Business

ทำไมยิ่งโตยิ่งโง่? ‘ทำตัวเป็นเด็กอีกหน’อาจช่วยให้คุณเรียนรู้และสร้างสรรค์ได้ดีกว่าเดิม

By: PSYCAT May 22, 2017

เมื่อไหร่จะรู้จักโตสักที? เล่นอะไรเป็นเด็ก ๆ ไปได้? ถ้าได้ยินวลีเหล่านี้จากปากใครก็ดูจะเป็นคำตำหนิมากกว่าคำชม เพราะในโลกที่ทุกคนเรียกร้องความเป็นผู้ใหญ่จากกันและกันอยู่ตลอดเวลา ดูเหมือนความเป็นเด็กดูจะกลายเป็นผู้ร้ายไปเสียหมด ทั้ง ๆ ที่การเป็นผู้ใหญ่บางทีก็ไม่ได้ดีหมดเสมอไป และความเป็นเด็กก็มีมุมให้เราให้ค้นหาอีกเยอะ

ความเป็นเด็กไม่ได้มีความหมายแค่การไม่รับผิดชอบ การเอาแต่เล่นเสมอไป (จริง ๆ ผู้ใหญ่ก็มีพฤติกรรมแบบนี้แต่โทษว่าเป็นพฤติกรรมของเด็กไปเสียหมด) แต่การคิดแบบเด็ก ๆ อาจเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้อย่างที่ผู้ใหญ่อย่างเราคาดไม่ถึง

pexels-photo-277477 (1)

Rachel Wu ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of California ตีพิมพ์บทความเรื่อง A Novel Theoretical Life Course Framework for Triggering Cognitive Development across the Lifespan ซึ่งว่าด้วยวิธีคิด วิธีมองโลกแบบเด็ก ๆ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราหลงลืมมันไป ทั้ง ๆ ที่มันช่วยในการเรียนรู้ได้ดีกว่าการมองโลกแบบผู้ใหญ่เสียอีก!

บ่อยครั้งที่เรามักรู้สึกว่าทำไมเรายิ่งโตยิ่งไม่ฉลาด ทั้ง ๆ ที่ตอนเด็ก ๆ เราก็รู้สึกว่าเราฉลาดกว่านี้นี่นา? Rachel Wu อธิบายว่ามันเกี่ยวกับวิธีการที่เราเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เมื่อเราเป็นเด็กเรามองทุกอย่างด้วยความตื่นตาตื่นใจ เรียนรู้หลาย ๆ สิ่งไปพร้อม ๆ กัน

ในขณะที่เมื่อเราเติบโตขึ้น ความเป็นผู้ใหญ่บังคับให้เราต้องเรียนรู้ลึกลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ เพราะถ้ายังสนใจอะไรหลาย ๆ อย่างก็จะโดนหาว่าไม่มีความตั้งใจไปเสียได้

pexels-photo-289923

พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือทันทีที่เราถูกถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการบอกว่า เราต้องเชี่ยวชาญอะไรสักอย่างนะ เราต้องมีอาชีพแค่อาชีพเดียวนะ เราต้องเก่งในทางนั้นให้สุดนะ การเรียนรู้เราจึงค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบจากการเรียนรู้อะไรก็ได้ตามใจชอบ เป็นการปิดตัวเองเพื่อเรียนรู้อะไรแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

การเรียนรู้อะไรให้ลึกก็เป็นสิ่งที่ดี แต่การที่เราถูกจำกัดให้เรียนรู้อะไรแค่อย่างใดอย่างหนึ่งเพราะอาชีพ เพราะหน้าที่การงาน เพราะการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ทำให้เราขาดโอกาส ขาดความคุ้นชินที่จะเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันเหมือนตอนที่ยังเป็นเด็กไป

Rachel Wu พูดถึงการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ที่มีข้อจำกัด เช่น เป็นการเรียนรู้อย่างนั้น ๆ ไปตามหน้าที่การงาน ตามการเรียนที่เฉพาะทางมากขึ้น การเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ยังเป็นการเรียนรู้อยู่บนการเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูงและไม่เปิดโอกาสให้ความผิดพลาด เพราะถ้าพลาดทีก็มีหลายอย่างที่ต้องพังลง นอกจากนั้นยังเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อว่าเรียนรู้ทีละอย่างเป็นสิ่งที่ดี

person-apple-laptop-notebook

แต่การเรียนรู้แบบเด็ก ๆ คือการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง เราสามารถเรียนรู้จากใครหรืออะไรก็ได้ รวมถึงสรรหาทักษะใหม่ ๆ และหลากหลายมาเติมเต็มให้ตัวเองอยู่ตลอด อีกทั้งเป็นสภาพแวดล้อมที่เราสามารถทำผิดพลาดได้ และทุกคนเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้จากความผิดพลาดอีกที นอกจากนั้นเรายังสามารถเรียนรู้หลาย ๆ สิ่งโดยไม่ถูกจำกัดว่าเราต้องเชี่ยวชาญแค่อย่างเดียวเท่านั้น

ความหลากหลายของการเรียนรู้แบบเด็ก ๆ นี้ Emilie Wapnick ศิลปินและนักเขียนก็เคยพูดเรื่อง “multipotentialites” ไว้ว่าคนเราสามารถมีความสนใจ มีความหลงใหลหลาย ๆ อย่างได้ การที่เราต้องหาสิ่งที่เราเชี่ยวชาญที่สุดเพียงอย่างเดียวอาจนำพาความกดดันและความเครียดมาให้ชีวิตคนบางคนได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะสนใจและเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน

pexels-photo-89860

การเรียนรู้หลายอย่างจะยิ่งเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และทำให้เราคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ จากการรวมศาสตร์หลาย ๆ แขนงเข้าด้วยกันได้ดีกว่าเดิม อย่างที่จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งเริ่มปรับหลักสูตรการเรียนรู้ให้กลายเป็นแบบสหวิทยาการ คือไม่ได้เจาะจงแค่ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่ประยุกต์และบูรณาการหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน

การเรียนรู้และมองโลกแบบเด็ก ๆ อาจไม่ต้องยิ่งใหญ่ถึงขั้นเรียนศาสตร์หลายแขนง เพียงแค่เราเริ่มเปิดประตูไปสู่งานอดิเรกใหม่ ๆ กีฬาใหม่ ๆ หรือไปในที่ที่เราไม่เคยลองไป แล้วมองโลกให้ตื่นตาตื่นใจเหมือนตอนเป็นเด็กให้ได้ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย หรือถ้าเราร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในที่ทำงาน ปล่อยให้มีความผิดพลาดบ้าง แต่ต้องเรียนรู้จากมันไปพร้อม ๆ กัน ก็คงเจ๋งไปอีกแบบ

SOURCE1SOURCE2SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line