Life

ขอโทษครับ ผมไม่อยากมีความสุข: CHEROPHOBIA ภาวะกลัวความสุข ถอยไม่ได้เดินต่อไปก็เจ็บ

By: PSYCAT December 16, 2019

“ความสุข” คือสิ่งที่ใคร ๆ ก็อยากสัมผัส เพียงแค่ได้จินตนาการถึงห้วงเวลาที่จะทำให้เรามีความสุข หัวใจก็พร้อมโลดแล่นด้วยความยินดีแล้ว ปาร์ตี้สิ้นปีที่รอคอยมาแสนนาน ของขวัญปีใหม่ที่ลุ้นมากว่าจะฉีกกล่องมาเจออะไร หรือการฉลองวันเกิดที่รายล้อมไปด้วยคนที่เรารัก วินาทีแห่งความสุขเหล่านี้ แค่นึกถึง ใบหน้าก็ถูกระบายด้วยรอยยิ้มเสียแล้ว

แต่ใครจะรู้ว่ามนุษย์บางคนนั้นต่างออกไป พวกเขากลัวที่จะมีความสุข เพียงแค่นึกถึงช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองและรู้ว่าตัวเองจะได้อยู่ท่ามกลางกลิ่นอายของความสุขนั่นก็ทำให้พวกเขาสั่นเทาได้ ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนั้น คุณอาจอยู่ในภาวะ Cherophobia หรือภาวะกลัวความสุขก็เป็นได้

เมื่อความสุขอยู่ตรงหน้า แต่ถอยไม่ได้ เดินต่อไปก็เจ็บ

ยิ่งใกล้เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองมากเท่าใด เราตระหนักว่ากำลังจะปีใหม่ กำลังจะสงกรานต์ กำลังจะมีปาร์ตี้ กำลังจะถึงคอนเสิร์ตศิลปินคนโปรด หรือกำลังจะถึงวันเกิด เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าวันเหล่านี้จะอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุข

วันในปฏิทินกำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อย ๆ เราไม่อาจหยุดเวลาได้ เราไม่อาจถอยย้อนกลับไปยังวันธรรมดา ๆ อันแสนสงบ แต่ไม่ว่าเราจะกลัวแค่ไหน ทุรนทุรายเพียงใด เราก็ต้องเดินต่อไปถึงให้วันแห่งความสุขนั้น และนั่นคือสาเหตุที่เราถอยไม่ได้ แต่ยิ่งเดินไปข้างหน้าเราก็ยิ่งเจ็บปวด

Cherophobia มีที่มาจาก “chero” ในภาษากรีกที่หมายถึงความชื่นชมยินดี ความสุข ผสมรวมกับ “phobia” ที่แปลว่าความกลัว ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนี้จะเกลียดกลัวสถานการณ์ที่คนจำนวนมากหรือตัวเองจะมีความสุข

อย่างไรก็ตาม Cherophobia นั้นไม่ถือเป็นโรคทางจิตเวช เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต หรือ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา แต่ Cherophobia จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวลชนิดหนึ่ง (Anxiety Disorder) ที่ไม่ควรมองข้ามและควรหาทางเยียวยาให้ถูกวิธี

เมื่อความสุขไม่ใช่ความยินดี แต่เป็นภัยคุกคาม

Anxiety Disorder หรือกลุ่มอาการวิตกกังวล คือความหวาดวิตกหรือความหวาดกลัวอย่างไม่มีเหตุผล พุ่งสูงขึ้นเมื่อรู้สึกว่ามีภัยคุกคาม ในกรณีของ Cherophobia ภัยคุกคามที่ว่านั้นก็คือความสุขนั่นเอง

ยิ่งรู้สึกว่าสถานการณ์ที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขใกล้เข้ามาเท่าไร ผู้ตกอยู่ในภาวะ Cherophobia ก็จะหวาดวิตกมากเท่านั้น นั่นเป็นเพราะในหัวนั้นเข้าใจว่าทุกครั้งที่มีความสุข หลังจากนั้นจะต้องมีความทุกข์เศร้าเจ็บปวดตามมา

ความคิดหลักที่อยู่ในหัวผู้ตกอยู่ในภาวะ Cherophobia มักมีดังต่อไปนี้ ลองสำรวจตัวเองกันดูอีกหนว่าเรากลายเป็นมนุษย์ที่ตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวความสุขไปแล้วหรือเปล่า

  • การมีความสุขจะทำให้มีสิ่งแย่ ๆ เกิดขึ้นตามมา (ทันทีที่เราโชคดี หายนะจะรอเราอยู่)
  • การมีความสุขทำให้เราเป็นคนไม่ดี หรือเป็นคนที่ห่วยลงกว่าเดิม
  • การแสดงออกว่าตัวเองมีความสุขนั้นไม่ดีต่อตัวเอง ต่อเพื่อน และต่อครอบครัว
  • การพยายามมีความสุขนั้นเป็นเรื่องเสียเวลาและเหนื่อยเปล่า

สาเหตุของภาวะกลัวความสุข “เพราะสุขแล้วต้องเศร้า จึงไม่อยากสุขอีก”

บางครั้งภาวะ Cherophobia เกิดขึ้นเนื่องจากความเชื่อว่าถ้าชีวิตเรามีสิ่งดี ๆ และมีความสุข เรื่องเลวร้ายจะต้องตามมา หรือเมื่อสุขสุดขีดอารมณ์ แล้วต้องกลับมารู้สึกธรรมดา มันชวนหดหู่ จึงไม่อยากเจอเหตุการณ์ที่มีความสุข เรื่องเลวร้ายหรือความรู้สึกแย่ ๆ จะได้ไม่เกิดขึ้น หากมองอีกทางหนึ่งความรู้สึกเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับมนุษย์แทบทุกคน

จินตนาการถึงการหยุดพักผ่อนมา 5 วันเต็ม วันแรกที่เราต้องกลับมาเริ่มทำงาน ย่อมทำให้เราหดหู่เป็นธรรมดา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไม่อยากทำงาน! ‘Post-Vacation Blues’ภาวะหดหู่หลังหยุดยาว เรื่องเศร้าที่ใครก็เจอ ) หลังคอนเสิร์ตที่มีมวลความรู้สึกดี ๆ ล้นเอ่อ ทันทีที่รู้ว่าคอนเสิร์ตกำลังจะจบ เพื่อนฝูงต้องแยกย้าย และเราต้องกลับไปนั่งเหงา ๆ คนเดียวที่บ้านก็ทำให้เราซึมได้เช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เพลงจบแล้วเศร้า รู้จักกับโรค PCD หรืออาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ต)

แม้แต่การได้ดื่มด่ำอ้อมกอดและเซ็กซ์ดี ๆ จากคนที่เราหลงใหล การได้รู้ว่าไม่รู้จะได้กอดเขาอีกเมื่อไร ก็ทำให้เราน้ำตาไหลออกมาดื้อ ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ความเศร้านี้มีที่มา น้ำตานี้มีชื่อเรียก: PCD ภาวะที่ทำให้ผู้ชายร้องไห้หลังกิจกรรมสวาท)

คล้ายว่าเมื่ออารมณ์ของเราถูกจับขึ้นรถไฟเหาะแห่งความสุข พุ่งทะยานไปยังจุดสูงสุด ดีสุด ตื่นเต้นสุด การต้องลงจากขบวนรถไฟเหาะแห่งความสุขเพื่อยืนอยู่จุดเดิมที่แสนธรรมดานั้นมันชวนให้หดหู่กว่าเดิมเสียอีก ในขณะที่ภาวะ Cherophobia ซึ่งเกิดขึ้นกับบางคนก็อาจจะมาจากบาดแผลลึก ๆ อย่างความกระทบเทือนทางร่างกายและจิตใจจากเหตุการณ์ในอดีตได้เช่นกัน

มนุษย์ผู้มีแนวโน้มจะกลัวความสุข “Introvert และ Perfectionists”

แม้ไม่ได้มีข้อบ่งบอกชี้ชัด แต่ลักษณะนิสัยบางแบบ พฤติกรรมบางชนิด ก็มีแนวโน้มที่จะหวาดกลัวความสุขได้มากกว่าคนอื่น ๆ

มนุษย์ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Introvert มีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากับภาวะ Cherophobia ได้มากกว่า เพราะปกติชาว Introvert มักรู้สึกปลอดภัยกว่าถ้าได้ใช้เวลาคนเดียวหรือกับคนสนิทมาก ๆ อีกคนสองคนในสถานที่ที่พวกเขารู้สึกคุ้นเคย

การต้องไปปาร์ตี้ อีเวนต์ หรืองานเฉลิมฉลอง ที่หมายถึงผู้คนจำนวนมาก เสียงดนตรีอึกทึก และการต้องคุยกับคนแปลกหน้า ก็ชวนให้พวกเขาหวั่นกลัวได้ จึงไม่แปลกใจที่มวลแห่งความสุขเหล่านี้จะทำให้ Introvert รู้สึกไม่สบายใจ

ในขณะที่มนุษย์ Perfectionists ก็มีแนวโน้มกลัวความสุขเช่นกัน เนื่องจากในสายตา Perfectionists จำนวนมาก ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบและความสมบูรณ์แบบ ความมีประสิทธิภาพ มักพ่วงมากับการตระเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสรรพ การทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ

การมีความสุขนั้นทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังอยู่เฉย ๆ กำลังขี้เกียจ กำลังทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์และไม่โปรดักทีฟกับชีวิต นั่นทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะหวั่นกลัวการมีความสุข เพราะสำหรับพวกเขาการมีความสุขมันช่างชวนให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่แย่ ไม่เอาไหน และใช้เวลาไปแบบสูญเปล่า

เยียวยาความกลัวในใจ เมื่อใดที่อยากเป็นสุขเต็มที่

เมื่อภาวะ Cherophobia ไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค จึงไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นวงกว้างมากนัก และไม่ได้มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ถ้าภาวะนี้ไม่ได้กระทบต่อการใช้ชีวิต ไม่ได้ส่งผลต่อบุคลิกภาพ เราสามารถเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับมันได้

เริ่มจากค่อย ๆ ปรับวิธีคิด เรียนรู้ที่จะรู้จักความสุขในรูปแบบอื่น ๆ ที่เรียบง่ายไม่ใช่แค่ในแบบที่เรากลัว เพื่อเข้าใจนิยามของความสุขแบบอื่น ๆ เช่น ความสุขไม่ได้หมายถึงการไปปาร์ตี้เท่านั้น เราอาจหายใจเข้าลึก ๆ ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและพื้นที่สีเขียวในวันทำงานสัก 15 นาที แล้วตระหนักว่าสิ่งเล็ก ๆ นี้ก็เป็นความสุขได้เช่นกัน และมันไม่มีอะไรเลวร้ายเลย

อย่างไรก็ตามหากภาวะ Cherophobia มีที่มาจากบาดแผลในจิตใจ หรือเหตุการณ์กระทบกระเทือนในอดีต เราสามารถพบจิตแพทย์เพื่อหาหนทางเยียวยาที่ถูกต้องได้เช่นกัน โดยอาจใช้ cognitive behavioral therapy (CBT) ร่วมด้วย

ชีวิตเป็นแบบนี้ เมื่อเป็นสุขโลดแล่น ชั่วขณะต่อไปอาจดิ่งลงเหว บางชั่วขณะเราอาจเข้าใจ แต่บางชั่วขณะเราอาจหวาดกลัว แต่ไม่ว่าความรู้สึกเช่นใด ภาวะแบบไหน ล้วนมีหนทางเยียวยาแก้ไข ยอมรับสิ่งที่ตัวเองรู้สึกหรือเป็น บอกคนรอบข้างให้เข้าใจ ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป หรือถ้าหนักหนาจนทนไม่ไหว รีบพบจิตแพทย์ UNLOCKMEN อยู่เคียงข้างคุณเสมอ

SOURCE 1, 2

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line