Business

‘ตามติด ตามสั่ง ตามส่ง ตามใจ’ จะเอาอะไรไหนบอกมา ? อัปเดตวงการธุรกิจอาหาร ไอเดียดีมีจริง

By: anonymK August 21, 2019

ตอนที่เราเคยคิดจะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง มีคนเคยบอกเราว่า ถ้าอยากทำธุรกิจที่ไม่ต้องกังวลเรื่องขายได้ไม่ได้ “ของกิน” นี่แหละเสี่ยงเจ๊งน้อยที่สุด เพราะยังไงคนก็ต้องกิน ถ้าเทียบกับของสิ้นเปลืองอื่นที่จะใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้ เศรษฐกิจฝืด ๆ แบบนี้ เรื่องกินยังเป็นเรื่องใหญ่ที่เรายอมจ่าย

หลังจากออกไปทำงานเยอะ ๆ เข้า มีโอกาสเจอคนในวงการอาหารจริง ๆ แล้วพูดคุยกัน ความจริงที่เห็นมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการแข่งขันสูง คนก็เอาใจยากขึ้นเยอะ เราเลยเปลี่ยนใจหันหลังให้กับการจับตะหลิวมากอดคีย์บอร์ดแทน มองความเปลี่ยนไปของวงการอาหารจากมุมนอกและทำเรื่องที่ถนัดกว่าอย่างการสั่งมากิน

แต่ถ้าวันนี้มีใครสักคนถามเราว่า วงการอาหารยังมีที่ว่างเหลือไหม เราจะพูดว่า “มี” ถ้าคุณเตรียมตอบโจทย์การตั้งคำถามที่ว่า “แล้วเราจะได้อะไร?” จากฝั่งลูกค้าได้มากขึ้นหรือดีกว่าจากสิ่งที่ทั่วโลกกำลังทำอยู่ตอนนี้ และนี่คือคำตอบของนักธุรกิจที่เรารวบรวมมาให้ ทั้งแบบที่เกี่ยวข้องแบบร้านอาหารโดยตรงและคนที่ไม่ได้ลุกขึ้นมาปรุงอาหารเองแต่ก็ขอมีเอี่ยวกับสายนี้ด้วยคน ดังต่อไปนี้

 

“หิว” แต่ไม่รู้จะกินอะไร

ร้านอาหารดี ๆ มีเยอะ อยู่ในตรอกซอกซอยเต็มไปหมด แค่เฉพาะในเมืองหลวงกรุงเทพฯ ยังมีหลายร้านที่เราไม่เคยไปสักครั้งหรืออาจจะไม่โดดเด่นเท่าแบรนด์ดัง วิธีการที่ดีที่สุดที่หลายคนทำคือวิ่งเข้าหน้า Feed และโฆษณาอย่างมีชั้นเชิง

หนึ่งในวิธีเรียกร้องความสนใจไปให้คนหิวก็คือการไปเคาะหน้าตาจอถึงที่ เช่นเดียวกับที่ร้านขายเบอร์เกอร์ในต่างประเทศอย่าง Wendy ใช้ คือการโปรโมตร้านผ่านเกม Fornite เกมต่อสู้ยอดนิยม โดยสร้างตัวละครคาแรกเตอร์หญิงเข้าไปทำลายตู้แช่แข็งเบอร์เกอร์ เพราะ Wendy ที่ทนไม่ได้กับการแช่แข็ง (ร้านของ Wendy ทำเบอร์เกอร์แต่ไม่ใช้เบอร์เกอร์แช่แข็ง) จึงโดดเข้าไปทำลายตู้แช่พร้อมสาวกในฉากสุดคุ้นตา คนเล่นเกมพอเจอจ่อโฆษณาระหว่างเล่นก็เริ่มหิว เริ่มสนุก และคิดถึงแบรนด์นี้ในที่สุด ผลงานการโฆษณาชิ้นนี้ทั้งไวรัลและคว้ารางวัลคานส์ในปีนี้

 

“หิว” แต่ไม่อยากเดินทาง

ไม่นับพวก Grab Line และ Get สารพัดบริการการจัดส่งที่เราเห็นวันนี้ การให้บริการความหิวที่คนไม่ต้องออกจากที่พำนักใหม่ ๆ วันนี้ยังมีบริการอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ Delivery อีกบ้าง?

UBER EAT: เราเคยได้ยินออฟฟิศพูดกันเล่น ๆ ว่าน่าจะมีบริการ Grab Walk หาคนเดินกลับบ้านไปเป็นเพื่อนกรณีไม่อยากกลับบ้านคนเดียว แต่สำหรับเวอร์ชันอาหารตอนนี้ UBER ญี่ปุ่นเขาก็ประกาศความคิดมาเรียบร้อยเสร็จสรรพว่าจะให้บริการเดินส่งอาหาร รับคนเพิ่มอีก 30% เปิดตลาดให้ตลาดแรงงานของผู้สูงวัยมีเพิ่มขึ้นเพื่อลดอัตราว่างงาน ถือว่าได้ทั้งช่วยคนแก่ให้มีงานทำและได้เครือข่ายการส่งมากขึ้นไปในตัว คงไม่ต้องบอกว่าการสนับสนุนครั้งนี้จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์จนคนอยากอุดหนุนเพิ่มขึ้นขนาดไหน และเหตุผลนี้อาจจะทำให้คนสั่งอะลุ่มอล่วยให้กับการส่งช้าอีกด้วย

 

“หิว” แต่อยากกินของสด ๆ รสมือเฉพาะ

ใครเคยได้ยินคำว่า “อาหารรสมือแม่” ของ OOTOYA แล้วรู้สึกอยากกินบ้าง เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อแต่ก็จริง คำโฆษณาเหล่านี้ค่อนข้างกระชากใจผู้บริโภค เพราะมันเป็นรสมือที่คิดถึง แต่รสชาติพวกนี้ต้องการความพิถีพิถัน ดังนั้น ร้านค้าที่จับจุดได้จึงจัดบริการให้ถึงที่แต่คราวนี้เป็นรสมือ “ยาย” ไม่ใช่รสมือแม่

Courtesy of Birra Moretti

แคมเปญที่ว่าเป็นของบริษัทเบียร์อิตาลีที่ใช้ชื่อว่า Birra Moretti ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอนและเมืองไบรท์ตัน ประเทศอังกฤษ ทำบริการ Deliver-a-nonna หรือส่งคุณยายชาวอิตาเลียนไปทำให้กินถึงบ้านฟรี (คำว่า Nonna เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า ยาย) งานนี้ค่อนข้างจะต่างจากการจัดส่งทั่วไป เพราะส่งคนไปให้ทำอาหารให้ที่บ้าน

เหตุผลที่ทำไมต้อง “ยาย” นอกจากรสมือของอาหารที่ถูกปาก แบรนด์เบียร์เขาสำรวจมาแล้วคนอังกฤษชอบอาหารอิตาเลียนแต่ไม่มีเวลากิน ไม่มีเวลาทำด้วย ดังนั้น ถ้าได้คนทำอาหารนั้นเป็น และทำได้ดีมาทำที่บ้านแถมใจดีมาแจกสูตรด้วยคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่ามันกลายเป็นไวรัลและได้ใจคน ที่สำคัญกว่าคือคนจดจำแบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว

 

“หิว” แต่ติดเล่น อยากสนุก

แปลกแต่จริง คนกินบางทีก็ไม่ได้อยากอิ่มรสชาติอาหารอย่างเดียวแต่ประสบการณ์การกินแบบแปลกใหม่ คือเครื่องดึงดูดให้ยอดขายมากขึ้นและโดดเด่น ยิ่งถ้ามีโอกาสคอลแลปส์กับแบรนด์แปลก ๆ ต่างแขนงยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่

แคมเปญหนึ่งของ Spotify ที่ทำร่วมกับ Mcdonald บราซิล ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สามารถตอบโจทย์รูปแบบการกินได้อยู่หมัด เขาใช้วิธีการเสิร์ฟเฟรนช์ฟรายที่ถาดรองซึ่งวางกระดาษมาร์กตำแหน่งคลื่นเสียงสำหรับให้เราเอาเฟรนช์ฟรายขนาดต่าง ๆ มาจัดเรียงให้เผย Playlist ปริศนา (ขนาดที่ไม่เท่ามันชาเลนจ์ให้เราต้องกัดให้ได้สัดส่วนพอดี) หลังจากวางเรียบร้อย คนกินเฟรนช์ฟรายสามารถสแกนผ่านแอปฯ Spotify เพื่อเข้าถึง ‘FriesList’ ที่ด้านในมีแทร็กจำนวนหนึ่งให้เราฟังอย่างเพลิดเพลินระหว่างกิน เรียกได้ว่าไม่ยาก สร้างสรรค์แล้วก็สนุกจนน่าจดจำจริง ๆ

 

“หิว” แต่อยากกินหลายอย่างพร้อมกัน

การ Pairing เป็นอีกเทรนด์ที่เหมาะกับคนหิว แล้วคนให้บริการที่รู้เรื่องก่อน วิ่งเข้าไปลงทุนก่อนก็มักจะได้รักความสนใจ แต่ถ้าคุณลงทุนทีหลังอาจจะต้องลองคิดสักหน่อยว่าอาหารที่ทำประจำของคุณมันควร Pairing กับอะไรดีแล้วรวบโปรดักส์ตัดจบอย่างนี้

Courtesy of House Wine + Cheez-It

หลังจากคนพากันทวีตผ่านโซเชียลว่า “อยากกินไวน์กับชีส ๆ” เจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องอย่าง Kellogg กับ House Wine ของแคนาดาเห็นช่องว่างนี้เลยจัดการให้ตอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการด้วยการสร้าง Wine-and-Cheez-it box ขึ้น เป็นกล่องแพ็กคู่แบ่งด้านซ้ายและขวา ด้านหนึ่งเป็นไวน์จาก House Wine มีช่องพร้อมเปิดดื่ม ส่วนอีกด้านเป็นแครกเกอร์ชีส กระแสตอบรับครั้งนี้ทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์เก่าแก่รุ่นอากงอย่าง Kellogg ดูเก๋าขึ้นเยอะ น่าสนใจและเด็กลง

อาหารก็สะท้อนความคิดกับพาร์ตเนอร์ได้ดี ถ้าคุณได้ Pairing สำหรับสร้างทีมที่ดีได้ คุณจะไม่ต้องเหนื่อยทำคนเดียวและได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ลงทุนไม่ต้องมาก ทำกำไรร่วม แต่ถ้าทีมที่อยู่มันห่วยก็ต้องระวังตัวไว้หน่อยเพราะอาจจะพาลงเหว

 

5 คำตอบความเปลี่ยนแปลงที่อัปเดตในวงการอาหารเหล่านี้ แม้จะไม่มีอันไหนเป็นของบ้านเราเลย แต่ด้วยกลยุทธ์เดียวกัน หลายอย่างสามารถนำมาปรับใช้งานได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงการอาหารหรือไม่ก็ตาม

และตามที่เราบอกไว้ ถ้าคุณถามเราว่ายังมีพื้นที่เหลืออยู่ไหมหากคุณจะเริ่มธุรกิจอาหารหรือธุรกิจ Red Ocean เรายืนยันว่า “มี” เสมอ ถ้าคุณตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการได้ วันนี้การสร้างตัวเองให้เป็นที่จดจำเริ่มมีหลายทางมากขึ้น ร้านเล็กถ้าประชาสัมพันธ์ดีแคมเปญได้ ล้วนมีสิทธิ์เกิดทั้งนั้น เพราะข้อจำกัดเรื่องการสั่งและการส่งต่ำลง

นอกจากธุรกิจอาหารยังมีอะไรสนุก ๆ รออยู่อีกเยอะ ติดตามบทความธุรกิจที่ UNLOCKMEN ทุกอาทิตย์

 

Source: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line