Business

UNLOCK POTENTIAL: ข้อดี ข้อเสีย และวิธีเอาชนะความขี้เกียจอย่างมีประสิทธิภาพที่ทำได้ง่าย

By: unlockmen August 11, 2020

หลายคนคงเคยเจอสถานการณ์ประมาณว่า “งานจะต้องส่งพรุ่งนี้แล้ว แต่วันนี้ยังทำไม่เสร็จ และรู้สึกขี้เกียจเป็นอย่างมาก” อันเกิดจากการไม่ยอมทำงานให้เสร็จตั้งแต่เนิน ๆ แต่ได้ขยับ timeline ไปเรื่อย ๆ จนถึงหนึ่งวันก่อนส่งงาน

บางคนอาจเริ่มโทษความขี้เกียจของตัวเอง ว่ามีมากเกินไปจนไม่ยอมทำงานให้เสร็จและรู้สึกกระวนกระวายกลัวจะทำงานเสร็จไม่ทัน

ความขี้เกียจเป็นปัญหาหรือไม่? แล้วเราจะทำให้ตัวเอง productive ขึ้นมาได้อย่างไร? UNLOCKMEN จะไขข้อข้องใจเหล่านี้เพื่อให้ทุกคนได้ปลดล็อกศักยภาพให้เอง

ความขี้เกียจเกิดจากอะไร?

ว่ากันว่ามนุษย์ขี้เกียจกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดั้งเดิมจำเป็นต้องเก็บสะสมพลังงานเพื่อความอยู่รอด หลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า ร่างกายของมนุษย์ใช้พลังงานในการทำงานเยอะมาก (อย่างสมองมีน้ำหนักราว 2% ของร่างกาย แต่กินพลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวันทั้งหมดถึง 20%) ความขี้เกียจจึงอาจเข้ามาช่วยให้มนุษย์ไม่ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองเกินไปนั่นเอง

แต่ต้นเหตุของความขี้เกียจก็ไม่ได้เกิดจากสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ความขี้เกียจเข้าครอบงำ ได้แก่

ความกลัว (fear) ความขี้เกียจและความกลัวดูจะมีความสัมพันธ์กัน ความขี้เกียจเปรียบเหมือนพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) สำหรับหนีความกลัวที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น กลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ กลัวว่าจะล้มเหลว กลัวว่าจะตอบสนองความคาดหวังของคนอื่นไม่ได้

ความกลัวในลักษณะนี้หนักหน่วง และเป็นภาระต่อร่างกาย ทำให้เกิดความเครียด เราจึงต้องขี้เกียจ และผัดวันประกันพรุ่ง (procrastination) เพื่อปัองกันการเผชิญหน้ากับความกลัวทั้งๆ ที่เรายังไม่พร้อม ซึ่งบางคนกว่าจะรู้สึกพร้อมก็ใช้เวลานานพอสมควร

 

ภาวะซึมเศร้า (depression) ความขี้เกียจเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคซึมเศร้า เราจึงจำเป็นต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงของคนขี้เกียจรอบตัวเราว่าเสี่ยงจะเป็นซึมเศร้าหรือไม่ ซึ่งคนที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการ เช่น รู้สึกสิ้นหวัง คิดลบ มีความคิดฆ่าตัวตาย และไม่มีแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ชอบ

หากพบว่าคนรอบตัวมีอาการเหล่านี้เข้าขั้นหนักจนเป็นปัญหา ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อหาทางออกและให้การรักษาอย่างทันท่วงที

 

สาเหตุทางชีวะวิทยา (biological causes) ความขี้เกียจเกี่ยวข้องกับการหลั่งโดปามีนในสมอง (สารสื่อประสาททำหน้าที่เกี่ยวกับการให้รางวัล เช่น ทำให้เรารู้สึกมีความสุข เวลาชนะการพนัน เป็นต้น) เรื่องนี้ได้รับการรับรองจากงานวิจัยหลายชิ้น อาทิ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) ประเทศสหรัฐฯ ที่พบว่า กลุ่มคนทำงานหนักเพื่อหวังผลตอบแทน (go-getters) จะมีการหลั่งของโดปามีนมากในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้รางวัลและแรงจูงใจสูง (ได้แก่ striatum และ ventromedial prefrontal cortex)

ส่วนคนขี้เกียจ (slackers) จะมีการหลั่งของโดปามีนมากในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และการรับรู้ความเสี่ยง (หรือ anterior insula)

 

ไร้เป้าหมาย (lack of real purpose) เมื่อไม่มีเป้าหมาย หลายคนก็คงจะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่มีคุณค่า ไม่รู้จะทำไปทำไม หรือ พอเจอปัญหาที่ซับซ้อน พยายามแก้ไขอย่างไรก็ไม่สำเร็จสักที หลายคนก็อาจรู้สึกท้อแท้ใจ และหันหน้าเข้าสู่ความขี้เกียจเพื่อพักผ่อนให้ใจสงบสุข ไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา

การไม่มีเป้าหมายอาจมีผลเสียต่อความสุขในชีวิตด้วย โดยงานวิจัยจากสถาบันระบาดวิทยาและการดูแลสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ระบุว่า สุขภาวะ (well-being) และความสุขมีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนระหว่างการมีเป้าหมายและความหมายในชีวิต

ความขี้เกียจไม่ดีจริงหรือไม่?

แม้ความขี้เกียจจะเป็นคุณสมบัติที่ไม่ดีสำหรับทุกคน แต่คน productive ก็มีข้อเสียเหมือนกัน อย่างเช่นคนที่หาข้อมูลติดตามข่าวสารบน social media ตลอดเวลา ก็อาจทำให้เกิดความเครียดและความตื่นตระหนกจากการตามข่าวมากเกินไป หรือคนที่ฝืนทำงานในขณะที่ร่างกายไม่พร้อม เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองมากกว่าปกติ และผลงานที่ออกมาอาจจะไม่ได้มาตรฐานที่ดีมากนัก

ดังนั้น เราควรให้ตัวเองมีเวลาขี้เกียจบ้าง เพื่อให้มีเวลาคิดเรื่องต่าง ๆ ก่อนลงมือทำงาน ซึ่งงานวิจัยเรื่อง ‘Back to the future: Autobiographical planning and the functionality of mind-wandering’ (2011) ระบุว่า

“เมื่อความคิดของเราไม่จดจออยู่กับสิ่งใดมากเกินไป (หรือ ความคิดล่องลอย) เราจะคิดถึงเรื่องในอนาคตเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือเรื่องปัจจุบัน และอดีต ตามลำดับ

ความคิดล่องลอยทำให้เรามีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาที่ดีและสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนอนาคต และการคิดหาไอเดียใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังได้เวลาพักผ่อนร่างกายอีกด้วย”

ถ้าความขี้เกียจมาในเวลาที่เราไม่ต้องการจะจัดการกับมันอย่างไรได้บ้าง?

ยามที่เราขี้เกียจขึ้นมา เราแทบหลีกเลี่ยงมันไม่ได้เลย ดังนั้นการฝืนตัวเองไม่ให้ขี้เกียจจึงเป็นเรื่องที่เหนื่อยพอสมควร แต่โชคดีที่เรายังมีวิธีจัดการกับความขี้เกียจอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ให้ทุกคนทำตาม ดังนี้

1.กำหนดเวลาในการทำ

เจรจากับตัวเองว่าเราจะใช้เวลาทำงานชิ้นนี้นานแค่ไหน (เช่น 10 นาที หรือ 1 ชั่วโมง) จะเป็นการจำลองเดดไลน์ของการทำงาน จะช่วยให้เราเกิดแรงจูงใจในการทำงานให้เสร็จก่อนเวลากำหนด (เพราะการขาดแรงจูงใจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราขี้เกียจ) โดยถึงแม้เราจะทำงานไม่เสร็จทันเวลาที่กำหนดก็ตาม แต่อย่างน้อยงานชิ้นนั้นก็ยังมีความคืบหน้าบ้าง เพราะได้ลงมือทำแล้ว (คล้ายกับ Pomodoro Technique)

 

2.เปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน

บางครั้งการทำงานจากบ้านก็ทำให้เรารู้สึกขี้เกียจได้ อาจเพราะมีสิ่งรบกวนมากเกินไป การเปลี่ยนสถานที่ก็อาจช่วยให้เรามีความ productive มากขึ้นได้ เช่น ร้านกาแฟซึ่งมีระดับเสียงรบกวนพอเหมาะ เรื่องนี้ได้รับการรับรองจากงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (University of British Columbia) ที่ได้ศึกษาเรื่องเสียงรบกวนในห้องเรียนกับการทำข้อสอบของเด็กนักเรียน พบว่า นักเรียนที่อยู่ในห้องที่มีเสียงรบกวน 70 เดซิเบล จะมีผลสอบที่ดีกว่า นักเรียนที่อยู่ในห้องที่มีเสียงรบกวน 50 เดซิเบล และ 85 เดซิเบล (กลุ่มนี้ทำข้อสอบได้แย่ที่สุด) โดย ร้านกาแฟทั่วไปมักจะมีระดับเสียงรบกวนอยู่ที่ราว 70 เดซิเบล

 

3.ฟังเพลงระหว่างทำงาน

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการฟังเพลงที่เหมาะสมมีส่วนช่วยในการทำงาน เช่น สร้างสมาธิ ช่วยให้เราใจเย็นเวลาแก้ไขปัญหายากๆ หรือ ช่วยให้เราเอาชนะความขี้เกียจและมีความ productive เพิ่มขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • เพลงคลาสสิก (classical music) มีงานวิจัยจาก American Roentgen Ray Society (ARRS) ระบุว่า เพลงบาโรคช่วยเรื่องอารมณ์และสมาธิในการทำงาน
  • เพลงธรรมชาติ (nature music) การฟังเสียงของธรรมชาติ เช่น เสียงน้ำไหล หรือ ฝนตก จะช่วยให้ความคิดทำงานได้ดีขึ้น และมีสมาธิจดจอกับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น
  • เพลง Epic เวลาฟังเพลงประเภทนี้ เราจะรู้สึกมีความฮึกเหิม ช่วยกระตุ้นให้เรามีพลังในการทำงาน และเอาชนะความขี้เกียจได้
  • และเพลงอื่นๆ อีกหลากหลายแนว เช่น เพลงแจ๊ส หรือ บูล ก็ช่วยให้เราไม่ถูกรบกวนจากเสียงรอบข้างและมีสมาธิในการทำงานได้เช่นกัน

 

4.ทำความเข้าใจปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างลึกซึ้ง

อย่างที่บอกไปแล้วว่าการเผชิญกับปัญหาที่แก้ไขได้ยาก อาจทำให้เรารู้สึกขี้เกียจ และผัดวันประกันพรุ่งได้ ดังนั้น เราจึงต้องเข้าใจปัญหาที่กำลังเจออยู่อย่างลึกซึ้ง โดยอาจจะใช้วิธีการเขียนปัญหาเหล่านั้น พร้อมรายละเอียด ลงในแผ่นกระดาษ ซึ่งเมื่อทำแบบนี้่แล้ว เราอาจเห็นว่าปัญหาใหญ่ๆ สามารถย่อยเป็นปัญหาเล็ก ซึ่งจะช่วยให้แก้ไขปมปัญหาได้ง่ายขึ้น

 

5.ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายช่วยให้เรารู้สึกแอคทีฟมากขึ้นได้จริง ซึ่งงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Psychotherapy and Psychosomatics เมื่อปี ค.ศ.2007 ระบุว่า ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายตลอดเวลา จะรู้สึกมีพลังมากขึ้น เหนื่อยลง หลังได้ออกกำลังกายในระดับปานกลางหรือต่ำ อีกทั้งการออกกำลังกายก็ได้รับการยืนยันแล้วว่าช่วยบำบัดโรคซึมเศร้าได้ด้วย ถือเป็นวิธีที่ดีในการเอาชนะความขี้เกียจ

 

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า ความ productive และ ความขี้เกียจ ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน เหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่นความ productive อาจจะเหมาะกับช่วงที่งานเร่งมาก ๆ ส่วนความขี้เกียจอาจเหมาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือการแก้ปัญหาที่ลึกซึ้ง ดังนั้นเราจึงต้องเลือกปรับาอารมณ์ใช้ให้ถูกสถานการณ์ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีที่สุดนั่นเอง

 


Contributor: วัศพล โอภาสวัฒนกุล

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line