FASHION

รู้จักความแตกต่างของ Vans Old Skool ให้มากขึ้น ต้องเล่นรุ่นไหน เลือกยังไง จนใครๆ ต้องเรียกเราว่า Vans Guru

By: Thada January 12, 2018

กระแสรองเท้าตอนนี้เป็นอะไรที่อิมแพคกับวัฒนธรรมผู้ชายไทยอย่างสุดๆ ซึ่งหากจะแบ่งกลุ่มก้อนของผู้คลั่งไคล้รองเท้า เราคงสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ อย่างชัดเจน

กลุ่มแรกคือ  sneakerhead  ที่เลือกเก็บเฉพาะรองเท้ารุ่น hype ในกระแส อาทิ adidas Yeezy ,adidas NMD เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่สองจะเป็นคนที่เล่นรองเท้านอกกระแสทั้งหลายที่เป็น limited pair ตัวอย่างเช่น Diadora , Reebok หรือจะเป็น Asics งาน collaboration ต่างๆ

และกลุ่มสุดท้ายพวกที่เล่นรองเท้าสาย OG วินเทจดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็น adidas superstar ,stan smith ,nike air ปีเก่าๆ รวมถึง  vans  หลากหลายรุ่น

ซึ่งรองเท้าแต่ละประเภทจะให้เราบอกว่าคู่ไหนดี หรือฟันธงว่าแบบไหนถึงเหมาะ คงจะไม่ได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล

แต่ในช่วงซีซั่นที่ผ่านมา UNLOCKMEN พอจะจับเทรนด์ได้อย่างหนึ่งว่ามีรองเท้าอยู่หนึ่งรุ่น ที่เป็นรองเท้าในกลุ่ม OG อยู่ดีๆ ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งทีก่อนหน้านี้ไม่ได้มีกระแส เรื่องการโปรโมทใดๆ ทั้งสิ้น นั้นคือ Vans old skool รองเท้าสเก็ตบอร์ดตำนานที่อยู่คู่คนไทยมาหลายสิบปี

แล้วทำไมอยู่ดีๆ  Vans old skool  ถึงกลับมาฮิตเปรี้ยงปร้างล่ะ? ถ้าถามเราคงตอบได้ว่า อาจจะเป็นเพราะความคลาสสิคที่อยู่เหนือกาลเวลา บวกกับกระแสสเก็ตบอร์ดที่เป็น mass culture รากลึกสำหรับวัฒนธรรมสตรีทแวร์ ขนาดเสื้อ Thrasher ลายไฟ ยังกลายเป็น  Must Have Items  ได้เลย จึงไม่น่าแปลกใจหาก Vans รุ่นนี้จะกลับมาฮิตโดยเฉพาะ  OG Colorways  สีดำ ซึ่งก่อนอื่นทีมงานขอสรุปความเป็นมาของ vans รุ่น old skool แบบคร่าวๆ สักเล็กน้อย เพื่อผู้อ่านบ้างคนที่อาจจะยังไม่รู้เรื่องจุดเริ่มต้นของ vans old skool


จุดเริ่มต้นจากยุค 70’s

อย่างที่ทุกคนทราบว่าตระกูล Van Doren เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Van Doren Rubber เพื่อผลิตรองเท้าแฟชั่นสำหรับใส่เล่นสเก็ตบอร์ด โดยมีรุ่นแรกคือ authentic ในปี 1966 ก่อนที่พวกเขาจะมาผลิตรองเท้ารุ่น  Style 36  (old skool)  ที่มีจุดเด่นคือลาย Jazz stripe สีขาวพาดอยู่ด้านข้างของตัวรองเท้าในปี 1977 ก่อนจะตามมาด้วยรุ่น  Style 38 (sk-8)  ที่มีลักษณะเหมือนกันแต่เป็นทรงหุ้มข้อ


เริ่มมีการ custom ช่วง 80’s

170111-vans-4

Steve van Doren มองเห็นว่ายุค 80s คือยุคแห่งเสรีภาพ และอิสรภาพ พวกเขาจึงเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถออกแบบรองเท้าของตัวเองได้เพียงแค่ใช้ปากกาหนึ่งด้าม ซึ่งการเปิดโอกาสในครั้งนี้ได้กลายเป็นงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่สื่อถึง DNA ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี และเริ่มมีการเปลี่ยนชื่อรุ่นมาเป็น Old Skool


Collaboration ในยุค 90s

Vans ไม่ใช่เพียงแค่รองเท้าอีกต่อไป แต่มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ทำให้แบรนด์เสื้อผ้า รวมถึงดีไซเนอร์มากมายอยากที่จะนำรองเท้ารุ่น Old Skool ไปดีไซน์ให้ออกมาเป็นคอลเลคชั่นพิเศษ

Vans จึงได้ร่วมงานกับดีไซน์เนอร์มากมายไม่ว่าจะเป็น Marc Jacob หรือแม้แต่สุดยอดแบรนด์สเก็ตบอร์ดอย่าง supreme ที่ปั่นกระแสวงการสเก็ตบอร์ดให้เป็น youth culture ในช่วงยุค 90s


ร่วมงานกับวงดนตรีช่วง 00s

เพราะ Vans ได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้ววัฒนธรรม street culture มันไม่ได้เป็นเพียงการสนใจอะไรเพียงด้านเดียว ศิลปะ ดนตรี งานเขียน ก็ยังเป็นอีกหลายปัจจัยที่มีส่วนหลอมรวมให้เกิดเป็นวัฒนธรรมย่อยได้อีก

พวกเขาจึงได้เปิดโอกาสให้ตัวเอง เพื่อไปร่วมงานกับวงดนตรีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Slayer, Descemdent หรือ Bad Religion เพื่อเอาใจแฟนเพลง อีกทั้งยังมีไลน์การ์ตูนออกมาเอาใจอีกด้วย


เราเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะพอทราบประวัติของ Vans old Skools มาคร่าวๆ ตามที่เราได้เล่าไปแล้ว แต่ใจความสำคัญที่เราต้องการจะบอกคือวิธีการดู และเลือกซื้อ เพราะแม้ว่าจะเป็น  old skool  เหมือนกัน แต่รายละเอียดบ้างส่วนช่างแตกต่างกันมากเหลือเกิน

ก่อนอื่นเราขอบอก่อนว่าเวลาคนบอกให้ดูสีที่ส้นเท้า Vans old skool ว่าแท้หรือไม่ อันนี้ไม่จริงเสมอไป เพราะหลายๆ รุ่นของ Vans จะมีการทำพิเศษทำให้สีมีความแตกต่างกันออกไป สรุปว่าส้นของรองเท้า Vans มีเกือบครบทุกสี แต่ถ้าแบ่งง่ายๆ เราขอแบ่งเป็นไลน์การผลิตก่อน

สำหรับไลน์ classic ที่ขายอยู่ตามช้อปในไทย ป้ายตรงส้นเท้าจะเป็น Vans of the wall สีขาว ดำ แดง แล้วแต่ล็อตผลิต และส่วนมากจะเป็นงานเวียดนาม หรือจีน ทำให้หากใครได้ไปเที่ยวเวียดนามจะรู้ว่า Vans ที่นั่นราคาถูกกว่าที่อื่นมาก

สำหรับงาน USA หรืองานวินเทจแท้ ซึ่งราคาสูง และหายากมาก มีคุณภาพดีที่สุด บริเวณส้นเท้าจะเป็นสีขาวเขียนว่า Vans made in USA หรือสีแดงที่เขียนว่า Off The Wall เฉยๆ จุดสังเกตอีกที่คือบริเวณ upper หน้าเท้าจะแคบ และเล็กกว่างานสมัยใหม่

และต่อไปคือส่วนของไลน์ Vans Vault หรือ Vans ที่มีคุณภาพสูง เลือกแต่วัสดุดีๆ และใส่ใจในขั้นตอนการตัดเย็บเป็นพิเศษราคาก็จะสูงกว่าแบบ classic โดยบริเวณส้นเท้าจะเขียนแค่ Vault หรือ off the wall  จะมีขายเฉพาะร้าน sneaker boutique เท่านั้น

แล้วก็ไลน์พิเศษเฉพาะประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan edition ที่ไม่มีวางขายที่ไหน Vans ของที่นี่จะแปลกตากว่าที่อื่น รวมถึงมีคุณภาพสูงสไตล์ Made In Japan และใกล้เคียงกับของอเมริกามากที่สุด หากใครมีโอกาสไป แนะนำให้สอยกลับมาเก็บไว้ ก็รับรองได้ว่าไม่ซ้ำใครแน่นอน

สุดท้ายคือไลน์  syndicate  ที่จะมีความ  exclusive  เช่นกัน แต่ไลน์นี้จะทำออกมาเพื่อตอบโจทย์ของการเล่นสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ มีการใช้วัสดุเฉพาะทาง เพื่อความแข็งแรงและสะดวกสบายของนักสเก็ตบอร์ด บริเวณป้ายจะเขียนเอาไว้ชัดเจนว่า  Vans syndicate  และส่วนใหญ่เป็นป้ายสีแดง จะมีขายจำหน่ายน้อยกว่าไลน์ของ vault วางขายเพียงร้าน สเก็ตช้อปเท่านั้น บางประเทศมีเพียงร้านเดียวที่ได้โควต้าในการขาย

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการดูและแบ่งแยกรองเท้ารุ่น Vans Old Skool  ที่กำลังเป็นได้รับความนิยม ต่อไปนี้จะได้หมดข้อสงสัยในการเลือกซื้อรองเท้า Vans กันสักทีนะครับ

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line