

Entertainment
MUSIC INSIGHT ถอดบทเรียนผ่านอัลบั้ม Daft Punk จากพังค์โง่เง่า สู่คู่หูสุดเก๋าล้ำอนาคต
By: Chaipohn February 27, 2021 196553
ช่วงเวลานี้ ในแวดวงดนตรีคงไม่มีอะไรข่าวอะไรที่ช็อควงการเท่ากับการยุติบทบาททางดนตรีของ Daft Punk คู่หู Robot Electro ที่บอกลาความยิ่งใหญ่ตลอด 28 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ยุค 90’s จวบจนปัจจุบัน
แต่ถึงแม้จะเป็นการอำลาที่แสนเศร้า แต่ผลงานที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ตัวตนของพวกเขาแล้วว่ายิ่งใหญ่ขนาดไหน และวันนี้เราจะมาสรุปว่ามีบทเรียนอะไรบ้างที่พวกเราควรยึดถือความเจ๋งของ Daft Punk เป็นแบบอย่าง
Pre – Daft Punk – Darlin’ (1992-1993)
จุดเริ่มต้นของ Daft Punk ไม่ใช่ Duo แต่เป็น Trio อาจจะแปลกและแตกต่างกับวงอื่น ๆ ไปสักหน่อย ที่ร่องรอยการเริ่มต้นของพวกเขานั้นหาได้เริ่มต้นจากดนตรีสังเคราะห์ไม่ แต่ Thomas Bangalter ได้ชักชวนเพื่อนซี้ที่เรียนมัธยมมาด้วยกันอย่าง Guy-Manuel de Homem-Christo และสมทบด้วยเพื่อนนักดนตรีอีกคนที่สมัครเข้ามาภายหลังอย่าง Laurent Brancowitz
โดย Laurent Brancowitz ได้กล่าวถึงการเจอคู่หูทางดนตรีคู่นี้ในวันแรกกับรายการวิทยุ BBC ว่า
“ผมเห็นป้ายประกาศรับนักดนตรีที่ร้านขายแผ่นเสียง ผมเลยตามไปสมัคร โดยที่ผมได้เจอกับ Guy-Manue ก่อน…คือ Guy-Manue แกมาแนวทรงไม่ค่อยแคร์ใครเท่าไหร่ ตัวผอม ๆ หัวมัน ๆ เหมือนพระเยซูต่อต้านสังคมประมาณนั้น แต่พอคุยเรื่องดนตรี เรื่องการทำเพลง Guy-Manue ก็จะสนใจมาก ๆ คือเขากระตือรือร้นที่อยากทำวงมากเกินปกติอ่ะ”
แล้วทั้ง 3 ก็ก่อตั้งวงจากความรักที่มีต่อวง The Beach Boys จนเอาชื่อเพลง Darlin’ มาตั้งเป็นชื่อวงในปี 1992 ปล่อย 2 เพลงนำร่องก่อนในเพลง Cindy So Loud และ Darlin’ ทั้ง 3 ทำดนตรีทดลองที่ไร้รูปแบบตายตัวและเสียงที่ดิบสากในแนวทาง Noise Rock โดยบทเพลงทั้ง 2 เพลง รวมอยู่ในอีพีอัลบั้มรวมศิลปินของค่าย Duophonic ที่ชื่อว่า Shimmies in Super 8
เพลงทดลองที่เต็มไปด้วยความดิบสากที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง และเล่นไม่ต่างกับพวกมือใหม่หัดหยิบเครื่องดนตรี ถูกสับเละจากนักวิจารณ์โดยเฉพาะนิตยสารดนตรีทรงอิทธิพลจากอังกฤษ Melody Maker โดยนักเขียนที่ชื่อ Dave Jennings ให้นิยามบทเพลงของ Darlin’ อย่างเจ็บแสบว่า “A Daft Punky Trash” แต่บทรีวิวอันเจ็บแสบนี้ กลับไม่ได้สะทกสะท้านกระทบกระเทือนความรู้สึกของ 3 หนุ่มเลยสักนิด ตรงกันข้ามมันกลับรู้สึกขำด้วยซ้ำ
แม้บทเพลงของพวกเขาจะไม่ถูกจริตนักวิจารณ์ และมันไม่ได้พังค์อย่างที่นักวิจารณ์ท่านนั้นดูแคลนไว้ แต่ Darlin’ ก็นับได้ว่าเป็นวงที่มาก่อนกาลในยุคสมัยที่ Lo-Fi ยังเป็นกระแสรอง บทเพลงที่ซ้อนทับด้วยเสียงอันอื้ออึงของพวกเขากลับกล้าหาญที่จะแหวกธารแห่งดนตรี Alternative ที่เป็นกระแสใหม่ในยุคนั้นที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
และแม้วงจะอายุสั้นหลังออกอีก 2 เพลงที่ไร้ชื่อในอัลบั้มรวมศิลปิน De la viande pour le Disco ทั้ง 3 ยุติบทบาทของวงในปีต่อมาเนื่องจากความชอบทางดนตรีเริ่มสวนทางกัน โดย Laurent Brancowitz ไปตั้งวงใหม่ที่กลายเป็นตำนานอีกหน้าของแนว Indie Pop / French Pop อย่าง Phoenix ส่วน Thomas Bangalter และ Guy-Manuel de Homem-Christo ก็ฉีกไปทำเพลงอีกแนวในชื่อที่เอามาจากนักวิจารณ์ปากเสียคนนั้นว่า “Daft Punk” ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
แม้ความชอบในดนตรีที่แตกต่างจะนำพาทั้ง 2 วงออกห่างกันไปเรื่อย ๆ แต่ทั้งคู่ก็ได้มาบรรจบกันอีกครั้งเมื่อ Daft Punk ไปเป็นแขกรับเชิญในช่วง Encore ให้กับ Phoenix ในคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นที่ Madison Square Garden ในช่วงเดือนตุลาคมปี 2010 และเล่นเพลง Harder Better Faster Stronger – Around The World และ 1901 ร่วมกัน นับเป็นซีนประทับใจที่แสดงให้เห็นมิตรภาพอันยาวนานของทั้ง 3 ได้เป็นอย่างดี
ย้อนกลับไปชมช่วงเวลาประทับใจนี้
Homework (1997)
หลังจากแตกกระสานซ่านเซ็นไปแล้ว Thomas Bangalter และ Guy-Manuel de Homem-Christo ก็หมกตัวอยู่กับในบ้านและทำเพลงผ่านคอมพิวเตอร์ในห้องนอนของ Thomas เพื่อทดลองและหาแนวทางใหม่ของตน จนค้นพบคลังแผ่นเสียง Disco – Funk จากพ่อของ Thomas ที่เป็นโปรดิวเซอร์มือฉมังแห่งยุค 70’s บวกกับช่วงเวลานั้นที่ซีนดนตรีสังเคราะห์กำลังมาหลังจากกระแสวัฒนธรรม Britpop กำลังถดถอย
พวกเขาค่อย ๆ สร้างชื่อจาก Gig เล็ก ๆ ของคลับอันเดอร์กราวด์ในฝรั่งเศส สะสมประสบการณ์ไปเรื่อย จนค่อย ๆ มีคนกล่าวถึงในวงกว้าง กับการสร้างบรรยากาศทางดนตรีที่โลดโผนโจนทะยานของพวกเขา และเริ่มได้รับการกล่าวถึงแบบปากจนถึงขนาดสื่อมวลชนได้จีบพวกเขาได้ขึ้นปกนิตยสารเกี่ยวกับ DJ ทั้ง ๆ ที่พึ่งจะปล่อยซิงเกิ้ลเพียงไม่กี่เพลง แม้ชื่อเสียงจะค่อยๆมา แต่พวกเขากลับไม่ชอบความรู้สึกถึงความเจ๋งของการเป็นคนดังเอาเสียเลย
“เราไม่ชอบถูกถ่ายภาพ เพราะเราไม่เชื่อในระบบร็อคสตาร์ที่มันพรากอิสระไปจากเรา”
หลังจากขึ้นหน้าปกเพียงไม่กี่เล่ม พวกเขาก็เลือกที่จะปิดบังอำพรางตัวเองภายใต้หน้ากาก การทาหน้า หรือสวมใส่สิ่งใด ๆ ก็ตามเพื่อไม่ให้คนรับรู้และสนใจในตัวตนของเขา บางโชว์เขาก็สวมถุงขยะมาเล่น บางโชว์เขาก็หยิบหน้ากากฮัลโลวีนมาใส่
“พวกเราไม่ใช่ดารา ไม่ใช่นายแบบ เราอยากให้คนมาดูเอ็นจอยกับบทเพลงเราให้มากที่สุดแค่นั้น”
ขณะเดียวกัน MV พวกเขาก็เลือกที่จะไม่ปรากฏตัวให้เห็นใบหน้าที่แท้จริง แต่ถึงแม้จะปิดบังใบหน้า แต่ก็ไม่สามารถซ่อนตัวตนจากเหล่าค่ายเพลงต่าง ๆ ที่เดินสายมาจีบและยื่นข้อเสนอให้กับพวกเขามากมาย จนสุดท้ายพวกเขาก็เลือกทำกับค่าย Virgin Records ค่ายใหญ่ที่มีศิลปินในมืออยู่มากมาย แต่ที่เขาเลือกค่ายนี้ไม่ใช่เพราะเป็นค่ายใหญ่ แต่เป็นค่ายที่ให้อิสระกับการทำงานกับพวกเขามากกว่า
“เพื่อการทำงานที่อิสระ และง่ายต่อการควบคุม เราจึงเริ่มต้นจากการหาทุน และทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวของเราเอง เพื่อความคิดและไอเดียจะไม่ถูกวางกรอบจากค่ายมากเกินไป”
Daft Punk ทำงานภายใต้ค่ายของตัวเองนั่นก็คือ Daft Trax โดยให้ Virgin ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น แม้จะแลดูหยิ่งผยองสำหรับศิลปินหน้าใหม่ แต่แนวความคิดของเขาทั้งสองกลับดีในระยะยาว เมื่ออัลบั้มชุดแรกของเขาได้ปรากฏออกมา และดังเป็นพลุในฐานะศิลปินหน้าใหม่ที่น่าจับตา
Homework ได้รับการปล่อยเป็นอัลบั้มเดบิวท์ของคู่หูที่ทำดนตรีได้แปลกและแหวกแนวในยุคนั้น จากอิทธิพลของการผสมผสานดนตรีรุ่นพ่อรุ่นแม่ เข้ากันกับดนตรีสมัยใหม่ของปี 1997 ที่ซีนดนตรีในยุคนั้นกระแส Electronica และ Big Beat จากวงรุ่นพี่อย่าง The Chemical Brothers / The Prodigy และ Fatboy Slim กำลังผลิดอกออกผลเบ่งบานเต็มที่
การมีวงรุ่นน้องแต่เครื่องแน่นอย่าง Daft Punk เข้ามาช่วยเติมเต็มดนตรีแนวนี้ทำให้มันกลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าจะเป็นซิงเกิ้ลอย่าง Da Funk, Around the World, Burnin’ และ Revolution 909 บวกกับภาพลักษณ์ที่แปลกใหม่ในการปกปิดใบหน้า ทำให้ Daft Punk กลายเป็นคู่หูดนตรีลึกลับ / อาร์ติสต์ แต่มีแนวคิดและการนำเสนอที่น่าสนใจ จนทำให้อัลบั้ม Homework กลายเป็นความหวังอันสดใสของดนตรียุคใหม่ และยอดขายที่แม้จะไม่มากมาย แต่ด้วยต้นทุนการทำงานเพียง 0 เหรียญ เพราะทั้ง 2 คนลงมือทำกันเองหมดตั้งแต่วางโปรแกรมดนตรีไปจนถึงโปรดิวส์งานเอง ก็ทำให้พวกเขาได้รับทรัพย์ไปเน้น ๆ ผ่านค่ายของเขาเอง และมีทรัพย์สมบัติผ่านบทเพลงมากพอที่จะเลี้ยงเขาไปได้ตลอดชีวิต
Discovery [2001]
จากความสำเร็จที่เหนือความคาดหมายของอัลบั้มแรก Homework ก็ได้เสริมสร้างความมั่นใจให้กับ Daft Punk อย่างมากในการที่จะเสนอผลงานชิ้นต่อไปที่มีความลุ่มลึกในแบบที่เขาใฝ่ฝัน
เพราะนอกจากพวกเขารักในเสียงดนตรีอย่างเข้าเส้นแล้ว อีกสิ่งที่เขารักมากคือการอ่านมังงะและดูอนิเมะในวัยเด็ก มันจึงเป็นที่มาของการบูชาสิ่งที่เขารักด้วยความหอมหวาน, สวยงาม และเต็มไปด้วยมนต์ขลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นในอนิเมะยุคที่คาบเกี่ยวระหว่าง 70s-80s ทั้งสิ้น
พวกเขาจึงนั่งไล่หาอนิเมะในดวงใจจนพบความเชื่อมโยงว่า Captain Harlock เป็นอนิเมะที่โคตรคูล เขาจึงเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อทำการติดต่อกับอาจารย์ Leiji Matsumoto ที่เขียนมังงะและสร้างอนิเมะเรื่องนี้ จนนำไปสู่การทำมิวสิควีดีโอหลายตอนจบ และใช้บทเพลงอัลบั้มล่าสุดของ Daft Punk เป็นซาวด์แทรคประกอบ เป็นที่มาของอัลบั้มชุดใหม่ ที่มีกลิ่นอายของดนตรี Electro Disco อันชัดเจน ผ่านวงดนตรีจากต่างดาวในอนิเมะหลายตอนจบที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของหนังไซไฟในยุค Old School พร้อมบทเพลงที่ตลบอบอวลไปด้วยความคิดถึงซาวด์อันแสนระยิบระยับในช่วงเวลาที่ดนตรี Disco ครองเมือง
“จากอัลบั้ม Homework เราอยากทำงาน Electronic ในฐานะชาวร็อค เพื่อที่จะบอกว่า “โอ้วววว เพลงอิเลคทรอนิคมันโคตรคูล” มาอัลบั้มนี้เราจึงอยากทำงานที่สวนกลับไปบ้าง โดยการทำงานผ่านมุมมองของคนอีเลคโทร เพื่อบูชาความร็อคให้โลกได้รับรู้…มันจึงมีความแตกต่างจากอัลบั้มชุดก่อนที่ดิบกร้านและขี้เล่น แต่อัลบั้มนี้ สวยงาม ตราตรึง แต่โคตรทะเยอทะยาน”
ในขณะที่พวกเขาซุ่มทำดนตรีที่มีความแตกต่างจากอัลบั้มชุดแรก โดยเฉพาะการอัดเสียงจากเครื่องดนตรีสด ๆ ก่อนที่จะนำมาแปรรูปในกระบวนการมิกซ์ทีหลัง ซึ่งพวกเขารับหน้าที่ทำด้วยกันทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ค้นพบอัตลักษณ์สำคัญที่จะทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียเวลาในการคิดหาหน้ากากที่ไม่ซ้ำกันมาสวมใส่ โดยการดัดแปลงหมวกกันน็อคเพื่อเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นหุ่นยนต์ โดยวันที่ 9 เดือน 9 ปี 1999 เขาได้ส่งข่าวให้กับเหล่าสื่อมวลชนพร้อมแนบรูปโดยมีเนื้อความที่พูดถึงว่า “เกิดอุบัติเหตุเมื่อคลังเสียงของเขาเกิดระเบิด จนพวกเขาต้องได้รับการผ่าตัดใหม่ และเมื่อพวกเขาฟื้นจากการหลับไหลพวกเขาก็กลายร่างเป็นหุ่นยนต์”
แต่กว่าอัลบั้มชุดที่ 2 จะแล้วเสร็จก็ทิ้งช่วงห่างจากอัลบั้มแรกยาวนานถึง 4 ปี ปัญหาของความล่าช้านั้นไม่ได้เกิดจากเพลงแต่มาจากการทำอนิเมะอันยาวนานมากกว่า จนบทเพลง One More Time ได้เป็นซิงเกิ้ลประเดิมอัลบั้มชุดที่ 2 แฟนเพลงต่างก็ตกใจในซาวด์อันสุดจะ Disco แต่ผสมผสานจนร่วมสมัย ซึ่งอัลบั้มนี้ค่อย ๆ ปล่อยซิงเกิ้ลที่เล่าเรื่องราวจนจบสมบูรณ์ในอีก 2 ปีต่อมาในซิงเกิ้ลสุดท้าย นั่นก็คือ Something About Us ก่อนที่วงจะปล่อยผลงานอนิเมะขนาดยาวในชื่อ Interstella 5555: The 5tory of the 5ecret 5tar 5ystem เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ โดยมีการเอาไปลงแผ่น DVD ในเวลาต่อมา
นับเป็นการค้นพบตัวตนที่ทำให้ภาพลักษณ์หุ่นยนต์เล่นดนตรีของ Daft Punk กลายเป็นอัตลักษณ์อันคุ้นตา และทำลายอาถรรพ์ที่ว่ากันว่าอัลบั้มชุดที่ 2 มักจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะปล่อยของจากอัลบั้มแรกจนเกลี้ยงแล้ว แต่ Daft Punk คือ 1 ในวงที่ทำอัลบั้มชุดที่ 2 ได้เปรี้ยงและเปรี้ยวกว่าชุดแรก และมันก็ได้กลายเป็นอัลบั้มในดวงใจของใครหลายๆคนนับแต่นั้นเป็นต้นมา
Human After All (2005)
หลังจากอัลบั้มชุดที่ 2 ส่องสว่างกลางใจนักฟังเพลงจนเกิดเป็นความคาดหวังว่าอัลบั้มชุดต่อไปของพวกเขานั้นจะออกมาในรุปแบบไหน จะมีเพลงรักหวานซึ้งแบบ Digital Love หรือไม่ หรือจะมีบีทที่สะใจอย่าง Harder, Better, Faster, Stronger หรือเปล่า
แต่แล้วอัลบั้มชุดที่ 3 ก็ทำลายความคาดหวังจนหมดสิ้น เมื่อพวกเขาประกาศว่า “อัลบั้มชุดที่ 3 จะดาร์กและอาร์ตกว่าทุกอัลบั้มที่ผ่านมา”
หลังจากที่ Discovery ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการดนตรีสังเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับดนตรี Pop อีกขั้น รวมไปถึงตัวตนและอัตลักษณ์ของพวกเขาที่หาจนเจอ แต่สำนวนที่ว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” นั้นอาจจะใช้ไม่ได้สำหรับ Daft Punk พวกเขาทิ้งช่วงให้แฟนๆรอคอยถึง 4 ปีเต็มเช่นเคย จะมีก็ออกอัลบั้มแสดงสด Alive 1997 (2001) และอัลบั้ม Remix (2003) ไว้แก้คิดถึงเท่านั้น
จนปี 2005 ในที่สุดพวกเขาก็กลับมา แต่มันไม่ใช่อัลบั้ม Discovery Part 2 ในแบบที่หลายคนคาดหวัง แต่มันกลับเป็นนิยาย 1984 ในแบบฉบับ Minimal Electro Rock
“2 อัลบั้มแรกมันรู้สึกดีมากนะที่คนฟังได้เต้นได้สนุกไปกับพวกเรา มันเซอร์ไพรส์มาก ๆ สำหรับเรา แต่เราอยากเสนอเทคโนโลยีอีกด้านที่ดำมืดแต่อยากให้ตระหนักถึงความน่ากลัวของมัน”
Thomas Bangalter กล่าวกับนิตยสาร Anthem สะท้อนภาพความหวาดกลัวดิบดาร์คที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับเทคโนโลยี ที่นับวันจะเข้ามามีบทบาทและกลืนกินมนุษย์เข้าไปทุกที ยิ่งด้วยภาพลักษณ์ที่พวกเขาเป็นหุ่นยนต์ พวกเขาจึงไม่ต่างกับไซบอร์ค T-800 มาย้ำเตือนการล่มสลายของมวลมนุษยชาติในหนัง Terminator ซึ่งสวนทางกับภาพอันสวยงามและสดใสในแบบที่ 2 อัลบั้มก่อนหน้าเคยเป็น
พวกเขาทำเพลงให้ดิบ เคร่งขรึม และเป็นผู้ใหญ่ขึ้น โดยกลับไปหาตัวตนในอัลบั้มชุดแรก ด้วยการจมจ่อทำกับมัน 10 วันเต็ม ใช้ทรัพยากรและบุคลากรในการทำงานให้น้อยที่สุด
แต่เมื่ออัลบั้ม Human After All ปล่อยออกมา กลับสร้างความผิดหวังให้กับผู้ฟังอย่างมาก ด้วยซาวด์ที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ฟัง การเปลี่ยนจากลูกกวาดเป็นยาขม และแทบไม่มีเพลงพ็อพติดหูให้คนฟังได้ร้องตามหรือให้ดีเจเปิดได้เลย
ถึงแม้ผลลัพธ์สุดท้ายจะกลายเป็นความล้มเหลว แต่พวกเขากลับไม่มองว่า Human After All คือความผิดพลาด ตรงกันข้ามมันคือความตั้งใจที่เขาจะเสนอมิติอันหลากหลายของตัวตนผ่านผลงานที่ไม่อยากให้ใครมาคาดหวังว่าวันนี้เขาจะต้องสดใส หรือวันไหนที่เขาจะต้องสุขุม และหากถอดรหัสอัลบั้มนี้ให้ดี ๆ ก็พบว่ามันไม่ได้เลวร้ายแบบที่ใครเขาปรามาสไว้ เพราะเพลงในอัลบั้มมันก็ค่อย ๆ ทำหน้าที่ซึมซับในหมู่ผู้ฟัง
ขณะเดียวกัน หากเขาอยู่ในค่ายที่อัลบั้มเปิดตัวมาไม่ดี การถูกตัดจบ หั่นงบโปรโมท ก็เป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมดนตรียุคปัจจุบัน แต่ Daft Punk ยังเดินหน้าปล่อยซิงเกิลนวดคนฟังไปเรื่อย ๆ จนข้ามมาปี 2006 เขาก็จัดการประกาศสิ่งที่พวกเขาไม่คิดอยากจะทำ นั่นก็คือ การทัวร์คอนเสิร์ต ที่แม้กระทั่งอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่าง Discovery ก็ยังไม่ได้รับสิทธิ์นั้น
Daft Punk ตัดสินใจเดินสายทัวร์ทั่วโลกในชื่อ Alive 2006/2007 โดยปักหมุดเริ่มต้นกับเทศกาลดนตรี Coachella ซึ่งการทัวร์ครั้งนี้เขาได้นำบทเพลงของแต่ละยุคมาเชื่อมต่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน บนเวทีที่อลังการล้ำอนาคต กลายร่างเป็นโชว์ที่ตราตรึงใจ ซึ่งผู้ที่ได้รับชมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันคือประสบการณ์ที่ประทับใจไม่รู้ลืม”
หลายเพลงในอัลบั้ม Human After All ถูกรวมอยู่ในโชว์นี้ด้วยเพื่อที่จะบอกว่า บทเพลงดิบดาร์กเหล่านี้เมื่อมันรวมอยู่ในเพลงที่พ็อพติดอันดับ มันก็สามารถรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างไม่ขัดเขินนะโว้ย
Random Access Memories (2013)
Daft Punk ไม่ใช่วงดนตรีที่หมกตัวอยู่แค่ในคอมพิวเตอร์เท่านั้น พวกเขาพยายามอย่างมากที่จะค้นคว้าหาแรงบันดาลใจมาประกอบให้เป็นบทเพลงอันยิ่งใหญ่ และงานมาสเตอร์พีซที่ได้ทั้งเงินและกล่องในแบบเต็มแมกซ์ก็เกิดขึ้นในอัลบั้มชุดที่ 4 ที่ไม่เพียงจะเรียกศรัทธาจากแฟนเก่าที่เคยผิดหวังจากอัลบั้มชุดก่อนให้กลับมารักพวกเขาอย่างหมดใจ แต่ยังเปิดประตูต้อนรับแฟนใหม่ ๆ ให้ทำความรู้จักกับพวกเขาในแบบกระหึ่มโลกอีกด้วย
ภายหลังจากเสร็จสิ้นทัวร์คอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่ Alive 2006/2007 Daft Punk ก็ได้ลองอะไรใหม่ ๆ บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการไปช่วย Kanye West ทำเพลง Stronger (2007) ที่กลายเป็นการบรรจบพบกันของถนนสาย Hip Hop กับ Electro ได้อย่างสง่างาม จนได้ขึ้นไปโชว์บนเวทีงานประกาศรางวัล Grammy Awards ครั้งที่ 50 ในปี 2008
นอกจากนั้นเขายังได้รับการติดต่อให้ไปทำดนตรีประกอบให้หนังภาคต่อไซไฟสุด Cult อย่าง TRON: Legacy ที่เป็นการผสมผสานเครื่องดนตรีออร์เคสตร้าจำนวน 85 ชิ้น กับดนตรีสังเคราะห์จากพวกเขาได้อย่างยิ่งใหญ่อีกด้วย
Daft Punk ในยุคนี้ไม่ใช่เด็กหนุ่มที่วัน ๆ หมกตัวอยู่แต่ในห้องและทำเพลงกันแค่ 2 คนแล้ว พวกเขายังพร้อมเดินหน้าเพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง จนได้พบกับเหล่านักดนตรีมือฉมังทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ในตำนาน จนถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะเดินหน้าสร้างผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นต่อไป
จากงานดนตรีเสมือนจริงในอัลบั้มแรกที่ใช้งบประมาณเพียง 0 เหรียญ พวกเขาเลือกที่จะใช้ห้องอัดระดับพรีเมียม ระดมทุนและกำลังจากบุคลากรทางดนตรีมากมาย เพื่อหวนรำลึกถึงการทำงานในระดับ Epic แห่งยุคสมัยที่เรืองรองทางดนตรีในอดีต และ Random Access Memories ก็ได้สร้างปรัชญาของการทำงานเพื่อพิสูจน์ว่าการลงทุนอันยิ่งใหญ่ ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ใหญ่ยิ่งตามมาเช่นกัน
และในที่สุด การเชื่อมโยงระหว่างเพลง Disco Funk ที่เปี่ยมด้วยมนตร์ขลัง กับซาว์ดนตรีร่วมสมัยก็จับมือคล้องแขนเดินด้วยกันอย่างสุขสม ด้วยซิงเกิ้ลเปิดตัวอย่าง “Get Lucky” ที่เชิญมือกีตาร์ดิสโก้ในตำนานอย่าง Nile Rogers มาเจอกับรุ่นหลานอย่าง Pharrell Williams มาร่วมบนเวทีเดียวกัน เพียงแค่เพลงเปิดตัวเพลงนั้นเพลงเดียว ก็ทำให้ Daft Punk กลับมาเป็นที่สนใจของคอเพลงทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นคอเพลงยุค 70s หรือ 2010s ต่างก็พากันทึ่งในการปัดฝุ่นความเรืองรองของดนตรีในอดีตให้กลับคืนมาได้อย่างสง่างามและสมศักดิ์ศรี
ไม่ใช่เพียงแค่ศิลปิน 2 ท่านนี้เท่านั้น แต่ Daft Punk ยังเชิญแขกรับเชิญมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็น Giorgio Moroder มือสกอร์แห่งตำนาน / Julian Casablancas ฟรอนท์แมนแห่งวง The Strokes รวมไปถึง Panda Bear และศิลปินอีกคับคั่งมาร่วมกันสร้างหลักฐานทางดนตรีร่วมสมัยให้กลายเป็นงานศิลปะอันล้ำค่าไม่ต่างกับเพชรนิลจินดาที่ส่องประกายวาบวับ
Random Access Memories กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซที่ดังที่สุดด้วยยอดขายระดับหลาย Platinum เลอค่าที่สุดด้วยรางวัลที่กวาดในสถาบันต่าง ๆ และสร้างมาตรฐานบทใหม่ให้กับซีนดนตรี Synthesizer ให้กลับมาเรืองรองได้อีกครั้ง
หลังจากนั้น Daft Punk ก็เก็บตัวเงียบอีกครั้ง จนในปี 2016 เขาก็ได้ไปร่วมกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ The Weeknd ร่วมทำเพลงอีกครั้งในเพลง Starboy และ I Feel It Coming ก่อนจะเงียบหายไปอีกครั้ง จนได้พบข่าวเศร้าผ่านคลิป Epilogue ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2021 เมื่อพวกเขาได้อำลาเพื่อยุติบทบาทการเป็น Robot แห่งโลก Electro อย่างเป็นทางการ
การเปลี่ยนแปลงตัวเอง / โฟกัสการทำงานอย่างบ้าคลั่ง / ทดลองและเปลี่ยนแปลงผลงาน / ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเก่าๆ / เรียนรู้ที่จะสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้โลกได้จดจำ และทำงานได้ทั้งในงบประมาณอันจำกัดหรือจะงบที่มหาศาล จนเกิดเป็นบทเพลงระดับมหากาพย์ของพวกเขา การทำงานด้วยความทะเยอทะยาน ยังเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่ทำให้ Daft Punk กลายเป็นตำนานแห่งยุคสมัยที่น่ายกย่องอีกด้วย