Featured

ART OF ARS: คุยกับดีไซเนอร์ไทยแบรนด์ ‘CURATED’ และ ‘{JUN}’ MENSWEAR เจ๋งในงาน BKKDW 2020

By: anonymK February 9, 2020

ใคร ๆ มักพูดกันว่าผู้ชายเรามีเสื้อผ้าในตู้กันอยู่ไม่กี่สี มีแพตเทิร์นของเสื้ออยู่ไม่กี่แบบ ส่วนใหญ่จะเน้นความมินิมัลเพื่อให้เข้าได้กับทุกสถานการณ์ เรื่องนี้เราคงต้องยอมรับว่า “ใช่” แต่จะให้เหมารวมว่าเราชอบความจำเจและอยากเพลย์เซฟคงไม่ใช่ เพราะความจริงเราละเอียดอ่อนกับเรื่องการแต่งตัวกว่านั้น เสื้อผ้าต้องแสดง attitude และความเหมาะสมกับการสวมใส่

ส่งท้ายงานดีไซน์ครั้งใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่กำลังจะสิ้นสุดลงวันนี้ เราจึงพาทุกคนไปพูดคุยกับ 2 ดีไซเนอร์ไทยจาก 2 แบรนด์ MENSWEAR ที่หลายคนอาจเห็นงานพวกเขาจริง ๆ ใน BKKDW 2020 หรือติดตามผ่านโซเชียล เพื่อให้รู้เบื้องหลังของการออกแบบชุดเท่ ๆ และสนุกสนานที่ตอบโจทย์คอนเซ็ปต์การออกแบบประจำปีนี้ คือ ปรับตัว>อยู่รอด>เติบโต : “Resilience”

“CURATED” – เอก ทองประเสริฐ

เริ่มต้นที่คอลเลกชัน COLLECTOR PROJECT x DEVANT – BANGKOK EDITION จากแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น Curated ของเอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์ไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและอยู่ในวงการมานับ 10 ปี ที่ดีไซน์เอาไว้จัดจ้าน สนุกทั้งสีสันและสุดทั้งลวดลาย มาเต็มทั้งผ้ายันต์ สร้อยคอปลัดขิก พร้อมข้อความสกรีนสุดกวนและครีเอตที่ไม่ว่าจะใช้ไอเทมไหนใส่เดินถนนก็โค่นคนเดินผ่านยับ ต้องมองกลับมาเป็นตาเดียว สร้างสีสันและความสดใหม่ให้ Menswear ในงาน Bangkok Design Week 2020

COLLECTOR PROJECT x DEVANT – BANGKOK EDITION ที่จัดขึ้นที่ Nestel ได้รับแรงบันดาลใจต่อยอดจากโปรเจกต์เดิมที่ทำอยู่คือ Collector Project เนื่องเขามีแพสชันส่วนตัวด้านการสะสมข้าวของจากสถานที่ต่าง ๆ ที่มีโอกาสเดินทางไป ไม่ว่าจะเป็นเข็มกลัด ผ้า ฯลฯ และตั้งใจจะสร้างประโยชน์จากของสะสมเหล่านั้น

“Bangkok Edition” คือส่วนหนึ่งของ Collector Project เกิดขึ้นจากข้าวของที่ได้จากพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่เขามีส่วนร่วม ณ ช่วงเวลาหนึ่งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แล้วนำมาปรับเปลี่ยนสัญญะหรือสร้างความหมายใหม่ขึ้นแบ่งเป็น 3 เซต ได้แก่ เซตยันต์ เซตผ้าไหมพิมพ์ลาย และเซต Tea Towel

“เซตยันต์ที่เราได้จากที่ช่วงนี้เราไปเรียนที่ศิลปากร เพราะฉะนั้นทุกอาทิตย์เราจะเดินผ่านตลาดพระ เราก็เห็นว่า shape สี texture มันน่าสนใจ

เซตที่ 2 ได้จากการที่เราไปเดินงาน OTOP เมื่อไม่นานมานี้ตรงงามวงศ์วาน เราไปเจอร้าน ๆ หนึ่งที่เขาขายผ้าเช็ดหน้าไหม ที่เขาบอกว่าหยุดผลิตแล้ว เราก็เลยเข้าไปซื้อตัวสต๊อกที่เขามีอยู่ เอามาตัดต่อกับผ้าที่มันเป็นผ้าเช็ดหน้าใหม่ มันมีการใช้ผ้าจากโซนย่านที่เรียกว่า “ราษฎร์บูรณะ” หรือแถววัดสน 

เซตสุดท้าย เป็นเซตที่เราไปเดินเจอผ้า Tea Towel เป็นผ้าที่ใช้สำหรับในครัวซึ่งมันก็จะพิมพ์ลายต่าง ๆ จากสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งจากไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ ฯลฯ มันน่าสนใจมาก เรานำมันตัดต่อกัน ก็เป็นอีกเซตนึง อันนั้นได้มาจากจตุจักร

ฉะนั้นแต่ละ Location มี Story ที่เราอยากเล่า เราอยากบอกเล่าว่าจริง ๆ แล้วกรุงเทพฯ มันประกอบด้วยหลายย่าน แล้วแต่ละย่านมันมีความสำคัญที่แตกต่างกัน มันมีความหมายมันมีองค์ประกอบด้านของสังคม เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ แตกต่างกันทั้งหมด

สาทรอาจจะเป็น Luxury เป็นย่านธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันคนที่ทำงานอยู่ในสาทรจริง ๆ ไม่ได้อยู่ในสาทร เขามาจากบางนา เขามาจากที่โน่นที่นี่บ้าง ฉะนั้นจริง ๆ แล้วมันคือ Story เดียวกัน มันคือ Story ต่าง ๆ ที่เราเดินทางไปในแต่ละ district เอามายำกันเพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานทั้งชิ้นขึ้นมา”

ความเชื่อกับเสื้อผ้า ศักดิ์สิทธิ์แต่สวมใส่ได้

แน่นอนว่าการออกแบบย่อมมีข้อจำกัดและสำหรับบางคน ความเชื่อที่ลงรากลึกอาจจะไม่เหมาะหรือไม่สามารถนำเสนอกับคนบางกลุ่มได้ หรือเรื่องความเป็นสากล เราจึงไม่รอช้าถามประเด็นนี้

พี่คิดว่าการเอายันต์ เสื้อผ้าหรือของขลังมาพิมพ์จะทำให้คนกลัว ไม่กล้าใส่หรือเปล่า ?

ไม่ฮะ จริง ๆ แล้วผมก็ตอนแรกยังไม่รู้ว่าควรจะเอายันต์มาทำอะไร ก่อนวิจัยเราเดิน ๆ ไปเจอว่า เฮ้ย มันมีเสื้อยันต์ เสื้อยันต์จริง ๆ คือเรา Respect ที่มีทั้งคนที่เชื่อไปเลยและคนที่ไม่เชื่อเลย เราอยู่ในสังคมที่เราต้องแคร์บริบทรอบข้างซึ่งจริง ๆ แล้วเราจะไม่ทำไอเทมที่มันอยู่ Below ท่อนล่าง พอทำเสื้อมันอยู่ได้ เพราะสมัยก่อนนักรบที่จะออกรบจริง ๆ ที่เขาใส่เสื้อยันต์ เพื่อฟันแทงไม่เข้า เพื่อความคงกระพัน อันนี้มีอยู่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำ

ดีไซน์ความเชื่อโกอินเตอร์ได้ไหม?

ดีไซเนอร์เราต้องทำความเข้าใจว่า ความจำเพาะบางอย่างมันทำออกไปได้เลเวลไหน ถ้าสังเกตป้ายที่ Hang Tag ทั้งหมด ยันต์พี่จะไม่แปลเป็นภาษาอังกฤษเลย เนื่องจากพี่คิดว่ามัน local มาก มากคือถ้ามันถูกหยิบออกจากบริบทที่มันอยู่ ถ้า audience ไม่ใช่ไทยปั๊บมันจะไม่เข้าใจทันที มันคือความ Exotic ในขณะที่บางพาร์ตที่มันเป็นผ้าไหม บางพาร์ตที่เป็น Tea towel พี่คิดว่าคนอ่านออกได้ทั่วโลก มัน General อย่าง Tea towel เนี่ยค้น Pinterest คนเข้าใจอยู่แล้วในเชิงของ sustain มันคือการเอามา reuse recycle material หรือเอามา Collage มันมีความอินเตอร์ของมัน

แต่เรื่องยันต์คนที่เข้าใจเราอาจจะเป็นกัมพูชา เขมร เนื่องจากว่าเรามี Cross Culture เชิงของไสยศาสตร์อยู่เยอะ ลาวก็มีความเป็นเพื่อนบ้าน ข้ามไปมาเลฯ ไม่เข้าใจแล้ว เพราะมุสลิมไม่ได้มีความเชื่ออะไรแบบนี้

การปรับตัว > อยู่รอด > และเติบโตในคอลเลกชันนี้สำหรับ UNLOCKMEN คล้ายกับการเดินนิทรรศการขนาดย่อม ๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจ Visual ของกรุงเทพฯ มากขึ้น กรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มีแค่นวัตกรรม ย่านผ้าที่ไม่ได้อยู่แค่พาหุรัด หรือสิ่งละอันพันละน้อยที่เล่าว่าลมหายใจของกรุงเทพมันกำลังรอการปรับตัวและฟื้นคืนอย่างไร

 

“{JUN}” – ธัญญพร จิตาภิรมย์

จากสไตล์สนุก ๆ สีสันกระแทกตากระแทกใจแล้ว มาต่อที่ Menswear สไตล์ Everyday Look อีกคอลเลกชันที่เราไม่ยอมปล่อยให้ผ่านตาไปเพราะเขาดึงเสน่ห์ของความเป็น Eastern มาใช้กับผ้าฝ้ายให้ทั้งคราฟต์และดูโมเดิร์นน่าใส่ เหมาะใช้งานทั้งลุค Formal และ Casual ลงตัวจนอยากมีไว้เป็นเจ้าของ คือ {JUN} แบรนด์ของ ธัญญพร จิตราภิรมย์ หรือจุล ดีไซเนอร์สาวชาวเชียงใหม่ที่บินตรงมาแสดงผลงานเพื่องาน Bangkok Design Week โดยเฉพาะ

ทำไมเราต้องใส่แจ็กเก็ตตัวหนา หรือสวมเชิ้ตผูกไทที่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อยทุกครั้ง?

รูปแบบ Workwear แบบตะวันตกที่เราเห็นจนชินตานี้เหมาะสมกับบริบทวัฒนธรรมของเรารึไม่?

เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะสามารถดูสุภาพ เป็นสากล และคล่องตัวได้ในชุด Workwear สไตล์เอเชีย

ข้อความอธิบายที่มาของ “Asian Workwear Collection” นี้จุดประกายการตั้งคำถามของเสื้อผ้าที่เราสวมใส่วันนี้ได้เป็นอย่างดีจนเราต้องหาโอกาสมาฟังด้วยตัวเองว่าที่มาที่ไปของคอลเลกชันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงจุดเริ่มต้นแบรนด์ที่หลายคนแปลกใจว่าทำไมเธอถึงหันมาดีไซน์ Menswear จากผ้าท้องถิ่น

Asian Workwear Collection คือคอลเลกชันชุดทำงานที่ผลิตจากผ้าฝ้ายทอมือนำมาตัดเย็บอย่างประณีต ดึงเอกลักษณ์ส่วนตัวของการออกแบบที่เน้นความเป็น Eastern สไตล์เอเชียมาใช้ เพราะในยุคที่เธอออกแบบคอลเลกชันแรกผู้คนส่วนใหญ่นิยมการสวมเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตก คอลเลกชันนี้จึงเป็นอีกคอลเลกชันต่อยอดเพื่อฟื้นชีวิตผ้าท้องถิ่นและอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่เคยเงียบเหงา ผู้คนมองผ่านให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“จุลรู้สึกว่าเสื้อผ้าในตลาดมันเยอะมากตอนนั้นที่เริ่มต้นทำเสื้อผ้าสไตล์เอเชียหาได้น้อยมาก ทุกคนทำเสื้อตะวันตก จุลเลยคิดว่างั้นเราจะทำคอลเลกชันสไตล์เอเชียออกมา อันนั้นเป็นคอลเลกชันแรก แต่ก็ไม่ได้ใช้ทั้ง 100% เรานำมาประยุกต์ปรับให้คนสามารถใส่ได้ง่าย

ส่วนคอลเลกชันนี้ที่นำมาออกแบบในงาน เราทำ Research ดูว่าผู้ชายตะวันออกในอดีตใส่เสื้อผ้า Workwear เขาใส่กันแบบไหนบ้าง แล้วเราก็เอารูปแบบนั้นมาปรับปรุง ลดทอนให้ใส่ได้ในชีวิตประจำวัน สามารถนำมาใส่เป็น Everyday Look ได้ เช่น ออกแบบคอเสื้อสไตล์ตะวันออกคอปาด เสื้อคอจีนหรือเสื้อฮั่นฝู แต่แขนเสื้อยังเป็นแขนเสื้อเชิ้ตอยู่เพื่อให้สามารถใส่ไปทำงานได้ พร้อมเพิ่มฟังก์ชันช่องต่าง ๆ สำหรับเก็บ Gadgets

วัสดุที่นำมาตัดเย็บใช้ผ้าฝ้าย ซึ่งมีข้อดีจากคุณสมบัติตามธรรมชาติของเซลลูโลส ที่ยืดและหดตัวเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไป ทำให้คนสวมใส่รู้สึกสบายทุกโอกาสและสภาพอากาศเหมาะกับบ้านเรา รวมทั้งการย้อมด้วยกรรมวิธีธรรมชาตินี้ยังช่วยให้ผู้สวมไม่แพ้หรือเกิดอาการระคายเคืองกับผิวหนังค่ะ”

ผู้หญิงที่ออกแบบแต่เสื้อผ้าผู้ชายมาตลอด อาจจะทำให้หลายคนแปลกใจว่าทำไมถึงออกแบบได้โดนใจนัก ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะการศึกษาข้อมูล ติดตามเทรนด์ พฤติกรรมและคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อออกแบบล่วงหน้า โดยนำกิมมิกต่าง ๆ มาใช้ในงานเพื่อสร้างความโมเดิร์นที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ตกขอบสนาม แต่ก็ไม่เลือกแข่งความเร็วแบบ Fast Fashion เน้นการสร้างคุณค่าและยังคงคอนเซ็ปต์ Everyday Look เพื่อการใช้งานที่ตรงกับความต้องการของตลาดในทุกชุดที่สวมใส่

“จุลขายงานกับผู้ชายมาระยะหนึ่ง จนรู้ว่าความจริงผู้ชายก็ไม่ได้อยากแต่งตัวเรียบเป็นแพตเทิร์นไปหมด ทุกคนอยากมีกิมมิกที่แตกต่างไปจากคนอื่นบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากโดดเด่นจนเยอะ ไม่ชอบการเป็นจุดสนใจแต่ก็ไม่ชอบความเป็นออฟฟิศธรรมดา ไม่ชอบเสื้อตัวเดิม ๆ ที่มีอยู่แล้วไปซื้อแบรนด์ตลาดทั่วไปได้ ”

แฟชั่นแบรนด์ใหญ่บางแบรนด์อาจเป็น Fast Fashion ราคาย่อมเยา มาเร็ว ไปเร็ว ผลิตเร็ว แต่ถ้าลองไปดูจะรู้เลยว่าวิธีการตัดเย็บของเขากับวิธีการตัดเย็บของเราต่างกัน การันตีได้เลยว่าคุณภาพของเราใส่ได้นานและทนทานกว่า ต้นทุนเราค่อนข้างสูงจากการทำงานกึ่งงานคราฟต์ทุกขั้นตอน ทั้งการใช้ผ้าทอ การย้อมสีผ้า จนถึงการเย็บ เพราะฉะนั้นจุลรู้สึกว่าเสื้อผ้าที่ทำมันก็มีคุณค่าในตัวมัน ทุกอย่างที่เราทำส่งเสริมรายได้และอาชีพให้คนในชุมชนที่เรามองว่าเป็นจุดแข็งของตัวเรา

แบรนด์ต่างประเทศเขาเป็นแบรนด์ใหญ่เวลาใส่อาจจะดูเท่ แต่ว่าในขณะเดียวกันเราต้องมองดูว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการจับจ่ายของเราคือใครด้วย”

ตลาดไทย ผ้าไทย ดีไซเนอร์ไทย ยังมีช่องว่างเหลืออยู่ไหม?

จุลมองว่าตลาดไทยหาง่ายกว่าตลาดนอก เพราะคนไทยรับรู้คุณค่าของผ้าธรรมชาติ เข้าใจกรรมวิธีกว่าจะได้มา ทำให้เข้าใจเรื่องคุณภาพและราคา ส่วนบางประเทศที่ใส่ใจเรื่องงานแฮนด์เมดอย่างไต้หวันเองก็ชื่นชอบเหมือนกันค่ะ เราต้องพยายามหากลุ่มลูกค้าของเราให้เจอ ในทุกวิกฤตมันมีโอกาส แม้จะมีส่วนแบ่งการตลาดเยอะมาก แต่ถ้าเราหาช่องทางของเราเจอ เลือกช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าได้ว่าเราจะสื่อสารอะไรไปถึงเขาให้เหมาะกับสถานการณ์และเวลา มันจะมีช่องทางการขายที่มากขึ้นตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม ถ้าเรามองอยู่นอกเวที เราก็จะมีความรู้สึกว่ามันยากลำบากหรือคิดว่าเป็นไปไม่ได้ จุลคิดว่าเราต้องลองท้าทายตัวเองดูว่าเราเต็มที่กับมันได้มากแค่ไหนไม่ว่าเรื่องอะไรถ้าเกิดเราได้ลองอย่างเต็มที่ มันจะต้องมีโอกาสเข้ามาและสามารถพัฒนาศักยภาพจากเดิมที่มีให้มันมากขึ้น แค่เริ่มต้นทำ”

 

ทั้งความเห็นและเรื่องราวจาก 2 ดีไซเนอร์ไทยคนเก่งที่ออกแบบ Menswear ต่างสไตล์แต่น่าใส่ไม่ต่างกันมาจากงาน Bangkok Design Week 2020 ที่สำคัญทั้ง 2 งานนี้ตั้งอยู่ละแวกใกล้เคียงกันด้วย!

CURATED: จัดแสดงงานที่ The Nestel ฝั่งตรงข้ามไปรษณีย์กลาง
{JUN}: จัดแสดงงานที่ Gallery โถงด้านล่างของอาคารไปรษณีย์กลาง

แนะนำให้ออกไปวันนี้ เดี๋ยวนี้ ไปดูด้วยตาตัวเอง และถ้าอยากอุดหนุนเพื่อแสดง Attitude สามารถติดต่อผู้ดูแลบริเวณนั้นได้ แล้วคุณจะได้เสื้อผ้าเท่ ๆ ไม่เหมือนใครติดไม้ติดมือกลับบ้านอย่างแน่นอน

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line