Life

HIGH & HYPE: ศิลปะคืออะไรกันแน่? หาคำตอบจาก ‘ตัวตน 5 ศิลปินที่เรารักที่สุดในปีนี้’

By: PSYCAT December 2, 2018

“ศิลปะแม่งคืออะไรกันแน่?” ประโยคคำถามไม่สั้นไม่ยาว แต่ชวนให้ผู้ชายอย่างเรากุมขมับครุ่นคิดได้ไม่รู้จบ เข้าขั้นปัญหาโลกแตกจำพวกความรักคืออะไร ? หรือไก่กับไข่อะไรมันเกิดก่อนกันวะ ? ศิลปะสำหรับบางคนจึงเป็นสิ่งสูงส่งไกลตัว ศิลปะคือสิ่งกินไม่ได้ แล้วเราแม่งจะไปสนใจมันทำไม ? ในขณะที่ศิลปินก็ดูเป็นคนเข้าถึงยาก พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำช่างสูงส่ง ล้ำค่า

ในขณะที่คนทำงานศิลปะบางคนนิยามสิ่งที่พวกเขาทำต่างออกไป ศิลปะมันไม่ได้สูงส่งอะไรอย่างที่ใครพยายามยัดเยียด ศิลปะไม่ใช่ศีลธรรมล้ำค่าที่ใครต้องมาเคารพ กราบไหว้ ศิลปะสำหรับพวกเขาจึงอาจหมายรวมถึงการกิน-ขี้-ปี้-นอน ใช่ ศิลปะหมายถึง “ชีวิต” ที่จะเป็นใคร สูงส่งหรือไม่ก็เข้าถึงศิลปะได้เท่า ๆ กัน

วิธีคิดที่ว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องสูงส่งหรือปีนบันไดดู ทีม UNLOCKMEN ลงความเห็นร่วมกันว่าโคตรเท่ และเมื่อถึงปลายปี ห้วงเวลาที่เราตระเวณสนทนากับศิลปินมาหลากหลายแล้วต้องรวมลิสต์ HIGH & HYPE ให้เหลือ 5 คน เราจึงยกให้ 5 ศิลปินต่อไปนี้เป็นศิลปินที่เราว่า HIGH & HYPE ในความหมายของการสร้างสรรค์แบบที่เราชอบที่สุดในปี 2018

 

แพร-รัมภาพร วรสีหะ
ศิลปะแม่งคืออะไรกันแน่: ศิลปะอาจคือการร้อยเรียงตัวตน

ศิลปะแบบที่เราถูกฝังหัวมาตั้งแต่เด็ก อาจหมายถึงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือศิลปะต้องรับใช้สังคม แต่กับ แพร-รัมภาพร วรสีหะ แล้ว ศิลปะอาจหมายถึงการได้ร้อยเรียงตัวตนออกมาเป็นรูปถ่ายแต่ละใบ และความยิ่งใหญ่อาจไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอก แต่เป็นการได้ทบทวนความทรงจำตัวเอง การเดินทางของตัวเอง เพื่อรู้จักตัวตนภายในของเราได้ดีกว่าที่เคย

“สมมติว่าในหนึ่งวันหรือในหนึ่งอาทิตย์เราถ่ายรูปโดยที่ไม่รู้ตัวหรอกว่าถ่ายอะไรไปบ้าง แต่พอเราจับรูปมาเรียงกัน มันจะบอกตัวตนเราหมดเลยว่าเราแม่งโตมาแบบไหน ตอนนี้กำลังสนใจอะไรอยู่ หรือเรากำลังให้ความสนใจเรื่องอะไร มันมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยู่ในรูปเรา”

ไม่ใช่แค่การถ่ายภาพเท่านั้นที่เธอหลงใหลและเทใจให้กับมัน การเป็นศิลปินในภาพจำของหลายคนอาจหมายถึงความติสต์ ๆ ชิล ๆ แต่กับเธอการเป็นศิลปินไม่ได้มีกรอบจำกัดตายตัวขนาดนั้น เธอจึงเลือกอาชีพ “อาจารย์” เป็นอีกหนทางหนึ่งที่เธอจะได้ทำในสิ่งที่รัก และได้ถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ไปด้วยพร้อม ๆ กัน

“การถ่ายภาพกับการสอนเหรอ ? การสอนเป็นอีกเรื่องเลยนะ เวลาสอนหนังสือ เราจะรู้สึกว่าเราเหนื่อยมากระหว่างที่สอน กว่าจะไล่จาก 1-10 แต่พอถึง 10 แล้วปุ๊บ เราเห็นว่าเด็กได้อะไร เราหายเหนื่อยเลยเราก็รู้สึกว่าไอ้สิ่งที่ทำให้หายเหนื่อยนี่แหละที่ทำให้เราสอนมาได้ตลอด 4-5 ปี”

ติดตามบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: รูปถ่ายคือการร้อยเรียงตัวตน รู้จัก “แพร-รัมภาพร”ช่างภาพสาวที่ถ่ายภาพเพื่อก้าวไปข้างหน้า

 

ปก-ปกฉัตร วรทรัพย์
ศิลปะแม่งคืออะไรกันแน่: ศิลปะอาจคือการดึงสัญชาตญาณในตัวมนุษย์ออกมา

บ่อยครั้งที่สังคมตั้งคำถามเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างศิลปะกับอนาจาร ? จนเกิดเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง โดยเฉพาะเรือนร่างผู้หญิงเปลือยในรูปถ่าย ในภาพวาด มักถูกตั้งคำถามมากเป็นพิเศษจนศิลปินหลายคนเลือกไม่แตะต้องร่างเปลือยเปล่าเหล่านี้ แต่ไม่ใช่ ปก-ปกฉัตร วรทรัพย์ ช่างภาพสาวที่หลงรักการถ่ายภาพนู้ดผู้หญิงแบบหมดใจ และใช่ เธอทำมันอย่างต่อเนื่องโดยไม่หวั่นไหวต่อข้อครหาใด ๆ

“ศิลปินที่ดีไม่ควรโกหก ทุกอย่างมันคือการบันทึกตัวเราในช่วงเวลานั้น”

“เราให้คนเข้าใจงานเราหมดทั้งโลกคงไม่ได้หรอก มันต้องมีทั้งคนที่เข้าใจ ไม่เข้าใจ ชอบและไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบแล้วมาติ เราก็รับฟัง มันทำให้รู้ว่ามีคนคิดแบบนี้กับงานเราด้วย” ปกฉัตรยืนยันว่าเธอมั่นคงในงานของตัวเองมาก และเสียงวิจารณ์ที่มีความหมายจะถูกรับฟัง แต่ถ้ามาด่าแบบหยาบคาย เธอก็คงโบกมือลา

“เราเริ่มถ่ายนู้ดผู้หญิงอย่างจริงจัง และยิ่งถ่ายผู้หญิงไปเรื่อย ๆ เราก็ยิ่งพบว่าผู้หญิงมีสัญชาตญาณอะไรบางอย่างที่ทำให้เราประหลาดใจได้อยู่เรื่อย ๆ “

“ภาพนู้ดของเรามันถึงเป็นสัญชาตญาณมนุษย์ล้วน ๆ ซึ่งเราคิดว่ามันงดงามมาก”

ศิลปะสำหรับปกฉัตรจึงหมายถึงสัญชาตญาณในตัวมนุษย์ที่มีอยู่จริงและเธออาสาจะดึงมันออกมาเพื่อให้ผู้คนได้ชื่นชมความงดงามของสัญชาตญาณเหล่านั้นในตัวผู้หญิง เธอคิดว่าศิลปินที่ดีไม่ควรโกหก และถ้าใครโกหกว่าไม่เคยดูผู้หญิงเปลือย คนนั้นก็น่าจะเพี้ยนไปแล้วจริง ๆ

ติดตามบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: เรือนร่างผู้หญิงคือสิ่งสวยงาม รู้จักช่างภาพสาว”ปก-ปกฉัตร”ผ่านนิทรรศการภาพนู้ด THIS IS NOT CUTE

 

Unnamedminor
ศิลปะแม่งคืออะไรกันแน่: ศิลปะคือการช่างแม่ง! กูจะทำในสิ่งที่กูรัก

ถ้าการทำงานที่พัวพันกับผู้หญิงเปลือยนับเป็นการทำสิ่งที่สังคมตั้งคำถามอย่างหนักแล้ว Shibari ศาสตร์แห่งการรัดรึงเรือนร่างที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความงามกับรสนิยมทางเพศที่ดุดันรุนแรงยิ่งเป็นสิ่งที่สังคมมองว่าประหลาดหนักขึ้นไปอีกขั้น แต่ ไมเนอร์-เพชรดา ปาจรีย์ หรือ Unnamedminor คือหญิงสาวคนหนึ่งที่หลงใหลการมัดแบบหมดจิตหมดใจ ส่วนใครจะมองเธอยังไงหรือมองว่าสิ่งที่เธอทำเป็นศิลปะไหม ดูเหมือนนั่นจะไม่ใช่ประเด็นที่จะหยุดยั้งเธอได้…

“คนเรามีวิธีการผ่อนคลายที่ต่างกัน บางคนอาจชอบช่วยตัวเอง บางคนอาจจะชอบวาดรูป บางคนอาจจะชอบฟังเพลง นี่ก็เป็นประเภทหนึ่งของการผ่อนคลาย เราเลือกสิ่งนี้ เพราะมันเป็นตัวเรา” ไมเนอร์เล่าว่าเธอเริ่มทำความรู้จัก Shibari จากการมัดตัวเอง “เวลาเรามัดตัวเอง เราจะรู้สึกผ่อนคลาย”

“เราแค่รู้สึกว่าเราได้ทำสิ่งที่เราชอบ ส่วนมันจะเป็นศิลปะมั้ย เราไม่ได้สนใจ”

“เราแค่ได้เริ่มในสิ่งที่เราอยากทำ เราได้ทำมัน มันเติมเต็มเรา เราจะทำให้เป็นศิลปะได้ยังไงก็เป็นกระบวนการคิดที่มันต่อยอดมาหลังจากนั้น” ไมเนอร์ไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่ทำตรงหน้าจะเป็นศิลปะหรือไม่ มันอาจจะเป็นหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับการได้ทำในสิ่งที่รักและมันเติมเต็มเธอได้

“การเป็นตัวเราเองมันไม่ใช่เรื่องผิดขนาดนั้น” เธอทิ้งท้ายและยืนยันว่าเธอสนุกกับสิ่งที่ทำและจะทำมันไปเรื่อย ๆ แน่นอน

ติดตามบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: รัดรึงตรึงคลาย: เมื่อเราพาร่างกายไปให้เธอมัด UNNAMEDMINOR หญิงสาวผู้รัก SHIBARI หมดใจ

 

P7
ศิลปะแม่งคืออะไรกันแน่: ศิลปะอาจคือการเข้าถึงผู้คน

“ผมคิดว่าศิลปะมันควรเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่า เป็นเรื่องที่ง่าย ผมว่าความรู้สึกของคนมันมีคุณค่ากว่าศิลปะ 

“ศิลปะมันควรจะช่วยสัมผัสความรู้สึกคน ไม่ใช่ให้คนต้องแหงนหน้ามองศิลปะ

เพราะฉะนั้นผมถึงทำงานศิลปะที่เป็นศิลปะ ตอนแรกก็ทำศิลปะที่เป็นไฟน์อาร์ต เข้าใจยาก แต่ผมก็อยากจะเอาศิลปะที่มันสัมผัสง่าย เข้ามาผสมผสานด้วย ดังนั้นศิลปะไม่ควรสูงส่ง แต่ควรจะอยู่ระดับเดียวกับผู้คน”

ไม่มีอะไรต้องขยายความเพิ่มศิลปะในสายตา P7 – พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์ ศิลปินสตรีทอาร์ตที่เริ่มต้นการทำศิลปะมาจากไฟน์อาร์ต แต่เลือกกระโจนลงมาเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตเต็มตัวโดยใช้ชื่อใหม่ ทั้ง ๆ ที่ชื่อเดิมคนในแวดวงศิลปะก็ให้การยอมรับดีอยู่แล้ว

อาจเพราะความเชื่อที่ว่าพลังงานล้นเหลือนี้จะอยู่ภายใต้ชื่อไหนก็ยังฉายแสงออกมาอยู่วันยังค่ำ การไม่ยึดติดกับตัวตนเดิมของเขาไม่ใช่แค่เรื่องชื่อเท่านั้น กับเรื่องผลงานก็เช่นกัน ผลงานของเขาจึงไม่ยึดติดว่าทำออกมาแล้วคนต้องจำได้ว่าคืองานของเขา แต่หัวใจสำคัญคือความหลากหลาย ความไม่หยุดนิ่ง และที่สำคัญมันต้องเข้าถึงได้

ติดตามบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: รู้จัก”P7″ศิลปินสตรีทอาร์ตกับโปรเจกต์ปลดล็อกพลังสร้างสรรค์ชิ้นล่าสุด

 

วะนา
ศิลปะแม่งคืออะไรกันแน่: ศิลปะอาจคือการท้าทายตัวเองอยู่เสมอ

ไม่แปลกที่เราเสพภาพยนตร์ของผู้กำกับสักคนหนึ่ง แล้วเขามีลายเซ็นชัดมากเสียจนไม่ต้องบอกเราก็รู้ว่านี่คือผลงานของผู้กำกับคนไหน หรือถ้าเราเสพหนังสือของนักเขียนสักคน ต่อให้ปิดชื่อก็รู้ว่านี่คือใครเขียน ไม่มีใครตัดสินว่าแบบไหนถูกหรือผิด แต่สำหรับ ณัฐชนน วะนา ผู้กำกับไฟแรงที่เหมือนในหัวจะมีความคิดพลุ่งพล่านอยู่ตลอดเวลา การทำงานของเขาคือการทำอะไรใหม่ ๆ หาความท้าทายใหม่ ๆ อยู่เสมอ

“เราคิดว่าการ Drive ตัวเองไปข้างหน้าโดยที่เรายังอยู่ที่เดิมมันยาก”

“การจะ UNLOCK ตัวเองได้ต้องรู้สึกตัวเมื่อตัวเองชิน และหาทางออกจาก Comfort Zone นั้น แต่ในขณะเดียวกันการที่คุณออกไปคุณก็ต้องพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ รู้จักมันมากขึ้นเหมือนกัน”

หนังของวะนามีเอกลักษณ์ชัดเจนมีความปัจเจกสูง นิ่งเงียบ เนิบช้า อบอวลด้วยควันบุหรี่ เน้นการสื่ออารมณ์ของตัวละครจากบทสนทนา

“เรารู้สึกว่าหนังเราค่อนข้างจะเป็นห้วง ห้วงที่เล่าด้วยไดอะล็อก เพราะเรารู้สึกเสมอว่าเวลาคนเราเจอปัญหา จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาจะเริ่มที่บทสนทนา บทสนทนาสำหรับเรามันเป็นการแสดงออกถึงความเจ็บปวดและด้วยความที่เราโตมาในสังคมเมืองชนชั้นกลาง มันเลยไม่มีอะไรที่หวือหวา ความหวือหวาส่วนใหญ่จะอยู่ในบทสนทนา เราเลยเลือกเล่าเรื่องด้วยวิธีนี้”

ศิลปะในความหมายของผู้กำกับอย่างวะนาจึงไม่ได้สูงส่งหวือหวา แต่คือการจับบทสนทนาที่ลุ่มลึกบ้างหรือไม่ลุ่มลึกก็ได้ มาร้อยเรียงเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่าง ในขณะเดียวกันเขาก็เชื่อในพลังของการท้าทายตัวเอง พาตัวเองไปอยู่ในที่ใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ผลงานใหม่ ๆ ไอเดียใหม่ ๆ มันจะได้ผลลัพธ์อย่างเดิมไหมไม่สำคัญเท่าการได้เรียนรู้ ได้ปลดล็อกตัวเอง และนั่นแหละคือความหมายของศิลปะและชีวิต

ติดตามบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: ‘ณัฐชนน วะนา’ ผู้กำกับหนุ่มผู้มีสไตล์ชัดเจนและมุ่งมั่นที่จะออกจาก COMFORT ZONE ของตัวเอง

 

ศิลปะแม่งคืออะไรกันแน่ ?
คำตอบของ UNLOCKMEN ร้อยเรียงผ่านตัวตนศิลปิน 5 คนที่เรารักประจำปี 2018 เรียบร้อยแล้ว

แล้วคุณล่ะ ศิลปะแม่งคืออะไรกันแน่ ?

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line