World

จากการพัฒนาเพื่อเดินทางสู่ดวงจันทร์ สู่นวัตกรรมที่เราใช้งานอยู่ในชีวิตประจำวัน

By: Chaipohn August 1, 2019

แม้การลงเหยียบดวงจันทร์ของมนุษย์จะผ่านไปกว่า 50 ปีแล้ว แต่ผลพลอยได้และมรดกตกทอดจากการพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุในสมัยนั้น ก็ยังคงสามารถพบเห็นได้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนในปัจจุบัน

จากภารกิจการตั้งเป้าหมายไปสู่ดวงจันทร์ที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ยุค 60 โดยประธานาธิบดี John F. Kennedy กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์จำนวนมาก ซึ่งนับเป็นผลพลอยได้ที่หลายคนมองข้ามความใกล้ชิดระหว่างประชาชนคนธรรมดากับภารกิจนอกโลกของนักบินอวกาศ มาดูบางส่วนที่เป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีเหยียบดวงจันทร์เหล่านั้นมีอะไรบ้าง

คอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์เคยเป็นสิ่งที่มีขนาดใหญ่เท่ากับห้องๆ หนึ่ง แต่ทุกวันนี้เรากลับมีสมาร์ทโฟนใช้งานกัน ซึ่งก็มีประสิทธิภาพสูงกว่าคอมพิวเตอร์ที่ส่งมนุษย์ออกเดินทางไปดวงจันทร์หลายเท่าเลยทีเดียว

NASA ได้เซ็นสัญญากับ MIT ในปีค.ศ. 1961 เพื่อให้ออกแบบและสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมา เพื่อควบคุมยาน รวมทั้งนำทางไปและกลับจากดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งไม่มีแม้แต่สเปคที่พวกเขาต้องการ เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในสมัยนั้น มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับภารกิจอพอลโล 11 และมีขนาดเล็กมากพอจะยัดเข้าไปในยานได้

คอมพิวเตอร์ AGC หรือ Apollo Guidance Computer ที่ใช้งานเป็นหลักบนยานอพอลโลนั้น ถูกแยกออกเป็นสองเครื่องด้วยกัน เครื่องหนึ่งติดตั้งไว้ในยานบังคับการ (Command Module) ส่วนอีกเครื่องอยู่ในยานลงดวงจันทร์ (Lunar Module) โดยมีขนาด RAM 2KB และ ROM เพียง 36KB เท่านั้น ซึ่งมือถือหลายๆ เครื่องบนโลกนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าถึงล้านเท่าในปัจจุบัน และคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้ที่มีวงจรรวมหรือ IC อยู่ภายใน ก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากคอมพิวเตอร์ AGC เครื่องนี้นี่เอง

 

เครื่องมือไร้สาย

เนื่องจาก NASA ไม่อยากให้นักบินอวกาศต้องคอยต่อปลั๊กไฟ และเดินบนดวงจันทร์อย่างระมัดระวังไม่ให้ไปสะดุดสายไฟจนลอยหายไปในความมืด ดังนั้นพวกเขาจึงได้ติดต่อให้บริษัท Black & Decker ช่วยพัฒนาเครื่องขุดเจาะพื้นผิวดวงจันทร์แบบไร้สายขึ้นมา เพื่อช่วยให้งานของนักบินอวกาศนั้นง่ายขึ้น

อันที่จริงทาง Black & Decker ก็ได้มีการเปิดตัวอุปกรณ์ไร้สายไปตั้งแต่ปี 1961 แล้ว แต่การมีขึ้นของโครงการอพอลโลเป็นตัวช่วยเร่งการผลิตขึ้นมาอีกที ทำให้ในปัจจุบันเราพบเห็นเครื่องมือไร้สายมากมาย ทั้งเครื่องดูดฝุ่น อุปกรณ์ช่าง พัดลม เป็นต้น

 

วัสดุกันไฟ

โครงการอพอลโลนั้นเริ่มต้นได้ไม่สวยนัก เนื่องจากภารกิจอพอลโล 1 ซึ่งควรจะเป็นภารกิจแรกที่มีมนุษย์เดินทางขึ้นไปสู่อวกาศกับยานรุ่นใหม่ ได้เกิดเพลิงไหม้ลุกภายในยาน ขณะที่กำลังทำการทดสอบและจำลองภารกิจอยู่ ซึ่งนั่นได้พรากชีวิตนักบินอวกาศทั้ง 3 คนไป

NASA ได้เร่งหาทางแก้ไขโดยด่วน เพื่อให้ทันกำหนดเส้นตาย และให้การไปดวงจันทร์ไม่จบลงด้วยความสูญเสีย ความดันภายในยานถูกปรับจากออกซิเจนแบบ 100% ให้เหลือเพียง 34% รวมไปถึงการพัฒนาวัสดุสังเคราะห์ชนิดใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้กับชุดนักบินอวกาศ รวมไปถึงวัสดุภายในยาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก

ในปัจจุบันวัสดุนั้นได้ถูกพัฒนาต่อยอดให้มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น และสามารถพบเห็นได้ในชุดของนักดับเพลิง เจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ผ้าม่านบางชนิดด้วย

 

รองเท้ากีฬา

ด้วยเทคนิคเดียวกันกับที่ NASA ใช้ในการผลิตหมวกของนักบินอวกาศ รองเท้ากีฬานั้นถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิค “Blow Rubber Nolding” ซึ่งทำให้พื้นรองเท้านั้นมีความกลวงเพิ่มขึ้น และสามารถใส่วัสดุรองรับแรงกระแทกแทรกเข้าไปได้ โดยไอเดียนี้ถูกเสนอให้กับ Nike โดย Frank Rudy อดีตวิศวกรของ NASA ซึ่งทำให้เกิดเป็นรองเท้า Nike Air ในปัจจุบันนั่นเอง

 

ถังออกซิเจนสำหรับพนักงานดับเพลิง

การไปลงดวงจันทร์ ที่ไม่มีบรรยากาศเหมือนกับบนโลก ทำให้นักบินอวกาศต้องใส่ชุดอวกาศ และมีการนำอากาศขึ้นไปเอง โดยมันอยู่ในระบบยังชีพที่เป็นเหมือนกับกระเป๋าเป้ ชื่อ PLSS ที่มีทั้งน้ำดื่ม ระบบทำความเย็น และอากาศหายใจ

ระบบแบบเดียวกันนี้ช่วยทำให้ถังออกซิเจนของนักดับเพลิงเบาลงกว่าเดิมถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว ช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้บรรดาพนักงานดับเพลิงสามารถทำงานช่วยเหลือชีวิตคนได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตตัวเองมากเกินความจำเป็นอีกต่อไป

 

แม้การลงดวงจันทร์อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัวจากเรา ทั้งในด้านกาลเวลาและระยะทาง แต่มรดกที่ยังตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ก็นับว่ามีประโยชน์มาก และยังคงถูกใช้งานอยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของพวกเรา ดังนั้นอย่าคิดว่า ​Mission ต่าง ๆ ของโลกนี้เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรา ชีวิตจะได้สิ่งอำนวยความสะดวกมากน้อยแค่ไหน ส่วนนึงก็มาจากภารกิจนอกโลกที่สำคัญเหล่านี้นี่ล่ะ

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line