Entertainment

TELEX TELEXS วงที่เชื่อว่าดนตรีคือความเป็นตัวเองและทำเพลงเล่าความเหงาของคนแต่ละสถานะ

By: TOIISAN July 5, 2019

ในการทำงานแต่ละวันของชาว UNLOCKMEN พวกเรามักจะเปิดเพลงคลอไปกับการทำงานอยู่เสมอโดยไม่เกี่ยงประเภทเพลง บางวันเป็นเพลงร็อก เพลงสากล เพลงอินดี้ แต่จะมีเพลงของวงวงหนึ่งที่ UNLOCKMEN จะต้องเปิดอยู่เกือบทุกวัน ซึ่งเพลงของวงนั้นคือ Telex Telexs และในที่สุดในวันนี้เราก็ได้พูดคุยกับพวกเขาตัวเป็น ๆ 

สมาชิกของวง Telex Telexs ประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คน ปิ้ว (คีย์บอร์ด), นาว (กีตาร์), กร (เบส) และสมาชิกหญิงเพียงคนเดียวของวงอย่าง ออม (ร้องนำ) เมื่อเราได้พูดคุยด้วยบทสนทนาที่ไหลไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้เห็นว่านอกจากดนตรีโดน ๆ ที่ได้ยินเกือบทุกวัน ยังมีแนวคิดอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจซ่อนอยู่หลังเมโลดี้และเสียงร้องอันมีเอกลักษณ์นั้น

 

จุดเริ่มต้นของ Telex Telexs เด็กวิศวะและดุริยางคศิลป์ กับดนตรีที่ทำให้เราหลงรัก

 

เด็กต่างคณะต่างมหาวิทยาลัยมารวมตัวกันตั้งวงดนตรีได้ยังไง ?

ปิ้ว : ผมกับกรเคยมีวงดนตรีด้วยกันแล้วล้มไป แต่ว่าพวกเรายังอยากเล่นดนตรีกันต่อเลยตั้งโปรเจกต์ขึ้นมาก่อน ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเลยไปเปิดดิกชันนารีดูแล้วเจอคำว่า Telex ที่แปลว่าโทรเลขแล้วเราชอบ ก็เลยใช้คำนี้พร้อมกับเบิ้ลคำแล้วเติม s 

วงมี 4 คน มีผู้หญิงคนเดียว แต่ว่าทำไมถึงนำเสนอเพลงในมุมมองของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ออม : เราไม่ได้ตั้งใจนำเสนอมุมมองผู้หญิงนะ แต่เพราะเราที่เป็นคนร้องเป็นผู้หญิงมันก็เลยโดนตีความว่าเป็นผู้หญิง จริง ๆ แล้ว แฟนเพลงของเราก็ชอบคอมเมนต์เรื่องนี้มา มันอาจจะดูเป็นเพลงของผู้หญิง แต่จริง ๆ แล้วมันได้หมดทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 

ถ้าให้นิยามสไตล์ของ Telex Telexs จะเรียกว่าอะไร ?

ปิ้ว : ความชอบและจริตของแต่ละคนในวงต่างกันมากมีทั้งร็อก ป็อป ผสมกับซินธ์ มันเป็นความแตกต่างที่มารวมกัน ผมขอนิยามแนวดนตรีของพวกเราว่าเป็น Alternative เป็นเหมือนกับดนตรีที่เป็นทางเลือกใหม่ จริง ๆ มันก็แล้วแต่คนนะครับว่าจะจำกัดความเราเป็นแนวไหน แต่พวกเราจำกัดความว่า Telex Telexs คือ Alternative ครับ 

ออม : ถ้าต้องจำกัดความเองเราจะเป็น Alternative แต่คนส่วนใหญ่มองว่าเราคือวงซินธ์ป็อป 

ปิ้ว : แต่พวกเราอยากป็อปนะ (หัวเราะ) 

สิ่งที่ทำให้ Telex Telexs ได้รับความสนใจคือแนวดนตรีที่แตกต่าง ในแต่ละเพลงเราจะได้ยินดนตรีที่เรียกว่าซินธ์ป็อป (Synthesizer pop) เท่ ๆ อยู่เสมอ และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้อยากรู้เหตุผลของการสร้างสรรค์เพลงแนวนี้ และมีซินธ์ป็อปปีไหนเป็นพิเศษบ้างไหมที่วงเลือกหยิบมาทำเพลง

เราว่าเวลาทำอะไรแล้วรู้สึกว่าเป็นตัวเองมันก็จะออกมาคล้าย ๆ เดิม เพราะมันคือตัวเรา ดนตรีก็เช่นกัน

ปิ้ว : ดนตรีซินธ์ป็อปมันมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยผมเลยมองว่ามันไม่ได้อยู่ในยุคใดยุคหนึ่ง แต่ละช่วงเวลาก็จะให้ความรู้สึกต่างกัน ก็เลยไม่ได้จำกัดว่าดนตรีที่เราใช้มาจากยุคไหน

ออม : เราว่าดนตรีมันเกิดจากการผสม sound หลายอย่าง รวมถึงดนตรีของวงเราด้วย ทำให้ทุกวงมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยที่ไม่ได้บอกคอนเซ็ปต์ชัดเจนว่าฉันเอาซินธ์ป็อปจากยุค 80 มานะ หรือต้องการจะทำเพลงยุค 90 เราว่าการไปจำกัดยุคมันลำบากนิดหนึ่งสำหรับคนเล่นดนตรี แต่ถ้าพูดถึงแนวเพลงไปเลยมันน่าจะง่ายกว่า 

 

ENOUGH FOR LONELINESS AND INTERNET TODAY อัลบั้มเต็มครั้งแรก

แรงบันดาลใจในการเขียนเนื้อเพลงแต่ละเพลงได้มาจากอะไรบ้าง ?

ปิ้ว : ส่วนใหญ่ได้มาจากโซเชียลที่มีเรื่องราวต่าง ๆ เยอะมาก แล้วเราก็เอาเรื่องที่เจอมาคิดต่อ สร้างเป็นคอนเทนต์ว่าเขาคนนั้นไปเจอกับอะไรมา สถานการณ์ในตอนนั้นมันเป็นแบบไหนถึงทำให้เขามาพิมพ์ความในใจเป็นสเตตัส 

แล้วเคยเอามาจากประสบการณ์จริงของตัวเองไหม ? 

ปิ้ว : มีครับ เพลง “เพื่อนชื่อความเหงา” 

ออม : เวลาปิ้วถามว่าอยู่ไหนก็จะบอกว่าอยู่กับเพื่อน เพื่อนชื่อไร เพื่อนชื่อความเหงา มาก่อนหน้าที่จะมีเพลงอีก เพื่อนก็งงว่าทำไมมันตอบงี้ สุดท้ายมันก็กลายเป็นชื่อเพลงแล้วก็มีเพลงขึ้นมาจริง ๆ 

อย่างเพลงซ่อนหรือเพลงอื่น ๆ ก็มาจากสเตตัสต่างกัน สำหรับนักร้องคิดว่าเพลงไหนเล่าออกมาได้ยากที่สุด

ออม : เราว่าถ้าจะทำเพลงเพลง ๆ หนึ่งก็จะรู้คอนเซ็ปต์อยู่แล้วว่าจะเล่าในแบบไหน อย่างปิ้วเป็นคนพรั่งพรูออกมาเอง แต่ถ้ายากคือคิดอะไรไม่ออก 

ปิ้ว : ในการทำเพลงแต่ละครั้งมันมีเนื้อเรื่อง มีกรอบว่าจะคุยเรื่องนี้ ต้องทำอย่างไรให้ไม่หลุดกรอบ อธิบายยังไงให้มันจบเพลง มันไม่ยากครับ

ออม : ด้วยความที่ไม่ได้คาดหวังว่าแต่งเพลงนี้นะคนจะชอบ แต่งเพลงยังไงให้คนเข้าถึง ถ้า 4 คนนั่งฟังแล้วชอบก็คือโอเคแล้ว คนฟังก็ชอบเหมือนเรา 

บางคนเมื่อได้เพลง Playlist ทั้งหมดของ Telex Telexs ก็เกิดความสงสัยว่ามันต่อกันเหมือนกับหนังเรื่องหนึ่งรึเปล่า ตกลงว่าเพลงในอัลบั้มมันร้อยเรื่องต่อกันไหม ?

ออม : จริง ๆ แล้วเราทำเพลงต่อเพลงค่ะ

ปิ้ว : มันไม่ต่อกันครับแต่สิ่งที่ทำให้มันเหมือนกันคือการวางคอนเซ็ปต์อัลบั้มคร่าว ๆ ว่าเราควรหยุดได้แล้วกับการใช้โซเชียลด้วยอารมณ์เหงา ๆ แล้วหันมาโฟกัสกับตัวเองและฟังเพลงของเราดีกว่า เพราะเพลงเกือบทั้งหมดในอัลบั้มจะเกี่ยวกับความเหงาของแต่ละช่วงวัย ทั้งเหงา ทั้งผิดหวัง ไปจนถึงเพลงอ้อน ๆ ก็มีรวมอยู่ในนี้ 

แต่เพลงในอัลบั้มจะหนักไปทางเศร้าหน่อย ?

ปิ้ว : เพราะมันเป็นประเด็นที่คนในโลกโซเชียลมักจะมาโพสต์อยู่บ่อย ๆ ครับ 

ออม : ปิ้วเขาจะเอาเรื่องราวต่าง ๆ จากสเตตัสเฟซบุ๊ก เรื่องของคนรอบตัวมาแต่งเพลง แต่ที่ง่ายที่สุดคือสเตตัสเฟซบุ๊ก เพราะออมมองว่าคนเราเวลามีความสุขจะไม่ค่อยตั้งสเตตัสเท่ากับตอนเศร้าหรือว่าเหงา บ่นแม่ ทะเลาะกับแฟน ทำให้เราเห็นได้เลยว่าคนในโซเชียลยึดติดกับความเหงามาก ๆ 

ถ้าให้แต่ละคนเลือกเพลงในอัลบั้มให้คนที่ไม่เคยรู้จักหรือฟังวงของเรามาก่อนจะเลือกเพลงอะไรบ้าง

นาว : “ซ่อน”

ออม : เราเลือกเพลง “ยอม” โดยส่วนตัวตอนฟังครั้งแรกเราชอบเพลงนี้มากก็เลยอยากให้ลองไปฟังกันดู เพราะไม่ได้เป็นเพลงที่ปล่อย public แล้วก็จะได้ฟังเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มไปด้วย 

ปิ้ว : “เพลง 1991-1993” ครับ มันเป็นเพลงที่เนื้อหาสุขที่สุดในอัลบั้ม เนื้อหาเกี่ยวกับคนรักอ้อนกัน แล้วผมก็คิดว่าหลายคนน่าจะชอบความโรแมนติก

กร : “เอายังไง” หมายถึงชื่อเพลงนะครับ เวลาเล่นสดแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้ลึกซึ้งดีครับ เวลามองไปเห็นคนร้องตามก็รู้สึกว่าเอายังไงดี 

เพลงต่อไปของ Telex Telexs จะบอกเล่าสถานะแบบไหนอีก ?

ออม : ตอนนี้เรามีเพลงที่ทำกับค่าย Brand New Music ประเทศเกาหลี 

ปิ้ว : เนื้อหาเกี่ยวกับคนที่ต้องคอยรับมือถือดึก ๆ จากคน ๆ เดิม พวกเมาแล้วชอบโทรมาแต่วันรุ่งขึ้นก็ลืม ไม่ต้องโทรมาแล้วได้ไหม ไม่อยากเจอ ไม่อยากทำอะไรแบบนี้อีกแล้ว 

ออม : แล้วเราก็ต้องมานั่งปั้นหน้าว่าเรามีความสุข คนคุยกันที่เมาแล้วบอกว่าอยากมาหาแต่ก็ไม่เคยมาสักที เหมือนเป็นของตาย

Brand New Music เข้ามามีส่วนร่วมยังไงกับเพลงนี้ ? 

ออม : เป็นน้อง Gree มาแรป แล้วก็ร้องกับออมด้วยนิดหน่อย ก็อยากให้ติดตามกันด้วยนะคะ

การแสดงสดคือโอกาสพิสูจน์ตัวเอง

“บางทีเราได้ไปเล่นในงานที่มีคนตั้งใจมาดูเราแค่สองคน พอเห็นเขาร้องตามเรา สนุกไปกับเรา ก็ทำให้เราตั้งใจจะเล่นเพื่อให้เขาสนุกที่สุด”

คิดว่าเสน่ห์ของวงคืออะไร ?

นาว : เสน่ห์เหรอครับ หน้าตาละกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องดนตรีก็ต้องเสียงร้องของออมครับ

กร : ความตลก เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง 

ปิ้ว : ผมคิดว่าคือโชว์ของพวกเราที่มีพลัง คนดูสามารถรับรู้ถึงความสนุกที่พวกเรามอบให้ 

ออม : เราว่าเสน่ห์ก็คือตัววงที่รวมกันหลายอย่างทั้งดนตรี โชว์ เพลง คนส่วนใหญ่ในตอนแรกจะเห็นเสน่ห์ของเพลงก่อน อาจจะบังเอิญเปิดเจอเพลงเรา แล้วพอมาดูโชว์เราก็เชื่อว่าพวกเราสามารถทำให้คนหลายคนที่มาดูตามวงต่อได้ เพราะเราจะสนุกกันเองก่อนและไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับความสนุกจากใคร มันเลยทำให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย ตลก และไม่เกร็ง

การแสดงสดครั้งไหนที่ประทับใจที่สุด ?

ปิ้ว : ผมว่าทุกคอนเสิร์ตครับ เพราะเราไปแสดงในแต่ละสถานที่แต่ละเวทีก็จะเจออะไรไม่เหมือนกัน คนดู สถานที่ ทุกอย่างต่างกันบางครั้งคนก็รู้จักเรา บางที่ก็ไม่มีใครรู้จักเราเลยแต่พอเขาได้ฟังก็กลายเป็นแฟนเพลงเรา 

ออม : เราเคยไปเล่นในที่ที่ไม่ใช่ของเรา หมายถึงว่าไม่ใช่คอนเสิร์ตของเราเอง ครั้งหนึ่งเคยไปเล่นในงานเปิดตัวห้องสมุด คนที่นั่งอ่านหนังสือก็เดินหนีเรา แถมมีคนมาดูเราแค่สองคน ความประทับใจของเราคือต่อให้มีคนน้อยแค่ไหนเขาก็จะสนุกไปกับเรา ทำให้บางทีคนผ่านไปผ่านมาเขาสงสัยมายืนดู เราก็ประทับใจที่เขาอยู่กับเราจนจบโชว์ ทั้งที่เราตอนแรกเราก็ใจเสียไปแล้วแถมเขาก็ไม่ได้รู้จัก Telex Telexs ด้วยซ้ำ 

แล้วเล่นดนตรีสดในห้องสมุดนี้ที่สุดแล้วหรือยัง ?

ออม : เราว่ามันท้าทายทุกครั้งนะ พอเจอคนเยอะ ๆ เราก็กดดันกลัวว่าจะทำให้เขาผิดหวังไหม คนจำนวนมากจะสนุกไปกับเราหรือเปล่า แต่พอไปในที่ที่ไม่มีคนรู้จักก็ต้องคิดแล้วว่าทำอย่างไรให้เขารู้จักและอยู่กับเรา ทำอย่างไรให้เขาอยากรู้จักเรา มันก็มีความท้าทายต่างกันไป 

“การจะทำให้คนชอบเพลงเราว่ายากแล้ว แต่การที่ทำให้เขาสนุกไปกับเรานั้นยากกว่า”

 

ความฝันก้าวต่อไปที่ต้องไปให้ถึง 

หลังจากที่ได้แสดงในที่ไม่คาดคิดอย่างห้องสมุด สถานที่ที่มีคนดูน้อยไปจนถึงมาก เวทีต่อไปที่อยากไปเล่นคือที่ไหนอีก ?

ออม : หนึ่งในความฝันของวงเราคือการได้ไปแสดง Summer Sonic ซึ่งเราก็ได้แสดงแล้ว มันเป็นความฝันเป้าใหญ่ที่สุดของเรา หลังจากนี้ก็คงจะต้องมองหาเวทีที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งค่ะ

ปิ้ว : เพิ่งคิดได้ไม่กี่วันว่าอยากไปเล่นที่ร้านข้าวต้ม อันนี้เป็นความฝันของผมคนเดียวนะครับ บรรยากาศตอนคนนั่งกินข้าวแล้วในครัวผัดผักบุ้งไฟแดงลุกก็น่าจะเท่ดี หรือไม่ก็งาน Glastonbury Festival ครับถ้าเป็นไปได้

กร : อยากไปเล่นเปิดกีฬาที่สนามฟุตบอลครับ

นาว : ไปไหนก็ได้ครับ ที่ที่มีพื้นที่ให้เราเล่น 

คิดว่า Telex Telexs ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ?

ปิ้ว : มันไม่มีคำว่าประสบความสำเร็จครับ เหมือนเวลาเราเล่นเกมพอชนะด่านหนึ่งแล้วก็มีด่านต่อ ๆ ไป เราจะเจอกับอะไรที่ท้าทายอยู่ตลอด 

ออม : ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จไหมเราคิดว่ายัง คำว่าประสบความสำเร็จของเราคือการทำวงแล้วสามารถซัปพอร์ตตัวเองได้ ซัปพอร์ตคนรอบข้างได้ เราดูแลตัวเอง ดูแลแฟนคลับ แล้วก็เลี้ยงพ่อแม่ได้ถึงจะประสบความสำเร็จค่ะ

จากวันที่ทำวงดนตรีเล่น ๆ กลายมาเป็นเพลงที่มีคนฟังมากขึ้นจนติดชาร์ต คิดว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม ?

ออม : เปลี่ยนเพราะตอนแรกเราทำเพลงกันโดยไม่ได้คาดหวังอะไรมากค่ะ ไม่หวังว่าเราจะต้องดัง เราเริ่มจากการทำเพลงแล้วหวังว่าจะมีคนชอบเหมือนเรา

ปิ้ว : พอมีคนที่รอจะฟังเพลงของเราก็จะทำให้เราตั้งใจทำมากขึ้น มีคนคอยบอกว่า “สู้ ๆ นะ ผมชอบเพลงพี่มากเลย” สิ่งเหล่านี้คือกำลังใจ เป็นเหมือนพลังที่เราได้รับมาแล้วเราก็อยากจะส่งพลังนี้คืนให้กับทุกคน 

 

การแบ่งแยกทางดนตรีและขาดการสนับสนุนคืออุปสรรคต่อความสุนทรีย์

เป็นเรื่องธรรมดาที่แต่ละคนจะมีสไตล์การจัด playlist โปรดที่ต่างกัน เพราะทุกคนมีความชอบที่แตกต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ Telex Telexs ได้เจอและบอกเล่าให้เราฟังคือการจำกัดความที่แบ่งแยกให้ดนตรีกลายเป็นเรื่องยาก เราจึงอยากรู้ความคิดเห็นของสมาชิกในวงเกี่ยวกับการแบ่งแยกที่ว่านี้

ออม : วัฒนธรรมการเสพดนตรีของแต่ละที่มันต่างกันค่ะ เท่าที่เจอคนไทยที่ฟังเพลงส่วนใหญ่เวลาตัดสินใจไปคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีแต่ละครั้งมักจะต้องรู้จักเพลงก่อน หรือรู้จักวงก่อน สิ่งที่ตามมาคือวงเล็ก ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักถูกหลงลืมเพราะคนไม่เปิดใจฟังเพลงวงที่ตัวเองไม่รู้จัก วงการดนตรีมันเลยไม่กว้าง ถ้าเราบอกว่าเป็นอินดี้บางคนก็จะไม่ฟัง แต่ถ้าเราแมสก็ยังมีคนที่ไม่ฟังอยู่ดี 

“เราอยากให้คุณชอบดนตรีเพราะมันคือดนตรี เลือกฟังเพลงที่ชอบ เพลงที่ถูกจริตเราก็พอ”

ออม : เหมือนเราโดนการแบ่งแยกมาเยอะ ถ้าแมสแล้วไม่ฟังแล้ว เอาที่ชอบถ้าเกิดว่ายังชอบอยู่อย่าจัดเราเลยว่าเราแมส

ในฐานะที่เป็นอาชีพนักดนตรี ต้องการการสนับสนุนจากรัฐหรือองค์กรหรือไม่ เพราะมันไม่ได้อยู่ในจุดที่เป็นอาชีพพึ่งพาตัวเองได้เต็มปาก และผู้ใหญ่ในประเทศมักจะมองข้าม

ปิ้ว : อย่างประเทศเราจะเล่นดนตรีกันในร้านเหล้า ซึ่งผมเห็นว่าประเทศอื่นอย่างอเมริกาหรือญี่ปุ่นเขามี Hall มี Live house โดยเฉพาะ ดังนั้นวัฒนธรรมการดูดนตรีของเขาก็จะแตกต่างไปจากบ้านเรา เขาจะมาดูวงดนตรีจริง ๆ ไม่ได้มาเพื่อดื่มหรือสนุกกับเพื่อน ถ้าเราทำให้คนดูใกล้ชิดศิลปินโดยไม่ต้องเมาประเทศเราไม่ได้มีอะไรแบบนั้นที่จะซัปพอร์ตนักดนตรี ทำให้วงการมันรันต่อไปได้

“เพราะการแสดงดนตรีสดไม่ควรอยู่แค่ในร้านเหล้า”

อยากฝากอะไรถึงผู้ใหญ่ไหม ?

ปิ้ว : ผมว่ารัฐบาลควรสนับสนุนวงการศิลปะดนตรีให้มากขึ้น บ้านเรายังติดอยู่กับความอะไรก็ไม่รู้หาทางออกไม่ได้สักที ด้วยหลายเรื่องมันทำให้ประชาชนหมดความหวัง และผมคิดว่าดนตรีกับศิลปะคือทางออก เพราะมันเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่าย สนุกไปกับมัน พร้อมเรียนรู้ให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ได้  

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line