Work

5 วิธีเผชิญหน้ากับปัญหาแบบเอาอยู่ เมื่อรู้ว่างานในมือมันเยอะเกินไป

By: anonymK August 8, 2018

8 ชั่วโมงทำงานในแต่ละวันของพวกเรา เชื่อว่าหลายครั้งคงต้องเจอกับภาวะงานกองพะเนิน ทำอย่างไรก็ไม่เสร็จสักที ย่ิงคิดยิ่งปวดหัวเพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มสางมันตรงไหนก่อน เพื่อให้พวกเราสามารถควบคุมงานในมือให้อยู่หมัดและปัดมันออกไปจาก  “To do list” โดยไม่ต้องเก็บไปฝันร้ายที่บ้าน UNLOCKMEN ได้เตรียมวิธีรับมือง่าย ๆ ทั้ง 5 หนทางต่อไปนี้

เริ่มต้นเตรียมพร้อมก่อนไปหาทางออกกันด้วยการ “หายใจ” โดยใช้วิธีหายใจเข้าแบบ “ช้า ๆ” เพราะการหายใจช้า ๆ จะช่วยแก้ไขอาการตื่นเต้นและการโฟกัสให้ยาวขึ้น เหมือนการปลุกสมองให้เตรียมพร้อมสู่การวางแผน ตอนนี้รู้สึกใจนิ่งขึ้นแล้วหรือยัง? ถ้านิ่งแล้วเราลุยต่อขั้นถัดไปกันได้เลย

 

พูดเองเออเองคนเดียวบางทีก็ช่วยได้

พูดคนเดียวอาจจะเป็นวิธีโคตรฝืนสำหรับใครหลายคน เพราะกลัวคนรอบข้างจะคิดว่าเราบ้า แต่ถ้าได้ลองสักครั้งเราจะรู้ว่าความเป็นจริงมันเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เราควบคุมความสงบในมือและวางแผนสิ่งที่จะทำต่อได้เป็นอย่างดี แถมยังช่วยบรรเทาความกังวลที่เกิดจากจากความรับผิดชอบซึ่งกำลังล้นมือเราในตอนนี้ด้วย ใครที่ยังคิดไม่ออกว่าจะพูดอะไร ลองพูดด้วยประโยคเหล่านี้ดู

“ถึงงานจะเยอะแค่ไหน แต่ฉันก็โฟกัสมันได้แค่อย่างเดียวที่กำลังอยู่ตรงหน้าเท่านั้น และเราจะรู้สึกดีกว่าแน่นอนถ้าได้ทำแบบนั้น”

“ฉันชอบให้งานจบภายในวันนั้น แต่จะยอมรับความเป็นไปได้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย”

“ฉันสนุกกับการทำงานของฉัน ดังนั้น ถึงงานจะยุ่ง ๆ ฉันก็สนุก มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่บางครั้งจะรู้สึกว่างานล้นมือ ฉันสามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นและปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ”

เคล็ดลับของการใช้วิธีพูดคนเดียวเพื่อบำบัดเป็นเทคนิกที่เราแนะนำ เพราะการเปลี่ยนคำชวนเครียดอย่าง “ควร” เป็น “ชอบ” หรือ “ทำได้” มันช่วยให้เรารู้สึกมีพลังเพิ่มขึ้นและคลายความกังวลได้มากกว่า แต่สิ่งที่เหนือกว่าคำพูดปลอบใจเมื่อพูดกับตัวเองคือคำถามแฝงที่ว่า “ทำแบบไหนถึงดีที่สุดสำหรับตอนนี้” เพื่อทบทวนและลำดับความสำคัญของแต่ละงานที่เข้ามา

 

บอกช่วงเวลาทำงานสมองให้ตรงตามความจริง

มีหลักฐานจากงานวิจัยที่ติดตามข้อมูลกลุ่มคนซึ่งบอกว่าตัวเองต้องทำงานเกินเวลาบ่อย ๆ แล้วพบว่า ผลวิจัยส่วนใหญ่ชี้สัดส่วนของคนที่ทำงานเกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จริง (ทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมงต่อเนื่อง 5 วันจะใช้เวลาแค่ 40 ชั่วโมงเท่านั้น) มีเพียง 6 % เท่านั้น แต่ถึงแม้ตัวเลขความจริงจะโชว์อยู่ทนโท่แค่ไหนก็ตาม ถ้าเราบอกตัวเองว่า “ฉันทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” สมองมันก็จะเชื่อตามทันที

เมื่อสมองเชื่อในสิ่งที่เราบอกมากกว่าความจริงตรงหน้าจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรารับมืองานได้ไม่ดี ความเหนื่อยจำลองที่เพิ่มขึ้นจะรบกวนการทำงานของเรา ทำให้ความกังวล ความหดหู่ สิ้นหวังขึ้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งสุดท้ายสิ่งนี้มันทำให้เราทำงานพลาด เรื่องนี้ Laura Vanderkam นักเขียนหนังสือ 168 hours ให้ข้อแนะนำง่าย ๆ ว่า ลองพยายามติดตามตัวเลขการทำงานจริงของคุณสักอาทิตย์หนึ่งดู ไม่ต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมอะไรในชีวิต แค่บันทึกช่วงเวลาทำงานของคุณลงใน spreadsheet หรือสมุดบันทึกก็ได้ พฤติกรรมการรับมือของเราจะเปลี่ยนไปในทางบวกทันที (เพราะเป็นตัวเลขที่แท้จริงที่ไม่ได้มโนให้เหนื่อยอย่างที่คิด)

หลังทัศนคติดีแล้ว ถ้าอยากเพิ่มเวลาทำงานให้เพียงพอ แค่คอยเบรกเวลาที่เราเคยใช้อย่างฟุ่มเฟือยจากการเช็กเมลหรือโทรศัพท์ให้เหลือสั้นลงแค่ไม่กี่นาที รับรองว่าจะทำให้เรามีเวลามาจัดการงานตรงหน้าให้เสร็จได้รวดเร็วและถึงเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน และปัญหาโอเวอร์โหลดก็จะลดลงเช่นกัน

 

คิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น คิดไปเองให้น้อยลง

หลายคนคงกำลังคิดว่าตัวเองยังเอาไม่รอด จะให้ไปคิดถึงคนอื่นในเวลานี้มันจะช่วยให้งานเสร็จได้ไง คำตอบคือ การคิดถึงคนอื่นมันช่วยให้เราลำดับความสำคัญในการทำงานได้ดีขึ้น ถ้าเราคิดถึงคนที่ทำงานต่อจากเราว่าเขาจะต้องเดือดร้อนแค่ไหนหากเราทำงานไม่เสร็จ เพราะทุกคนย่อมอยากได้เวลาทำงานเป็นของตัวเองทั้งนั้น มันจะผลักดันให้งานเราสำเร็จไวขึ้นทันที

หนึ่งในเรื่องที่เราลองทำได้เลยตอนนี้ และเห็นผลเปรียบเทียบได้ชัดเจนคือเรื่องการตอบอีเมล ที่หากคิดและทำตามนี้ให้ติดเป็นนิสัยมันจะช่วยจัดการงานเราได้ดี ทั้งเรื่องความเร็วและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานโดยฝึกเลิกตอบอีเมลนอกเวลางาน ออกจากออฟฟิศก็ให้พอ เพราะถ้าไม่เร่งด่วนคอขาดบาดตายจริง ๆ ฝ่ายที่รับอีเมลจากคุณเขาจะซึ้งใจมากกว่าที่ไม่ก้าวล่วงเวลาส่วนตัว ดังนั้น จงทำให้เร็วขึ้นด้วยการลำดับความสำคัญของอีเมลที่เราต้องตอบก่อนหลัง

เปิดใจคุยเรื่องความคาดหวังกับคนอื่น เมื่อรู้สึกว่างานมันล้นมือเกินไป การสื่อสารสำคัญกว่าจินตนาการ เลิกคิดแทนเจ้านายว่าเขาอยากได้อะไร แต่เคาะประตูถามเขาเสียเลย บางทีเขาอาจจะไม่ได้คิดอย่างที่เราคิดหรือช่วยแก้ไขปัญหาให้เราได้ด้วยการกระจายงานให้คนอื่น

บอกคนอื่น ๆ ว่าเรากำลังจะกลับไปทำงานตามเวลาจริง ถ้าพักไปสองอาทิตย์ก็บอกสองอาทิตย์ ไม่ต้องแบกงานไปด้วยเวลาพัก จำไว้ว่าความจริงทำร้ายเราไม่ได้มากเท่าการโกหกหรือฝืนใจ

 

คาดคะเนถึงความสำเร็จที่ต้องการ

จินตนาการเรื่องความสำเร็จกันให้ชัดเพราะบางทีสิ่งที่เราโฟกัสอาจกำลังผิดพลาด อย่างพวก Perfectionist อาจจะคิดว่า “อยากไปถึงความสำเร็จเราต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น” ความคิดนี้มันกลายเป็นปัญหาหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและกลุ่มคนมีพรสวรรค์ทั้งหลาย

วิธีการแก้คือขุดความคาดหวังตั้งต้นที่เรามีต่องานขึ้นมาและพัฒนาตัวเองตามเส้นทางนั้น อธิบายเปรียบเทียบให้เห็นชัดจากเรื่องการเขียนของนักเขียนเลยแล้วกัน เวลาเขียนบางครั้งเราเกิดความรู้สึกตัน คิดไม่ออก เขียนไม่ออก จนแทนที่งานจะทยอยเสร็จไปเรื่อย ๆ กลายเป็นพูนล้นมือ ทั้งที่ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นสักนิด

อย่าเพิ่งโทษตัวเอง เพราะมันไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความขี้เกียจ แต่อาจเกิดจากความกังวล คิดไปเอง และกดดันตัวเองก็ได้ ถ้าเราลองหวนกลับไปคิดถึงความสำเร็จครั้งแรกที่เราต้องการอย่างการอยากสร้างงานเขียนให้มีประโยชน์กับผู้อ่าน การทำงานก็จะไหลลื่นขึ้นได้

 

บอกตัวเองว่าต้อง “เวลานี้” แทน “เวลาที่ใช่”

ถึงจะมีคำกล่าวที่ว่า “Put the right man with the right job.” ซึ่งหมายถึง “หาคนที่ใช่ไปทำงานที่ใช่เพื่อสร้างศักยภาพสูงสุด” แต่กับเรื่องงานของเราเอง การเลือกรอความ “ใช่” แบบ “ไว้มีอารมณ์ก่อนค่อยทำงาน” มันเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเรามัวแต่รอความใช่ ทิ้งเวลาไปเปล่า ๆ มันจะกลายเป็นตัวถ่วงทำให้งานเราพอกโดยไม่จำเป็น

ภาวะรี ๆ รอ ๆ ในสถานการณ์ไก่กับไข่อะไรต้องมาก่อนกันแบบนี้ เข้ากับสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า Catch-22 (แคช ทเวนตี้ทู) ตามหลักจิตวิทยาที่พบว่าคนส่วนใหญ่รอให้มีอารมณ์อยากเปลี่ยนเกิดขึ้นก่อน ค่อยลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง อย่างไรก็ตาม กุญแจที่ดีที่สุดที่เราจะลุกมาทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จได้เร็วที่สุดมันคือการลงมือทำ เพราะพอทำปุ๊ปพฤติกรรมเราจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน จากนั้นอารมณ์อยากกับความคิดมันจะเกิดขึ้นตามมาเอง

ลองเปลี่ยนความคิดจาก “ไว้ให้ยุ่งน้อยกว่านี้ก่อนค่อยไปทำงาน” เป็น “ถ้าทำงานนี้เสร็จเราจะยุ่งน้อยลง” รับรองว่าได้ผล

 

ทั้ง 5 วิธีที่บอก คงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่เหมาะกับคนทุกคน แต่ละคนอาจจะชอบหรือสะดวกใจจะทำตามวิธีที่ต่างกันเพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เราหวังว่าวิธีที่เลือกมาให้ปรับใช้จะสามารถเยียวยาความร้อนรนในใจและทำให้งานเสร็จไวขึ้น

อ่านจบแล้วก็…เคลียร์งานกันต่อ ไปทำงานที่เรารักกันเถอะ!

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line