Life

ไลฟ์โค้ชอยู่ที่ไหนความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่นั่น! นักวิจัยชี้ว่า “คนที่เชื่อคำคมมีแนวโน้มจะไม่ฉลาด”

By: PSYCAT June 12, 2018

ถ้าจะพูดถึงอีกหนึ่งอาชีพที่ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็คงหนีไม่พ้นอาชีพ “ไลฟ์โค้ช” ซึ่งสถาปนาตนเองว่าข้ารู้ ข้าเก่ง ข้าเจ๋ง ข้าเป็นสุดยอดปรมาจารย์ในด้านนั้น ๆ ที่สุดแล้ว อาจจะเป็นนักเขียนที่ผันตัวมาสอนเคล็ดวิชาว่าเขียนยังไงถึงจะเขียนได้เทพแบบเขา อาจจะเป็นนักธุรกิจ (ที่อ้างตัวว่า) ทำรายได้ระดับร้อยล้านและอยากให้ทุกคนสู้ อดทน และเดินตามรอยความร่ำรวยไปด้วยกัน (ด้วยการจ่ายเงินค่าเข้าคอร์สเรียนมาซะ!)

เรื่องเทคนิคการสอนหรือการถ่ายทอดวิชาความรู้ก็ว่ากันไปว่าใช้ได้ผลจริงหรือไม่ได้ผลจริง แต่ลักษณะหนึ่งที่ไลฟ์โค้ชตัวท็อปฮิตของไทยมักจะมีคล้าย ๆ กัน คงหนีไม่พ้นการโพสต์คำคมสร้างแรงบันดาลใจรายวัน หรือบางท่านก็ถึงขั้นโพสต์รัวรายชั่วโมง คอยปลุกพลังงานในตัวคนด้วยคำสวยหรู หรือใช้ศัพท์ยาก ๆ ให้ดูฉลาด ๆ เข้าไว้ เคยสงสัยไหมว่าคำคมหรือคำพูดวกไปวนมาพวกนี้ มันจะพาเราไปถึงความสำเร็จได้จริงหรือเปล่า ?

ไม่ใช่แค่ไลฟ์โค้ชที่ทำตัวเป็นเครื่องจักรผลิตคำคมเท่านั้น แต่ถ้าเราเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กในแต่ละวัน เราก็จะเจอเหล่าเฟรนด์ลิสต์ที่แห่กันแชร์คำคมคูล ๆ เหล่านั้นมาสู่สายตาเราทุกวัน จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าชีวิตของเพื่อนคนนั้นจะอุดมไปด้วยแรงบันดาลใจสุดขีดพลังเหมือนคำคมที่แชร์มาจริง ๆ ไหม ?

โชคดีที่ไม่ได้มีเราที่สงสัยคนเดียวแต่ Gordon Pennycook นักศึกษาระดับปริญญาเอกและหัวหน้านักวิจัย รวมถึงทีมวิจัยจาก University of Waterloo ใน Ontario ประเทศ Canada เขาก็สงสัยใคร่รู้และอยากหาคำตอบด้วย จึงตัดสินใจทำการศึกษาที่สุดท้ายตีพิมพ์เป็นบทความชื่อ “On the reception and detection of pseudo-profound bullshit” ออกมา โดยเป้าหมายก็คือเขาอยากรู้ว่าเวลาใครสักคนแชร์หรือชื่นชอบคำคมสักอันที่เห็นว่าคมบาดใจนักหนานั้น พวกเขาชอบที่ความหมายแม่งโคตรดีจริง ๆ หรือชอบแค่คำสวย ๆ หรู ๆ แต่ดูไปดูมาดันแปลไม่ออกกันแน่ ?

การทดลองครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 800 คน แล้วสร้างกลุ่มคำคมขึ้นมา 2 ชุด โดยชุดแรกคือคำคมที่มีความหมายบางอย่างแฝงอยู่จริง ๆ กับอีกชุดคือให้คอมพิวเตอร์เอาคำสวยหรูฟังดูเข้าใจยขากมาผสมกันแบบถูกไวยากรณ์ให้เกิดประโยคสุดคมขึ้นมา แล้วก็ให้กลุ่มตัวอย่างประเมินดูว่าคำคมไหนที่คมจริง ส่วนอันไหนดูคมแต่จริง ๆ แล้วโคตรกลวงกันแน่

ผลที่ออกมาก็คือคนที่มีแนวโน้มจะชอบคำคมที่คมแต่กลวง คำดี คำสวย แต่หาสาระไม่ได้มักเชื่อมโยงกับการที่ไม่รู้จักวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ รอบตัว มักเชื่ออะไรง่าย ๆ แบบไม่ไตร่ตรอง รวมถึงเชื่อพวกข่าวปลอมหรือทฤษฎีสมคบคิดแบบง่าย ๆ อีกด้วย

นอกจากนั้นทีมทดลองยังลองพิสูจน์เพื่อความมั่นใจอีกรอบ ด้วยการลองใช้ประโยคแบบโคตรธรรมดาที่เป็นความจริงสามัญของโลกใบนี้อยู่แล้ว เช่น เด็กทารกต้องการคนเลี้ยงดู แต่ปรับคำให้เป็นคำสวย ๆ ฟังดูยาก ๆ เช่น มนุษย์ที่เพิ่งลืมตาขึ้นมาเห็นโลกกว้างย่อมต้องการความใส่ใจต่อเนื่องไม่รู้จบ แล้วทดสอบดู ก็ยังพบว่ามีคนที่เห็นว่าคำคมพวกนั้นโคตรลึกซึ้งและอินกับมันอยู่ดี (ทั้ง ๆ ที่มันก็คือเรื่องปกตินี่แหละ)

UNLOCKMEN คิดว่างานวิจัยนี้น่าสนใจตรงที่มันสามารถช่วยให้เราย้อนกลับมามองตัวเองได้ว่าเราเคยเผลอทำพฤติกรรมแชร์คำคมรัว ๆ โดยไม่ทันคิดวิเคราะห์แบบที่ว่านี้บ้างหรือเปล่า ? เราเชื่อว่าใครสักคนเก่งเพราะประสบการณ์ของเขา ความรู้ของเขา ความสามารถของเขา หรือเราแค่เห็นว่าเขาพูดอะไรสวยหรูดูดี ฟังแล้วฮึกเหิมมาก โดยไม่เคยหยุดตั้งคำถามบ้างเลยว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมีเนื้อหาสาระจริง ๆ อยู่แค่ไหน ? หรือมันสวยแต่กลวงหรือเปล่า ?

เราเชื่อว่าไลฟ์โค้ชที่สร้างประโยชน์และคอยสนับสนุนศักยภาพให้คนได้มีอยู่จริง แต่ไลฟ์โค้ชที่เอาคำสวย ๆ มาผสมคำให้ดูคม ๆ แล้วต่อประโยคให้ดูยาว ๆ น่าสนใจนั้นจะนำเราไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร ? UNLOCKMEN คงไม่มีคำตอบตายตัวให้ว่าไลฟ์โค้ชคนไหนจะผู้ชายอย่างเราไปสู่ความสำเร็จ แต่เราเชื่อว่าการที่เรารู้จักคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบด้วยตัวเอง อย่างน้อยก็จะสร้างนิสัยไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ ให้ตัวเราไปตราบนานเท่านานแน่นอน

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line