Survival

“เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้เพื่อน” รู้จัก Self-Serving Bias นิสัยที่ทำลายการทำงานเป็นทีม

By: unlockmen May 19, 2021

เวลาใช้ชีวิตหรือทำงานร่วมกับคนอื่น สิ่งที่เราควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ Self-Serving bias เพราะมันจะทำลายความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นได้ และจะส่งผลเสียต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต Unlockmen เลยอยากมาแนะนำวิธีการพิชิต Self-Serving bias เพื่อให้ทุกคนสามารถยอมรับความผิดพลาดได้มากขึ้น และใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข

อะไรคือ Self-Serving bias ?

Self-Serving bias คือ ปรากฎการณ์ที่เราพยายามเคลมผลงานที่ดีว่าเป็นเพราะฝีมือหรือความสามารถของตัวเอง แต่กลับโทษอย่างอื่นหรือคนอื่นเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คนที่เชื่อว่าตัวเองได้รับการว่าจ้าง เพราะมีความสามารถ คุณสมบัติ หรือ ผลงานที่เหมาะสมกับการทำงาน แต่ตอนที่ไม่ได้รับเลือกกลับบอกว่า คนคัดเลือกไม่ชอบตัวเอง เป็นต้น

ปรากฎการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามในการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของตัวเอง (self-enhancement) ความพยายามในการรักษาคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) มันอาจเป็นผลพ่วงของการมองโลกในแง่ดีมากเกินไป หรือแม้แต่ปัจจัยอย่างความแตกต่างด้านวัฒนธรรมก็มีผลต่อการเกิด Self-Serving bias ได้เช่นกัน

ปัญหาของ Self-Serving bias คือ มันอาจทำให้เรากลายเป็นคนหลงตัวเอง (narcissism) และมีปัญหาในการทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ เพราะเวลาทำงานพลาด คนที่ Self-Serving bias มักโทษคนอื่นมากกว่าโทษตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมนี้นำไปสู่ความขัดแย้งและความพังทลายของความสัมพันธ์ได้

จะเอาชนะ Self-Serving bias ได้อย่างไร ?

เมื่อเราเข้าใจว่า Self-Serving bias ส่งผลเสียต่อเราอย่างไรบ้าง เราจะมีโอกาสในการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงมันมากกว่าคนอื่น โดยทักษะหนึ่งที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนมีติดตัวไว้เพื่อใช้ต่อสู้กับ Self-Serving bias คือ Self-compassion หรือความเมตตาต่อตัวเอง ทักษะนี้จะช่วยลดความกังวลใจ ทำให้เรากล้ายอมรับความผิดพลาด หรือ คำวิจารณ์ และพร้อมที่จะเรียนรู้จากมันมากขึ้น

โดย Self Compassion จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่

ความสามารถในการแสดงความใจดีต่อตัวเอง (self-kindness) โดยเฉพาะในเวลาที่เจอกับความล้มเหลว เช่น ให้อภัยตัวเองเมื่อเกิดความผิดพลาด หรือ มองว่าตัวเองมีโอกาสแก้ตัวเสมอ

ความสามารถในการเข้าใจความเป็นมนุษย์ เช่น รับรู้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเจอกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ กล่าวคือ ไม่มองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่มองว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป

สุดท้ายคือความสามารถในการรับมือกับความคิดที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ โดยไม่ด่วนตัดสินเกินไป เช่น เวลาที่เราเกิดคิดลบกับตัวเอง เราสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้จม ตั้งสติ และกลับมาคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลได้

เมื่อเราสามารถพัฒนา Self-compassion ได้แล้ว โอกาสที่เราจะเป็นคนเห็นแก่ตัวก็มีน้อยลง เพราะเราจะไม่รู้สึกแย่ เมื่อเราเป็นฝ่ายผิด และสามารถเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าการโทษคนอื่นได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างความสัมพันธ์ฺกับเพื่อนร่วมงาน หรือ คนในครอบครัว และทำให้เรามีความสุขในการใช้ชีวิตยาวนานมากขึ้น


Appendix: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line