Music

คิดถึง ‘เห็ดสด’ ครั้งแรก ฝันหวานถึง ‘Cat Expo’ ครั้งที่ 1 เปิดฟังเพลงของวงดนตรีในยุครุ่งเรืองของซีนดนตรีนอกกระแสไทยอีกครั้ง

By: GEESUCH September 13, 2022

ในปี 2022 วันที่วงการดนตรีไทยอุดมไปด้วย Young Blood & New Face ที่เก่งกาจเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ด้วยวัฒนธรรม Home Studio ซึ่งมีมากขึ้น เรียกว่าเทคโนโลยีดนตรีสมัยใหม่สามารถทำให้ใครก็สามารถเริ่มขึ้นเดโม่ จนถึงจบมาสเตอร์ที่คุณภาพประมาณนึงได้ในห้องนอนของตัวเอง 

คอนเสิร์ต ‘เห็ดสด’ ครั้งที่ 1 By ฟังใจ

ที่น่าชื่นใจของวงการดนตรีไทยในทุกวันนี้ คือการที่คำว่า MASS กับ INDY ไม่ได้มีกำแพงต่อกันสูงเท่าสมัยก่อนอีกแล้ว แต่คนฟังให้ค่ากับคำว่า MUSIC จริง ๆ มากกว่า โดยที่ถึงแม้ว่าการเดินทางของวงจากทั้ง 2 ฝั่งก็ยังเป็นแบบที่วงในค่ายใหญ่ (ซึ่งอาจจะสามารถใช้เรียก Main Stream ได้) ต้องทำเพลงออกมาขายผู้บริโภค รันธุรกิจของค่ายไปพร้อม ๆ กับความฝันของพวกเขาต่อไป ทางฟากตรงกันข้าม ในส่วนของวงอิสระ (ไม่ได้สังกัดค่าย และอาจจะเรียกด้วยคำว่า INDY ได้เช่นกัน) ก็ยังคงมุ่งมั่นทำเพลงในทุกวันเพื่อจะขยับเข้าใกล้คนฟังหมู่มาก ไปจนถึงการได้สำเร็จความฝันที่จะมี ‘แฟนเพลง’ เป็นของตัวเองได้ในที่สุด  

คอนเสิร์ต ‘CAT EXPO’ ครั้งที่ 1 By Cat Radio

จากประเด็นเรื่องของ MASS กับ INDY มันทำให้คนฟังเพลงวัยผู้ใหญ่อย่างเรา (พยายามหลีกเลี่ยงคำว่าแก่ล่ะ) คิดถึงวงการดนตรีของประเทศไทยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว (2014 – 2015) ในช่วงเวลาที่สตรีมมิ่งยังไม่รุ่งเรือง และผู้คนยังคงซื้อแผ่นซีดีอัลบั้มแลกเปลี่ยนกันฟัง ช่วงเวลาที่ซีนดนตรีนอกกระแสรุ่งเรืองในหมู่คนฟังแบบสุดขีด ทั้งการมาของเทศกาลดนตรีซึ่งรวมวงดนตรีนอกกระแสเอาไว้มากที่สุดของประเทศ Cat Expo ครั้งที่ 1 โดย Cat Radio ในปี 2014 ส่งต่อให้ในปี 2015 เป็นการถือกำเนิดของคอนเสิร์ต ‘เห็ดสดครั้งที่ 1’ โดย ‘ฟังใจ’ คอนเสิร์ตที่ Selected วงได้เก่งกาจอย่างที่ไม่มีใครเหมือน จนสามารถรวมกลุ่มคนฟังเพลงนอกกระแสที่ Voice Space ได้อย่างล้นทะลักและ Sold Out ทุกครั้งที่จัด หรือการมีอยู่ของ  PLAY YARD by Studio Bar บาร์ในลาดพร้าวซอย 8 สนามปล่อยของสำหรับวงอินดี้หน้าใหม่ และแหล่งรวมพลของคนชอบกินหมูกรอบ (ที่ปิดไปแล้วเมื่อปี 2019) ในช่วงเวลานั้น นิตยสาร Happening ถึงกับขนาดออกฉบับพิเศษที่ชื่อ ‘happening ‘New Indie’ เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า ณ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาของเพลงนอกกระแสขนาดไหน

ร้าน Play Yard By Studio Bar ลาดพร้าวซอย 8

happening ‘New Indie’

เขียนไปน้ำจะไหลไป คิดถึงช่วงเวลาแห่งเวทมนตร์ตอนนั้นจังเลย และคิดถึงการไม่ปวดหลังด้วย (อ้าว) ในฐานะที่เป็นคนทันช่วงเวลาซีนนอกกระแสรุ่งเรืองนั้น UNLOCKMEN ขอพาทุกคนย้อนไปในอดีตอีกครั้ง พร้อมกลับไปฟังเพลงเก่า จากวงหัวแถวของช่วงเวลานั้น ที่ในวันนี้ไม่ได้ทำดนตรีออกมาแล้ว แต่เพลงของพวกเขายังบรรเลงดังก้องในใจของแฟนคลับเสมอ


Part Time Musicians

ก่อนจะมี Temp. กับบทเพลงรักแสนหวานแห่งดวงจันทร์ ‘Moonshine’ ให้เราฟังกันอย่างทุกวันนี้ นี่คือต้นกำเนิดของผู้ชายที่ชื่อว่า ‘นิค-ธาฤทธิ์ เจียรกุล’ ในฐานะมือกีตาร์และนักร้องนำของ Part Time Musician วงดนตรีที่ก่อตั้งคู่กับเพื่อนสนิท ‘จิน-วรเมธ มตุธรรมธาดา’ และเป็นวงแรกของค่าย Rats Record ที่จุดกระแสให้การร้องเพลงสากลในวงไทยกลายเป็นกระแส ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับวงรุ่นใหม่ ๆ อย่าง Phum Viphurit, Yonlapa, KIKI หรือ H3F

จนถึงปัจจุบันนี้ แนวดนตรีของ Part Time Musicians ที่จำกัดความได้ประมาณว่าเป็น Indy Flok ก็ยังถือว่าโดดเด่นมากในบ้านเรา ด้วย Mood & Tone ที่มีความวินเทจเก่า ๆ ผสมผสานกับการเรียบเรียงสัดส่วนความอะคูสติกใส่เข้าไปในบทเพลง ทั้งจากเครื่องสายและกีตาร์โปร่ง มาพร้อมกับเมโลดี้กีตาร์ไฟฟ้าสุดไพเราะ ไลน์เบสกรูฟ ๆ ผสมกับไลน์กลองที่มินิมอลหน่อย ๆ และอีกสิ่งที่แฟน ๆ เพลงของวงน่าจะหลงรักเหมือนกัน คือเสียงของ ‘แพท-วรรณรดา วิชัยธนารักษ์’ นักร้องนำหญิงคู่กับนิค ที่นอกจากเอกลักษณ์ในน้ำเสียงและวิธีการร้องแล้ว ยังคอยเติมเต็มความลงตัวในแบบที่วงขาดใครคนนึงไปไม่ได้เลย 

แต่ไม่ใช่แค่ดนตรีเท่านั้น วงดนตรีวงนี้ยังโดดเด่นด้วยงานเอ็มวี ที่เลือกใช้คนเล่าเรื่องราวจาก House ชื่อดังของปัจจุบัน ซึ่งในตอนนั้นเพิ่งจะเริ่ม ๆ สะสมชื่อเสียง ไม่ว่าจะ Hello Flim Maker สายเล่าเรื่องเข้มในเพลง Message In A Bottle หรือ Eye Droper Filed งานทดลองแห่งแสงในเพลง The Haunted House เป็นต้น

หลังจากที่ทางวงใช้คำว่า “พักวงในช่วงเวลาที่ดีที่สุด” ตอนปี 2015 เมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนในงานคอนเสิร์ต Temp : CozyWeather ของวง Temp ก็มีการรียูเนี่ยนเล็ก ๆ เกิดขึ้น เมื่อแพทและนิคกลับมาร้องเพลงรักที่คนจดจำวงได้ดีที่สุด The Only One ด้วยกันอีกครั้ง ทำให้เวลาพาร์ทไทม์ที่ตอกบัตรหยุดเดินไปแล้ว กลับมาขยับอีกครั้ง แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาไม่ถึง 3 นาที แต่นั่นก็งดงามมากแล้วสำหรับแฟนคลับที่ติดตามพวกเขามาโดยตลอด

** Recommend Track : Message In A Bottle, Vacation Time, Magic Rhyme, The Only One **  


Chanudom

วงที่มีจุดเริ่มต้นจากโปรเจคต์ Hedwig and the Angry Inch ของ ‘พัดชา-ชนุดม สุขสถิตย์’ และ ‘ก้อย-รัชวิน วงศ์วิริยะ’ ต่อยอดจนเป็นวงสมาชิกหลัก 3 คน ชื่อ Chanudom ซึ่งที่มาของชื่อมากจากชื่อจริงของคุณพัด ด้วยแนวดนตรี Rock สุดเปรี้ยวที่ไม่มีใครเหมือน อะเรนจ์อัจฉริยะ ซาวด์ดีไซน์ยอดเยี่ยม เสียงร้องทรงพลัง และสำหรับเรานี่คือวงดนตรีที่เล่นสดได้ดีที่สุดวงหนึ่งของไทย และครั้งนึงในช่วงซีนเพลงนอกกระแสรุ่งเรืองนั้น พวกเขาก็ถูกเรียกว่าแบบนี้จริง ๆ  

อัลบั้มเต็มที่ชื่อ ‘โลกที่สาม (2018)’ ที่ออกในสังกัดของค่าย What The Duck เรียกว่าทั้ง 11 เป็นงานคุณภาพที่พลาดไม่ได้ ด้วยซาวด์สุดอินเตอร์ที่บันทึกใน Studio 28 ส่วนโปรดักชั่นแพ็คเกจ+ปก ก็งดงามไปด้วยความเมามันส์จากฝีมือของกราฟิกสไตล์จัดของวงการดนตรีชื่อ DOGKILLMEN

ปัจจุบันสมาชิกทั้ง 3 ของ Chanudom ไม่ได้กลับมาทำเพลงด้วยกันเลยตั้งแต่ปี 2018 คุณพัดเป็นศิลปินเดี่ยวในนาม Patcha แต่สำหรับแฟนของวงนี้ คงไม่มีทางลืมค่ำคืนคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวของ Chanudom ที่ถูกจัดโชว์โดยกลุ่มจัดปาร์ตี้สุดเปรี้ยว DUDESWEET โชว์อันเป็นที่ติดตาติดใจของผู้คนจนถึงทุกวันนี้ 

** Recommend Track : เลือดชั่ว, คนบาป, นางสาวปรารถนา, ชนุดม **


Mattnimare

ที่สุดแห่งความทรงพลังตำนานวงอินดี้ Rock ขวัญใจสาย Emotion วงที่ดนตรีด้วยการเรียบเรียงของ ‘ซุง-ดาการ ฉัตรแก้วมณี’ มีความอลังการและ Powerful ต่อความรู้สึกของคนฟัง ในขณะที่เนื้อร้องผ่านการถ่ายทอดของ ‘ว่าน-ปรีติ์ อัศวรักษ์’ ก็แฝงด้วยความหมายของชีวิต การเติบโต การผ่านพ้นไปของความรัก และถ้าใครเคยดูการเล่นสดของวงนี้ ก็จะรู้กันว่าหนึ่งในไฮไลท์หักของโชว์อยู่ที่การต่อยหนังสแนร์ของ ‘บาบูน-บริบูรณ์ วีระวงศ’ ผู้เป็นมือกลองของวง 

Mattnimare กลายเป็นวงที่อยู่ในความทรงจำถาวรของแฟนเพลงไปแล้ว หลังจากที่จัดคอนเสิร์ตอำลาไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในชื่อว่า ‘Budweiser Presents MATTNIMARE ความทรงจำถาวร’ และเมื่อเป็นความทรงจำถาวร เพลงของพวกเขาก็จะบรรเลงอยู่ในใจเราตลอดเวลา 

** Recommend Track : ความสุข, รอยต่อ, ความรัก, ความทรงจำถาวร **


Jelly Rocket

เป็นวงที่จุดไฟแห่ง Alternative Rock กลับขึ้นมาอีกครั้ง เกิดจากการรวมตัวของสมาชิก 3 คน ‘ปั้น – นลพรรณ อัมพุช (ร้องนำ)’, ‘ภัค – ณภัค นิธิพัสกร (คีย์บอร์ด)’, ‘โม – ชุติกาญจน์ อิสสระเสรี’ ที่ตั้งแต่ปล่อยซิงเกิ้ลแรก How Long ในปี 2014 ก็โด่งดังขึ้นแบบก้าวกระโดดมาก ๆ บวกกับการขยันทำเพลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อนึกถึงภาพของซีนดนตรีนอกกระแสยุครุ่งเรือง ก็ต้องมีภาพของ Jelly Rocket อยู่ในนั้นด้วย

เอาจริง ๆ เพลงของ Jelly Rocket สามารถอธิบายรูปร่างของดนตรีที่วงทำได้อย่างชัดเจนที่สุดแล้ว ในขณะที่เป็นดนตรี Rock อันหนักหน่วง ก็มีเมโลดี้ และท่วงทำนองของการร้องที่แสนหวานในเวลาเดียวกัน รวมถึงเนื้อเพลงที่แสดงถึงความเปราะบางของคน ๆ หนึ่งก็เช่นกัน

หลังจากปล่อยอัลบั้มเต็มอัลบั้มเดียวที่ชื่อ Lucid Dream ในปี 2017 วง Jelly Rocket ก็ไม่ได้กลับมาทำเพลงด้วยกันอีกเลย แต่ยังคงเดินบนเส้นทางของดนตรี ในแบบที่ต่างกันออกไป ปั้นกลายเเป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงของวง LUSS และ ‘ภัค’ ทำเพลงในฐานะศิลปินเดี่ยวในชื่อ Fluffypak 

** Recommend Track : This is Real, How Long, Stay, ลืม **


Monomania 

อีกวงดนตรีที่เราคิดถึงจากค่าย Panda Record ของ ‘ป๊อก วรรณฤต พงศ์ประยูร’ (Stylish Nonsense) สุดยอดวงดนตรีแนวทดลอง ที่มีส่วนผสมของทั้งความล่องลอยแบบแนวดนตรี Psychedelic, Post Rock ไปจนถึงความเกรี้ยวกราดแบบ Alternative Rock ผ่านการเรียบเรียงอย่างมีฝีมือของสมาชิกวงทั้ง 5 ที่จบจากมหาวิทยาลัยมหิดลคณะดุริยางคศิลป์ 

แม้สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นแฟนเพลงของวง Monomania ที่มีอัลบั้มเต็มแรกในชื่อ Another Side Of Human ในปี 2014 แต่ก็น่าจะมีความคุ้นหูกับเพลง ‘รุ้งสีเทา’ ที่ได้ ‘แพท-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช’ มาแสดงบทนำในเอ็มวีให้ ซึ่งประกอบกับเพลงที่มีดนตรีเนื้อหาและดนตรีอันแสนงดงามนี้

Monomania เป็นอีกวงที่ขึ้นชื่อว่า ‘ต้องไปดูเล่นสดให้ได้’ ที่ถึงแม้ตัววงจะไม่ได้มีเพลงเร็วสักเท่าไหร่ และแม้ตัววงจะอุดมไปด้วยเพลงจังหวะปานกลางค่อนไปช้า แต่เขาก็จัดเต็มเพอฟอร์มได้ทรงพลังทุกครั้ง จนเหมือนวิญญาณของเราถูกดูดเข้าหาวง และพวกเขาก็ปลดปล่อยให้คนฟังเป็นอิสระ

** Recommend Track : รุ้งสีเทา, บ้านผีสิง, ภาพฝัน **


นอกจาก 5 วงดนตรีนอกกระแสที่เราอวยยศอย่างแสนรักแล้ว จริง ๆ ก็ยังมีอีกหลายวงมาก ๆ ๆ ๆ ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในยุคนั้น บ้างทำเพลงอยู่ บ้างก็เลิกทำเพลงไปแล้ว บ้างก็กลายเป็นวงหัวแถว อย่าง Zweed’n Roll เอง ในสมัยก่อนก็เล่นเพลงสากล+ไทยเจ๋ง ๆ (Radio Head, Cold Play) ประจำอยู่ที่ Play Yard ในคืนวันพฤหัสบดี มีวงจาก Panda Record อย่าง Summer Dress, Beargarden วง ‘อัศจรรย์จักรวาล’, Gorn Clw ไปจนถึงศิลปะสุด ๆ อย่าง Plot ล้วนถูกบรรจุอยู่ในช่วงเวลานั้นทั้งหมด

คอนเสิร์ต Stone Free

จะกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาที่วงการดนตรีในประเทศไทยมีการทดลองของแนวเพลงมากที่สุดก็ไม่ผิดนัก แถมยังมีผู้คนที่พร้อมจะรับฟังจำนวนไม่น้อยทีเดียว จึงทำให้มีการถือกำเนิดของคอนเสิร์ตเท่ ๆ อย่าง Stone Free ที่ราวกับเป็น Wood Stock ของไทย … คิดย้อนไปแล้ว ก็ดีใจเหลือเกินที่เราเคยมีช่วงเวลาแบบนั้น และพูดได้เต็มปากว่าการมีอยู่ของวงเหล่านี้ ได้เป็นรากฐานบางอย่างให้กับการมีอยู่ของซีนดนตรีไทย Indy ที่เข้าสู่คนฟังหมู่มากขึ้น ของทุกวันนี้

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line