Entertainment

ZERO TO HERO : ‘เต๋า SWEET MULLET’ เส้นทางชีวิตและความฝันที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงนิทานหลอกเด็ก

By: JEDDY November 5, 2021

ดุลยเกียรติ เลิศสุวรรณกุล หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ “เต๋า” นักร้องนำวง Sweet Mullet ศิลปินที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนมากที่สุดวงหนึ่งของวงการดนตรีไทย ฝากผลงานเพลงดังเอาไว้มากมายไม่วาจะเป็น ‘ตอบ’, ‘เพลงของคนโง่’, ‘หลับข้ามวัน’, ‘สภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน’, ‘ภาพติดตา’ และ ‘พลังแสงอาทิตย์’ รวมไปถึงผ่านการขึ้นเวทีในราชมังคลากีฬาสถานกับเทศกาลดนตรี G19 ท่ามกลางคนดูนับหมื่นมาแล้ว

แต่ภาพของความสำเร็จที่ดูสวยงาม แท้จริงแล้วกว่าที่จะออกมาให้ทุกคนได้เห็น มันต้องผ่านทั้งความอดทน การต่อสู้ และความเหน็ดเหนื่อยมาอย่างมากมาย ทำให้ชีวิตต้องเจอกับความท้าทายไต่เย้ยนรกที่แวะเข้ามาทักทายตลอดไม่เว้นแต่ละวัน ชีวิตของเต๋าต้องเผชิญกับอะไรบ้าง Unlockmen มีคำตอบให้กับบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้

 

ชีวิตวัยเด็ก เน้นเล่นไม่เน้นเรียน

“ผมก็เป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่สนใจเรียน วัน ๆ เอาแต่สนใจเรื่องเล่นมากกว่า เช่น พวกการ์ตูน เกม จำได้ว่าเคยสอบได้ที่โหล่ของห้องด้วย เคยโดนเชิญผู้ปกครองมาคุยว่าทำไมถึงไม่ตั้งใจเรียน ผมชอบนั่งคุยกับเพื่อนครับ ไม่ได้สนใจคุณครูที่อยู่ตรงหน้าเลย หรือต่อให้นั่งฟัง ผมก็จะไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเท่าไหร่ พอว่างก็วาดรูปในสมุดเล่น

ตอนมัธยมเกือบเรียนไม่จบ ผ่านไปด้วยคะแนนที่แบบ คือถ้าเปิดสมุดพกมาจะเห็นชัดเลย แต่พอช่วงที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย มันตรงกับช่วงที่บ้านมีปัญหาทางการเงิน ผมก็เลยเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้แล้วนะ เราเรียนที่มหาวิทยาลัยสยาม เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ค่าหน่วยกิตมันแพงมาก ผมก็เลยคิดว่าเราต้องตั้งใจเรียนแล้วนะ เราจะติดเอฟไม่ได้นะ เราจะดรอปเรียนไม่ได้ คือเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือเลย

สุดท้ายแล้วผมก็สามารถจบนิเทศน์เอกโฆษณาได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ด้วยซ้ำครับ (หัวเราะ) คือกลายเป็นว่าผมตั้งใจเรียนมาก ๆ เพื่อทุกวิชาต้องห้ามพลาดเด็ดขาด”

เริ่มต้นด้วยเพลงป๊อปก่อนปรับเป็นร็อก

“เพลงทั่ว ๆ ไปฟังตั้งแต่ช่วงประถมแล้วครับ พวกเพื่อน ๆ ชอบเอามาเปิดกัน จำได้เป็นช่วงสมัยป.5 จะเริ่มฟังแบบพี่เบิร์ด พี่ ๆ Micro พี่เจ เจตริน พี่คริสติน่า ทาทา ยัง ก็ฟังเพลงทั่วไปเหมือนคนอื่น

พอเริ่มขึ้นมัธยมปลายก็จะเริ่มฟังอะไรที่มันเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ชอบมาคุยกันตอนยืนหน้าเสาธงก่อนเรียน จนได้มาเริ่มฟัง Loso ตรงกับช่วงที่ Moderndog มาพอดีด้วย และช่วงนั้นเป็นยุคอัลเทอร์เนทีฟครองเมือง ผมจะได้ฟังอะไรที่เยอะมาก ๆ ได้รู้จักวงซีเปีย โยคีเพลย์บอย จนเพื่อน ๆ เริ่มยัดวง Green Day, Nirvana, Radiohead มาให้ฟัง

พอมาช่วงมัธยม ผมก็เริ่มหาเพลงใต้ดินฟัง ตอนนั้นได้รู้จักรุ่นน้องคนหนึ่งชื่อ ‘กุ่ย’ ที่เรียนโรงเรียนนนทรีวิทยาด้วยกัน ตอนนั้นผมอยู่ประมาณม.5 น้องเขาอยู่ม.ต้นอยู่เลย แต่ว่ากุ่ยเริ่มเล่นดนตรีหนัก ๆ แล้วแบบสไตล์ เดธ เมทัล ผมว่าคนนี้คือจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนผมให้มาฟังเพลงหนัก ๆ เลยนะ

แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ คือผมจีบพี่สาวเขาครับ พี่สาวเขาเรียนห้องเดียวกับผม แล้วบ้านเขาจะอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียน เวลาเลิกเรียนผมก็จะข้ามไปจีบพี่สาวเขาที่บ้านเขาเลย ก็จะเจอน้องกุ่ยนั่งซ้อมดนตรีอยู่ ตอนนั้นยังเป็นยุคเทปอยู่เลย เวลาเจอกันกุ่ยก็จะแนะนำเพลงให้เราฟัง วงแรกที่ให้ฟังคือวง Pantera จำได้ว่าผมเอากลับบ้านไปฟังเลยครับ

พอได้ฟังแล้วเรารู้สึกสะใจมาก เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเขาร้องแหกปากแบบนั้นได้ ทำไมเขาเล่นดนตรีแบบนั้นได้ หลังจากนั้นก็ได้ฟังวง Korn อัลบั้มแรก เราก็ชอบอีก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นแนวเพลงอะไร แต่รู้สึกว่าชอบ เสร็จหลังจากนั้นก็ได้ฟังเพลงแนวที่วงกุ่ยเล่นคือวง Cannibal Corpse ฟังปุ๊ปผมก็ชอบเลยในทันที มันเหมือนไต่เลเวลความหนักใน 3 วันเลยครับ (จากกรูฟ เมทัล > นู เมทัล > บรูทัล เดธ เมทัล) ก็เลยชอบตั้งแต่ตอนนั้น ทำให้เราเริ่มศึกษามากขึ้น”

จากคนฟังสู่คนเล่น (ดนตรี)

“ผมเริ่มเล่นดนตรีตอนมัธยมปลายครับ เหตุผลจริง ๆ ก็เพราะว่าอยากให้หญิงกรี๊ดนั่นแหละ เหตุผลเหมือนนักดนตรีทั่วไปเลย

เราหัดเล่นกีต้าเพื่อให้สาว ๆ มามอง (หัวเราะ) สรุปแล้วก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลยครับ มันเจ็บนิ้วก็เลยเลิกเล่นไป แต่ก็ได้กลับมาเล่นอีกทีตอนที่ Moderndog ออกอัลบั้มแรก มีเพลง ‘ก่อน’ เป็นเพลงจุดไฟในตัว ผมชอบเพลงนี้มาก ๆ ผมเลยพยายามจะเล่นเพลงนี้ให้ได้ ก็เลยหัดจากเพลงนี้เลย เป็นเพลงแรกที่เราสามารถเล่นกีต้าร์จนจบเพลงได้

จากนั้นผมได้มาทำวงจริง ๆ เป็นครั้งแรกก็ตอนเรียนที่นนทรีวิทยานี่แหล่ะครับ แต่ตอนนั้นผมเล่นกลอง ผมต้องออกตัวก่อนว่าผมเล่นเป็นทุกอย่างแต่ไม่เก่งเลย แค่เล่นเป็นเฉย ๆ แล้วผมรู้สึกว่าตอนอยู่ในห้องซ้อมแล้วได้ไปหลบอยู่ตรงกลองมันรู้สึกสนุกดี จำได้ว่าเคยส่งเดโม่ไปให้ฮอตเวฟด้วย รุ่นแรกเลย รุ่นเดียวกับพี่ตูนเลยครับ และผลก็อย่างที่เห็นครับ ตกรอบตั้งแต่เดโม่เพราะมันเละมาก (หัวเราะ) ฟังไม่เป็นเพลงเลยครับ

พอเรียนจบมัธยมต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปเรียนคนละที่ แต่ใจก็ยังคงอยากทำดนตรีอยู่ เป็นช่วงเราหยุดไม่อยู่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยนของผมเลย จนผมก็ได้ไปเจอวงที่สองตอนเรียนมหาวิทยาลัยสยาม แต่ตอนระหว่างเรียน ผมเจอวงนึงก่อนครับ ก็เล่นกับน้องกุ่ยนี่แหละ แล้วก็ยังมีเล่นร่วมกับพี่เอกวง Ghost หรือพี่เอกวง Sleeping sheep ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาเป็นรุ่นพี่ผมที่โรงเรียนนนทรีวิทยา และร้องเพลงเก่งมาก ได้เป็นระดับที่หนึ่งของโรงเรียนเลย แต่ตอนเรียนดันไม่รู้จักกัน มารู้จักกันข้างนอก ก็เลยได้มารวมวงกัน

แล้วตอนนั้นกลายเป็นว่าผมย้ายมาเล่นเบส จำได้ว่าพี่เอกบอกให้เราไปหัดตะโกนเพราะว่ามันมีท่อนตะโกนด้วย เขาก็เลยสอนวิธีแหกปากให้ผม ถึงตอนแรกเราจะมั่ว ๆ แต่เรารู้สึกว่ามันสนุกดี แต่ด้วยความที่แม้ใจจะรัก แต่ต่างคนก็มีดีกรีความชอบในดีตรีไม่เท่ากัน หลังจากนั้นไม่นานวงนี้ก็ยุบไปอีก

หลังจากนั้นผมก็เลยมาเล่นกับวงที่มหาวิทยาลัย ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นว่าวงนี้แหละที่ทำให้ผมได้มาเป็นนักร้องครับ มันคือจุดเปลี่ยนเลย ซึ่งตอนนั้นผมไม่เคยอยากเป็นนักร้องนำเลยนะ ถ้าเลือกได้อยากเป็นมือกลองมากกว่า เพราะผมเป็นคนขี้อายไม่มั่นใจในตัวเอง ผมอยากอยู่ข้างหลัง แต่เรื่องมันเกิดการที่เล่นขำ ๆ สนุกปาก ผมไปบอกเพื่อนว่าเดี๋ยวกูร้องเอง ตอนนั้นก็ไม่ได้ตะโกนเก่งด้วย กะแค่เล่นขำ ๆ เอง แต่ก็นั่นแหละครับ มันทำให้ผมกลายเป็นนักร้องมาตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา”

จุดกำเนิด SWEET MULLET จากเอ๋ EBOLA

“สุดท้ายพอวงมหาวิทยาลัยแตกไป ผมก็ได้มาเจอกับพี่เอ๋ Ebola ที่ Tower record เป็นร้านซีดีที่สยาม พี่เอ๋เป็นพนักงานอยู่ในนั้น

ตัวผมอยากเล่นดนตรีต่อก็เลยไปคุยกับพี่เอ๋ ตอนนั้นพี่เอ๋เขามีแพลนจะทำดนตรีแนวอินดัสเตรียล ซึ่งเขาชวนผมไปทำด้วย พี่เอ๋บอกว่าเขามีมือกีต้าร์แล้ว รวบรวมสมาชิกวงเรียบร้อย แต่สุดท้ายพี่เอ๋เขาก็ชิ่งจากวงนี้ไปก่อนครับ (หัวเราะ) ผมก็เลยรวบวงนี้มาเป็นของผมเองซะเลย (หัวเราะ) ก็เลยเกิดมาเป็น Sweet Mullet”

จุดพลิกผันสำคัญของชีวิต

“จุดพลิกผันที่ได้มาทำดนตรีอาชีพจริง ๆ มันเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจล้วน ๆ

ตอนสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยมีรุ่นพี่บอกผมว่ามีเพื่อนอยู่แกรมมี่นะ เขาก็ให้เบอร์ติดต่อคนชื่อโน่มา คือตอนนั้นผมอยากได้โปรดิวซ์เซอร์สายเพลงหนัก ๆ ซักคนมาร่วมทำงาน ผมก็เลยโทรไปหาไปเขา

ช่วงนั้นพี่โน่เขาเริ่มทำเพลงให้วงกะลา อยู่ในค่าย genie records แล้ว ซึ่งหลังจากผมคุยกับพี่โน่จบ พี่เขาก็ให้ไปหาที่บ้าน ให้ลองมาอัดเพลงให้ฟังหน่อย เราก็นั่งรถเมล์ไปเล่นเขาฟัง แต่ว่าตอนนั้นความสามารถก็ยังเป็นระดับเด็กมหาวิทยาลัย มันก็ไม่เวิร์ค เล่นเละกันสุด ๆ จนวงยุบไป แต่ผมก็ไม่ท้อนะ ยังติดต่อพี่โน่เรื่อย ๆ เพราะว่าผมใช้โปรแกรมคอมทำเพลงด้วย พี่โน่เขาเก่งเรื่องนี้ก็เลยโทรไปปรึกษาเขาบ่อย ๆ

พอเรียนจบไปผมก็ขาดการติดต่อกับพี่โน่ไปแบบเป็นปีเลยครับ จนผมกลับมาเจอกับสมาชิก Sweet Mullet อีกครั้ง ช่วงนั้นพวกเรารวมเงินกันเช่าสตูดิโออัพเพลงแบบจริงจังครั้งแรกในชีวิตเลย แต่งเพลงกันเองเลย อัดมาได้สามเพลง จะทำแผ่นใต้ดินขายกันเอง แล้วเหมือนจังหวะมันพอดีเป๊ะ พี่โน่เขาก็โทรมาพอดี มาถามผมว่าทำอะไรอยู่ ผมก็บอกเขาไปว่ากำลังจะเข้าห้องอัดเลย เขาเลยบอกว่าถ้าเสร็จเอามาให้เขาฟังด้วยจะเอาไปส่งให้ผู้ใหญ่ฟัง

ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่กลายเป็นว่าอีก 3 วันต่อมา พี่โน่โทรมาบอกว่าผู้ใหญ่เรียกคุย นี่แหล่ะครับคือจุดเริ่มต้นของ Sweet Mullet ที่ชัดเจนที่สุด

ตอนนั้นจำได้เลยว่ารู้สึกตื่นเต้นมากครับ ไม่คิดว่าดนตรีหนัก ๆ ที่พวกเราเล่นจะได้มาอยู่ในค่ายเพลงใหญ่ในประเทศไทย เราก็ทำตัวไม่ถูก เพราะพวกเรามันยังเด็กอยู่ด้วยครับ”

เหตุการณ์ไม่คาดฝันในวันที่เลวร้าย

แม้ภาพความฝันของเต๋ากำลังชัดเจนขึ้น เส้นทางดูเหมือนจะสวยงาม แต่นั่นเป็นเพียงแค่จินตนาการที่เห็นจากภายนอก เพราะความจริงมันไม่มีอะไรง่ายดายขนาดนั้น

“ช่วงก่อนที่จะเซ็นสัญญากับ genie records ผมหางานทำอยู่ 6 เดือน ผมมีอีกหนึ่งความฝันคือผมอยากเป็นครีเอทีฟโฆษณา

ระหว่างที่รอ ผมก็ไปได้งานครีเอทีฟอยู่ที่สยามสแควร์ เป็นบริษัทที่ทำจอสกรีนยักษ์ตรง Milk Plus เขาจะเรียกกันว่า SOS (Sound of Siam Square) สมัยก่อนเราเดินสยามมันจะมีเพลงฟังมาจากคลื่นวิทยุของเขาเอง ผมทำอยู่ส่วนนั้น แต่กลายเป็นว่าผมทำได้ 3 เดือนก็ตัดสินใจลาออก เพราะในหัวของผมมันมีแต่เรื่องเพลงตลอดเวลา เป็นเหมือนตอนเรียนตอนแรกเลย ไม่สนใจงาน สนใจแต่เพลง อยากซ้อม อยากทำเพลง ใจมันมุ่งมาทางนี้เต็มที่จริง ๆ

ตอนนั้นตัดสินใจลาออก แล้วกำลังจะได้เซ็นสัญญา ด้วยความเด็กที่กำลังจะเข้าวงการ ผมก็จินตนาการว่า การที่เราเซ็นสัญญากับค่ายเนี่ย แปลว่าจะได้ออกเพลงเลย

แต่เปล่า! สรุปคือมันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะต้องรอผู้ใหญ่เขากำหนดเวลามาให้ แล้วมันดันตรงกับช่วงที่หนักสุด ๆ เพราะบ้านผมกำลังจะถูกยึด มีปัญหาเรื่องการเงิน ผมก็เลยต้องออกไปหาเงินด้วยการขายซีดี พร้อมกับเป็นเด็กเดินกับถ่ายเอกสาร วิ่งซื้อน้ำ ได้เงินประมาณ 120 บาทต่อวัน

ชีวิตจริงมันหนักขนาดนั้นเลยครับ ในใจผมตอนนั้นก็แบบอีกนิดเดียว ๆ เดี๋ยวออกเทปเราก็จะรวยแล้ว เราจะช่วยที่บ้านเราได้ ก็เลยหางานทำเพื่อไม่ให้ที่บ้านเดือดร้อนไปก่อน ถึงแม้จะได้วันละ 120 แต่ก็ต้องนั่งรถเมล์ไปกลับ กินข้าวก็หมดแล้ว เหมือนอยู่ไปวัน ๆ ไม่ให้เดือดร้อนที่บ้าน

เราสู้สุดชีวิต แต่สุดท้ายพอได้ออกอัลบั้ม มันก็ยังไม่สามารถช่วยอะไรที่บ้านได้อยู่ดี สุดท้ายบ้านก็โดนยึดครับ”

เริ่มต้นด้วยอุปสรรคพื้นฐานของความแข็งแกร่ง

แม้สุดท้ายชีวิตของเต๋าจะได้เป็นศิลปินภายใต้ชื่อของ GMM Grammy แล้ว แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิตศิลปินอาชีพที่มีบทเรียนสำคัญให้ได้เรียนรู้

“ตอนเซ็นสัญญาก็รอสักพักเหมือนกันครับ แล้วก็ได้ออกเพลง ‘ตอบ’ อยู่ในอัลบั้ม Showroom Vol.1 ที่มี Retrospect กับเพลง ‘ไม่มีเธอ’ รวมอยู่ด้วย

พอหลังจากเพลงตอบ เท่าที่ผมจำได้นะ ก็ประมาณปีสองปีกว่าจะได้ออกอัลบั้มเต็ม (Light Heavyweight) ช่วงที่ทำเพลงตอบ ผมก็เริ่มทำเพลงเก็บไว้ให้ครบหนึ่งอัลบั้ม แล้วก็เกือบได้ออกก่อน Retrospect แต่พอดีพี่วีนมือกีต้าร์คนเก่าลาออกไปพอดี ก็เลยต้องหยุดการเข้าห้องอัดไปก่อน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราสะดุดไปเลย จนกระทั่งได้มาเจอกับพี่แป๊ป

หลังจากออกอัลบั้มเต็ม เราก็ปล่อยซิงเกิล ‘เพลงของคนโง่’ และ ‘หลอมละลาย’ ซึ่งแม้จะเริ่มติดหูคนฟังมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีงานจ้างเข้ามา จะมีก็เป็นงานแคมปัสทัวร์ตามโรงเรียนมากกว่า ตอนนั้นจำได้เลยว่ากิจวัตรประจำวันของเรา 5 วันคือการเดินสายเล่นไม่ซ้ำโรงเรียนเลยครับ แล้วก็จะมีมาเรื่อย ๆ

มันไม่ง่ายเลยครับ การจะเป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียง พวกเราอดทนด้วยความรักในดนตรี ทุกคนก็สู้กันสุด ๆ ในสุดท้าย Sweet Mullet ก็เริ่มมีงานจ้างมานิด ๆ หน่อย ๆ เริ่มจากงานกาชาดก่อนเลยครับตามจังหวัดต่าง ๆ แล้วค่อยมีผับตามมา ทยอยเข้ามาครับ ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่แทบไม่เคยมีใครรู้เลยว่ากว่า Sweet Mullet จะเริ่มกลายเป็นวงที่คนรู้จักในกระแสได้ เราต้องดิ้นรนกันมามากจริง ๆ ครับ”

ชีวิต UNLOCK กับ SWEET MULLET

“มีหลายเรื่องมากที่ผมไม่คิดว่าจะได้ทำในชีวิต เช่น การได้เดินทางไปต่างจังหวัด เล่นคอนเสิร์ตทั่วประเทศ จังหวัดไหนที่ผมไม่เคยคิดจะได้ไปก็ได้ไป

ผมจำได้เลยว่าผมไม่เคยขึ้นเครื่องบินมาก่อน ผมก็ได้ขึ้นไปเล่นที่เชียงรายครั้งแรกเลย ได้เล่นต่อหน้าแฟนเพลงเยอะ ๆ ในงาน G19 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน คนดูเป็นหมื่น ๆ คน รวมถึงได้เล่นคอนเสิร์ต G16 ด้วยครับ ได้มีโอกาสเล่นเปิดให้กับ Bodyslam ที่ธันเดอร์โดมกับอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก แล้วมันยังพาผมไปเล่นต่างประเทศได้ด้วย ไปเล่นไต้หวัน เกาหลี โปแลนด์ หลายประเทศมาก แล้วก็ทำให้ผมได้ไปเจอวงที่ผมฟังอยู่ต่อหน้าโดยที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เล่นเวทีเดียวกับเขา ทั้งหมดมันคือความประทับใจครับ ถือว่าเป็นกำไรชีวิตละกัน เพราะถ้านับจากจุดเริ่มต้น พวกเราไม่เคยคิดเลยด้วยซ้ำว่าจะมาได้ไกลถึงขนาดนี้

ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นเรื่อง Unlock ของผมนะครับ สำหรับคนที่ชีวิตมีแค่ดนตรี การได้ไปเล่นต่างประเทศแล้วมีแฟนเพลงอยากมาดูเรา มีคนคอยดูแลเราดีมาก ได้ไปทำตามความฝัน ได้ทำสิ่งที่ชอบ เหมือนได้ไปเที่ยวด้วย ไปเล่นคอนเสิร์ตด้วย แล้วก็ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในชีวิตครับ”

มุมมองต่อวงการเพลงร็อกในไทยกับนิยามเพลงร็อกตายไปแล้ว?

“ผมว่าวงการดนตรีร็อกในไทยมันมีอะไรแปลกใหม่เพิ่มขึ้นมาเยอะเลยครับ ผมว่าดนตรีวันนี้มันมีความหลากหลายมากขึ้น แม้แต่วงอินดี้ก็ตาม ทำให้เรามองว่าเพลงร็อกตายมันไม่ได้ตายไปไหนนะ จริง ๆ เพลงมันไม่ตายซักแนวครับ สำหรับผมนะ ไม่ว่าแนวอะไรก็ตาม มันยังคงอยู่ เพียงแต่ว่าในยุค ๆ นั้นเขาให้ความสำคัญไปที่แนวไหนมากกว่า วันนี้เพลงมันเหมือนแฟชั่นเสื้อผ้ามากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าทุกแนวดนตรี เดี๋ยวมันจะวนกลับมาเป็นวงกลม แต่จะวนกลับมาในรูปใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ

ต่อให้เป็นเพลงร็อก เดี๋ยวมันก็จะวนกลับมาพร้อมผสมผสานอะไรบางอย่างเพิ่มเข้ามา ฮิปฮอปก็เหมือนกัน มันจะวนมาพร้อมส่วนผสมอะไรบางอย่างเพิ่มเข้ามาด้วย เพลงเพื่อชีวิตก็จะวนกลับมาในรูปแบบที่แตกต่างไป  อยู่ที่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กระแสเป็นยังไง ใครให้ความสนใจกับอะไรมากกว่ากันครับ”

ข้อคิดถึงนักดนตรีรุ่นใหม่

“เอาแค่จากเรื่องราวของวง Sweet Mullet ก็แล้วกัน มันน่าจะสะท้อนได้ว่าการจะเป็นนักดนตรีอาชีพนั้นไม่ง่าย ขั้นแรกคือต้องถามตัวเองก่อนว่ารักดนตรีจริง ๆ ไหม เราสามารถทุ่มเทชีวิตให้กับดนตรีได้แค่ไน

หรือเราแค่ชอบเล่นดนตรี เล่นสักพักเดี๋ยวก็เบื่อหรือเปล่า เราต้องตั้งคำถามข้อนี้ให้เคลียร์ก่อน ถ้าทุกอย่ามันไม่ได้เป็นไปตามที่เราฝัน เราจะสามารถสู้เพื่ออยู่กับดนตรีได้ตลอดชีวิตหรือเปล่า

ผมก็จะไม่ใช่นักร้องที่เก่งกาจอะไร แต่อย่างน้อยในชีวิตของผมที่ผ่านมา ผมบอกได้ว่าถ้าเราเชื่อมั่นทุ่มเทให้กับสิ่งที่คุณรัก ดูอย่างผมที่สอบได้ที่โหล่ยังทำแบบนี้ได้ ผมว่าทุกคนบนโลกใบนี้ก็น่าจะทำได้เหมือนกัน เพราะว่าผมก็ต้องยอมแลกหลาย ๆ อย่างมากับการเลือกที่จะเป็นนักดนตรี ผมไปเป็นพนักงานในร้านถ่ายเอกสารได้ เพื่อดนตรี

ถ้าเราดูแลใส่ใจดนตรีที่เรารัก เราซื่อสัตย์กับเขา เราไม่โกหกเขา เราทำมันด้วยความตั้งใจจริง เราฝึกดนตรี เราเล่นดนตรี สร้างเพลงขึ้นมาด้วยความซื่อสัตย์ ดนตรีเขาจะตอบแทนเรากลับมาเอง จะมีอะไรดี ๆ ย้อนกลับมาแน่นอน เห็นหลายคนบอกว่าทำนานแล้วแต่ไม่สำเร็จ จะบอกว่าผมก็ไม่ได้ทำวันเดียว กว่าจะได้เซ็นสัญญา เซ็นแล้วกว่าจะได้มีงานจ้าง มันไม่อะไรง่ายเลย ต้องถามตัวเองก่อนว่าพร้อมหรือยังครับ

และต่อให้เป็นนักดนตรีอาชีพแล้วก็ตาม อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา คุณก็ต้องเจอช่วงที่ไม่มีรายได้ ไม่มีงานโชว์ ตัวผมก็ยังต้องดิ้นรนต่อไป ต้องมาทำแบรนด์เสื้อของตัวเองขาย ซึ่งบอกเลยว่าทุกวันนี้ผมก็หารายได้เสริมจากการขายเสื้อวงครับ”

ฝากผลงานและช่องทางการติดตาม

“สุดท้ายนี้ ผมขอฝากวง Sweet Mullet ไว้ด้วยนะครับ เราเพิ่งจะมีซิงเกิ้ลใหม่มาชื่อว่าเพลง ‘เชื่อหรือไม่’ ลองฟังกันดูที่คลิปด้านล่าง แล้วก็ติดตามผลงานได้ทางหลาย ๆ แพลตฟอร์มเลยครับ ทาง Joox, Spotify, Apple Music หรือถ้าอยากติดต่อกับพวกเรา ก็ทักทายมาได้ทาง Facebook : Sweet Mullet ได้เลยครับ

ขอฝากผลงานด้วยครับ หวังว่าน่าจะได้เจอตามงานแบบตัวเป็น ๆ ได้ในเร็ว ๆ นี้ คิดถึงเวทีมาก ๆ คิดถึงทุกคนมาก ๆ ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ”

ขอขอบคุณร้าน Area-23 สำหรับสถานที่ในการถ่ายทำ / รูปเอ๋ Ebola กับเต๋า Sweet Mullet จาก Paradise Fest และรูปวง Sweet Mullet จาก JedsadaPhotography

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line