Entertainment

OTAKU 101: TOKYO IDOLS วัตถุทางเพศหรือสิ่งเยียวยา ไอดอลคือใครในสังคมบิดเบี้ยว?

By: PERLE March 4, 2019

จากที่เคยเป็นเหมือนวัฒนธรรมไกลตัว แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่า ‘ไอดอล’ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างสมบูรณ์แล้ว แน่นอนว่าเมื่อมีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบเป็นธรรมดา แต่ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรเราก็อยากให้ทุกคนรู้จักกับวัฒนธรรมนี้จริง ๆ เสียก่อน

ภาพยนตร์สารคดีที่เราหยิบมาพูดถึงในวันนี้อาจจะมีคำตอบให้ใครหลายคนได้ว่าไอดอลคือใคร? พวกเธอมีบทบาทหน้าที่อย่างไร? หรือแท้จริงแล้วพวกเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศที่อุ้มชูวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เท่านั้น?

Tokyo Idols และเรื่องราวของริโอะ

JUICEOnline

Tokyo Idols เลือกที่จะเล่าเรื่องราวของ ‘ริโอะ’ ไอดอลสาวใต้ดินวัย 19 ที่ถึงแม้ว่าเธอจะยังไม่โด่งดังมากนักแต่ก็มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นพอสมควร แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่านี่คือสารคดีตามติดชีวิตไอดอล เพราะถึงแม้ตัวหนังจะโฟกัสที่ตัวริโอะเป็นหลัก ถ่ายทอดให้ผู้ชมได้เห็นภาพว่าเธอทุ่มเทกับอาชีพนี้ขนาดไหน ถึงขนาดปั่นจักรยานไปทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อพบปะแฟนคลับ แต่ก็มีอีกหลายมุมมองจากหลายฝ่ายที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของไอดอลเด็ก, ไอดอลระดับชาติอย่าง AKB48, ความคิดเห็นของนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์, หรือแม้กระทั่งเหล่าโอตะที่ทุ่มเททุกอย่างเพื่อคนที่เขารัก

ตัวหนังพยายามจะตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมไอดอลตลอดเวลา ทั้งในแง่ความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมเรื่องเพศ, ความเกี่ยวข้องกันระหว่างไอดอลกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่, ความเหงาที่ดูเหมือนจะส่งเสริมวัฒนธรรมนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น, หรือแม้กระทั่งการวิพากษ์เหล่าโอตะว่าเป็นตัวปัญหาของสังคม ซึ่งด้วยมุมมองแบบนี้ของตัวหนัง Tokyo Idols จึงเป็นสารคดีที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะคิดเห็นเกี่ยวกับไอดอลว่าอย่างไรก็ตาม

ความรักที่บริสุทธิ์หรือแค่ความเพ้อฝันจอมปลอม?

Netflix

สำหรับบางคนความรักของโอตะที่มีต่อไอดอลอาจจะดูเพ้อฝันหรืออาจจะถึงขั้นน่าขยะแขยง แต่สำหรับ ‘โคจิ’ ดูเหมือนว่ามันจะมีความหมายและยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

โคจิคือหนุ่มใหญ่วัย 43 กะรัต เขาเคยมีชีวิตที่เพียบพร้อม เคยมีคนรักและถึงขั้นเกือบจะได้ลั่นระฆังวิวาห์ แต่แล้วทุกสิ่งก็ไม่เป็นไปตามที่คิด เขาจึงเลือกหันหลังให้กับความรักในชีวิตจริงและใช้เงินเก็บทั้งชีวิตเปย์ให้ริโอะ ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจติดตามเธอไปทุกที่

บ้าหรือเปล่า?

ไม่แปลกที่คนภายนอกจะมองโคจิว่าเพ้อฝัน เพราะต่อให้เปย์ยังไงริโอะก็ไม่มีทางหันมามองเขาหรอก อย่างไรก็ตามคำอธิบายของโคจิก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น เขาเล่าว่าชีวิตเขานั้นมันพังทลายลงไปแล้ว การที่ทำเช่นนี้เขาไม่ได้ต้องการอะไรไปกว่าอยากให้ริโอะประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง มีคนรัก เพราะการได้ช่วยผลักดันคนที่ตัวเองรักให้ไปถึงฝั่งฝันก็เพียงพอแล้วสำหรับชายหนุ่มอย่างเขา นอกจากนั้นเขาก็เข้าใจดีว่าริโอะรักแฟนคลับทุกคนเท่ากัน ไม่สำคัญว่าใครจะเปย์ให้เธอเท่าไร

ดูเป็นความรักบริสุทธิ์ที่ทับซ้อนกับความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมหลายประการ ซึ่งต่อให้รวบรวมความคิดเห็นจากคนทั่วโลกหรือวิเคราะห์ตามหลัก Political Correctness ก็คงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ เพราะคนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้คงมีแค่เพียงตัวริโอะกับโคจิเองเท่านั้น

จากโอตะคนหนึ่ง

Netflix

ตลอด 1 ชั่วโมง 30 นาทีในการชมสารคดีเรื่องนี้เราพยายามวางความคิดตัวเองให้เป็นกลางที่สุด เพราะเราเองก็เป็นโอตะคนหนึ่งที่ย่อมรักและหวงแหนวัฒนธรรมนี้ อย่างไรก็ตามเราเองก็รู้ดีว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของวัฒนธรรมนี้เช่นเดียวกัน เราเกลียดระบบเลือกตั้งของ 48 Group รู้ดีว่าการตัดสินคุณค่าของคน ๆ หนึ่งด้วยเงินตราเป็นอะไรที่ยากจะรับได้ แต่เราเองกลับทุ่มเงินมหาศาลเพื่อลงคะแนนโหวตให้โอชิของเรา ทุกสิ่งดูย้อนแย้งยากจะอธิบาย

เราคิดว่าการตั้งคำถามเกี่ยวกับไอดอลในแง่วัตถุทางเพศเป็นอะไรที่เข้าใจได้และเราเองก็แอบเห็นด้วยกับมัน ตลอด 2 ปีที่เราเป็นโอตะ เราผ่านการดีเบตในประเด็นนี้มามาก จนสุดท้ายก็ตกผลึกกับตัวเองได้ว่า ไม่ว่าในแง่ PC หรือ ศีลธรรมจะเป็นอย่างไร แต่ตราบใดที่มันไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เราว่าความต้องการของปัจเจกคือสิ่งที่อยู่เหนือทุกอย่าง ไอดอลคืออาชีพ ๆ หนึ่งที่ก่อนพวกเธอแต่ละคนจะตัดสินใจมาประกอบอาชีพนี้พวกเธอย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าอะไรคือราคาที่ต้องจ่าย ส่วนโอตะเองก็รู้ดีอยู่แล้วเหมือนกันว่าพวกเขาทุ่มเทไปเพื่ออะไร และจะได้อะไรกลับคืนมา เป็นการต่างตอบแทนที่สมประสงค์กันทั้ง 2 ฝ่าย

จาก Tokyo Idols ถึง Girls Don’t Cry

BNK48 Office

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดู Tokyo Idols ทำให้เรานึกถึง Girls Don’t Cry สารคดีที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของ 26 สาวแห่ง BNK48 รุ่น 1 ถึงแม้ว่าการนำเสนอจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะ Girls Don’t Cry นำเสนอแค่มุมมองตัวไอดอลเองเท่านั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหมือนกันก็คือความยากลำบากของอาชีพนี้ คงจะไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าไอดอลคืออาชีพที่โหดร้าย ทั้งริโอะและสมาชิก BNK48 ทุกคนต้องทิ้งชีวิตของตัวเองส่วนหนึ่งเพื่อไขว่คว้าความฝัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นอาชีพที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง

ในตอนที่โคจิเล่าถึงชีวิตตัวเอง รวมถึงตอนที่โอตะรุ่นลุงคนหนึ่งบอกว่าการที่เขาได้รับความรักจากสาวรุ่นลูกในงานจับมือนั้นมันมีค่าแค่ไหนกับชีวิตเงียบเหงาของเขา ฉากของ ‘เจน’ และ ‘แก้ว’ ใน Girls Don’t Cry ซึ่งพูดถึงความสำคัญของงานจับมือก็แว่บเข้ามาในหัวเราทันที ทำให้เรารู้ว่าไม่ใช่แค่ตัวโอตะเท่านั้นที่ได้รับการเติมเต็ม แต่ตัวไอดอลเองก็ได้รับการเติมเต็มและรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองเช่นกัน

สุดท้ายนี้คำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมไอดอลก็ยังคงเป็นคำถามปลายเปิดที่ไม่มีคำตอบตายตัว อย่างไรก็ตามถ้าคุณพยายามจะหาคำตอบให้กับมันหรือจะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าในแง่มุมใดก็ตาม สิ่งแรกที่คุณควรทำคือทำความรู้จักมันให้ดีเสียก่อน และสารคดีเรื่อง Tokyo Idols อาจจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะพาคุณไปสู่ข้อสรุปในใจคุณเอง

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line