

Entertainment
BEHIND THE SONGS: เมื่อ “ความตาย” บันดาลดนตรี ว่ากันด้วย 7 บทเพลงที่เกี่ยวกับการฆ่า
By: unlockmen September 21, 2019 161210
เป็นธรรมดาที่ศิลปินจะหยิบจับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มาร้อยเรียงเรื่องราว แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านเสียงดนตรีได้
พวกเราคุ้นเคยกับเพลงรัก เพลงอกหัก เพลงปลุกใจ หากก้าวขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ คุณอาจจะเคยได้ยินเพลงเสียดสีสังคม เสียดสีการเมือง เพลงปลุกใจ หรือแม้กระทั่งเพลงเกี่ยวกับศาสนา แต่รู้หรือไม่ว่าบนโลกนี้การ “ฆ่า” และการ “ฆาตกรรม” ก็จัดเป็นหัวข้ออันดับต้น ๆ ที่เหล่าศิลปินมักนำไปเป็นแรงบันดาลใจในผลงานเช่นกัน ลองคิดเล่น ๆ ดูว่า ทั้งชีวิตที่ผ่านมา เราดูหนังที่มีฉากฆ่า อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับความตายไปแล้วกี่เรื่อง? เพลงก็เช่นกัน…
วันนี้ UNLOCKMEN จะหยิบยกบทเพลงที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับความตายโดยเจตนาเหล่านี้มาเล่าให้คอเพลงทุกคนฟัง โดยไม่มีเจตนาผลักดันให้คุณลุกขึ้นไปทำอะไรผิดกฎหมายหรือไร้มนุษยธรรม เพียงแต่เป็นการเล่าสู่กันฟังว่าบรรดาศิลปินเหล่านี้ สามารถแปรเปลี่ยนความโหดร้าย ให้กลายเป็น ‘ศิลปะ’ ได้อย่างไร อีกทั้งยังเป็นการตีแผ่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเพลงที่คุณอาจเคยฟัง แต่ไม่เคยรู้ความหมายก็เพียงเท่านั้น ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันว่ามีเพลงอะไรบ้าง
เพลงดังของวงดัง ตั้งแต่ปี 2007 บทเพลงว่าด้วยเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ที่จับได้ว่าถูกแฟนสาวนอกใจ หลายคนที่ถูกคนรักหักหลังฟังแล้วอาจจะรู้สึกอินจนแชร์ลงโซเชียลเพื่อสื่อความหมายระบายอารมณ์ แต่! ตรงช่วงท้าย ๆ ของเพลงนี้มันมีท่อนที่ร้องว่า “Six Foot Tall Came without a warning, So I had to shoot him dead He won’t come around here anymore” (ชายสูงหกฟุตตรงดิ่งมาหาผม ผมเลยยิงเขาให้ตาย จะได้ไม่โผล่หน้ามาแถวนี้อีก) ฉะนั้นจะหยิบเพลงนี้มาแชร์หรือส่งให้แฟนเก่าเมื่อไหร่ก็อย่าลืมฉุกคิดนะครับ จากผู้ชายเศร้า ๆ จะกลายเป็นผู้ชายโหดร้ายไม่รู้ตัว
Tent Cent Pistol เป็นเพลงบลูส์ร็อกจากสองหนุ่ม The Black Keys ที่มีกลิ่นอายวินเทจสุดเท่ แต่หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าท่อน “She hit them with her ten cent pistol” นี่มันหมายความว่าอะไร?
‘Ten Cent Pistol’ เป็นคำสแลงที่เอาไว้เรียกยาเสพติดอาบยาพิษ ที่พวกค้ายามักทำขึ้นมาเพื่อแก้แค้นใครสักคน โดยส่วนมากจะใช้กับสารเสพติดประเภทเฮโรอีน แต่ Dan Auerbach ฟรอนต์แมนของวงได้อธิบายว่า เขาเอาคำนี้มาอุปมาเป็นอะไรสักอย่างที่ชั่วร้ายและสามารถทำร้ายคนได้ เช่น ระเบิดทำมือ (บางคนก็บอกว่าน้ำกรด) เพราะว่าผู้หญิงในเพลงนี้ถูกสามีหักหลัง เธอจึงต้องการฆ่าชายชั่วและชู้รักด้วย “การฆ่าราคาถูก” คือไม่แม้แต่จะให้ค่ากับความตายนี้นั่นเอง โหดมาก!
รู้หรือไม่ว่าเพลงยุค 50-60 ที่เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมแบบนี้ มีคำชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘Murder Ballad’ และเพลงดังปี 1968 อย่าง Delilah ของ Tom Jones ก็เป็นอีกหนึ่งเพลงฮิตแนวนี้ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการหยิบยกมาพูดถึง
เพลงนี้เกี่ยวกับชายขี้ริษยาที่แอบสะกดรอยตามคนรักเก่าและชายคนรักใหม่ โดยเขาซุ่มรอให้ฝ่ายชายออกจากบ้านไป จากนั้นจึงเคาะประตูเรียกหญิงสาวออกมา และเมื่อหญิงสาวเปิดประตู เธอก็ทำเพียงหัวเราะใส่เขาด้วยความหยามเหยียด การกระทำเช่นนั้นทำให้เขาคลุ้มคลั่ง จึงตัดสินใจใช้มีดแทงเธอจนตาย โดยผู้แต่งเลือกจะใช้คำว่า “I felt the knife in my hand” คือ ‘รู้สึก’ ถึงมีด ไม่ใช่การถือหรือกำมีดเอาไว้ เพราะอยากจะสื่อถึงความบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นในจิตใจนั่นเอง เป็นเพลงสุดคมคายที่ทั้งไพเราะและน่าสยดสยองในคราวเดียวจริง ๆ
The Killers ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าพวกเขาคือนักฆ่า! จริง ๆ แล้วเพลงที่เราหยิบยกขึ้นมาในวันนี้ เป็นหนึ่งใน “Murder Trilogy” หรือเพลงไตรภาคเกี่ยวกับการฆาตกรรมที่มีเรื่องราวต่อกันอยู่ของพวกเขา โดยถ้าเรียงตามเนื้อเรื่อง (ไม่เรียงตามอัลบั้ม) Leave the Bourbon on the Shelf จากอัลบั้ม Sawdust จะถือเป็นฉากเปิด เมื่อชายหนุ่มเริ่มใคร่ครวญการปลิดชีวิตแฟนสาว ต่อด้วย Midnight Show ที่ถ่ายทอดความรู้สึกระหว่างฆ่า และจึงจะปิดด้วย Jenny Was A Friend Of Mine ที่ฆาตกรถูกตำรวจจับ แต่กลับปฏิเสธทุกข้อกล่าวหานั่นเอง (สองเพลงหลังอยู่ใน Hot Fuss อัลบั้มเดียวกัน)
นอกจากนั้นวงยังบอกอีกว่าเพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง Sister I’m a Poet ของ Morrissey หากอยากฟังให้ได้อารมณ์และเป็นเรื่องเป็นราว ก็อย่าลืมฟังทั้ง 3 เพลงของ The Killers ต่อกัน แล้วค่อยมาจบด้วยเพลง Morrissey เพลงนี้นะครับ
ชาร์ล แมนสันคือฆาตกรเลื่องชื่อในอเมริกา เรื่องราวของเขาถูกนำไปสร้างเป็นหนัง และถูกศิลปินยกไปเขียนในเพลงเยอะแยะมากมาย ฟังแล้วอาจจะขัดต่อศีลธรรมในใจไม่ใช่น้อย แต่ศาสดาแห่งลัทธิฆาตกรผู้นี้ ก็ทรงอิทธิพลกับวัฒนธรรมอเมริกันโดยเฉพาะ Pop Culture อย่างปฏิเสธไม่ได้ (หากคุณต้องการอ่านเรื่องราวของเขาเพิ่มเติม คลิก )
The Flaming Lips คือวงไซคีเดลิกร็อกชาวอเมริกันที่ขึ้นชื่อเรื่องความสุดโต่ง เพลง Chales Manson Blues ของพวกเขานั้น ชื่อมันก็บอกแล้วว่าเกี่ยวกับชาร์ล แมนสันแน่ ๆ หลายคนอาจรู้สึกไม่พอใจที่กล้าเอาชื่อคนอำมหิตพรรค์นี้มาแต่งเป็นเพลง แต่แท้จริงแล้วเนื้อหาในเพลงกลับไม่ได้เชิดชูฆาตกรแต่อย่างใด “Cause I’m slipping into the Charlie Manson Blues. I’m a stupid dressed Jesus son.” (พวกข้าถลำเข้าสู่บทเพลงบลูส์ของชาร์ล แมนสัน ข้าคือลูกของพระเยซูที่แต่งตัวอัปลักษณ์) หากตีความดี ๆ เนื้อเพลงนี้ค่อนไปทางเสียดสีการกระทำที่ชอบโน้มน้าวใจคนอื่นของแมนสันเสียมากกว่า เพราะแมนสันมักเปรียบเทียบตัวเองเป็นพระเยซู ชอบชักจูงเหล่าวัยรุ่นฮิปปี้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ให้เข้าร่วมเป็นสาวก แมนสันใช้ความไร้เดียงสาของวัยรุ่น ชักจูงพวกเขาให้ทำในสิ่งที่ชั่วร้าย โดยที่พวกเขาเองไม่รู้แม้กระทั่งคำว่าผิดชอบชั่วดี
Psycho Killer คือผลงานปี 1977 ที่เรียกได้ว่าขึ้นหิ้ง และเป็นที่รู้จักมากที่สุดของวง Talking Heads เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละคร Norman Bates ของภาพยนตร์เรื่อง Psycho โดยความอัจฉริยะก็คือฟรอนต์แมนอย่าง David Byrne ผู้ไม่ได้มีปัญหาอะไรทางจิตทั้งนั้น สามารถถ่ายทอด ‘มโนคติ’ และสัญชาตญาณของนักฆ่าโรคจิตผ่านบทเพลงได้อย่างเยี่ยมยอด และในพาร์ทดนตรีก็ถือว่าแปลกแตกต่างจากวงพังก์วงอื่น ๆ ของยุค ทำให้ Talking Heads ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วแบบไม่ต้องสงสัย
“Psycho killer, qu’est-ce que c’est?” คือท่อนฮุคที่แสนติดหูของเพลงนี้ ประโยค qu’est-ce que c’est? เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “นี่คืออะไร?” ถูกเขียนขึ้นโดย Tina Weymouth มือเบสสาวของวง เพราะแม่ของเธอมีเชื้อสายฝรั่งเศส
Killing Machine บทเพลงของวงเฮฟวี่เมทัลตัวพ่อ Judas Priest เนื้อเพลงก็จะว่าด้วยเรื่องราวของนักฆ่าหนุ่มที่ไม่สนอะไรทั้งนั้นนอกจากเงิน! “I got no face, no name, I’m just a killing machine I cut the population down, if you know what I mean” (ผมไร้ซึ่งใบหน้า ปราศจากนาม ผมเป็นแค่เครื่องจักรสังหาร ผมลดจำนวนประชากรลง คุณเข้าใจความหมายใช่ไหม?) นอกจากเนื้อเพลงจะโหดได้ใจแล้ว ทำนองก็ยังหนักหน่วงขึ้นสมอง จนเรารู้สึกว่าน่าเสียดายที่เกมเลือดสาดอย่าง GTA ไม่เอาเพลงนี้ไปประกอบ!
นอกจากนั้นแล้วเพลงดังอย่าง One Way Or Another ของ Blondie ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากฆาตกรต่อเนื่องอย่าง Ted Bundy และเพลง Jeremy ของ Pearl Jam ก็เกี่ยวกับการสังหารตัวเองต่อหน้าเพื่อนในชั้นเรียนของหนุ่มน้อย Jeremy คุณสามารถอ่านเรื่องราวเหล่านั้นได้ที่นี่ คลิก
จริง ๆ แล้วมันก็น่าสงสัยว่าคนเราจะเขียนเพลงเกี่ยวกับการทำร้ายคนอื่นและความตายไปเพื่ออะไร แต่หากคิดมุมกลับหรือปรับมุมมอง มีภาพยนตร์และหนังสือหลายเรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราวพวกนี้ออกมาอย่างเป็นศิลปะ สวยงาม แถมยังสร้างความบันเทิงได้ เพลงและดนตรีเองก็คงเช่นกัน และศิลปินเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จจากการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ใช่จากการเป็นฆาตกร
เราเชื่อว่าคอเพลง UNLOCKMEN ทุกท่าน ย่อมมีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง ครั้งหน้า Behind The Songs จะนำเรื่องราวเบื้องหลังบทเพลงไหนมาเล่าสู่กันฟังอีก ก็ขอให้หนุ่ม ๆ ทุกคนติดตามกันต่อไป ไว้พบกันใหม่ครับ