Life

ความคิดเลือนลาง – ไม่มีสมาธิ รู้จักอาการของ Brain Fog ภาวะจิตเหนื่อยล้าที่ทำให้เรารู้สึกหมดแรง

By: unlockmen January 28, 2021

เคยไหม ? ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าเหมือนยังไม่ตื่น เกิดอาการสะลึมสะลือ คิดอะไรไม่ค่อยออก แถมยังรู้สึกควบคุมตัวเองได้ไม่เต็มที่ตลอดวัน ถ้าใครกำลังเป็น อาจกำลังตกอยู่ในภาวะสมองเหนื่อยล้า (Brain Fog) ก็เป็นได้ ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นได้จากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ ทำให้เกิดผลเสียต่อการใช้ชีวิตของเรา UNLOCKMEN เลยจะมาอธิบายสาเหตุที่ทำให้เราเกิดอาการ Brain Fog และวิธีการป้องกันและบรรเทาอาการ Brain Fog ด้วย เพื่อให้คนอ่านรอดพ้นจากอาการ Brain Fog กันถ้วนหน้า


WHAT IS BRAIN FOG SYNDROME ?

Brain Fog Syndrome คือ อาการเหนื่อยล้าทางจิตใจที่สามารถเกิดขึ้นจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ โดยสารเคมีในสมองที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์เกิดอาการเสียสมดุล สมองของเราเลยทำงานได้แย่ลง และเราเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถคิด หรือ นึกอะไรไม่ค่อยออก เกิดความสับสนมึนงง ไม่สามารถโฟกัสกับชีวิตประจำวัน และพูดในสิ่งที่คิดได้ยากขึ้น

อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ผลของการขาดน้ำ ผลของความเครียด ผลของการพักผ่อนไม่เพียงพอ ผลของการขาดวิตามิน B-12 ผลข้างเคียงจากการทานยาบางชนิด รวมถึง ผลของปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น ความเครียดเรื้องรัง (CFS) ซึมเศร้า วิตกกังวล ไมเกรน เบาหวาน

อย่างไรก็ตาม Brain Fog ก็ไม่ถูกจัดว่าเป็นโรคทางการแพทย์ มันจะหมายถึงอาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติมากกว่า และข่าวดี คือ เราสามารถรักษาอาการนี้ได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่เราเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตใหม่


HOW TO DEAL WITH BRAIN FOG SYNDROME ?

ถึงเวลานอนก็ต้องนอน !

การนอนหลับให้เพียงพอสำคัญมากต่อการรักษาอาการ Brain Fog เพราะถ้าเรานอนหลับไม่เพียงพอ สมองของเราอาจทำงานได้แย่ลง และพัฒนาอาการ Brain Fog ขึ้นมาได้ งานวิจัยบอกว่า การนอนหลับไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหาด้านความจำ  ทำให้เกิดอาการเฉื่อยชา และเปลี่ยนการทำงานของสมองในระดับเซลล์ นอกจากนี้การนอนยังช่วยลดความเหนื่อยล้าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการ Brain Fog ด้วย  ดังนั้น เราเลยจำเป็นต้องนอนหลับอย่างมีคุณภาพ นอนหลับให้ได้วันละ 7 – 9 ชั่วโมง และควรงีบไม่เกิน 20 นาทีต่อวัน เพราะถ้าเรางีบนานกว่านั้น อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้


กินอาหารดี ๆ หลีกเลี่ยงอาหารแย่ ๆ !

วิธีการกินอาหารอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการ Brain Fog มีงานวิจัยพบว่าสุขภาพด้านการย่อยอาหาร กับ สุขภาพจิต มีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ ถ้าแบคทีเรียในไส้ของเราได้รับอาหารแย่ ๆ สมองของเราก็จะแย่ตามไปด้วย ดังนั้น  เราเลยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการกินอาหารกันสักหน่อย เช่น ทานอาหารที่ให้วิตามิน B-12 เพิ่มขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจทำให้เราเกิดอาการ Brain Fog อย่าง ผงชูรส (MSG) แอสปาร์แตม ถั่วลิสง และนม นอกจากนี้ เราอยากให้ทุกคนลองจดบันทึกอาการที่เกิดขึ้นหลังกินอาหารแต่ละประเภทด้วย เพื่อดูว่าอาหารประเภทไหนส่งผลให้สมองของเราทำงานแย่ลงบ้าง


ขยับตัวซะบ้าง !

การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นสารเคมีในสมองที่ช่วยให้สุขภาพของเซลล์สมองดีขึ้น ทำให้หลอดเลือดในสมองโตขึ้น และช่วยให้เซลล์สมองใหม่ ๆ อยู่รอดและมีจำนวนมากขึ้นด้วย และมันยังส่งผลดีต่อความสามารถในการคิดอีกต่างหาก ดังนั้น เราเลยควรจะหันมาออกกำลังกายกัน มันจะช่วยบรรเทาอาการ Brain Fog ได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายแบบจริงจังหนัก ๆ เช่น วิ่ง 5 ไมล์ทุกวัน การออกกำลังกายแบบง่าย ๆ และใช้เวลาไม่นานก็ได้ผลเหมือนกัน เช่น บริสค์วอล์คคิง หรือ โยคะ


ลดความเครียด !

ความเครียดเป็นอันตรายต่อสมอง เพราะมันทำให้สมองเกิดความเหนื่อยล้า และไปกระทบกับความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล รวมถึงการโฟกัสกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู และอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น ซึมเศร้า หรือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น เราเลยจำเป็นต้องลดความเครียดลง เพื่อกำจัดอาการ Brain fog โดยหนึ่งในวิธีการลดความเครียดที่ดีที่สุด คือ การทำสมาธิ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า การทำสมาธิแบบมายด์ฟูลเพียง 10 นาทีต่อวัน สามารถช่วยให้ความคิดของเราพัฒนาขึ้นได้


ทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้สมอง !

แม้การทำเรื่องไร้สาระ อาจดูเหมือนเป็นการใช้เวลาไม่เป็นประโยชน์ แต่การพักสามารถส่งผลดีต่อดีต่อสมองของเราได้เหมือนกัน งานวิจัยบอกว่า การพักจากงานที่ทำอยู่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพสมอง และช่วยให้เราโปรดักทีฟมากขึ้นด้วย ดังนั้น การใช้เวลาไปกับการดูโชว์ไร้สาระ เล่นเกม เพื่อผ่อนคลายตัวเอง จึงเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอาการ Brain fog ซึ่งมีต้นเหตุมาจาก ความวิตกกังวล และความเครียดเรื้อรัง


ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ อาการ Brain Fog ก็สามารถดีขึ้นได้ แต่ถ้าเราเจอกับความเหนื่อยล้า หรือ อาการ Brain Fog บ่อย ๆ เราขอแนะนำให้ไปพบกับจิตแพทย์ เพื่อรับการรักษา และฟื้นฟูสภาพจิตใจดีกว่า


Appendixs: 1 / 2 / 3

 

 

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line