Business

กงสีเลือด: ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ตามติด 3 เรื่องซ่อนเงื่อนจากตระกูลและผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคย

By: anonymK September 26, 2018

แม้เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินอาจบ่อนทำลายทุกอย่าง

ก่อนจะเข้าเรื่องกงสีเลือดนอกจอเราขอปูพื้นฐานกันสักนิด สำหรับใครที่เป็นลูกหลานจีนคงคุ้นเคยกับคำว่า “กงสี” กันดีอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ค่อยอินกับเรื่องนี้เท่าไหร่อธิบายความหมายและคอนเซ็ปต์ระบบให้เข้าใจกันตรงนี้ว่าคำว่า กงสี (公司) เป็นคำในภาษาจีนที่แปลว่า กิจการหรือกองกลางของตระกูลที่แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

เป้าหมายของการมีกงสี คือความเกื้อกูลกันภายในครอบครัวและการสืบสานความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของตระกูล แต่ความเหลื่อมล้ำที่ตกทอดทางวัฒนธรรมทั้งเรื่องเพศและลำดับอาวุโสก็กลายเป็นหนึ่งในประเด็นความขัดแย้ง อีกทั้งเมื่อเปลี่ยนรุ่นคนครอบครอง เจตนารมณ์ของคนที่กอดคอกันมาก็อาจจะสูญสลายไปตามกาลเวลา เหลือแค่การยื้อแย่งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น

และนี่คือ 3 ตระกูลดังเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยกับประเด็นความขัดแย้งเรื่องกงสี ที่บ้างก็ยังคงคุกรุ่นอยู่และบ้างก็จางหายไปจากหน้าสื่อแล้ว วันนี้ UNLOCKMEN ขอ RECAP เรื่องเล่าเปิดซีรีส์ชีวิตจริงยิ่งกว่าละครที่คุณอาจยังไม่เคยรู้เหล่านี้

 

ตระกูลชัยผาติกุล: ไผ่ทองที่กินของจริงหรือของก๊อป?

ไอศกรีมละลายในปาก แต่ดราม่าไม่มีวันละลาย กับข่าวที่หลายคนสงสัยเรื่องแบรนด์เจ้าของการค้า “ไอศกรีมไผ่ทอง” ที่เข็นผ่านหน้าบ้านเราตอนสาย ๆ ว่าอันไหนจริงอันไหนเก๊ เพราะหนึ่งในนั้นขึ้นโพสต์เตือนว่าอีกฝ่ายเป็นของปลอม

Credit photo: FB เพจ ไผ่ทองไอสครีม

ทว่าเมื่อสืบค้นกันไปมากลับกลายเป็นว่าทั้ง 2 แบรนด์ดันเป็นพี่น้องกันเสียได้ แต่โลโก้และการสะกดที่แตกต่างกันตามภาพ

LOGO เทียบระหว่างไอศกรีมไผ่ทองทั้ง 2 แบรนด์

มูลค่าธุรกิจ : 111 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ย. 61)

ความขัดแย้ง : สงครามแย่งแบรนด์สินค้าจากรุ่นแรก คือ นายกิมเซ็ง แซ่ซี่ ผู้ริเริ่มไอศกรีมไผ่ทอง เดิมใช้ชื่อแบรนด์ว่า “หมีบินเกาะต้นมะพร้าว” แต่ด้วยปัญหาลิขสิทธิ์ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นชื่อ “ไผ่ทอง” ในที่สุด กลุ่มดำเนินกิจการโดยคนในได้แยกออกมาเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือกลุ่ม “ไผ่ทองไอสครีม” จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 รายชื่อหุ้นส่วนคือ นางน้ายเฮียง แซ่ซี, นายบุรวิทย์ ชัยผาติกุล, นายเกษมสันต์ ชัยผาติกุล, นางสาวภัณฑิรา ชัยผาติกุล, นางสิริณัฐ ชัยผาติกุล และนางเบญจนุช ชัยผาติกุล

คลิปสัมภาษณ์นางน้ายเฮียง แซ่ซี ผู้เป็นแม่ (cr. msn.com)

ข้อชี้แจง :
1. “ส” เป็นตัวสะกดที่แบรนด์ตั้งขึ้นจากกิมมิก
2. เดิมใช้รูปต้นไผ่แต่เมื่อจดทะเบียนลิขสิทธิ์ไปคล้ายกับเครื่องปรุงรสตราไผ่ทอง เลยปรับตราสินค้าเป็นลายสัญลักษณ์ผสมในตัวสระ “ไ”
3. ปัจจุบันตนยังดูแลมารดาที่เป็นต้นตระกูลอยู่ซึ่งกล่าวว่ายังไม่ได้แบ่งมรดกโรงงานแต่อย่างใด

 

กลุ่มที่สองคือ “ไผ่ทองไอศครีม” เป็นของบริษัท ไผ่ทองไอศกรีม จำกัด บริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 มีนายบุญชัย ชัยผาติกุล ลูกชายคนที่ 6 เป็นผู้บริหารงานส่วนนางสาวภคธร ชัยผาติกุล และนายปาลวัฒน์ พัฒนวิจิตร เป็นคณะกรรมการ

คลิปรายการเพื่อนคู่คิด “ไอศครีมไผ่ทอง”

ข้อชี้แจง :
1. สะกดด้วย “ศ”
2. ตัวเองทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2527 และเคยออกรายการ “เพื่อนคู่คิด” ทาง TV สามารถใช้เป็นหลักฐานได้
3. โรงงานปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตดั้งเดิมจากปี 2526 โดยใช้เป็นที่อยู่จดทะเบียนในนามบริษัท ไผ่ทองไอศกรีม จำกัด

ความคืบหน้าคดีความ : ปัจจุบันคดีความยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาในศาล

 

ตระกูลตั้งสมบัติวิสิทธิ์ : ซีอิ๊วเด็กสมบูรณ์สูตรอาม้าขอคืน

“หยั่น หว่อ หยุ่น” เป็นแบรนด์ซีอิ๊วขาวที่ติดตลาด ติดใจ คนไทยมายาวนาน เราคิดถึงตอนกินไข่ต้มหนึ่งฟอง จิ้มกับซอสดำ หรือการกินข้าวต้มกับซีอิ๊วอยู่ท้องขึ้นมาจึงคิดถึงกงสีหน้าหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับตระกูลนี้ขึ้น เส้นทางการเติบโตของซอสดำเริ่มต้นมาจากรุ่นพ่อแม่ คือ นางเหล่นและนายถ่ง ผู้เป็นต้นตระกูลตั้งสมบัติวิสิทธิ์ หรือแซ่ตั้งเป็นผู้คิดค้นสูตรขึ้น สร้างอุตสาหกรรมในครัวเรือนจนในที่สุดซีอิ๊วดำหยั่นหว่อหยุ่นก็โด่งดังขึ้นมาและได้รับการจดทะเบียนในปี 2490 ใช้ชื่อทางการค้าว่า หยั่นหว่อหยุ่น จำกัด

ทั้งคู่มีบุตรทั้งสิ้น 9 คน ได้แก่ 1. นายหมั่นซ้ง (ชาญ), 2. นางเสี่ยวจิ่ว (สิงช่วง), 3. นายหมั่นหอย (นธี), 4. นายหมั่นฟก (วิเชียร), 5. นายหมั่นม่ง, 6. นายหมั่นจิว (ศิวะชัย) , 7. นายหมั่นหน่ำ (นายมงคลหรือนายภานุ) , 8. นางเสี่ยวจี่ (สิ่ง) และ 9. นางเสี่ยวเซี้ยว (นางนพรัตน์) ตามลำดับ หลังจากดำเนินกิจการจนรุ่งเรืองกิจการซีอิ๊วจึงเป็นกิจการกงสีที่รุ่นพ่อแม่ให้ลูกดูแล

จนเมื่อนายถ่งเสียชีวิตลงในปี 2511 ผู้เป็นแม่จึงได้มอบหมายให้ลูกชายลูกชายคนที่ 2 และ 6 ดูแลกิจการร้านชำ (กิจการก่อนการผลิตซีอิ๊ว) ส่วนลูกชายคนที่ 3 และ 5 ดูแลกิจการซีอิ๊ว จากนั้นวางข้อตกลงปันผลกำไรที่ได้สู่พี่น้องทุกคน ต่อมาเมื่อลูกชายคนที่ 5 เสียชีวิตในปี 2518 ลูกชายคนที่ 3 จึงเป็นผู้ดูแลกิจการซีอิ๊วเพียงผู้เดียว พอลูกชายคนที่ 2 และ 6 ขอเข้ามาดูแลกิจการร่วมก็ได้รับการปฏิเสธจึงเกิดความบาดหมางขึ้น และเมื่อทำการแบ่งทรัพย์สินในปี 2525 ผลของการแบ่งธุรกิจทำให้แต่ละคนได้รับสัดส่วนดังนี้

  1. ลูกชายคนที่ 3 (นายวิเชียร) ได้โรงงานซีอิ๊วหยั่นหว่อหยุ่นไป
  2. ลูกชายคนที่ 2 (นายนที) ได้ร้านขายของชำเลขที่ 1443 บางรัก
  3. ลูกชายคนที่ 6 (นายมงคลหรือนายภานุ) ได้เงินสดจำนวน 4 ล้านบาท
  4. นางสุรีย์ สะใภ้ของลูกชายคนที่ 5 ที่เสียชีวิต ได้เงินสดจำนวน 3 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วยข้อตกลงเรื่องเครื่องหมายการค้า “หยั่นหว่อหยุ่น” จัดให้เป็นมรดกที่ทุกคนในตระกูลสามารถใช้งานร่วมกันได้ แต่ในปี 2543 เมื่อลูกชายคนแรกและลูกชายคนที่ 6 นำคำนี้ไปใช้ สะใภ้คนที่ 3 (ภรรยานายวิเชียร) ซึ่งถือเป็นผู้ดูแลกิจการซีอิ๊วกลับฟ้องร้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นจนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องทั้งอาญาและแพ่งจำนวน 6 คดี ผลของคดีในครั้งนั้นฝ่ายบุตรชายคนที่ 6 เป็นผู้ชนะคดีให้ดำเนินกิจการ ภายหลังปี 2543 เมื่อลูกชายคนที่ 3 เสียชีวิตกรรมสิทธิ์ในมรดกจึงกลายเป็นของซ้อ 3 และนำมาสู่การฟ้องร้องมรดกจากอาม้าคืนสู่ตระกูล

มูลค่าธุรกิจ : 5,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 60)

ความขัดแย้ง : ซ้อ 3 เป็นผู้ดำเนินกิจการโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้ตนเองเป็นผู้จัดการ อาม้าผู้มีอายุกว่า 100 ปีในขณะนั้นจึงฟ้องร้องเรื่องการยักย้ายถ่ายเทมรดก เพื่อให้สะใภ้คืนมรดก 4,000 ล้านกลับคืนเพื่อเลี้ยงดูตนเอง

ความคืบหน้าคดี : จากการสืบค้นความคืบหน้าคดียังไม่พบจุดจบ หากมีความคืบหน้าจะนำกลับมารายงานเพิ่มเติมอีกครั้ง

 

ตระกูลโตทับเที่ยง : ปลากระป๋องปุ้มปุ้ยกับขับออกจากตระกูลและการปันสมบัติ

โลโก้ปลาอ้วนกลมปุ๊กริมกระป๋องใบหน้ายิ้มแย้ม กระป๋องเดียวสามารถเปิดกินกันได้หลายมื้อหลายคน วันนี้ยังคงเป็นแบรนด์ต้น ๆ ที่คนไทยคุ้นเคยและซื้อมากิน แต่เบื้องหลังความอิ่มเอมในรสชาติ ความขัดแย้งภายในครอบครัวก็รสจัดจ้านกลายเป็นข่าวดังที่หลายคนให้ความสนใจ จนล่าสุดช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพิ่งได้รับการตัดสินจากศาลแพ่งธนบุรีให้ปันมรดกอย่างเท่าเทียมกัน

ถ้าถามคนจังหวัด “ตรัง” คงไม่มีใครไม่รู้จักตระกูล “โตทับเที่ยง” เพราะถือเป็นตระกูลคหบดีดังประจำจังหวัด มีชื่อเสียงจากธุรกิจปลากระป๋องในประเทศภายใต้แบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” ซึ่งเติบโตต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่จดทะเบียน บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด ครั้งแรกในปี 2522 ความเกรียงไกรของปุ้มปุ้ยและโปรดักส์อื่นในเครือมาล้วนเกิดจากการดำเนินการของพี่น้องในตระกูลทั้งหมด 10 คน

แต่แล้ววันหนึ่งความขัดแย้งกลับปะทุขึ้นรุนแรงจากการฟ้องร้องกันระหว่างพี่น้องเพื่อขับนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง หนึ่งในสมาชิกครอบครัวให้ไปใช้นามสกุลอื่น ด้วยเหตุผลเป็นปรปักษ์กับพี่น้อง และสร้างความเดือดร้อน สังคมจึงตั้งประเด็นคำถามเรื่องความเป็นไปได้ทางกฎหมายว่าถ้าพี่น้องเกิดพร้อมใจกันรวมตัวกันขับไล่เราผู้เป็นโจทก์ออกจากตระกูลเพียงลำพังสามารถทำได้หรือไม่? เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจึงมีการฟ้องกลับในคดีหมิ่นประมาทสู่นายสุธรรม ผู้เป็นพี่ชายเช่นกัน

ในที่สุดจากประเด็นการเปลี่ยนนามสกุลก็ไล่เรียงมาถึงต้นตอแท้จริงว่าเกิดจากนายสุรินทร์ปลดพี่น้องในตระกูลทุกคนออกจากการเป็นกรรมการบริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกงสีของพี่น้องที่ถือหุ้นในบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหาร กว้างไพศาล จำกัด (มหาชน)

มูลค่าธุรกิจ : หุ้น 21 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท กว้างไพศาล จำกัด 2. บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด (เดิมใช้ชื่อว่า บริษัท สยามกว้าง จำกัด) 4. บริษัท เอส.ตรัง คอมเพล็กซ์ จำกัด5. บริษัท เอส.ตรัง ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เดิมใช้ชื่อว่า บริษัท ส่งสะดวก จำกัด) 6. บริษัท เอส.ตรัง เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด (เดิมใช้ชื่อว่า อะเมซิ่งฟู้ด โปรดักซ์จำกัด) 7. บริษัท ตรังแคนเนอรี่ จำกัด 8. บริษัท โรงแรมธรรมรินทร์ จำกัด 9. บริษัท อะเมซิ่ง ไอเดีย จำกัด 10. บริษัท ตรัง กว้างไพศาล จำกัด 11.บริษัท กว้างไพศาล โฮลดิ้ง จำกัด 12. บริษัท โตโฮลดิ้ง จำกัด 13. บริษัท ตรังโฮลดิ้ง จำกัด 14. บริษัท ไกรตะวัน จำกัด 15. บริษัท ตรังชัวร์ จำกัด 16. บริษัท ดิสทริค ดิเวอลอปเม้นท์ 2000 จำกัด (เดิมใช้ชื่อว่า บริษัท โตทับเที่ยง จำกัด) 17. บริษัท ล้านรอยยิ้ม จำกัด (เดิมใช้ชื่อว่า 1.บริษัท โตพัฒนา จำกัด 2.บริษัท ธรรมรินทร์ เพลนเนอร์ จำกัด) 18. บริษัท เอส.ตรัง ทราเวิล จำกัด 19. บริษัท คอนสแตนท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด 20. บริษัท ตรังทราเวิล แอนด์ อะเมซิ่ง ทราเวิล จำกัด 21. บริษัท เอส.ที.แมเนจเม้นท์(2013) จำกัด (เดิมใช้ชื่อว่า บริษัท ตรัง คลีนนิ่ง จำกัด)

ส่วนที่ดินมีจำนวน 31 แปลง ประกอบด้วย โฉนดที่ดินในกรุงเทพฯ 1 แปลง และโฉนดที่ดินที่จังหวัดตรัง 30 แปลง

ความขัดแย้ง : การแบ่งผลประโยชน์ภายในที่ไม่ลงตัวและปลดบทบาทของพี่น้องจากการดำเนินธุรกิจกงสี ซึ่งนายสุรินทร์อ้างว่าเป็นผลมาจาก บมจ.ผลิตภัณฑ์กว้างไพศาล ไม่มีกำไรอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี และอาจจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2558 ทำให้ตนต้องเข้ามาดูแลกิจการเองเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ถือหุ้น ประกอบกับประเด็นความเคลือบแคลงเรื่องการบริหารของฝ่ายบริหารชุดเดิม (พี่น้อง) ที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายให้กับบริษัท

ความคืบหน้าคดี : ศาลแพ่งธนบุรีตัดสินให้คุณสุรินทร์ โตทับเที่ยง แบ่งทรัพย์สินกงสีคืนสู่พี่น้องทั้ง 9 คน ได้แก่ 21 บริษัท – ที่ดิน 31 แปลง

ประโยคที่พูดกันซ้ำ ๆ อย่าง “ดูละครย้อนดูตัว” ยังคงใช้งานได้ดี เพราะจากซีรีส์ชีวิตจริงทั้ง 3 เรื่องเหล่านี้ เมื่อเทียบกับเรื่องราวในละครแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สุดท้ายสิ่งที่เหลือไว้จากบทความนี้ หรือเรื่องราวหลังละครจบคงอยู่ที่ความใส่ใจและให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และที่สำคัญคือการวางแผนสินทรัพย์ที่มีเพื่อให้ความรักสามัคคีสามารถสานต่อไปแม้ในวันไร้ลมหายใจ

 

SOURCE: ตระกูลชัยผาติกุล (1 / 2 / 3) , ตระกูลตั้งสมบัติวิสิทธิ์ (1 / 2 ) , ตระกูลโตทับเที่ยง (1 / 2 / 3) อื่น ๆ 1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line