Life

ZERO TO HERO: 3ทวีป 2ล้อ 1หัวใจ ย้อนรอยไฟฝันการเดินทางรอบโลกของ ‘ตงค์-เสริมธนชาติ คูณแสนโชติสิน’

By: NTman December 6, 2020

ยังจำได้ไหม ความฝันวัยเด็ก ทุกคนเคยฝันว่าอะไรกันบ้าง เชื่อว่าในตอนนี้หลายคนอาจยังคงเดินอยู่บนเส้นทางฝันเดิมที่มีในวัยเด็ก แต่คงมีจำนวนไม่น้อยที่ลืมฝันเหล่านั้น หรืออาจค้นพบตัวเองในฝันใหม่ ๆ ที่แตกต่าง

ในขณะที่เด็กคนหนึ่ง ซึ่งมีฝันจากสิ่งใกล้ตัว เริ่มต้นจากการค้นพบว่าพาหนะสองล้อสามารถพาเขาไปพบกับอิสระ และประสบการณ์ชีวิตบนพื้นที่ใหม่ ๆ ได้ไกลกว่ารั้วบ้าน จนสุดท้ายไม่น่าเชื่อว่าจากฝันเล็ก ๆ ตรงนั้น จะมาไกลจนถึงวันที่เด็กน้อยคนเดิมซึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะตัดสินใจกับตัวเองว่า ‘วันหนึ่ง ฉันจะขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลกให้ได้’

และคอลัมน์ Zero to Hero สัปดาห์นี้จะพาชาว UNLOCKMEN ไปคุยกับ ‘ตงค์-เสริมธนชาติ คูณแสนโชติสิน’ นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ผู้เป็นเจ้าของฝันที่สร้างแรงบันดาลใจแก่นักเดินทาง และใครอีกหลายคนให้กล้าก้าวออกมาจาก Comfort Zone ได้สำเร็จ

กับเรื่องราวการเดินทางที่ไม่เคยง่าย เพราะไม่ใช่เพียงอุปสรรคที่ต้องเจอระหว่างเส้นทางลุยรอบโลก แต่ยังหมายความรวมถึงการสร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อทำให้ความฝันในวัยเยาว์นั้นประสบผลสำเร็จ ซึ่งการบาลานซ์ชีวิตจริง เพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่อยากทำตามฝันของผู้ชายคนนี้จะเป็นอย่างไร เตรียมพบคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้เลย

 

ความอิสระคือเสน่ห์ของพาหนะสองล้อ

“มันเริ่มมาจากวัยเด็ก การที่เราได้ขี่สองล้อก็คือการปั่นจักรยานออกไปนอกบ้าน ทำให้เราได้เจอสิ่งที่ไม่เคยเห็นในรั้วบ้าน ทำให้เราพบเจออิสระ ได้เจออะไรใหม่ ๆ”

คุณตงค์ค่อย ๆ เล่าถึงชีวิตวัยเด็กที่เหมือนได้เจออิสระและความท้าทายใหม่ ๆ เวลาอยู่บนจักรยานสองล้อคู่ใจ โดยเขาตะลุยไปทั่วหมู่บ้านจนครบ และพบว่า การขี่จักรยานทำให้ไปได้แค่ละแวกบ้านเท่านั้น แน่นอนว่าเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น สเต็ปต่อมาหลังจากจักรยาน ก็คือ มอเตอร์ไซค์สักคัน และการได้ควบมอ’ไซ คือ จุดประกายก้าวแรกสู่ความฝันในการเดินทางรอบโลก ที่อีกหลายปีต่อมาก็ไม่มีใครคิดไว้หรอกว่า เขาจะทำมันสำเร็จ

“ผมว่าผมชื่นชอบการออกไปเรียนรู้ ในสิ่งที่ผมไม่เคยเจอ โดยมีสองล้อเป็นตัวนำพาไป” คุณตงค์อธิบายความฝันที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ให้เราฟัง


 

จุดเริ่มต้นจากละแวกบ้าน สู่เส้นทางรอบโลก

“ผมว่ามันก็เหมือนฝัน ๆ หนึ่งแหละ เมื่อเรามีเป้าหมาย เราก็จะไล่ลำดับวิธีการจากเป้าหมายย้อนกลับมา และไล่ศึกษาดีเทลแต่ละขั้นตอนที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น ผมก็ว่ามันไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรนะ แค่หาวิธีการยังไงให้ตอบโจทย์แต่ละขั้นตอนได้อย่างไร แค่นั้นเอง”

ซึ่งก่อนหน้าจะมาถึงโปรเจ็กต์ใหญ่ตัวนี้ คุณตงค์เล่าให้เราฟังว่าตัวเองนั้นควบพาหนะคู่ใจมาแล้วทั่วไทย โดยเริ่มต้นจากจังหวัดใกล้บ้าน ก่อนขยับไประดับภาค ข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน และไกลออกไปเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการปูทางสู่ความฝันวัยเด็กอย่างการไปรอบโลก และประสบการณ์ที่ค่อย ๆ สั่งสมมา ทำให้เขาเจนสนามรบพอสมควร เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าพร้อมแล้ว ก็ลงมือทำเลยแบบไม่ลังเล

ซึ่งเมื่อเราถามไถ่ถึงเหตุผลว่าทำไมถึงอยากควบมอเตอร์ไซค์ไปบนเส้นทางที่ไกลขึ้นเรื่อย ๆ ทางคุณตงค์ก็พร้อมเล่าเรื่องราวในอดีตจุดเริ่มต้นความฝันของเขาให้เราฟังอีกครั้ง

“มันย้อนกลับมาว่า ตอนเด็กเราขี่จักรยานเพราะอะไร การไปเรียนรู้โลกกว้างในสิ่งที่เราไม่เคยเจอมันสนุกยังไง เผอิญว่าบนโลกใบนี้มันมีแผ่นดินที่ให้มอเตอร์ไซค์วิ่งได้แค่รอบโลกไง เราก็เลยตั้งโจทย์ให้ตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งคำถามต่าง ๆ ขึ้นมาว่า แล้วทำไมเขาไม่ทำกัน ทำไมมันดูยากจังเลย พอเราผ่านจุดนั้นมา เราก็คิดได้ว่า เออ มันก็ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่เรื่องเล่าเขาว่า แค่นั้นเอง”

เมื่อคุณตงค์เล่าจบเราสัมผัสได้ถึงความกล้าและความมุ่งมั่นของชายคนนี้ ผ่านน้ำเสียงที่เรียบเฉยแต่ทรงพลัง

“วิธีพิสูจน์ความไม่รู้ที่ดีที่สุด ก็คือ ออกไป ไปทำมันซะ แค่นั้นแหละครับ” นี่คือสิ่งผู้ชายคนนี้พูดปิดท้ายข้อสงสัยในประเด็นนี้ของเรา


 

พิชิตรอบโลก ความลำบากไม่ใช่แค่เรื่องระยะทาง

คุณตงค์เล่าให้เราฟังว่า กว่าจะออกเดินทางทริปรอบโลกได้ ไม่ใช่ว่าใจพร้อม รถพร้อม ทุนพร้อม ก็ลุยได้ทันที แต่มันจะต้องมีการเตรียมเอกสารที่ละเอียดอ่อนมาก จากก่อนหน้าที่ข้ามไปไม่กี่ประเทศ ความยุ่งยากก็ไม่ค่อยมีอะไร แต่พอข้ามหลายประเทศเข้า จึงจำเป็นต้องศึกษากฎหมายของประเทศนั้น ๆ อย่างละเอียด เพราะแต่ละที่ก็มีกฎเฉพาะตัวของตัวเอง

ซึ่งคนละเรื่องกับการบินไปเที่ยวเฉย ๆ ที่แค่ออกวีซ่าก็เที่ยวได้แล้ว แต่กับ Overland เป็นอะไรที่วุ่นวายมาก เพราะจะต้องผ่านหลายด่าน ที่มีความซับซ้อนต่างกันไป บางประเทศที่เป็นประเทศเดียวกัน มีกฎหมายกลางก็จริง แต่กฎหมายของรัฐแต่ละรัฐก็แตกแขนงออกไปอีก จู่ ๆ จะเดินดุ่ม ๆ เข้าไปไม่ได้ และนั่นแหละคือ ความยุ่งยากที่แท้จริง นอกเหนือจากพาหนะ, สัมภาระและพลังใจที่ต้องเตรียมไป ด้วยประสบการณ์ที่เคยไปลุยมาก่อนคุณตงค์จึงได้สรุปสิ่งสำคัญคร่าว ๆ ที่ต้องเตรียมทำการบ้านก่อนออกลุยทริปรอบโลกแบ่งเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

1.สถานที่ที่เราจะไป จุดหมายอยู่ตรงไหน ไฮไลท์ตรงนั้นคืออะไร

2.สภาพอากาศ ช่วงเวลาไหน ที่เราไปแล้วจะเจอสิ่งที่อยากเจอ

3.เส้นถนนเป็นอย่างไร รถสามารถวิ่งไปได้ไหม

4.กฎหมายท้องถิ่นเป็นอย่างไร ต้องมี Local Guide ไหม

5.เตรียมรถให้พร้อม ฟิตร่างกายให้พร้อม

และเมื่อเราถามถึงการวางแผนเส้นทางของทริปรอบโลกที่ผ่านเวลามาก็หลายปี แต่ทุกสิ่งที่ออกมาจากปากผู้ชายคนนี้กลับเหมือนมันกับเขาเพิ่งผ่านพ้นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่เหล่านั้นมาเมื่อวานนี้เอง

“Route ที่ผมวางไว้อะนะครับ คือยิ่งผ่านประเทศยิ่งน้อยเท่าไร จะทำให้ปัญหาน้อยที่สุด เช่น การอยู่ SEA จะไปยุโรปได้อย่างไร มันก็มี 2 เส้นทาง คือ ขึ้นเหนือออกไปทางพม่า อินเดีย อิหร่าน เข้าอียิปต์สู่ตะวันออกกลาง ทำให้เอกสารยุ่งยากมาก กับ อีกเส้นหนึ่งที่มีรัสเซียครองอยู่ข้างบน ที่สามารถยิงยาวได้เลย แล้วผ่านไปเข้ารัสเซียตอนบนที่ติดกับ Saint Petersburg ไปสู่ยุโรปทันที ซึ่งมีความยุ่งยากน้อยกว่า ผมเลยเลือกเส้นทางนั้น”

“และนอกจากเส้นทางการเดินทางที่วุ่นวายเอาเรื่องอยู่แล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะเช็ครถ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในทริปนี้ให้พร้อมเสมอ บางวันรถเข้าอู่ก็ต้องไปซื้อ Day-Trip เที่ยวบ้าง พักร่างกายบ้าง ไม่ใช่ว่าจะขี่ไปถึงเฉย ๆ เพราะเป้าหมายของการมารอบโลกครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การออกทริปแล้วจบ แต่มันคือ ‘การใช้ชีวิต’ มากกว่า ซึ่งการได้ไปเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยเจอ คือสิ่งที่ทำให้ทริปนี้เกิดขึ้น และยังยึดมั่นในจุดเริ่มต้นที่มาจากรั้วบ้านตรงนั้น” 


 

ประสบการณ์ประทับใจจากรอบโลก

“มันก็รู้สึกดีกับทุกที่ที่เราไปนั่นแหละ มันคือครั้งแรกที่เราไปอะ มันตื่นตาตื่นใจไปหมด อ๋อ ผู้คนเป็นแบบนี้ อาหารการกินเป็นแบบนี้ สภาพแวดล้อมแบบนี้ มันก็มีมุมให้ประทับใจ อยู่ที่ว่าฟีลตอนนั้นรู้สึกอะไรอยู่ ในมุมมองของผมไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก เพราะเรามองในมุมของเขาไง”

“ส่วนเรื่องของความสวยงามในแต่ละประเทศ เขาก็มีธรรมชาติต่างกัน ให้ลองเอาเส้นลองจิจูดมาวางคาดกัน ในระดับเดียวกัน แน่นอนว่า อุณหภูมิจะต้องใกล้เคียงกัน แต่วิวมันยังแตกต่างกันได้เลย เช่น วิวภูเขาที่สวยของสวิตเซอร์แลนด์ ทุกอย่างเคลียร์ หลายคนชอบ ผมก็ชอบ ขณะเดียวกัน ในอีกซีกโลกหนึ่ง ผมเคยมองดาวในระดับสายตา จากที่คิดว่าเป็นไฟหมู่บ้าน แต่ขี่มอเตอร์ไซค์ยังไงก็ไม่ถึงสักที จนสุดท้ายถึงได้รู้ว่าที่เห็นดวงไฟมากมายโดยที่ไม่ต้องแหงนหน้ามองฟ้านั่นมันคือดาว ! ” คุณตงค์เล่าความประทับใจต่อทริปรอบโลกให้ฟังจนเห็นภาพ ซึ่งพอสรุปความประทับใจในมุมของคุณตงค์ได้ว่า แต่ละประเทศมันมีความสวยงามในตัวเองอยู่แล้ว หากจะบอกว่าทุกประเทศเหมือนกันหมด น่าค้นหาเหมือนกันหมดก็ไม่ใช่เสียทีเดียว อยู่ที่ว่าคุณจะอินและเข้าใจกับที่ตรงนั้นมากน้อยแค่ไหนต่างหาก และนั่นแหละ คือ ความประทับใจที่แท้จริง


 

‘มนุษย์’ อุปสรรคที่ยากจะควบคุม

หลังจากพูดคุยเรื่องความประทับใจไปแล้ว เราขอชวนคุณตงค์เลี้ยวกลับมาที่อุปสรรค ปัญหาต่าง ๆ เพราะเรามั่นใจว่าเรื่องใหญ่อย่างการเดินทางรอบโลก มันคงไม่ได้สุขสบายเรียบง่ายเหมือนน้ำเสียงที่คุณตงค์เล่าให้เราฟังแน่ ๆ ซึ่งเขาได้เล่าให้เราฟังถึงประเด็นนี้ว่า ปัญหาหลัก ๆ ในการจะแพลนทริป ๆ หนึ่ง ไม่ใช่แค่เรื่องเอกสารและกฎหมายที่ยุ่งยากเพียงอย่างเดียว พอเราคอนโทรลตรงนั้นได้ ก็กลับมาดูที่รถว่าพร้อมไหม ถามตัวเองว่าจะรักษาวินัยในการขับขี่ได้ไหมก็เพียงพอแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับการออกทริปยาวเลยก็คือ ‘ตัวเรา’ เองนี่แหละ ที่เป็นปัญหา อารมณ์ขึ้นลงในแต่ละวันกับเรื่องที่ติดอยู่ในหัวส่งผลให้การเดินทางชะงักอยู่บ่อย ๆ และนักรบจะรบชนะได้อย่างไร หากมีชุดเกราะพร้อมรบ แต่หัวจิตหัวใจกลับอ่อนแอ

“จำได้ว่าตอนนั้นผมเดินทางเข้าจีน ออกจากบ้านได้แค่เดือนกว่า อาหารการกินก็ยังถูกปากเราที่เป็นคนไทยอยู่ แต่พอไปมองโกเลีย ทะเลทรายมันไม่มีต้นไม้อะ แล้วผมเป็นมังสวิรัต มันไม่มีพืชผักให้ผมกิน โอเค เราก็กินขนมปังกับน้ำซุปก็ได้ ทนอยู่ 3 สัปดาห์ก่อนจะเข้าไปรัสเซีย 1 เดือนเต็ม ๆ ที่ต้องทนกับอาหารจำพวกเนื้อแช่แข็งที่เรากินไม่ได้ จนอยากจะมองหาไฟลท์บินเดินทางกลับไปกินข้าวประเทศไทย แล้วค่อยบินกลับมาเดินทางใหม่ คือเอาง่าย ๆ ว่า กูไม่ไหวแล้ว กูทนมาเป็นเดือนแล้ว นั่นแหละ บางวันแดก ๆ เหล้าให้แม่งหลับ ๆ ไปยังดีกว่า (หัวเราะ)” คุณตงค์เล่าถึงปัญหาระหว่างการเดินทางที่ต้องต่อสู้กับจิตใจตัวเอง แต่เมื่อเราถามว่าในวันที่ความรู้สึกในจิตใจมันค่อนข้างย่ำแย่ เคยคิดจะล้มเลิกทริปบ้างไหม

“เหอะ ไม่มีอะ” เขาตอบทันที

“เราไม่เคยคิดที่จะหยุดเดินทางอยู่แล้ว ตั้งแต่ที่เราตัดสินใจออกเดินทาง คือเราต้องไปถึง ถ้าเราเคลียร์ตัวเองไม่ได้ตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องออก เราตัดสินใจออกไปแล้วก็คือ ทิ้งทุกอย่างแล้ว ตั้งสติ มีวินัยกับการเดินทางอย่างเดียวพอ รถพังก็ซ่อมได้ ขาหัก รักษาหายก็มาใหม่ได้ มันเป็นฝันหนึ่งในชีวิต ที่เราอยากจะทำมัน”


 

ฝันที่ต้องแลก

นี่เป็นประเด็นที่เราเอง และเชื่อว่าหลายคนต่างสงสัย การไปออกทริปขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลกมันจ้องแลกกับอะไรบ้าง แล้วความฝันนี้มันถูกสงวนไว้สำหรับผู้โชคดีที่เกิดมาบนกองเงินกองทองหรือเปล่า และนี่คือคำตอบที่ทำให้เราหายสงสัย

“ผมก็คนธรรมดาครับ ธุรกิจอสังหาฯที่ทำอยู่ผมเริ่มจากศูนย์ ก็สู้ทน ฟันฝ่าอะไรต่าง ๆ มา กว่าจะได้มาเที่ยวรอบโลกได้ ก็ต้องทำมาหากิน เก็บเงิน กว่าจะสร้างมันขึ้นมาได้ก็กว่าครึ่งชีวิต” นอกจากนี้ คุณตงค์ยังให้แง่คิดเกี่ยวกับบาลานซ์ของชีวิต ระหว่าง Work Hard – Play Hard ให้เราฟังอีกด้วย ซึ่งสามารถสรุปใจความให้ฟังง่าย ๆ ก็คือ การออกทริปรอบโลกนั้น เราอาจต้องแลกด้วยอะไรบางอย่างเสมอ ทั้งช่วงเวลา ค่าใช้จ่าย และทุกโอกาสทางธุรกิจ

แต่หากลองมาคิดอีกมุมหนึ่ง ขณะที่เราอายุ 30 เรามองไปในห้องประชุม เราเห็นผู้อาวุโสอายุแตะเลข 6 เลข 7 ในนั้น หมายความว่า ถ้าเรายังทำงานในอุตสาหกรรมนี้อยู่จนถึงอายุ 70 แต่ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตอะไรเลย มันจะน่าเสียดายและเป็นสิ่งผิดพลาดในชีวิตอย่างแน่นอน ซึ่งส่วนต่าง 40 ปีตรงนั้น เท่ากับ 14,600 วัน ที่ต้องกลับมาทำมาหากิน สัดส่วนหมื่นกว่าวัน กับแค่ร้อยกว่าวันที่ออกไปใช้ชีวิต ได้ออกไปทำตามฝัน มันเทียบกันไม่ได้เลย

ผมไม่เคยเสียดายกับสิ่งที่ผมสูญเสียไปแลกกับการทำได้ทำมันนะ อีกตั้งหมื่นกว่าวันที่ผมต้องทำมาหากิน กับอีแค่ร้อยสองร้อยวันที่ไปออกทริป ซึ่งน้อยมาก มันยังไม่ได้เสี้ยวของชีวิตที่ต้องทำงานเลย ถ้าผมไม่ตายห่าไปก่อนอะนะ โปรเจ็กต์นี้เลยไม่ได้คิดหนักใจอะไร เพราะผมมีหลักความคิดแบบนี้ ผมจะไปอีกปีหรือสองปีก็ได้ ถ้าผมยังไม่เบื่อมัน แต่ Passion ผมมันยังอยู่ไงคุณตงค์ให้นิยามกับการได้ทำตามความฝันของตัวเอง พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานข้ามโลก ในวันที่เขาออกเดินทางล่าฝัน แต่ธุรกิจของเขาก็ยังคงต้องขับเคลื่อนอยู่

“เราไม่ได้เคลียร์ ไม่ได้กังวลอะไรเลย เรา Setup ทุกอย่างมาพอสมควรแล้ว ไม่มีเราเขาก็ต้องอยู่ได้ ใครทำหน้าที่ได้ดีก็ได้ผลตอบแทนที่ดี มันง่ายนิดเดียว” คุณตงค์ดูไม่กังกลกับธุรกิจที่ทำอยู่ เพราะได้วางระบบไว้อย่างรอบคอบแล้ว

ด้วยความที่ตอนนี้ทุกคนสามารถสื่อสารกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะสุดขอบฟ้าหรือคนละซีกโลกก็ตาม แต่เราสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านเครือข่ายไร้สายนี้ ซึ่งคุณตงค์เองบอกว่า แม้ตัวเขาจะอยู่ไทยที่ออฟฟิศห่างกับบ้านแค่ก้าวเดียว เขาก็แทบไม่ค่อยได้ลงมาเลย ยังทำงานสั่งการอยู่ในห้องของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับวันที่ไปออกทริปยาว ตราบใดที่มีอินเทอร์เน็ต เขาก็สามารถควบคุมงานทางไกลได้อยู่นั่นเอง

“แทบทุกวันที่ออกทริป ตื่นเช้ามาผมก็ทำงาน เข้าโรงแรมมาก็ตอบอีเมล์ อาจมีช่วงเวลาไม่ตรงกันบ้าง ก็แค่รอ ๆ กัน ผมยังทำงานปกติ วันไหนมีงานที่ซีเรียสจริง ๆ วันนั้นก็จะปล่อยเป็นฟรีเดย์ไปไม่ออกเดินทาง แล้วหาโรงแรมที่มีอินเตอร์เน็ตเช่าห้องนั่งทำงานยาว ๆ” คุณตงค์เล่าถึงชีวิตนักล่าฝันที่ก็ยังต้องทำมาหากินอยู่


 

ปลายทาง

ทุกงานเลี้ยงย่อมมีการเลิกรา การเดินทางก็เช่นกัน การพูดคุยในประเด็นนี้เป็นการสรุปประสบการณ์การเดินทางอันยาวนานกว่า 6 – 7 เดือนของคุณตงค์ให้ทุกคนได้ซึมซับมันไปพร้อม ๆ กัน

“ผมจบทริปที่ซานฟรานฯ ตรงสะพาน Golden Gate พอเราขับรถไปจอดแล้วถ่ายรูป ผมก็ใจหายนะว่าถ้าอันนี้เป็นภาพสุดท้ายของทริป มันจบแล้วเหรอ มันไม่ชินอะ มันไม่ชินกับการต้องตื่นมาแล้วไม่ได้พบว่าเราตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เจออีกแล้ว อารมณ์แบบพรุ่งนี้ไม่มีแล้ว มันใจหายเหมือนกันนะ” ในวันสุดท้ายของทริปคุณตงค์ใช้เวลาครึ่งวันนั่งดูรถผ่านไปผ่านมาบนสะพานนั้นและยอมรับกับเราว่าใจหายเหมือนกัน ก่อนเล่าย้อนถึงความสำคัญระหว่างวันที่เริ่มต้น ระหว่างทาง และจุดสิ้นสุดของทริปรอบโลกให้เราฟังว่า เขายกให้วันที่ตัดสินใจเริ่มต้นออกเดินทางนั้นสำคัญ และยากลำบากที่สุด

“จุดเริ่มต้นเนี่ยยากสุด เพราะเรายังไม่รู้ว่าเราจะเจอะไร ทุกคนกลัวการเริ่มต้น ผมก็กลัว ไม่งั้นผมจะทำการบ้านเยอะขนาดนั้นเหรอ มันยากมากกว่านะ ในมุมของผมคือ มันสำเร็จตั้งแต่วันที่เราเริ่มจะทำแล้วล่ะ เราก้าวผ่านความกลัวมาแล้ว นั่นคือสำเร็จแล้วนะ หรือในทุกวันเราสามารถประคองแพลนของเราได้ มันก็สำเร็จเหมือนกัน คือมันมีความสำเร็จเกิดขึ้นทุกวัน” นี่เป็นนิยามที่คุณตงค์ให้กับความสำเร็จที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจุดหมายปลายทาง เพราะหลายคนเชื่อว่า คุณตงค์ประสบความสำเร็จในวันที่จบทริปรอบโลก แต่คุณตงค์บอกว่าไม่ใช่ ความสำเร็จสำหรับเขา มันเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ก้าวขาออกมาจาก Comfort Zone ของตัวเองแล้ว

หรือการที่เราสามารถบรรลุเป้าหมายตามแพลนที่วางไว้ได้ ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งเช่นกัน ณ วันนี้เราถึงโรมแรม ได้นอนหลับ อีกวันเราได้ไปเหยียบทะเลทรายตามที่หาข้อมูลมา ก็ถือเป็นการประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ หมายความว่า “ความสำเร็จที่แท้จริง อาจไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่ระหว่างทางต่างหาก คือ คุณค่าของความสำเร็จที่แท้จริง”


 

ฝันครั้งใหม่

หลังจากการขี่มอเตอร์ไซค์พิชิตเส้นทางรอบโลกของเขา ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้ชายคนนี้ยังมีฝันอะไรที่อยากจะทำต่อจากนี้อีกหรือเปล่า

“หลายคนมองว่าการที่ผมขี่ 2 ล้อไปรอบโลกได้ เป็นอะไรที่เจ๋ง แต่ความจริงมันยังมีอีกหลาย Section ที่เจ๋งกว่าเราเยอะ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไป Everest Base Camp ที่ทิเบต ผมว่าผมเจ๋งมากเลยนะ แต่ระหว่างทางผมเห็นคนขี่จักรยานขึ้นไปอะ มันไม่เจ๋งกว่าผมเหรอวะ ผมนี่อุปกรณ์มาเต็ม อำนวยความสะดวกหมด แต่พวกแม่งขี่จักรยานเปล่า ๆ ขึ้นไปบนภูเขา 4,000 เมตรอะ เชี่ย มึงไม่เจ๋งเลยว่ะไอตงค์”

“ในโลก 2 ล้อของผม มันอาจจะเจ๋งที่ขี่รอบโลก แต่ขณะเดียวกันในหลาย Section มันก็มีอะไรที่เจ๋งของมันอยู่ ที่ผมยังไม่ได้เข้าไปสัมผัส ฉะนั้น ถ้าชีวิตผมยังมีลมหายใจอยู่ มันก็อาจจะมีฝันต่อไปเรื่อย ๆ” คำตอบของเขาไม่ได้ผิดไปจากที่เราคาดเอาไว้มากนัก จากนี้คงต้องรอแค่เวลาที่จะให้คำตอบได้ว่าฝันใหม่ที่คุณตงค์ค้นพบ และอยากจะลงมือทำอีกครั้งมันคืออะไร


 

บทส่งท้ายแด่นักฝันมือใหม่

ก่อนจาก ในฐานะผู้ที่เคยพิชิตฝันมาก่อน เราจึงขอให้คุณตงค์ฝากถึงอีกหลายคนที่ยังคงตามหาความฝัน ไม่รู้ว่าควรจะฝันเบอร์ไหน ต้องฝันเล็ก ๆ  หรือฝันทั้งทีต้องฝันให้ใหญ่ รวมถึงใครก็ตามที่มีฝันแล้วแต่อาจยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับฝันนั้นอย่างไร

“ไม่เห็นจำเป็นต้องฝันใหญ่เลย โดยส่วนตัวผมมองว่าความสำเร็จของผมไม่ใช่การเดินทางรอบโลก ผมบอกตัวเองทุกวันว่าวันที่ผมไปถึงที่พักมันคือ สำเร็จแล้วนะ ฝันก็เหมือนกัน ทำไมต้องฝันให้ใหญ่ขนาดนั้น ตอนอายุ 15 ผมฝันจะขี่ Vespa จากบ้านไปเชียงใหม่ และผมก็ทำมันสำเร็จ ซึ่งมันก็โคตรยิ่งใหญ่สำหรับผมละ แล้วหลังจากนั้นเราค่อยต่อยอดมันออกไปดีกว่า มาลองคิดดู ถ้าตอนนั้นผมฝันว่าจะขี่ Vespa ไปรอบโลก คือผมเลิกไปแล้วนะ มึงไม่มีทางทำได้แน่ ก็เลยมองว่าไม่เห็นจำเป็นต้องฝันใหญ่เลย เราซ้อมกับฝันเล็ก ๆ ก่อนก็ได้ ถ้ามันอยู่ในลูปเดียวกัน ก็ทำสิ ผมว่ามันง่ายกว่า”

เริ่มต้นคือสิ่งสำคัญที่สุดแล้ววันที่คิดเริ่มต้นจะทำเคลียร์กับตัวเองให้จบก่อนว่ามึงเอาแน่และในวันที่ออกไปนั่นแหละคือจบละมึงทำสำเร็จแล้ว

 


ติดตามเรื่องราวการขี่มอเตอร์ไซค์ตะลุยเส้นทางรอบโลก และสั่งซื้อหนังสือบันทึกการเดินทางของ ‘ตงค์-เสริมธนชาติ คูณแสนโชติสิน’ ได้ที่
FACEBOOK: Tong Rides The World.


Photographer: Krittapas Suttikittibut

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: Sorrapat Prasutjaritwong (สรภัศ พระสุจริตวงศ์)

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line