Life

‘TYPER’ คุณค่าของความประณีตที่ถูกส่งผ่านปลายปากกา ที่แลกมาด้วยความพยายาม

By: unlockmen December 17, 2018

เราจับปากกากันครั้งแรกเมื่อไหร่ ? หากไม่นับการแอบหยิบปากกาในบ้านมาขีดเขียนผนังในตอนเด็ก การจับปากกามาจรดบนกระดาษ เพื่อขีดเขียนข้อความอย่างเป็นเรื่องราวคงเป็นช่วงประถมศึกษาตอนปลาย เรื่อยมาจนถึงช่วงมัธยมฯ มหาวิทยาลัย

แต่พอหมดช่วงการศึกษาแล้ว หลายคนคงรู้สึกว่าเราจับปากกากันน้อยลง อาจด้วยอาชีพที่ทำให้ทักษะการเขียนไม่ได้จำเป็นกับเรามากนัก หรือเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้เราต้องเหินห่างกับการเขียนน้อยลงไปทุกที ทั้งการจดบันทึก การพิมพ์ ที่มีสารพัดรูปแบบ Font ให้เราได้เลือกใช้ ต้องยอมรับว่ามันสะดวกสบาย จนอาจทำให้เราหลงลืมเสน่ห์ของการจับปากกาจรดลงบนกระดาษไป

เคาะสนิมความทรงจำครั้งเก่าไปกับ คุณนาย เจ้าของเพจ TYPER ผู้สร้างสรรค์ Calligraphy ให้ตัวหนังสือบนกระดาษกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในวันที่สิ่งพิมพ์เข้ามาแทนที่การเขียนด้วยมือ สัมผัสคุณค่าของงาน Handmade และคุณค่าของความพยายามในการฝึกฝนให้ลายเส้นเป็นดั่งใจ

กว่าจะเป็น Typer

จะดีแค่ไหนถ้าสิ่งที่คุณรักสามารถทำเงินให้คุณได้ด้วย ในตอนแรกคุณนายก็มีอาชีพประจำเหมือนกับใครหลายคน เขาเองก็ไม่ได้รู้สึก Suffer กับงานหลักของตัวเอง แต่ก็ไม่ละทิ้งงานที่ตัวเองรักอย่าง Calligraphy จนรู้สึกว่า Life Balance มันไม่ Balance สมชื่อเอาเสียเลย จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพราะเชื่อว่าการมี Life Balance มันสำคัญต่อการใช้ชีวิตเอามาก ๆ และเขาก็ค้นพบว่า TYPER คือสิ่งที่ทำให้เขามี Life Balance ได้จริง ๆ 

นาย: เราทำ Typer เราสามารถ Manage เวลาเองได้ ไม่ใช่ว่าเรา Enjoy อย่างใดอย่างหนึ่ง ตอนทำ Creative ก็ Enjoy ทั้งสองอย่างมีความสุขหมด แต่รู้สึกว่าชีวิตเรามันไม่ได้จบแค่การทำงาน เราต้องกลับบ้าน ต้องมาพัก มันทำให้ Life Balance เราดีกว่า ซึ่งเราคิดว่ามันสำคัญมาก

ทำความรู้จักกับ Calligraphy

หลายคนเข้าใจว่ามันคือการเขียนภาษาอังกฤษแบบตัวติด มันคือการเขียนแบบไม่ยกปากกาอย่างที่เราเคยได้ฝึกกันในวัยเด็ก แต่ Calligraphy จริง ๆ มันเป็นมากกว่านั้น ลืมความคิดเก่า ๆ ของเราไปก่อน แล้วมาฟังนิยามของ Calligraphy  ที่เข้าที่เข้าทางกันดีกว่า ว่าความจริงแล้วมันเป็นอะไรให้เราได้บ้าง

นาย: Calligraphy มันจะแตกต่างจากการเขียน Lettering สิ่งที่ Typer ทำอยู่ ที่คนรู้จักคือ Calligraphy คือการเขียนเส้นไม่กี่เส้นแล้วมันเป็นตัวอักษร มันจะมีหลายรูปแบบ ส่วน Lettering เนี่ยเป็นการวาด อาจจะวาดนานหน่อย ทั้งสองอย่างมันมีหลายรูปแบบมาก Calligraphy เองก็มีหลายรูปแบบมาก ๆ ผมเองเขียนอยู่ 3-4 แบบ ในโลกเราเนี่ยมีเยอะมาก ๆ ที่นิยมก็เหมือนตัวเขียน แต่เขียนใน Speed ที่ช้า เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างจะแตกต่างกัน ต่อให้ผมเขียนใน Speed ที่เร็วและช้าก็จะแตกต่างกัน Lettering วาดชิ้นเดียวสองชั่วโมงก็มีเหมือนกัน 

แล้วอย่างนี้ ถ้าใครที่อยากจะเริ่มต้นเขียนเองที่บ้าน ต้องเตรียมตัวยังไงและใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ?

นาย: ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่ผมเจอหลัก ๆ เลยคือ คนที่เขาไม่ค่อยได้จับปากกาในการเขียน ยกตัวอย่าง Programmer บางคนไม่ได้จับปากกามา 7-8 ปีแล้ว เพราะว่าอยู่กับคอมพิวเตอร์ มันมีข้อเสียที่จะต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ สมมติว่ามีคนใช้กล้ามเนื้อมือในการทำงาน อย่างช่างแกะสลัก หมอฟัน อาชีพไหนก็ได้ที่มีการคุมกล้ามเนื้อมือเยอะ ๆ อยู่ ค่อนข้างมีข้อได้เปรียบในการทำ Calligraphy คนที่เก่ง ๆ ที่มาเรียนคือหมอฟัน มือเขาใช้งานเยอะมาก ๆ 

พอเอาคนที่ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อมือบ่อย ๆ มาเขียน เขาก็ต้องฝืนตัวเองมากกว่าคนที่ใช้กล้ามเนื้อมือมาตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นผมมีโอกาสได้มาสอนเด็กที่กรุงเทพคริสเตียน เด็กประถมฯนี่แหละ ความยากคือรู้เลยว่าเด็กเริ่มจับปากกาน้อยลง Hand Skills น้อยมาก 

Calligraphy เขียนด้วยอะไรก็ได้ ถ้าคุณเข้าใจโครงสร้าง สมมติอยู่หาดทรายแล้วเสิร์ชข้อมูลดูเนี่ย กิ่งไม้เขียนหาดทรายก็ทำ Calligraphy ได้ เพราะฉะนั้นใช้อะไรก็ได้ ดินสอบนกระดาษเปล่าก็ได้ อุปกรณ์ไม่ได้เป็นข้อจำกัด

ลองแนะนำเทคนิคง่าย ๆ สำหรับมือใหม่แบบ Calligraphy 101 ว่าควรรู้อะไรบ้าง 

นาย:  สิ่งแรกเลยคือความเร็ว ไม่ได้แปลว่าต้องเร็ว เราควรจะรักษาการขีดแต่ละเส้นคงที่เรื่องความเร็วไว้ เมื่อไหร่ที่เราเขียนด้วย Speed ที่เร็วจนเป็นการสะบัดปากกาเนี่ย อย่างแรกที่จะเจอคือเราคุมปากกาไม่อยู่ ให้นึกภาพเหมือนเราขับรถเนี่ย เราขับเร็วมาก ถึงเป้าหมายแน่นอน แต่เราจะบังคับไม่ค่อยอยู่ และจะเก็บรายละเอียดข้างทางได้ไม่ดีเท่าคนขับรถช้า ซึ่งในการเขียน Calligraphy เนี่ย ควรที่จะทำช้า ๆ ไว้ก่อน สมมติเราเขียนช้า ทุกเส้นที่เราเขียนเราสามารถหยุดและเปลี่ยนได้

อย่างที่เห็นคลิปบนอินเทอร์เน็ต คลิปแบบนั้นมันเร่ง Speed เราจะรู้สึกว่าคนนี้เขียนโคตรคล่องเลย เลยเข้าใจผิดว่าเขียน Speed นั้นได้จริง ๆ เพราะฉะนั้นเขียนให้ช้า ถามว่าเขียนให้เร็วแบบนั้นได้มั้ย ได้แน่นอน แต่ Prefer เส้นของการเขียนช้ามากกว่า

อีกอย่างคือขึ้นเบาลงหนัก อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง พอขึ้นเหนือเนี่ยลากเส้นบางมาก ๆ พอลงใต้อาจจะหนา 3-4 เท่าก็ได้ แต่ต้องจำแบบนี้ไว้ 

เพราะงาน Handmade คือสิ่งที่ควรตระหนักถึง Value

 

นาย: มันยากสำหรับคนไทยเหมือนกันนะ คนไทยไม่ได้ให้คุณค่าของพวกนี้เท่าไหร่ อย่างญี่ปุ่นเนี่ย ร้านเครื่องเขียนเขาขายดีมาก ในขณะที่สมัยนี้ของไทยน่าจะบูมกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่มันกลับไม่บูมขนาดนั้น คนไทยไม่ได้ให้คุณค่าของทำมือขนาดนั้น

อย่างแถบสแกนดิเนเวีย แทบไม่ต้องเข้าธนาคารแล้ว เพราะว่าทุกอย่างจบภายในมือถือเครื่องเดียว ไทยก็กำลังเป็นแบบนั้นแหละ แต่เขาทำมากันสักพักแล้ว เขาแทบไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนเลย เขาทำอะไรสักอย่าง เขาจบภายในตัวเองได้ สมมติว่าเขาสั่งอาหาร อาหารมาส่ง เขาไม่ต้องเจอคนเลย พอเขาเห็นใครสักคนที่ทำอะไรที่เป็น Handmade เนี่ย เขาจะให้คุณค่ามาก กลายเป็นว่ามันเป็นส่วนน้อยสำหรับเขา แตกต่างตรงที่เรายังต้องเจอคนอยู่ อย่างป้าข้างบ้านทำเฉาก๊วยขาย มันยังเป็น Handmade อยู่ บางคนยังพับตั๊กแตนขายอยู่เลย มันเลยคุ้นเคยมาตลอด เลยไม่ได้ให้คุณค่าเท่าไหร่

“อย่างวัฒนธรรมการส่งการ์ดของญี่ปุ่น ผมชอบมากนะ แต่กลายเป็นว่าคนไทยไม่อินกับการส่งการ์ดขนาดนั้น ที่ Typer อยู่ได้ เพราะมีคนส่วนน้อยที่ยังยอมที่จะจ่ายกับอะไรแบบนี้ ผมอยากให้ตลาดตรงนี้โตขึ้น” 

พอเราได้เขียนอะไรบางอย่างบนกระดาษมันไม่เหมือนความรู้สึกกับเวลาพิมพ์ต๊อกแต๊กลงบนการ์ด มีคนถามเหมือนกันว่าเดี๋ยวนี้ยังมีคนส่งการ์ดกันอยู่อีกหรอ ผมก็บอกว่ามีแหละ เพราะบางทีแล้วของที่มันเขียนออกมาจากมนุษย์จริง ๆ มันมีคุณค่ากว่าปรินเตอร์ ในบางทีนะ แต่ไม่ใช่ว่าผมปฏิเสธงานดิจิทัลนะ ผมก็ยังทำงานดิจิทัลอยู่ มือถือ คอมพิวเตอร์ แต่พอทำด้วยมือแล้วมันมีเสน่ห์มากกว่า

แล้วการที่ในไทยยังไม่ตระหนักถึงคุณค่างาน Handmade เท่าที่ควร มันทำให้งาน Handmade อย่าง Calligraphy  มีผลกระทบอะไรบ้างมั้ย ?

นาย: ในไทยยังหาซื้ออุปกรณ์ได้ยากอยู่ กลับไปที่เรื่องเดิม พอคนไม่อิน นายทุนที่จะลงทุนกับของพวกนี้มันน้อยอยู่ ถ้าเทียบกับต่างประเทศที่ให้คุณค่ากับ Art มากกว่า อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการตัดราคาของวงการนี้ จริง ๆ มันเป็นทุกวงการแหละ

ลูกค้าที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับงานแบบนี้หรือไม่ได้ศึกษาข้อมูล ก็จะไปจ่ายให้กับอะไรที่ถูกกว่ามาก ๆ โดยที่ไม่รู้ว่าคุณภาพมันต่าง ซึ่งคนในวงการก็ต้องช่วยกันให้ความรู้ว่าคุณภาพมันต่างกัน เพราะล่าสุดเจอ Newbie ตัดราคาแต่ก็ ตามสบาย สิ่งที่ควรทำคือทำของตัวเองให้เต็มที่ ไม่ลดราคาไปแข่ง ให้ลูกค้าดูเองว่าที่คุณจ่ายมันต่างนะ

คุณค่าที่แลกมาด้วยความพยายาม

เราอาจรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับลายมือหรือเปล่านะ คนเขียนสวยอยู่แล้วมาจับงานแบบนี้ยังไงเขาก็ต้องเก่งกว่าเราอยู่แล้ว หรือคนที่ลายมือไก่เขี่ยอาจจะไม่มั่นใจในตัวเองมากพอ อาจจะกลัวว่าตัวเองต้องฝึกฝนหนักกว่าคนอื่น ประเด็นนี้คือสิ่งที่คุณนายย้ำอยู่เสมอตลอดการพูดคุยกัน ว่าการพยายาม การผลักดัน และฝึกฝนตัวเอง ให้เวลากับมันจะทำให้เราประสบความสำเร็จในด้านนั้น ๆ ได้ ไม่ใช่เพียง Calligraphy เท่านั้น แต่หมายถึงทุก ๆ อย่าง

หลายคนมีพรสวรรค์มาก ๆ แล้วคนที่เริ่มจากศูนย์ล่ะ ทำยังไงถึงจะพัฒนาตัวเองได้เร็วแบบนั้นบ้าง ?

นาย: คนที่มีพรสวรรค์มันมีจริง ๆ ในโลกนี้ คนกลุ่มนั้นมีจริง ๆ ค่อนข้างน่าอิจฉา บางคนฝึกแทบตายไม่เท่าคนที่จับห้านาทีแล้วเข้าใจทุกอย่าง

แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรทำคือการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ เราไม่ควรทำเพื่อชนะใคร เราควรทำเพื่อชนะตัวเอง

ถ้าเราอยากเขียนเป็นคุณไม่ต้องเขียนเป็นเพื่อสวยกว่าคนอื่น เราเขียนเป็นเพื่อให้เราเขียนเป็น อยากเก่งกว่าคนอื่นค่อยใส่ Effort มากเข้าไปอีก เหมือนกับแข่งวิ่ง ต่อให้เขาเป็นคนที่มีพรสวรรค์ เข้าใจท่าวิ่งที่เร็วที่สุด แต่จะเทียบกับเราที่วิ่งวันละสิบชั่วโมงติดกันหนึ่งปี การฝึกฝนมันทำงานได้ดีกว่าอยู่แล้ว

มันจะมีคนอีกกลุ่มนึงเช่นกันที่มีพรสวรรค์แล้วขยันด้วย เราต้องเข้าใจว่าคนที่เป็นอัจฉริยะแล้วฝึกฝนด้วย ไม่มีใครสู้เขาได้ อันนั้นเป็นสัจธรรมของโลก

ตอนนี้เราก็ต้องฝึก ฝึกให้ตัวเองทำเป็นก่อน สมมติเราเห็นเขาเขียนสวย อย่าไปมองว่าสวยกว่าว่ะ มองว่าทำไมเขาเขียนสวย อ๋อ ข้อนี้เรายังไม่ได้ทำ ถ้าเราฝึกอันนี้น่าจะสวยขึ้นนะ แทนที่เราจะคิดในแง่ลบ เราก็เลือกมุมที่จะมอง เอาไอเดียมาปรับให้เราดีขึ้นก็ได้ จากหลาย ๆ คนก็ได้ ไม่ใช่ยกมาทั้งดุ้นนะ มันไม่เวิร์กอยู่แล้ว

เราต้องมองข้อดีของเขาว่าทำไมเขาทำได้ดี ทำไมคนถึงยอมรับ วิเคราะห์เขาแล้วเอามาปรับใช้ เราไปเข้าใจว่าเราไม่มีทางทำได้แบบเขา สิ่งที่อยากบอกคือ ในยุคสมัยนี้มันไม่มีอะไรใหม่แบบโคตรใหม่แล้ว มันมีแต่การเอาของเก่ามาผสมกับใหม่นิดหน่อย เลยดูว่ามันใหม่กว่า มันเป็นแบบนั้นแล้ว  

ถ้าอย่างนั้น คนเขียนมือซ้ายก็สามารถเขียนได้ใช่ไหม ?

นาย: เขียนได้ (เสียงสูง) ศิลปิน Calligraphy เป็นคนเขียนมือซ้ายเยอะมากนะ มีทั้งคนที่เขียนจากซ้ายไปขวาแล้วยกมือไม่ให้โดน อีกแบบนึงคือพลิกกระดาษเขียน สมมติว่าเราให้เวลากับอะไรบางอย่าง เท้ายังเขียนได้เลย ยกตัวอย่างนะ เราสร้างข้อจำกัดขึ้นมาเอง ถ้าเราอยากเขียนจริง ๆ ไม่มีอะไรหยุดได้เลยนะ

อย่างคนที่มาเรียน คือเขียนได้ 50% แล้วนะ คุณก้าวขาเข้ามาโซนที่พร้อมเขียนแล้ว สมมติว่าคุณอยากเขียนแต่ไม่เริ่มทำ ไม่มีอะไรสำเร็จแน่นอน ผมเคยเจ็บแขนเพราะล้มมา เขียนไม่ได้สองอาทิตย์ สมมติว่าเราผ่านหมื่นชั่วโมงแรกแล้ว มันจะทำให้ร่างกายเราจำได้แล้ว

1%

ตอนนี้ถือว่า TYPER ประสบความสำเร็จหรือยัง ?

นาย: ในระดับนึง เราไม่สามารถพูดได้ว่า อ๋อ ฉันประสบความสำเร็จแล้ว แบบนั้นคงเหนื่อยแย่เพราะต้องคอยหาอะไรทำใหม่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ควรทำนะ แต่ผมรู้สึกว่าที่ทำอยู่สำเร็จ 10% นะ ธงที่ 100% ก็เขยิบไปเรื่อย ๆ

เราไม่ควรหยุดที่ความสำเร็จในอดีต ควรจะมองข้างหน้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันเหนื่อยมากนะกับการที่เราต้องปรับตัวตลอดเวลา แต่มันก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะคนที่ไม่ปรับตัวคือคนที่แพ้ คือคนที่จะต้องตายไป นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน มันเป็นวงจรของทุกอย่างแหละ ถ้าเราไม่เก่งพอ ถ้าเราอ่อนแอ เราจะแพ้ไป 

การที่เราจะ Success อะไรบางอย่างมาก ๆ เราต้องรู้ว่าคนที่จะ Success ได้ มันเป็นคนส่วนน้อยมาก ๆ สมมติว่าคนแข่งกีฬา นักกีฬาโอลิมปิกหลายคนเขาต้องฝึกกันขนาดไหน เพื่อที่จะไปเป็น 1% นั้น เช่นเดียวกับการทำงาน ลองนึกดูว่าเราเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้เก่งอะไร ค่อนข้างยากที่เราจะไปอยู่ใน 1% นั้น พอเราทำ Creative ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความสุขนะ  การที่เราจะแข่งอะไรที่เราไม่มีต้นทุนเท่าชาวบ้าน เราไม่ได้ Enjoy กับมันขนาดนั้น เพราะเรามองโครงสร้างรอบ ๆ แล้ว เราไม่ได้มีความสุข

“แต่สำหรับ Typer พอเราทำแล้วเรารู้เลยว่าเราเป็น 1% ที่พูดถึง และคนก็ยอมรับว่าเราเป็น 1% นั้น เลยทำให้เราทำต่อไปเรื่อย ๆ ได้”

ไม่ใช่เพียงแค่คุณค่าของงาน Handmade เท่านั้นที่ทำให้ Calligraphy มีคุณค่า แต่มันยังมีคุณค่าของความพยายาม ที่เป็นเหมือนรางวัลของความตั้งใจที่สำหรับคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจของตัวเองลงไป ไม่ว่าเราจะเริ่มจากศูนย์หรือสิบหรือเกือบร้อย แต่หากเราไม่คิดจะเริ่มนั่นทำให้เราแพ้ตั้งแต่แรกแล้ว ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เรารัก เพราะมันอาจนำพาเราไปสู่ความสำเร็จอย่างที่เราตั้งใจไว้ก็ได้

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line