APPS

‘TECH VS COVID-19’ การยับยั้งไวรัส เสรีภาพส่วนบุคคล และดาบสองคมของเทคโนโลยีอัจฉริยะ

By: unlockmen April 9, 2020

ในยุคที่เชื้อไวรัส COVID-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเริ่มรับช่วงต่อจากจีนแผ่นดินใหญ่และกลายมาเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้แทน นำมาซึ่งการปิดบางเมืองในกลุ่มเสี่ยง งดประชาชนออกนอกเคหสถาน และเพิ่มมาตรการตรวจสอบข้อมูลรายคนแบบละเอียดยิบ

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็เริ่มหยิบยืมความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย เข้ามาช่วยต่อสู้ฟาดฟันกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มากขึ้น โดยพวกเขาเชื่อว่าเทคโนโลยีอาจเป็นความหวังเดียวที่จะแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เนื่องจากนโยบายเว้นระยะห่างจากสังคมและการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อจำกัดการออกนอกบ้านของประชาชน อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำลายห่วงโซ่ของการแพร่กระจายไวรัสได้ รัฐบาลของหลายประเทศจึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบการเคลื่อนไหว ประเมินความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อ รวมถึงยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากคนสู่คน

ทำให้ปัญหาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ถูกนำมาใช้งานอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ไปจนถึงระบุตัวตนผู้ที่ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่อากาศยานไร้คนขับอย่างโดรนที่เรารู้จักกันดี ยังถูกใช้ถ่ายภาพความร้อนเพื่อค้นหาผู้ที่ติดเชื้อไวรัส ตลอดจนพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่ปนเปื้อนได้อย่างปลอดภัย

businessinsider.com

สิงคโปร์กับแอปพลิเคชัน TraceTogether

รัฐบาลสิงคโปร์เปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘TraceTogether’ เพื่อติดตามการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและตรวจสอบว่าผู้ใช้ปฏิสัมพันธ์หรือใกล้ชิดกับใครบ้าง เมื่อผู้ใช้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้และเจ้าของสมาร์ตโฟน 2 เครื่องอยู่ใกล้กันภายในระยะ 6 ฟุต TraceTogether จะแลกเปลี่ยน temporary ID ระหว่างเครื่องโดยอัตโนมัติ

ผู้ใช้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลการติดต่อของกันและกันได้ มีเพียงเซิร์ฟเวอร์เท่านั้นที่รู้ว่าเจ้าของสมาร์ตโฟนเครื่องนั้น ๆ เป็นใคร แล้วเมื่อใดที่ตรวจพบเชื้อ COVID-19 เจ้าหน้าที่จะขอเข้าถึงข้อมูลว่าผู้ใช้คนดังกล่าวได้แลกเปลี่ยน temporary ID กับใครไปแล้วบ้าง เพื่อประเมินความเสี่ยงและติดตามการแพร่กระจายของเชื้อต่อไป

thestar.com

ฟีเจอร์เจ๋งและความเข้มงวดของรัฐบาลจีน

นอกจากประเทศจีนจะใช้ DingTalk, Feishu, WeChat Work and Meeting และ WeLink ที่เพิ่มฟีเจอร์​ใหม่อย่างการตรวจสุขภาพออนไลน์แล้ว จีนยังให้คะแนนสุขภาพรายบุคคลโดยแบ่งเป็นสีเขียว เหลือง และแดงตามลำดับความรุนแรงของอาการ บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้โครงข่ายการคมนาคมเหมือนคนทั่วไป แถมข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้ส่งไปให้หน่วยงานด้านสุขภาพเท่านั้น หากยังถูกส่งไปให้ตำรวจด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลจีนได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่ประตูอพาร์ตเมนต์ของผู้ที่ถูกกักตัว 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ออกไปไหน แถมยังมีโดรนช่วยรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยอีกด้วย แม้มาตรการบางอย่างของจีนอาจดูรุนแรงไปหน่อย แต่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมาก

bangkokpost.com

เกาหลีใต้และแอปพลิเคชันช่วยชีวิต

ประเทศเกาหลีใต้มีเชื้อ COVID-19 แพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงในช่วงแรก ทำให้การออกจากบ้านถือเป็นการละเมิดคำสั่งแพทย์และผิดกฎหมาย แต่โชคดีที่มีแอปพลิเคชันของกระทรวงมหาดไทยสามารถช่วยพยุงสถานการณ์ในประเทศแดนกิมจิแห่งนี้ให้พ้นขีดอันตราย

แอปพลิเคชันที่ว่านี้สามารถติดตามตำแหน่งผู้ใช้อย่างใกล้ชิด เพื่อสอดส่องว่าเชื้อไวรัสกำลังแพร่กระจายไปในทิศทางใด พร้อมเชื่อมต่อกับข้อมูลอื่น ๆ ทั้งกล้องวงจรปิด การใช้งานบัตรเครดิต ไปจนถึงบันทึกการใช้สมาร์ตโฟน

เมื่อใดที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบเชื้อ COVID-19 ของผู้ใช้ ผลตรวจนั้นจะถูกแชร์ไปให้คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อรายนั้น โดยรัฐบาลเกาหลีใต้เผยว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลจะสิ้นสุดลงทันทีที่เชื้อไวรัสชนิดนี้หยุดแพร่ระบาด

bendigoadvertiser.com.au

ฝรั่งเศสกับการใช้แอปพลิเคชัน ‘Stop Covid’ อย่างเป็นทางการ

หลังรอดูสถานการณ์อยู่นานก็ได้ฤกษ์ที่ประเทศฝรั่งเคสจะประกาศใช้งานแอปพลิเคชัน ‘Stop Covid’ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเป็นทางการ ซึ่งแอปพลิเคชันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักวิจัยและนวัตกรรมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ

Stop Covid จะใช้ Bluetooth Low Energy เพื่อระบุตัวตนของผู้ใช้สมาร์ตโฟนที่ติดตั้งแอปพลิเคชันเดียวกัน เมื่อผู้ใช้อยู่ใกล้กับบุคคลที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แอปพลิเคชันนี้จะส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังสมาร์ตโฟนของผู้ใช้ทันที แม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วงทดสอบระบบ แต่ทางรัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันมาว่าจะไม่มีมาตรการบังคับให้ประชาชนติดตั้ง Stop Covid อย่างแน่นอน

usinenouvelle.com

ใครจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนหลังจากที่ไวรัสเลิกระบาด?

แม้ความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีจะช่วยให้หลายประเทศผ่านพ้นขีดอันตรายและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจใช้ไม่ได้กับทุกประเทศ

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกากำลังเจรจากับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Facebook และ Google เกี่ยวกับการเจาะข้อมูล ตำแหน่ง และการเคลื่อนไหวของชาวอเมริกันผ่านสมาร์ตโฟนเพื่อติดตามเชื้อไวรัส COVID-19

ผลสำรวจล่าสุดจาก Oliver Wyman Forum พบว่ามีชาวอเมริกันเพียง 55% ที่เต็มใจจะแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุข และมีเพียง 27% เท่านั้นที่สามารถให้ข้อมูลเดียวกันกับรัฐบาลได้

เมื่อรัฐบาลทั่วโลกใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส นำมาสู่การตั้งคำถามว่านี่ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนหรือไม่ และองค์กรหลายแห่งก็เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

กลุ่มผู้สนับสนุนความเป็นส่วนตัวแบบดิจิทัล หรือ Electronic Frontier Foundation (EFF) เชื่อว่าการเก็บข้อมูลส่วนตัวและค้นหาตำแหน่งของประชาชนด้วยเครือข่ายมือถือ อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอจะติดตามการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แถมรัฐบาลยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่ชัดว่าจะหยุดรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเมื่อใด

ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชน หรือ Human Rights Watch ก็กังวลว่ารัฐบาลใช้ข้ออ้างเรื่องไวรัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหรือเปล่า ซึ่งหากวิกฤตนี้จบลงรัฐบาลคงมีข้อมูลครบถ้วนและตามสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์

ต้องยอมรับว่าเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยินยอมให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว อาจช่วยควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสชนิดนี้หรือเอื้อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น แต่เทคโนโลยีจะเข้ามาแก้วิกฤตไวรัส COVID-19 ได้อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพได้ต่อเมื่อรัฐบาลน่าเชื่อถือและประชาชนไว้วางใจมากพอ

เพราะกุญแจสำคัญคือการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวของประชาชน และความจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลเพื่อแก้วิกฤต ตราบที่ประชาชนขาดความมั่นใจเรื่องมาตรการปกป้องความเป็นส่วนตัว หรือยังไม่มีการประกาศชัดเจนว่าจะทำลายข้อมูลเมื่อวิกฤตสิ้นสุด ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้พวกเขายอมรับเทคโนโลยีสู้ COVID-19 ตามที่หลายภาคส่วนร่วมกันคิดค้น

 

SOURCES: 123

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line