอัตราการฆ่าตัวตายอันดับหนึ่งของคนไทยเรามาจากความรัก แต่ของญี่ปุ่นเนี่ยเหตุผลมาจากการทำงาน มาจากความกดดันและโฟกัสตัวเองว่า ฉันมันไม่ดี ฉันมันแย่ ฉันไม่ได้เรื่องเลย ฉันไปแล้วดีกว่า”

ความรู้สึกแย่ที่พัฒนาไปสู่การปลิดชีวิต อาจมาจากทัศนคติที่นึกถึงเฉพาะความรู้สึกส่วนตัวเป็นที่ตั้ง “ฉันมันไม่ดี ฉันมันแย่ ฉันไม่ได้เรื่องเลย ฉันไปแล้วดีกว่า” เป็นธรรมดาที่ทุกคนจะเคยมีความรู้สึกนี้เข้ามาวนเวียน โทษชะตาชีวิตที่เข้ามากลั่นแกล้งและคิดว่าเป็น “ฉัน” คนเดียวเท่านั้นบนโลกใบนี้ ลองเปลี่ยนมาให้กำลังใจตัวเอง เลิกพูดคำว่า “ฉัน” เลิกคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำแล้วหันไปโฟกัสสิ่งที่ทำและคนรอบข้างบ้าง เปลี่ยนจาก ฉันมันแย่ เป็นฉันจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ฉันจะใช้ความสามารถอะไรทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ทำ

การเปลี่ยนมุมมอง คิดถึงตัวเองให้น้อยลง คิดถึงคนอื่นมากขึ้น และใช้เคล็ดลับเรื่องการทำงานด้วยหัวใจเพื่อสนุกกับงานคือสิ่งที่ชูให้เห็นว่า ท่ามกลางความกดดัน องค์กรญี่ปุ่นยังคงมีคนที่ตั้งใจและสนุกกับงาน และเพียรทำครั้งแล้วครั้งเล่าจนสำเร็จเสมอ ดังนั้น “การทำงาน” และ “ความตั้งใจ” จึงไม่เคยทำให้ใครต้องตาย แต่ความคิดติดลบต่างหากที่ทำ

“งานคือ a must สำหรับเขา เขาถึงกดดัน แต่จริง ๆ มันคือคนละเรื่องกัน”

ใครที่โหยหาความสุขการทำงาน อยากเช็กเรื่องทัศนคติด้านลบ ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจากสิ่งที่กำลังพบอยู่ สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ในบทความ “เงินน้อย งานก็หนัก ผิดที่งานหรือผิดที่เรา? 5 ทัศนคติเลวร้ายที่เป็นภัยกับงานและความสุข ที่ UNLOCKMEN เคยเขียนไว้ บางทีคุณอาจได้ทางออกจากสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line