Life

K-TATTOO วัฒนธรรมการสักในฝันของคนหนุ่มสาว ที่มาพร้อมกับฝันร้ายของ Tattoo Artist ในเกาหลีใต้

By: GEESUCH August 11, 2022

ถ้านึกถึงสิ่งแรกที่คิดถึงประเทศเกาหลีใต้ สำหรับคนที่ยังไม่เคยไปอย่างเราก็คงมีวัฒนธรรมการกินไก่ทอด & เบียร์, วง G-IDLE (เป็นติ่งแหละ), การทำศัลยกรรม อ้อ ๆ แล้วก็แน่นอน ‘การสัก’ ไงล่ะ เสน่ห์ของความมินิมอลบนเรือนร่างเป็นสิ่งที่ไม่มีทางลืมนึกถึงได้เลย 

เพราะเกาหลีใต้คือหนึ่งในประเทศที่คนบินไปเพื่อสักมากที่สุดที่หนึ่งของโลก อุดมไปด้วย Tattoo Artist มีชื่อเสียงฝีมือฉกาจมากมาย แต่น่าเศร้าที่กฎหมายของประเทศนี้ยังจับคำว่า ‘ถูกกฎหมาย’ ของการสักใส่ไว้ในกรงไม่ให้หนีไปไหน ซึ่งย้อนไปไกลตั้งแต่ปี 1992 จนล่าสุดถึงปี 2022

สาเหตุของความย้อนแย้งของกฎหมายต่อสายตาของผู้คนทั่วโลก ว่าอะไรทำให้ประเทศที่งานศิลปะเจริญรุ่งเรืองสุดขีดในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะดนตรี แฟชั่น และแน่นอนว่า ‘การสัก’ ถึงถูกแบนจากประเทศของตัวเอง UNLOCKMEN ชวนอ่านเรื่องเศร้าของการเป็นช่างสักในเกาหลีใต้ ที่พวกเขารู้สึกว่าถึงแม้จะเป็นประเทศที่เจริญแล้ว แต่ก็ยังถูกปฎิบัติราวกับอาชญากรอยู่ดี


The K-TATTOO

Jay Park

ความรุ่งเรืองที่สวนทางเรื่องรอยสักในเกาหลีใต้ น่าจะสามารถใช้มาตรวัดที่ไม่มากก็น้อยจากวัฒนธรรมภายในประเทศที่เรียกว่า K-TATTOO อันเป็นคำนิยามในทางเดียวกันกับคำที่ใช้กำหนดแนวดนตรีในประเทศ K-POP หรือซีรีส์แบบ K-DRAMA ความหมายง่าย ๆ ประมาณว่า ‘รอยสักที่อยู่บนเรือนร่างของศิลปินเกาหลี’ นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น รอยสักบนตัวของ Jay Park ศิลปินเดี่ยวเจ้าของค่าย AOMG หรือ Jungkook จากวง BTS รวมถึงศิลปินดังคนอื่น ๆ ที่มีรอยสักบนตัว (ซึ่งมีเยอะมาก)

ในปี 2022 K-TATTOO กำลังเป็นเทรนด์บนโซเชียลมิเดียในสังคมของเกาหลีใต้ และสร้างกระแสรอยสักนิยมให้กับเหล่าวัยรุ่นที่ทั้งติดตามจากผลงาน หรือติดตามจากรอยสักบนเรือนร่างของศิลปินคนนั้น ๆ ก็ตาม แต่อย่างที่บอกไปในตอนต้น การสักเป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศนี้ ซึ่ง Jay Park ถึงกับเคยให้สัมภาษณ์ถึงความไม่สะดวกในชีวิตของการมีรอยสักเอาไว้ประมาณนี้

Yerin Baek

“รอยสักแรกของผมเกิดขึ้นตอนอายุ 25 มันเป็นลายที่แสดงความเคารพที่มีให้ต่อทีมเต้นของผมเอง ซึ่งช่วงแรก ๆ คนก็ตกใจกับการมีรอยสักของผมมากนะ แต่เมื่อเวลาค่อย ๆ ผ่านไป ผมเริ่มทำผลงานและมีชื่อเสียงขึ้น ผู้คนก็เริ่มมองสิ่งนี้ด้วยสายตาปกติไปจนถึงว่าเป็นสิ่งที่เจ๋งดี แต่ก็มีบางแบรนด์ที่ขอให้ผมใส่เสื้อผ้าปกปิดเรือนร่างเวลาไปออกงานร่วมกับดาราคนอื่น”


Tattoo = Crime

Kim Do-yoon (AKA. DOY)

“Tattoo Artist หลายหมื่นคนที่นี่ทำงานเหมือนเป็นอาชญากร ต้องทำงานแบบหลบซ่อนตัวให้มิดชิดที่สุด ต้องอยู่ภายใต้การกดดันจากกฎหมายในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีมาอย่างยาวนานและตลกเกินไปแล้ว”

Kim Do-yoon ที่เป็นเจ้าของคำพูดข้างต้นนี้ เป็นช่างสักที่มีชื่อเสียงมากในเกาหลีใต้ รู้จักกันในชื่อ DOY ดังถึงขนาดที่ดาราฮอลลิวูดอย่าง Brad Pitt ก็เคยบินมาสักกับเขามาแล้ว แต่สตูดิโอของ DOY ซึ่งตั้งอยู่ในเกาหลีใต้กลับไม่สามารถโปรโมทอะไรได้เลย แม้แต่โปสเตอร์ที่ถูกออกแบบด้วยกราฟิกดี ๆ สักใบก็ยังไม่มี แถมเวลานัดสักแต่ละครั้งก็ต้องทำอย่างเป็นความลับที่สุด ราวกับเป็นดีลเลอร์ค้ายา เมื่อรับลูกค้าแล้วก็ต้องม้วนม่านปกปิดสตูดิโอให้ทึบเพื่อไม่ให้มองเห็นจากภายนอก ส่วนที่แย่ที่สุดคือเข้าต้องย้ายสตูดิโอไปเรื่อย ๆ ทุก 2 ปี เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ 

ผลงานสักของ DOY (1)

“แล้วถ้าอยากสักอย่างถูกต้องในเกาหลีใต้ต้องทำอย่างไร ?” ช่างสักก็ต้องมีใบอนุญาตว่าเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์’ โดยศาลให้เหตุผลว่าเป็นเพราะห่วงด้านสุขอนามัยที่ไม่ดีพอจากการขาดทักษะของช่าง จนอาจนำไปสู่อาชญกรรมฆ่าคนตายได้ ซึ่งนี่คือคำตัดสินของศาลสูงสุดในกรุงโซลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถ้าไม่ทำตามนี้ จะต้องเสียค่าปรับสูงถึง $40,000 หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,422,480 บาท

ผลงานสักของ DOY (2)

แน่นอนว่าเป็นคำที่ฟังไม่ขึ้นต่อ DOY ที่มีอีกตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มสหภาพแรงงานสักของเกาหลีใต้ที่มีสมาชิกกว่า 650 คน ซึ่งเห็นเหมือนพ้องต้องกันหมด บรรทัดฐานของสังคมของเกาหลีใต้ในตอนนี้เดินทางมาไกลจากในอดีตมากนัก ผู้คนในสังคมเปิดใจยอมรับการมีรอยสักกันมากขึ้น อย่างการมีอยู่ของ K-TATTOO เองก็การันตีในเรื่องนี้ได้ และธุรกิจตรงนี้ก็ทำเงินให้ภายในและนอกประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย แถมการสักมันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกิจกกรรมทางการแพทย์เลย ต้องเป็นหมอก่อนเหรอถึงจะสักได้

จากผลสำรวจของสหภาพแรงงานสักตั้งแค่เดือนเมษายนปี 2021 ที่ผ่านมา มี Tattoo Artist ในเกาหลีใต้ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว 6 คนจากการรับงานสัก แถมยังเป็นระยะเวลาที่นานถึง 2 ปี! และ DOY เองก็เพิ่งถูกปรับเงิน $4,100 (145,755 บาท) หลังจากที่คลิปการสักของเขาบน Youtube มียอดดูสูงจนเป็นไวรัลไปเตะตากฎหมายเข้า


Old History, Same Pain

สาเหตุของการแบนรอยสักในประเทศเกาหลีใต้ที่มีมาถึงปี 2022 อาจเกี่ยวข้องไปถึงประวัติศาสตร์เก่าแก่ในอดีตของประเทศ ที่รอยสักเคยใช้แสดงออกถึงภาพลักษณ์เชิงลบมาโดยตลอด

ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 918-1392 ประเทศเกาหลีใต้ใช้รอยสักเพื่อประจาณอาชญกรผู้ทำความผิดถึงโทษประหารชีวิต โดยจะสักความผิดเหล่านี้บนแขนและใบหน้า เพื่อเป็นการลงโทษให้คนพวกนี้กลายเป็นคนนอกรีตก่อนถูกประหารชีวิต แต่สุดท้ายกฎหมายนี้ก็สุดลงในปี 1740

ในช่วงศตววรษที่ 20 รอยสักยังถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์ความเป็น ‘แก๊ง’ ในเกาหลีใต้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากยากูซ่าหรือแก๊งอันธพาลจากธรรมเนียมของญี่ปุ่น


Ink & Future

เป้าหมายสูงสุดของ DOY และสหภาพแรงงานสักของเกาหลีใต้ คือการพยายามสู้ผลักดันให้กฎหมายสักถูกกฎหมายและเป็นไปอย่างถูกต้องได้เกิดขึ้นจริง ๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีของสังคมการสัก และแน่นอนว่าเพื่อปลดล็อคสิทธิทางเรือนร่างที่ทุกคนควรจะได้รับ ทั้งต่อลูกค้าและต่อตัวช่างสักเอง

ผลงานสักของ Mr. K (1)

“พวกเราไม่ผิด การสักก็ไม่ผิด แต่ว่ากฎหมายนั่นล่ะที่ผิด ผมรักงานของผมและภูมิใจกับมันจริง ๆ มันเป็นสถานที่ที่ทำให้รู้สึกอิสระ แต่มันไม่ไปด้วยกันได้เลยกับประเทศนี้”

Sanghyuk Ko (AKA. Mr. K) หนึ่งในศิลปินที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ผู้ย้ายไปทำงานเป็นช่างสัก Bang Bang Tattoo อยู่ในนิวยอร์กแทนประเทศบ้านเกิดของตัวเอง


Source :

https://www.vice.com/en/article/qjb5dd/why-does-south-korea-ban-tattooing

https://www.nytimes.com

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line