Entertainment

ZERO TO HERO TALK: เพราะความดื้อคือศิลปะแห่งการไม่ยอมแพ้ของ “เล็ก GREASY CAFE”

By: Synthkid November 13, 2019

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่เคยต้องเลือก ระหว่างสิ่งที่ทำได้กับสิ่งที่ใจรัก และเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ระหว่างการเดินไปเรื่อย ๆ บนพื้นราบที่ไร้อุปสรรคกีดขวาง กับการยอมเดินลงบนเส้นทางที่ขรุขระแต่มีจุดหมายปลายทางที่ใฝ่ฝัน คุณจะเลือกเส้นทางไหน ?

แม้ว่าคุณจะได้รับค่าตอบแทนที่ดี มีอาชีพที่มั่นคง แต่หลายครั้งเบื้องลึกในจิตใจก็คอยพร่ำกระซิบให้คุณไขว่คว้า ‘อะไรบางอย่าง’ แม้จะต้องแลกกับทุกสิ่งในชีวิต

‘เล็ก อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร’ หรือที่เรารู้จักเขาในชื่อ ‘เล็ก Greasy Cafe’ เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นเช่นกัน จากอดีตช่างภาพอนาคตไกล ผู้ได้รับการยอมรับในวงการ สู่การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจากศูนย์ในฐานะศิลปิน

อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจละทิ้งทุกสิ่งที่เคยสร้าง UNLOCKMEN ขอยกเรื่องเล่าจากปากของเขาในงาน ZERO TO HERO TALK AND CONCERT: “The Art of Giving Up” วงสนทนาที่ไม่ได้ว่าด้วยความสำเร็จ มาให้ทุกคนได้ฟังอีกครั้งในวันนี้

ก่อนหน้านี้คุณเคยมีอาชีพที่มั่นคงอยู่แล้ว อะไรที่ทำให้ตัดสินใจมาเริ่มต้นใหม่จาก ‘ศูนย์’ ในวงการดนตรี?

จริง ๆ มันเป็นเรื่องของโอกาสด้วยครับ เผอิญว่า ‘คุณรุ่ง สมอลล์รูม’ เขารู้จักกับเราอยู่แล้ว แล้วเขาก็รู้ว่าเราทำเพลง แม้ตอนนั้นจะไม่ได้ทำเป็นชิ้นเป็นอัน

รุ่งเขามาบอกว่ากำลังจะเปิดค่ายเพลง ให้เราลองไปทำเพลงให้ เพลงเดียวเอง เพราะจะทำเป็น Compilation รวมสิบเพลงจากสิบวง ตอนนั้นผมยังไม่แน่ใจ เพราะเคยเป็นแค่มือกีตาร์ ไม่ได้เขียนเนื้อเพลงเอง แต่รุ่งเขาก็ให้ลองดูก่อน ผมเลยตกลง จึงเกิดเป็นเพลงแรกที่ชื่อว่า “หา”

ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไร เพลงเดียวจบ ผมก็กลับมาถ่ายรูปต่อ แต่สุดท้ายพอมันดำเนินไปเรื่อย ๆ ก็มีอีกโปรเจกต์ที่ผมต้องนำเพลงมาคัฟเวอร์ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าการที่เราเอาเพลงที่คนรู้จักเป็นจำนวนมากหรือของศิลปินที่ได้รับการยอมรับมาทำ มันไม่ใช่เรื่องขำ ๆ แล้ว ถึงจะสนุกและท้าทาย เราก็ไม่ควรทำเล่น ๆ ในวินาทีนั้นผมจึงคิดขึ้นมาว่า ‘เออหรือเราจะหันมาทำเพลงดีวะ?’ ทั้งที่อาชีพถ่ายภาพมันกำลังไปได้เรื่อย ๆ เพราะทำมาร่วม ๆ สิบปีแล้ว

การตัดสินใจทิ้งตรงนั้นมาทำตรงนี้ ผมคิดนานมากเลยนะ เรื่องทำเพลงกลายเป็นสนามเด็กเล่นใหม่ เราเคยเดินผ่าน แต่ไม่เคยเข้าไปเล่น แม้จะเห็นว่ามีของเล่นมากมาย ผมก็คิดว่าควรลองดูสักครั้ง เผื่อเริ่มเร็วแล้วไหวตัวทัน ยังกระโดดกลับมาทำอาชีพเดิมได้ครับ

“เราย้ำกับตัวเองว่า ถ้าตัดสินใจไปแล้ว อย่าร้องนะ เพราะเราเลือกเอง ตัดสินใจเอง”

สนามเด็กเล่น แต่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ? 

สนามเด็กเล่นที่ว่ามันคือสนามเด็กเล่นที่ ‘จริงจัง’ ในอีกรูปแบบครับ เราทำคู่กันกับงานเดิมในช่วงแรก แต่ผมไม่มีความสามารถพอจะทำให้ดีทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันได้ ผมเลยต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ทางนี้มีข้าวกิน ส่วนอีกทางไม่รู้จะมีกินไหม ตอนแรกก็กระโจนเข้าไปกะจะทดลองเฉย ๆ ปรากฏว่าเบรกแตกมาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนจะเป็นฮีโร่แห่งโลกดนตรีอย่างทุกวันนี้ คุณต้องเจออุปสรรคมากมาย อะไรคือแรงผลักดันให้คุณก้าวผ่านมันไป

เพราะมันคือสิ่งที่เราอยากทำมาก ๆ เป็นเรื่องที่ถูกเก็บไว้ในใจมาอย่างยาวนาน เราคิดว่าเราเองพอจะทำมันได้ แม้อาจจะไม่ได้ดีมาก ไม่คิดเหมือนกันว่าโอกาสนี้จะเกิดขึ้น แน่นอนว่ามีช่วงเวลาที่ยากลำบาก จนผมต้องคุยกับตัวเองว่า ‘หรือเราจะทำอย่างอื่น?’

ผมก็ยาว รอยสักก็เยอะ จะไปทำอะไรล่ะครับ ถ้ากลับมาถ่ายรูปก็ถือว่าช้ากว่าเขาไปก้าวนึงแล้ว เพราะมันมีคนเก่ง ๆ หน้าใหม่ ๆ ขึ้นมาเฉิดฉายในวงการตลอด แต่ตรงนั้นไม่สำคัญเท่าการได้พูดกับตัวเองว่า “เราคุยกันแล้วไงวันนั้น เราเคลียร์กันแล้ว ว่าถ้ามันแย่อย่าร้อง” ไม่ต้องไปบ่นให้เพื่อนฟัง ไม่ต้องบ่นให้ใครฟังเลย มึงคุยกับตัวมึงเองดิ

ผมเคยมีเงินเหลือแค่ 20-30 บาท แล้วต้องอยู่ให้ได้หลาย ๆ วัน ช่วงนั้นเป็นช่วงทำอัลบั้มสอง เวลาไปเล่นคนก็น้อย ในความดื้อที่เรายังเล่นอยู่ ๆ มันมีเหตุการณ์นึงตอนผมไปเล่นคอนเสิร์ตที่ต่างจังหวัด ผมเล่นไปคนก็ดื่มไป ตบมือบ้าง ไม่ตบมือบ้าง แม้คนจะไม่เยอะมาก แต่ก็ดูไม่ได้สนใจ ในวินาทีที่ผมลงจากเวที มีวัยรุ่นประมาณ 3-4 คนเดินมาบอกว่า ‘พี่เล็กครับ พวกผมขับรถมอเตอร์ไซค์กันมาจากพิษณุโลกเพื่อมาดูพี่’ ผมรู้สึกว่า โห…มันมีคนที่เข้าใจสิ่งที่เราพูด เข้าใจดนตรีที่เราทำตอนเล่นบนเวทีเราก็เซ็งนะ แต่พอได้คุยกับเขาเราก็คิดได้ว่า

“บางครั้งเห็นคนเยอะ ๆ มาดูเรา อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่อินกับเรา

แต่มันก็มีบางคนที่ตั้งใจมาดูจริง ๆ และเราจะทำให้เขาผิดหวังไม่ได้”

ตอนนั้นผมเลยคิดว่า เอาวะ! เราดื้อทำต่อไปดีกว่า เพราะการดื้อของเราไม่ได้รบกวนใครจริง ๆ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เราเดือดร้อนตัวเราเอง ทำต่อไปเถอะ ลองดูอีกสักครั้ง

ดื้อเพื่อสิ่งที่รัก? 

ผมเคยเจอคนส่งข้อความมาปรึกษาทาง Inbox เขามาเล่าให้ฟังว่าเบื่องานที่ทำมาก เราขออนุญาตตอบนะ ในฐานะรุ่นพี่ก็ได้ ผมอยากถามเขากลับไปว่า ‘ยังอยู่กับมันไม่มากพอไหม?’ อย่าเพิ่งขี้เบื่อ เราอาจจะทำมันได้ดีมาก ๆ ก็ได้ ถ้าเราลุยไปอีก เพราะถ้าวันไหนคุณเกิดไม่มีเงินกินข้าว แล้วถอยออกมา ก็ไม่มีใครว่าอะไรคุณนะ ไม่มีใครว่าอะไรเลย เราโตพอที่จะไม่ต้องอยู่ในสถานการณ์บังคับแบบตอนเด็ก ๆ ต้องไปเรียน พรุ่งนี้ต้องสอบ คุณไม่อยากไปก็ไม่ต้องไป ผมรู้สึกว่าถ้าเราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ

“ต้องถามว่าเราทุ่มเททั้งกาย ใจ และเวลาพอหรือยัง?
อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจว่าตัวเองทำได้แค่นั้นหรือไม่ดีกว่านั้นแล้ว อย่าเพิ่งรีบถอย”

ในยุคสมัยที่เห็นภาพคนรอบตัวประสบความสำเร็จง่ายขึ้น ทำให้คนหลายคนรู้สึกขาดความมั่นใจ คุณอยากบอกอะไรคนเหล่านั้น

ในปัจจุบันหากเราเลื่อนดูในโซเชียลมีเดีย เราจะเห็นว่าคนนั้นก็เก่ง คนนี้ก็เท่ จริง ๆ มันดูได้นะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มันทำลายหัวใจเรา จงปิดมัน และลุกขึ้นมาทำงานจริง ๆ ตอนมีคนมาถามว่าทำเพลงต้องทำยังไง? ผมบอกได้แค่ว่าทำไปเลย ไม่ต้องห่วงว่าคนจะชอบไหม หรือต้องทำแนวไหน ถามหัวใจตัวเองว่าอยากทำอะไร เราว่ามันเรียบง่ายมากเลยนะ เรื่องพวกนี้

จากวันที่เรามี กระโจนมาสู่จุดศูนย์ในวงการดนตรี จนมาถึงวันนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?

ผมได้เรียนรู้ว่าคนเราดื้อได้ แต่ไม่ใช่การเป็นลูกที่ดื้อกับพ่อแม่อะไรแบบนั้น อันนั้นคนละประเด็น หากเราเชื่อมั่นมาก ๆ ในสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ผิดกฎหมาย การทำดนตรีหรืองานศิลปะ ตำรวจเขาไม่จับหรอก ทำไปเถอะ

ถ้าเราได้ทุ่มเททุกอย่าง แม้มันจะเกิดผลช้ามาก หรือไม่เกิดผลเลย 

อย่างน้อยเมื่อเวลาผ่านไป คุณสามารถตอบได้เต็มปาก ในหัวใจหนึ่งกำปั้นมือว่า มึงได้ลองแล้ว

เหมือนคนสองคนที่รักกัน มีความสัมพันธ์ด้วยกัน ถ้าคุณทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ คิดว่าเขาเป็นของตาย เวลาเลิกกันอย่าร้องเลยนะ อย่าร้องเด็ดขาด เพราะคุณก็ทำกับเขาไม่เต็มที่ในช่วงเวลานั้น การทำอะไรในชีวิตถ้าได้ทำเต็มที่แล้ว จบคือจบ อย่างน้อยที่ผ่านมา เราได้ดูแลเขาดีมาก หรือได้ทุ่มเทกับงานชิ้นนึงมาก

อย่าไปเลื่อนดูภาพคนอื่นแล้วพอเจออะไรก็ตกใจ จนต้องมานั่งพูดกับตัวเองว่าทำไมเราเป็น Loser แบบนี้ ทำไมเราทำไม่ได้ ? มันดูได้ครับ แต่ถ้าเมื่อไหร่มันเริ่มทำร้ายใจเรา วางมันลง และทุ่มเททำสิ่งที่อยู่ข้างหน้าให้ดีที่สุด

คุณเคยรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในจุดที่แพ้จริง ๆ บ้างไหม หรือความพ่ายแพ้ไม่เคยมาเยือนคุณเลย

มันแพ้ครับ มันแพ้มาก ๆ แต่ เราได้คุยกับตัวเองแล้วว่าอย่าร้องดิ! ก็วันนั้นตัดสินใจด้วยกันแล้วนี่ ถ้ายอมก็คงไม่มีตรงนี้ที่เราได้ขึ้นมาพูดกับทุก ๆ คนในวันนี้ พอเราโตขนาดนี้ ผู้ปกครอง ครอบครัว เขาอาจจะไม่ค่อยมาอะไรกับเรามาก อาจจะเป็นห่วงแค่ว่าจะรอดไหม

“เราต้องพิสูจน์กับตัวเราเอง ไม่ใช่พิสูจน์กับใคร”

เราก็ไม่แน่ใจว่าเตลิดมาถึงอัลบั้มที่สี่ได้อย่างไร อย่างอัลบั้มนี้จู่ ๆ ก็มาทำเพลงที่มีซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ สารภาพว่าเราใช้เวลากับมันนานจริง ๆ เพราะเราไม่รู้จักมันเท่าไหร่ อาจจะฟังมาบ้าง แต่เราไม่รู้ว่าการทำกับข้าวเมนูนี้ สูตรแบบที่เราทำกินเองจะออกมาเป็นอย่างไร เราลองผิดลองถูก จนรู้สึกว่าพอดีกว่าไหม? หาโปรดิวเซอร์ดีไหม? ไม่งั้นงานไม่เสร็จแน่ ๆ จนเราก็ดื้ออีกนั่นแหละ บอกตัวเองว่า ‘ใจเย็น ๆ ลองดู อยู่ตรงนั้นก่อน’ จนวันนึงมันก็ผ่านไปได้ ก็ได้เข้าใจว่า อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเรามันประมาณนี้ใช่ไหม? แค่นี้ก็พอแล้ว

เราเชื่อว่าคนทุกคนมีความสามารถในตัวเองที่คนอื่นทำแบบเราไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงเราเก่งมากหรือมีอีโก้นะ หน้าตาพวกเรายังไม่ค่อยเหมือนกันเลย ถ้าเราทำจากข้างในออกมาจริง ๆ มันจะไม่เหมือนคนอื่นเขาซะทีเดียวหรอก ต่อให้มันออกมาคล้าย ๆ มันก็ไม่ใช่อยู่ดี คนเราต่างคนต่างทำอะไรออกมา มันจะมีความแตกต่าง ต่อให้ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือหลาย ๆ ร้านที่เขาทำติดกัน เข้าไปกินจริงๆ รสชาติยังไม่เหมือนกันเลย

ศิลปะแห่งการไม่ยอมแพ้ในแบบของ เล็ก Greasy Cafe

เราว่ามันก็คือการดื้อแหละครับ ไม่แน่ใจว่ามันเรียกว่าศิลปะหรือเปล่า แต่อยากจะบอกว่า ‘อย่าเพิ่งรีบถอดใจเวลาฉุกละหุก ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วแก้มันไป มุ่งมั่นทำไป ดูว่าเราถนัดแบบไหน อยากให้ดื้อในเรื่องแบบนี้

“ดื้อในสิ่งที่เราทำ และเชื่อมั่นมาก ๆ ว่าจะเกิดผลเป็นอะไรได้ในสักวัน

อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่มาก แต่มันจะยิ่งใหญ่ในใจเราเสมอ”

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line