Business

CONVERSATION WITH “อ๊อยซ์ – วรามล” ผู้หญิงเก่งเจ้าของแบรนด์เครื่องหนัง “OYSTER FOOTWEAR”

By: anonymK February 26, 2018

ครั้งหนึ่งในชีวิตเราอาจได้รู้จักผู้หญิงที่ชื่นชอบรองเท้า กระเป๋า ที่พร้อมจ่าย กี่คู่กี่ใบก็สู้ เท่าไหร่ก็เท่ากัน แต่คงไม่ค่อยได้เจอกับสาวที่มีรองเท้าหนังหลายร้อยคู่และกระเป๋าหนังหลายใบที่เก็บไว้ที่บ้าน แต่ไม่ได้ใช้งานเองและไม่ได้เก็บไว้ดูเล่น หากอยู่ในฐานะของ “ไฟ” หรือ “แรงบันดาลใจจากความรัก” ที่เธอออกแบบไว้ส่งต่อให้ลูกค้าคนสำคัญจากแบรนด์ Oyster Footwear แบรนด์ที่เธอปลุกปั้นเอง

และถ้า Sterilization เป็นคำใช้กำกับกระบวนการผ่านความร้อนปลอดเชื้อที่ทำให้อาหารอยู่ได้นานคงทน สิ่งที่ วรามล ชนะกิจการชัย หรืออ๊อยซ์ สาวนักดีไซน์น่าค้นหาคนนี้ใช้เป็นกระบวนการพาแบรนด์ให้เติบโตยาวนานหลายปีคงต้องยกให้กับคำใหม่นอกพจนานุกรมคือ “Leatherization” หรือ การใช้ “ความรักหนัง” บ่มเพาะแบรนด์ หลายประเด็นที่เราเลือกมาฟอกผ่านการสนทนาจะเผยมุมลึกชวนให้คุณต้องหลงรัก แม้เครื่องหนังรองเท้ากระเป๋าที่เป็นโปรดักส์ส่วนใหญ่ของเธอจะเป็นของใช้ของผู้หญิงก็ตาม

 

ทำเพาะรัก ทำเพราะรัก

ออกจะเป็นคำถามสามัญทุกบทสัมภาษณ์ เมื่อเราถามถึงบทบาทของอ๊อยซ์ก่อนจะก้าวมาเป็นผู้ก่อตั้ง “Oyster Footwear” อย่างที่เราบอกว่าผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจของพวกนี้เท่าไหร่ แต่ก็ละสายตาไม่ได้ในเสน่ห์ของความดิบกับคำพูดที่ออกมาจากเสียงนวล ๆ เพราะทุกคำพูดจริงใจ กระแทกใจจากเหตุผลสองอย่าง คือ “อิ่มแล้วงานประจำและโหยหาแพชชั่นภายใน”

“จริง ๆ เริ่มทำรองเท้าที่เริ่มทำมาได้เพราะมี 2 อย่างคือ ค่อนข้างเบื่องานประจำแล้ว ตอนแรกเราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาก่อน ก็ทำงานมาอยู่ประมาณ 5 ปีเนี่ยแหละ มันก็เริ่มเบื่อ เริ่มถึงจุดอิ่มตัว บวกกับความที่เราชอบซื้อรองเท้า กระเป๋าด้วย ค่อนข้างที่จะชอบเครื่องหนังเป็นพิเศษค่ะ ก็เลยเริ่มศึกษา

เริ่มจากการเดินหา material มันก็จะมีตลาด material อย่างเจริญรัตน์หรือว่าเสือป่า ที่มีทั้งหนังพียู หนังจริง มันมีหลายร้านมาก ก็ดูทุกร้าน เดินเยอะมาก เดินเกือบทุกวัน จนเราค่อนข้างสนใจเลยเริ่มหาคอร์สเรียนทั้งรองเท้ากระเป๋าก่อน”

 

ความฝันที่เป็นจริงต้องกินได้ มุมความแกร่งหักเหให้ยื่นซองขาว

“มันเหมือนมันมี 2 ทางถูกไหม แล้วเราจะไปอย่างนี้ทั้ง 2 ทาง? คือตอนนั้นเราคิดว่าเราต้องเลือกทางใดทางหนึ่งแล้วแหละ เพราะว่างานประจำมันก็อยู่ตัวของมัน มันค่อนข้างเป็น routine แล้วว่ามันต้องทำแบบนี้ ได้งานมาทำไป บวกกับความชอบเครื่องหนัง คือเลือกงานรองเท้าเพราะว่าเราได้คิด

นึกถึงตอนแรกที่เราทำ มันไม่ได้คิดไง คิดแค่ฉันอยากใส่อย่างนี้เราก็ออกแบบอย่างนี้ แต่ตอนหลังพอเปลี่ยนความคิดใหม่ทำเป็นคอลเลคชัน กลายเป็นว่าเราได้คิด เรากลายเป็นกราฟิกที่เราทำงานประจำ เราเอาสิ่งที่มีมาใส่ในงานของเราเองได้ แล้วพอเราคิด ใส่สตอรี่เข้าไปในแบรนด์ หรือว่ามีอะไรที่ลูกค้าได้เห็นมากขึ้น มันก็ขายได้ดีขึ้น มันก็สามารถที่จะทดแทนงานประจำได้…ออกดีกว่า

 

ทำไมต้อง OYSTER? แท็คติกภาพจำทั้งคนทั้งของ

เราอยากเรียกว่าเธอเป็นสาวขี้เล่น เป็นคนมีของ แต่ไม่รู้จะเอนน้ำหนักให้ข้างไหนมากกว่า เพราะเรื่องหนึ่งที่เราคิด เราสงสัย จากคำถามข้างบน เธอตอบด้วยคำพูดง่าย ๆ แต่กระตุกต่อมคิดเราด้วยคำตอบไม่ง่าย เพราะสร้างสตอรี่ไลน์ให้ยิงทีเดียวได้หมด ทั้งความสงสัย ฟังก์ชั่น และภาพจำ

“แบรนด์ทั่วไปเขาก็จะตั้งชื่อตามเจ้าของใช่ไหม แต่จริง ๆ เราก็ไม่ได้ตามเจ้าของหมดนะ คือเราชื่อ อ๊อยซ์ ที่ไม่ได้มาจากหอยนางรม แต่ว่าเราดึงชื่อเราไปเป็นคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ คือ Oyster เราเปรียบเท้าผู้หญิงเหมือนเป็นไข่มุก แล้ว Oyster เหมือนเป็น Oyster shell เปลือกที่ปกป้องเท้าผู้หญิง

ความพิเศษของเราอยู่ที่รองเท้ามันเล่นกับสรีระคน เล่นกับกระดูกคน ออกแบบมาให้สวยมันก็อย่างนึงแหละ แต่ว่าทำยังไงให้มันใส่ความรู้สึกในการใส่เนี่ย มันยาก เราต้องทดลองเอง ถึงเราซื้อรองเท้ามาเยอะ ซื้อแบรนด์อื่นมาเยอะก็จริง แต่การออกแบบมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันไม่ใช่แค่ดีไซน์ตรงนี้ส่วนนี้ มันต้องจับต้องได้ด้วย กว่าเราจะออกแบบได้สักคู่นึงมันก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน จริง ๆ แล้วตรงนั้นคือสิ่งที่ยากที่สุดของการออกแบบ”

 

กราฟิกดีไซน์ที่หลงรักงานดีไซน์ แต่ไม่เคยเรียนแฟชั่นดีไซน์

“จริง ๆ ชอบดีไซน์มากไม่ว่าจะดีไซน์อะไรทุกอย่างในโลก คือชอบการดีไซน์ ก็เริ่มหาคอร์สที่เหมาะกับดีไซน์ในไทยนะคะ เรียนไปประมาณ 2-3 คอร์ส แล้วก็เริ่มทำแบรนด์ตัวเองขึ้นมา

ตอนแรกเราดีไซน์จากตัวเรา ก็ไม่ได้รู้อะไรมากมาย แต่ว่าเราทำรองเท้าได้ ขึ้น pattern เป็น ดีไซน์ตอนนั้นเราออกแบบด้วยการลองตัดหนังจริง เอามาเทียบกับหุ่น ใช้ material มาเล่นกับมันก่อน ค่อยสเก็ตช์ตามมา แล้วก็ไปปรึกษาช่างทำรองเท้าเลยว่าแบบนี้ได้ไหม ถ้าเราขึ้นตรงนี้คืออันนั้นทำ pattern ได้ก็ทำ pattern ไปเลย ก็บอกเลยว่าเราอยากได้แบบนี้

มันก็ไม่ตอบโจทย์หรอก ที่เราเรียนรู้ ศึกษาด้วยตัวเอง และเริ่มเรียนที่สถาบันด้วย กระทั่งมาทำแบรนด์ของตัวเอง ก็เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าได้อยู่กับช่างฝีมือหรือคนในวงการ เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง แต่การเรียนไม่เหมือนการทำแบรนด์จริง ปัญหามันเยอะมาก มันจุกจิก เราไม่เคยเห็นดีเทล ไม่มีใครช่วยเราได้เพราะเราทำรองเท้าตัวเองไง เราก็ได้แต่ปรึกษา แล้ว search google มันก็ช่วยไม่ได้ไหม เราก็พยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก็เริ่มทำไปก่อน เรื่องที่ยากที่สุดก็คือเราเปลี่ยนจากกราฟิกมาเป็นแฟชั่น ก็ค่อนข้างยากอยู่เหมือนกัน พอเปลี่ยนแล้วความคิดเราก็ต้องเปลี่ยนตาม”

 

 “ของเลียนแบบ” ความปวดใจของคนใช้ความคิด

“จริง ๆ คือที่เรียน ๆ มา มาทำแบรนด์แล้วก็หยุดไปเรียน เรียนรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับพวกนี้ประมาณเกือบ 3 ปีค่ะก่อนที่จะเริ่มทำแบรนด์จริงจัง และ ทำคอลเลคชันจริงจัง น่าจะเกือบ 3 ปี ทั้งเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย ไปเรียนน่าจะเกือบ 4 ที่ ที่ไปเรียนมาทั้งเมืองไทยและไปเรียนต่อที่มิลาน

ตอนนั้นที่เจอปัญหา เราไม่ได้มีความรู้แฟชั่นมากมาย เราก็ยังมีคนก็อปเยอะแยะมาก คือก็ไม่เข้าใจ ช่วงนั้นมีคนก๊อปเยอะ ทั้งที่เราก็ไม่ได้เป็นแบรนด์ดังนะ เราทำเหมือนเป็นงานอดิเรกด้วยซ้ำ เพราะว่าตอนนั้นทำงานประจำอยู่ แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ใคร ๆ ก็ก็อปได้หรอ?

เลยเริ่มด้วยการที่ดูดีไซน์เนอร์คนอื่นว่าดีไซน์เนอร์เมืองนอกปกติเขาทำยังไง แบรนด์มันจะเป็นคอลเลคชันใช่ไหม? ด้วยความที่เรามีดีไซน์เนอร์ที่เราชื่นชอบและมีแบรนด์ที่เราชื่นชอบ เราเริ่มหาที่เรียนจากพวกดีไซเนอร์พวกนี้ว่าเขาจบที่ไหนมา แล้วก็ตาม คือเหมือนเป็น shortcut เพราะไม่อยากเสียเวลาอีกแล้ว ในการที่เรียนแล้วไม่รู้ว่าที่นี่มันจะโอเคหรือเปล่า

การทำคอลเลคชันเนี่ยมันจะเลี่ยงการก็อปได้ ก็อปก็ก็อปไปสิ เพราะว่าฉันออกมาแล้ว แต่ว่ากว่าจะก็อปได้เนี่ยมันก็ 2-3 เดือนไง ไม่ใช่เดี๋ยวนั้น แล้วพอ 2-3 เดือนเขาก็เปลี่ยนคอลเลคชันใหม่แล้ว เรื่องนี้มันก็เลยเหมือนเราค่อนข้างงงกับตัวเองเหมือนกันว่าฉันอยากจะทำกราฟิกหรือฉันอยากทำแบรนด์ หรืออยากจะเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์ ก็เลยเริ่มตัดสินใจไปเรียน

สุดท้ายเราเลือกไปเรียนเกี่ยวกับรองเท้าและกระเป๋าโดยเฉพาะ ไม่ใช่แฟชั่น แต่ว่าหาคอร์สที่มันคิด เน้นคิด จริง ๆ แล้วพอเราได้ก้อนความคิดนี้มาแล้วว่ามันคิดยังไง มันก็สามารถทำอะไรได้หมด การไปครั้งนี้เลยเหมือนไปดูว่าดีไซเนอร์เมืองนอกเขาทำยังไงมากกว่า”

 

หาแรงบันดาลใจที่ใช่ไกลจากสิ่งที่ชอบ คอลเลคชันแบบ Oyster Footwear

“ปีหนึ่งเรามีแค่ 2 คอลเลคชัน คือ summer กับ winter คอลเลคชันมันก็แตกต่างกัน แต่ว่าทุกอันเราจะมีคอนเซ็ปต์ครอบไว้ คอนเซ็ปต์ของเราคือ Turn everythings to the piece of art ซึ่งเราชอบความเป็นสถาปัตย์ ความเป็น art installation คืออันนี้เวลาเราไปดูงาน museum เราจะเกิด inspire เยอะมาก ซึ่งอันนี้แล้วแต่คนด้วยแหละว่ายังไง

เราชอบไปดู contemporary art หรือว่า workshop ให้มันเกิดเป็น inspire ขึ้นมา ในการทำคอลเลคชันใหม่ ๆ เนี่ย ค่อนข้างจะไม่ดูรองเท้า ไม่ดูกระเป๋าเลย ในเนต ใน pinterest จะไม่แตะเพราะเราจะตาม ความเป็นแฟชั่นมันจะไป lead ทุกอย่างให้ตาม เราจะเปลี่ยน เราจะดูดีเทลพวกเสื้อผ้า รอยเย็บอย่างนี้มากกว่า หรือไม่ว่าจะเป็นการปั้น คือมันจะ inspire เรามากกว่า มันจะมองเห็นสิ่งที่ต่างไป คือจริง ๆ มันไม่ใช่แค่ว่าเราคิดว่าคอลเลคชันนี้ทำอันนี้ดีกว่า เพราะมันไม่ได้ คิดมา 10 อย่างมันจะได้แค่เสี้ยวนึง คือต้องคิดเยอะ เราก็ลองทำไปเรื่อย ๆ สเก็ตช์ไปเรื่อย ๆ แล้วก็ลองโน้ตดูว่าชอบอะไร

เราชอบสถาปัตย์ เราก็ชอบดู magazine สถาปัตย์ ก็ค่อนข้างที่จะดูพวกโครงสร้างต่าง ๆ เก็บภาพเรียงกันมาเป็น mood board พอเห็นภาพนั้นแล้วมันจะ transfer มาเป็นไอเดียเราได้ ค่อยมาเลือก ค่อยมาดูว่าเราสามารถที่จะดึงอะไรมาใช้ได้ แล้วก็สามารถที่จะมาเล่นอะไรได้บ้าง แล้วก็ลองขึ้นแบบจริง ๆ มาดู ลองทำ pattern มาดูว่าใส่ได้จริงไหม ไม่ใช่ทำมาแล้วใส่ไม่ได้ ซึ่งมันก็มี มีเยอะเลย ที่ทำมาแล้วเราอยากได้ตรงนี้เว้าขึ้นมาสูงเท่านี้ พอขึ้นมาแล้วใส่ไม่ได้ เพราะว่าเท้าคนเราจะงอ มันก็ไม่ได้ (มันจะสวยอย่างเดียวไม่ได้?) มันก็ได้นะถ้าทนได้ แต่อย่าทนดีกว่า

 

จุดแข็งต้นทุนเดิมและจุดอ่อนที่เติมได้เพราะ No one perfect

“เราคิดว่ามันค่อนข้างจะ link กันได้อยู่นะ เพราะว่าระบบความคิดของการทำกราฟิกอย่างเช่นการสร้างแบรนด์ การทำ CI corporate ต่าง ๆ มันค่อนข้าง link กันได้ เวลาเราทำกราฟิกเราไม่ได้คิดว่าจะทำแล้วเราก็ทำเลย เราคิดเป็นก้อนกลม mindmaping ก่อนทุกอย่าง แล้วมันก็จะโยงออกมาว่าเราจะใช้ไอเดียแนวไหนในการทำกราฟิก ในการวาง layout หรือว่าการทำ style ไหนขึ้นมา แล้วก็ให้คนที่เห็น ให้ audience ที่เห็น เขาอยากเห็นภาพไหนออกมา ในรูปแบบ corporate poster หรือว่าในงานออนไลน์ต่าง ๆ อย่างนี้ มัน link กับ แบรนด์ได้ เพราะว่าเราสื่อได้ว่าอยากให้ลูกค้าเห็นเราในแบบไหน

ด้วยความที่ศูนย์กลางของแบรนด์เป็นเรา คือทุกคนไม่ได้ perfect ทุกอย่างหรอก เราก็มีด้านที่แย่เรื่อง marketing ก็มีที่ปรึกษาอยู่ ไม่ใช่ทำคนเดียวทั้งหมดทุกอย่าง มันก็จะมีคนให้ปรึกษา จ้างฟรีแลนซ์ แต่ความเป็นกราฟิกมาก่อนทำให้เรารู้เรื่อง process เฮ้ย! ตอนนี้ต้องมีไทม์ไลน์ มีช่วง brainstrom ที่สเก็ตช์เยอะมาก มาก มาก มาก! แล้วก็ช่วง develop prototype ก็จะไปอยู่คลุกกับโรงงาน ทำโน่นทำนี่ขึ้นมาใหม่ คือพอหลังจากเรียนแล้วแบบเดียวมันไม่ได้ คือรองเท้าเสียเยอะมาก เสีย ๆ ๆ! แล้วเราก็ทำใหม่ ๆ ลองใช้ พอผลิตเสร็จ จากนั้นเข้าช่วงถ่ายภาพคือเราก็อยากทำสไตลิสต์ด้วย เพราะเราชอบด้านนี้ เราก็เลยคุมเองทุกอย่าง ไดเรคชั่นแบรนด์จะเป็นแบบไหน ส่วนเรื่อง marketing เราก็จะมีคนช่วยทีหลัง แต่ว่าขอเป็นก้อน พอก้อนนึงจบ ภาพลักษณ์ของคอลเลคชันนี้ออกแล้วค่อยส่งต่อ

อาจจะดูหัวหมุนใช่ไหม แต่ว่ามันก็ไม่แย่มาก เราอยากให้มันรันแบบนี้ไปก่อน คอลเลคชันนี้มีความคิดของเราอยู่แล้ว ก็อยากให้มันเป็นแบบนี้ ไม่อยากให้มันหลุด”

 

Customize ใช่จะเวิร์ก ตามใจไม่ใช่ DNA

“เคยทำ Customize ไหม? สมัยนั้นก็เคย เพราะเราคิดว่าลูกค้าคงอยากได้อะไรเป็นของตัวเองขึ้นมา แต่พอทำคอลเลคชันขึ้นมาแล้วเนี่ย เราหยุดทำตรงนี้ เพราะว่ามันจะหลุดคอนเซ็ปต์ ลูกค้าก็จะเล่นสีมากมาย จะให้แนะนำว่าสีนี้ไม่เหมาะก็คงพูดยาก เขาจะยืนยันว่าใช้สีนี้ เราเลยตัดปัญหาให้งานออกมาดีที่สุด ใส่ได้ตลอดด้วยการกำหนดสีแต่ละคอลเลคชันเลย เพราะว่าเราคิดมาแล้วว่าคอลเลคชันนี้ สีที่ได้มามาจากไหน มันก็จะมีสีเท่านี้ แต่ว่ามันจะมีเป็น season ให้เล่นสีได้ อย่างเช่นแบบ โอเค season นี้จะแมชสีนี้ขึ้นมาเป็นอีกโมเดลนึงขึ้นมาใหม่”

 

บุกยุโรป! ก้าวต่อไปของรองเท้าหอยนางรม

“แพลนในปีนี้ช่วงคอลเลคชันใหม่จะไปวางโชว์ที่ยุโรปด้วย แต่ว่ารอดูก่อน เพราะว่ายังไม่แน่ใจตลาด ตลาดเอเชียโอเค คือดีไซน์โอเคเขาชอบ แต่ว่าต้องลองดูตลาดยุโรปว่าจะเป็นยังไง


จากปีที่แล้วขายจีนเป็นหลัก แล้วไซส์ของคนจีนจะแปลกมาก ไซส์เท้าไซส์ 33-34 ไซส์เล็กมาก ก็ค่อนข้างที่จะต้องเปลี่ยนไลน์ แล้วก็เพิ่มไซส์ขึ้นมาเพื่อจะรองรับเขา ถ้าจะไปขายพวกยุโรปหรือว่าอเมริกาเนี่ยไซส์เราก็จะต้องเปลี่ยนหุ่นตัว หุ่นรองเท้าตาม คือจะต้องทำทุกอย่างให้มันดู standard ที่สุดก่อน”

 

สู้หมดตักกับความรักเครื่องหนังแต่ไม่หมดแม็กซ์การ UNLOCK ตัวเอง

ที่จริงแล้วเราอยากเป็นศิลปินที่เป็นแบบ mix media คือจริง ๆ จะเอาเรื่องนี้มาใช้ในคอลเลคชันต่อไป มันก็จะมีความ mix media มากขึ้นแล้วแหละ เก็บเป็นความลับไว้ก่อน เราจะเล่นอะไรมากขึ้นกว่าหนังที่มีอยู่ ตอนแรกที่เราทำคอลเลคชันแรกขึ้นมามันเป็นหนังล้วน แล้วเราก็เล่นเรื่องนี้มาเรื่อย ๆ จนอยากมี media อื่น แล้วก็ไม่ใช่แค่รองเท้า ไม่ใช่แค่กระเป๋า จะเปลี่ยนเป็นเหมือนงาน art แล้วก็ผสมกันกับงานรองเท้า ให้มันดูเหมือนไม่ใช่ของใส่อ่ะ ไม่ได้เหมือนรองเท้าที่ใส่ได้ เหมือนเล่นเป็นงาน art ขึ้นมาชิ้นนึงเลย งงไหม ? เวลาเราเข้าไปใน museum แล้วก็เจองานที่เข้าไม่ถึง อย่างนั้นเลย อีกเรื่องที่คิดไว้คือเรายังไม่เคยมีงานเปิดตัวมาก่อน คิดว่าจะทำเป็นเหมือน gallery แล้วก็มี runway ขึ้นมา

 

สเปคสาวนักทำรองเท้า “คนทำรองเท้า ชอบมองรองเท้ามากกว่ามองหน้า”

“ตลอดเวลาอ่ะ (หัวเราะ) กลายเป็นนิสัยเสียเนอะ เวลาเรามองคนเรากลายเป็นมองรองเท้าก่อน รองเท้ามันบอกคนได้นะ จริง ๆ ชอบดูการแต่งตัว ไม่ใช่รองเท้าอย่างเดียว ชอบให้มันแมชทั้งตัวเอง แต่ว่ารองเท้าบอกคนได้ ก็อย่างเช่นคนที่ชอบสตรีทก็จะใส่ sneaker อยู่แล้วมันเป็นปกติ แต่ว่าส่วนมากเราจะชอบดูรองเท้าหนังมากกว่า ถ้าเป็น sneaker เราจะไม่แตะเลย เพราะว่าส่วนตัวเราเข้าไม่ถึง ใส่แล้วก็รู้สึกไม่มั่นใจด้วย

ถ้าเป็นผู้ชาย จะชอบดูรองเท้าหนังที่ไม่เนี้ยบนะ (หัวเราะ) จะชอบการใช้งานมาแล้ว เพราะว่าหนังมีเสน่ห์ในการใช้งาน คือมันจะมีความรอยย่น เดินแล้วสีมันจะเปลี่ยน อย่างเช่นซื้อมาเป็นสีน้ำตาล น้ำตาลอ่อน ก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม มันก็จะดูออกแหละ เหมือนใช้กระเป๋าสตางค์ เวลามันเสียดสีกับผ้ามันก็จะเปลี่ยนสีของมันเอง มีเสน่ห์ตรงนั้น ที่สำคัญคือชอบความแมชชิ่ง ไม่ใช่ใส่สแลค ใส่สูท แล้วแบบรองเท้าผ้าใบ จริง ๆ มันก็ได้นะ แต่ความรู้สึกเรามันไม่ได้ไง เฮ้ย! คุณต้องใส่หนังว่ะ แต่ว่าถึงจะเป็นหนังก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเนี้ยบ ไม่จำเป็น ใส่เสื้อยืดก็ได้ กางเกงสแลคก็ได้

สำหรับชาว UNLOCKMEN ที่อยากติดตามผลงานการออกแบบของเธอ หรือทำความรู้จักเธอผ่านของขวัญชิ้นพิเศษเพื่อสาวคนพิเศษของคุณ สามารถสั่งซื้อหรือสอบถามได้ทาง facebook และเว็บไซต์ (www.oysterfootwear.com) หรือถ้าคิดจะลองใส่เอง เราก็ถามมาให้แล้ว งานนี้เป็นข่าวดีของผู้ชายไซส์เท้าไม่เกิน 43 เพราะในแต่ละคอลเลคชันจะมี flat shoes สไตล์ UNISEX รับเท้านุ่ม ที่สัมผัสแล้วไม่อยากถอดเลยทีเดียว…ช่างภาพของเราเขาลองมาแล้ว

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line