Entertainment

ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มีเหตุผลอ้างอิงว่าเหตุใด EDM ถึงได้กลายมาเป็นดนตรีกระแสหลักของโลก

By: Thada December 12, 2017

พ.ศ. นี้ถือเป็นยุคทองของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนเราก็เจอแต่ดนตรีแนวเสียงสังเคราะห์เต็มไปหมด อีกทั้งเทศกาลดนตรี EDM หรือที่บ้านเราเรียกกันว่าเพลงตี้ดแทบจะมีออกมาเดือนชนเดือนให้บรรดาเหล่า raver ได้ออกไปโยกย้ายส่ายสะโพกตาม ๆ กัน ซึ่งแต่ละงานก็มีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่น้อยกว่าหลักพันคนเลยทีเดียว

สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจในเรื่องของดนตรีฝั่งอิเล็กทรอนิกส์ คงมีข้อสงสัยว่าทำไมในปัจจุบันดนตรีที่เรียกว่า EDM รวมถึงเทศกาลดนตรีที่มีดีเจขึ้นไปยืนสแคชแผ่นบนเครื่อง CDJ ถึงได้กลายมาเป็น Mass Music  ได้รับความนิยมมากกว่าดนตรีสดเสียที เพราะไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าขนาดงานมหกรรมดนตรีอย่าง Coachella และอีกมากมายยังต้องใช้ชื่อดีเจชั้นนำเหล่านั้นเป็นตัวดึงคนมาร่วมงาน โดยที่ทีมงานเองก็เกิดเป็นข้อสงสัยอีกเช่นกันว่าทำไมดนตรี EDM ถึงได้รับความนิยมถึงเพียงนี้

ย้อนกลับไปราว ๆ 1-2 ปีมานี้คนไทยคุ้นเคยกับแนวดนตรีสังเคราะห์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากในต่างประเทศเองก็พยายามผลักดันแนวดนตรีเต้นรำให้กลายเป็นเพลงกระแสหลักของโลก โดยการนำเสนอวิธีใหม่ ๆ หยิบเพลงออกมาสู่งานเอ้าดอร์ด สร้าง vibe บรรยากาศใหม่ ๆ อย่างเช่น Ultra Music Festival , Tomorrowland , EDC  ขึ้นเพื่อรองรับกับแนวดนตรีนี้โดยเฉพาะ ทำให้เพลงอิเล็กทรอนิกส์ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในคลับเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

แล้วทำไมถึงต้องเป็น EDM ?

ความจริงเรื่องนี้มันมีศาสตร์หลาย ๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาพฤติกรรมของมนุษย์ และหลักการณ์ทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ ซึ่งทีมงานจะขอยกเอามาวิเคราะห์ชี้แจงเป็นข้อ ๆ

 บีทของดนตรีมีผล กระตุ้นจังหวะของหัวใจ 

ก่อนอื่นเราขอนำ quote หนึ่งจากภาพยนตร์  We’re Your Friend ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี EDM โดยพระเอกของเรื่องที่นำแสดงโดย Zac Efron ได้กล่าวไว้ในฉากหนึ่งว่า “128 bpm คือตัวเลขมหัศจรรย์….. ที่จะทำให้คุณรู้สึกสนุกกับเพลง” 

จากประโยคดังกล่าวก็ได้ไปสอดคล้องกับผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ชิ้นที่บอกว่า จังหวะ 120 + bpm (Beat per minute) จะสามารถกระตุ้นอารมณ์ให้ผู้ฟังอยากลุกขึ้นมาขยับตัว เต้นตาม เพราะเพลงเร็วมีอิทธิพลต่อการปรับความดันโลหิตให้สูงต่ำ อีกทั้งทำให้ผู้ฟังหัวใจเต้นแรงเร็วขึ้นเทียบเท่ากับขณะที่ร่างกายวิ่งอยู่เลยทีเดียว

แต่เหตุผลที่ตัวละคร Cole (Zac Efron) เลือกจังหวะ 128 bpm น่าจะมาจากมันเป็นบีทที่ศิลปินส่วนใหญ่นิยมใช้ในการสร้างเพลง รวมถึงเป็นบีทที่ดีเจสามารถต่อเพลงได้ง่าย

ถ้าชาว UNLOCKMEN อยากจะพิสูจน์ว่าประเด็นนี้จริงหรือไม่ เราได้นำรายชื่อตัวอย่างเพลง 128 bpm  มาให้ลองฟังกันดู แล้วสังเกตพฤติกรรมตัวเองว่ามีร่างกายส่วนไหนขยับโยกตามเพลงไปบ้างหรือเปล่า

Calvin Harris ft. Ellie Goulding – Outside (128 bpm)

Cash Cash – Surrender (128bpm)

Rihanna – We found love (128bpm)

มนุษย์ใช้ชีวิตเร่งรีบขึ้นและมีความสุขน้อยลง

ปฎิเสธไม่ได้ว่าสังคมในปัจจุบันเป็นแบบโลกข้อมูลข่าวสารออนไลน์  ทุกอย่างต้องเร็ว และไว ใครที่ก้าวช้าเพียงแค่นิดเดียว ก็สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ จึงทวีความรุนแรงขึ้นตลอดเวลา นำมาสู่ปัญหาความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า ทำให้ความสุขในชีวิตคนเราลดน้อยลง

จึงสอดคล้องกับเหตุผลข้อบนที่ว่ามนุษย์ต้องการความผ่อนคลาย หรือวิธีระบายความเครียดที่ตอบสนองได้รวดเร็วที่สุด และเพลงดนตรีเต้นรำก็สามารถช่วยทำให้รู้สึกแบบนั้นได้ในทันที เพราะเมื่อคุณจ่ายเงินค่าตั๋วไปแล้ว ก็จะได้รับความสนุกแบบ non-stop ตลอดงาน

เนื่องจากเพลงที่เหล่าดีเจเซ็ตมาให้ล้วนมีแต่เพลงเร็ว ๆ ตลอดโชว์ โดยพวกเขาสอดแทรกท่อน slow ไว้เพียงไม่กี่วินาทีก่อนจะเร่ง bpm กลับมาที่จังหวะเกิน 120 bpm เช่นเดิม ซึ่งต่างการจากแสดงดนตรีสดที่บางครั้งในบทเพลงช้าจังหวะ bpm อาจลดต่ำถึง 60-80 ราว ๆ 3-4 นาที และยิ่งถ้าบทเพลงนั่นไม่ได้ตรงใจ หรือเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังอาจทำให้หลุดการสนใจจากโชว์นั้นไปได้เลยทีเดียว

ทำให้เราสรุปได้ว่าพฤติกรรมของมนุษย์นั่นมีความอดทนน้อยลง ต้องการความสนุกแบบเร่งด่วน และคุ้มค่าแบบทันทีทันใด จนเป็นเหตุให้แนวดนตรี EDM ที่สามารถทำให้พวกเขารู้สึกสนุกได้ตลอดเวลา เข้ามาครองใจ และเป็นคำตอบของความบันเทิงสำหรับคนในยุคนี้

นอกเหนือจากสองเหตุผลสำคัญที่เราได้หยิบยกมาสนับสนุนว่าเพราะเหตุใด ปัจจุบันเพลง EDM ถึงกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก ซึ่งมันยังมีเหตุผลอื่น ๆ อย่างเช่น เมโลดี้ติดหู  ท่อนเนื้อร้องที่จำง่าย จังหวะสนุกสนาน และการสร้างความนิยมของสื่อ แต่เหนืออื่นใดหลัก ๆ แล้วคือ วัฐจักรของดนตรีที่ล้อมาเจอกับแนวดนตรีนี้พอดีเหมือนเช่นครั้งหนึ่งที่เราเปิดวิทยุไปทางไหนก็เจอแต่เพลง Nu-metal หรือ Hip-hop กันอย่างบ้าคลั่ง

ดังนั้นทีมงาน UNLOCKMEN จึงอยากจะขอให้คนที่กำลังแอนตี้กับแนวดนตรี EDM คิดถึงภาพเพลงสายย่อ ยกล้อ ลองเปิดใจให้มันดูสักครั้งหนึ่ง เพราะในแง่ของ Electronic Music เองก็มีแนวเพลงย่อยลงไปอีกนับ 10 ประเภท ซึ่งไม่แน่ว่าเมื่อคุณเจอแทร็คที่ถูกใจแล้ว อาจทำให้ชาว UNLOCKMEN เปลี่ยนใจกลายมาเป็น raver คนใหม่ก็เป็นได้

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line