Life

#LeaveTheLegacy เดินตามทางของพ่อในแบบ “โอ๋ P2Warship”

By: Thada March 29, 2017

พอเพียงคำง่าย ๆ แต่บางคนต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อค้นหาความหมายของคำนี้ ทั้ง ๆ ที่เรามี Role Model ตัวอย่างสำหรับคำว่าพอเพียงที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แต่บางครั้งเราอาจละเลยจนหลงลืมไปนั่นคือหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรที่ท่านทรงเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตลอดมา

HP-25

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่พยายามดำเนินรอยตามพระราชดำรัสโดยมีพระองค์ท่านเป็นแบบอย่าง ดังเช่น ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล หรือ โอ๋ อดีตนักร้องวง P2Warship เจ้าของเพลงฮิต อย่า อยู่ อย่าง อยาก และ จอมยุทธ์ ที่ปัจจุบันได้มุ่งหน้าสานต่อหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการทำฟาร์มเกษตร  Hip Incy  ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง วันนี้ UNLOCKMEN จึงได้บุกไปสัมภาษณ์ถึงฟาร์มเกษตร เพื่อขอไปเรียนรู้แนวคิดการใช้ชีวิตจากคำสอนของพ่อที่พิสูจน์แล้วจากคุณโอ๋ P2Warship

HP-10

หลังจากที่เราเดินทางไปถึงฟาร์ม  Hip Incy  คุณโอ๋ก็ได้ออกมาต้อนรับด้วยการแต่งตัวชิล ๆ สบาย ๆ พร้อมพาชมบรรยากาศที่เป็นกันเองภายใต้สวนร่มรื่นที่อุดมไปด้วยพืชผักใบเขียว ก่อนอื่นเราต้องบอกว่าคุณโอ๋ มีเส้นทางชีวิตที่ค่อนข้างเพียบพร้อมจนแทบจะเป็นชีวิตในฝันเพราะเขาจบการศึกษาจากต่างประเทศก่อนจะกลับมาเป็น  Interior  สักพักก็มาทำธุรกิจ ก่อนจับผลัดจับผลูมาเป็นศิลปิน  ทุกอาชีพล้วนทำเงินให้เขาในระดับที่สามารถใช้ชีวิตในประเทศนี้ได้อย่างสบาย ๆ แต่คุณโอ๋กลับรู้สึกว่าไม่พอดี ทำไมมีทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นเกษตร  Hip Incy  ที่เราจะมาคุยกันในวันนี้

HP-7

อยากให้พี่โอ๋ ช่วยแชร์ประสบการณ์ในสาขาอาชีพก่อนหน้าพี่เคยได้รับมาเพื่อเป็นประโยชน์สักเล็กน้อย?

เอาเฉพาะตอนพี่เป็น Interior ละกัน คือพี่จบ Retail Interior Design and Management  คือการออกแบบเพื่อธุรกิจค้าปลีกและต้องเรียนการจัดการด้วย ดังนั้นเวลาเรียนเขาจะไม่ใช่เข้าคลาสไป lecture ปกติเวลาเรียนจะมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมายืนให้คำแนะนำ และในแต่ละโปรเจ็กต์ที่เขาสั่งการบ้านจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นตอนที่พี่เรียนมันมีกรณี Levi’s มีปัญหา อาจารย์ก็ให้เราไปยืนดูหน้าร้าน Levi’s เลย ทำไมถึงขายไม่ได้ ต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่แล้วก็ออกแบบ interior ครอบเข้าไป ทำให้พี่ได้สกิล Marketing มาด้วยจากการเรียนที่นี่

พอกลับมาไทย พี่ถึงทำงานในสไตล์ที่ไม่เน้นดีไซน์เพียงอย่างเดียว เพราะเราออกแบบต้องทำให้เขาขายได้ด้วยเช่นกัน ทำให้ติดนิสัยมาแม้แต่เวลาที่ออกแบบบ้าน พี่ก็ต้องไปทำความรู้จักกับลูกค้า ไปสังเกตพฤติกรรมของลูกค้า เช่นพี่จะสังเกตถ้าเขาชอบนั่งพื้นกินกาแฟเราก็ต้องสร้างพื้นที่ให้เขา หรือแม้การที่เขาเปลี่ยนนาฬิกาทุกครั้งที่มาเจอเรา แสดงว่าเขาต้องเป็นคนสะสมนาฬิกา ห้องแต่งตัวต้องมีที่สำหรับเก็บนาฬิกา

ดังนั้นเวลาที่ได้มีโอกาสไปบรรยายตามมหาวิทยาลัย พี่ก็จะบอกว่าอย่าใส่ความเป็นตัวเองลงไปในงานเยอะ เพราะหากคุณไปใส่ความเป็น Vintage ให้อาซิ้มแบบนี้มันก็ไม่ควร เพราะคนที่มาจ้าง interior กว่า 90% เขาไม่รู้จักหรอกอะไรคือ Function รู้แค่ว่ามาตกแต่งบ้านให้เขาสวยขึ้นพอ

HP-33

เคยทำมาทั้งธุรกิจ, ศิลปิน, ตากล้อง, interior ทุกอาชีพดูจะเป็นอาชีพในฝัน ทำไมถึงหยุดทำ ?

อาจเพราะผมมีความชอบหลายอย่างมาก อย่าง Interior พี่ชอบไปทำอะไรให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นเลยเลือกทำ ส่วนธุรกิจพี่ก็ไปช่วยญาติทำอีกที แต่ความฝันจริง ๆ ของพี่คือการถ่ายรูป คือชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาทำงานหาเงินมาได้ก็เอาไปซื้อกล้องแพง ๆ มาถ่าย พอเอาเข้าจริงกลับไม่ค่อยได้ถ่ายหากไม่ได้ไปเที่ยวไหน เราก็ใช้ชีวิตศึกษาจนมาถึงจุดที่ balance ความสุขในชีวิต 

HP-18

แล้วจุดไหนที่คิดว่าพอแล้ว อยากมาเริ่มต้นบทบาทใหม่คือการเป็นเกษตรกรแล้ว ?

คือพี่ทำ interior และก็โดนเบี้ยวบ่อย ๆ เราก็มานั่งคิดทำไมถึงโดนเบี้ยว คือพี่ไม่คิดที่จะโทษเขาฝ่ายเดียวที่มาโกงเรา เราก็มานั่งทบทวนตัวเองจนรู้ว่า อ๋อ เราเป็นคนอ่อน เป็นคนง่าย ขออะไรมา เราก็จัดให้หมด ไม่ค่อยจุกจิกอะไร เพราะเหตุนี้ทำให้เราทำงานตรงนี้ไม่ได้ ความจริงพี่ก็ไม่ได้ทิ้งนะ เพราะมาทำสวนพี่ก็ยังใช้สกิลเก่าในการจัดสวน ทุกตารางเมตรพี่จัด layout ดึงตลับเมตรปลูกต้นไม้นะ ที่นี้เลยดูเป็นระเบียบเพราะมันถูกจัด layout แต่แรกไม่ได้สะเปะสะปะ

อย่างถ่ายรูปพี่ก็ไม่ได้ทิ้งเลย กลับกลายเป็นว่าพอพี่มาทำเกษตรกรได้ถ่ายรูปบ่อยกว่าเดิมอีก มารู้ตัวอีกทีทำไมชีวิตดีจังวะ กลายเป็นเจ้าพ่อมาโครไปเลยถ่ายอวดชาวบ้าน เป็นคนขี้อวดด้วยเนอะ (หัวเราะ)

HP-20

HP-28

การมาทำเกษตรกรรมมันสามารถขัดเกลาจิตใจของเราได้ใช่ไหม?

ขัดเกลาจิตใจพี่ว่าไม่ใช่เพราะเกษตร มันต้องเริ่มจากจิตใจของเราก่อนที่ต้องรู้จักตัวเอง อย่างพี่ทำไมเลิกทำ interior เพราะพี่รู้จักตัวเองไงว่ามึงไม่ได้เป็นคนที่แข็งพอที่จะทำงานด้านนี้ พอเจอจุดต่ำสุดพี่ก็เหมือนทุกคนที่ลุกขึ้นมานั่งคุยกับตัวเอง ถามถึงต้นทุนในชีวิตมีอะไรและความต้องการของตัวเรา จากนั้นเขียนออกมาเป็นข้อ ๆ หาจุดร่วมให้กับมัน แล้วเราจะเจออาชีพที่เราสามารถทำได้ เท่านั้นเราก็มีทางออก

HP-8

ถ้างั้นอยากให้พี่โอ๋ นิยามความสุข ณ ตอนที่เป็นเกษตร Hip Incy?

การให้คือสิ่งที่ดีที่สุด พอดีพอเพียง พี่ใช้เวลาเป็นปีสองปีกว่าจะเข้าใจคำนี้นะ เราต้องเข้าใจคำว่าพอดีก่อน คำนี้ทำให้เราจะไม่ได้อยากได้โน่นได้นี่มาก ความเห็นแก่ตัวจะหายไปเยอะ เวลาที่เราเห็นคนอื่นมีความสุขและไปต่อยอดได้เราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก

HP-22

พี่โอ๋เป็นอีกคนที่ได้พิสูจน์แล้วว่า หลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช เป็นสิ่งที่ทำได้จริง

พี่ว่าการจะเข้าใจมันจริง ๆ ต้องลงมือทำ และการจะทำมันไม่ได้ง่ายเลย ก่อนหน้านี้เราก็พูดกันเสมอว่า รักในหลวง ตอนทำเกษตรก็พูดว่าจะขอตามรอยของพ่อ ท่องคำว่าพอและเพียงจากหัวใจมาตลอด แต่เราเองยังเข้าใจผิด ๆ ถูก ๆ เลย คำว่าพอเพียง นี่เป็นคำสั้น ๆ แต่โคตรยากเลยนะ มันแล้วแต่ใครจะไปตีความยังไง อย่างพี่เนี่ยตอนแรกทิ้งทุกอย่างเอาเสื้อผ้ายกให้ชาวบ้านหมด คิดว่านี่พอเพียงและการเป็นเกษตรกรคือการพอเพียงเช่นกัน ซึ่งมันไม่ใช่เลย

จุดเปลี่ยนที่พี่มาเข้าใจคำว่าพอเพียงคือ พ่อเพื่อนพี่ตายและตัวพี่เองไม่มีเสื้อผ้าใส่ไปงานศพ จึงได้กลับมานั่งย้อนคิดว่า ในหลวงไม่เคยสอนให้เราจน หลังจากนั้นความสมดุลในชีวิตบังเกิด พี่รู้ทันทีว่าอันนี้มากไป อันนี้น้อยไป

สมดุลชีวิตก่อนและหลังรู้จักคำว่าพอเพียงเป็นเช่นไรบ้าง

หลังจากเรารู้จักความหมายที่แท้จริงของคำว่าพอเพียง เราจะค้นพบความสุขแบบยั่งยืน เพราะว่าก่อนหน้านี้พี่ก็เข้าใจผิด ๆ ว่าพอเพียงคือสมถะเนี่ยถูกหละ แต่มันก็ต้องไม่ตึงขนาดนั้นถ้าเกิดเราบาลานซ์ความสุขของตัวเองได้ รู้ว่าอันนี้จำเป็น ไม่จำเป็น

HP-17

HP-9

เคยคิดถึงช่วงชีวิตก่อนหน้านี้ไหมที่มีเงินทองให้ใช้มากมายกว่าปัจจุบัน?

เคย แต่รูปแบบวิธีคิดจะเปลี่ยนไป อย่างที่พี่บอกพี่ไม่เคยทิ้งอะไรที่ทำและมีความสุข อย่างเช่นเพลงตอนนี้พี่ก็ทำอยู่ แถมตอนนี้สนุกกว่าเดิมอีก เพื่อนชวน reunion 10  ปี ปล่อยไปสองซิงเกิ้ล ทำเอาสนุกไม่ได้คิดถึงปัจจัยเรื่องเงินอีกต่อไป ทุกวันนี้มีคนชวนไปเล่นได้ตังค์พี่ยังไม่ค่อยอยากไปเลย เพราะว่า Value ในชีวิตมันต่างไปแล้ว ล่าสุดมีคนชวนไปร้องเพลง คนกล้าคืนถิ่น ไม่ได้เงินนะ แต่แม่งโคตรมีความสุข

HP-31

ถ้าอย่างนั้นพี่โอ๋จะบอกว่าเงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต?

ใช่เกือบทุกอย่าง แต่ไม่ใช่เกือบทุกอย่าง งงมะ (หัวเราะ) คือบางทีเราก็ต้องใช้เงินเพื่อหามาซื้อของ แต่บางอย่างเรามีเงินแล้วก็หาซื้อไม่ได้ เอางี้ พี่ชอบถ่ายรูปเคยซื้อกล้องแพง ๆ แล้วคิดว่าไปรับจ้างถ่ายรูปก็คงมีความสุข แต่กลายเป็นว่าแม่งไม่มีความสุขเลย เพราะต้องถ่ายตามโจทย์ อย่างตอนนั้นเจอโจทย์ถ่ายยังไงก็ได้เกาหลี ๆ ซึ่งมันขัดกับชีวิตพี่เลย แต่ตอนนี้พี่เอาอุปกรณ์เหล่านี้กลับมาทำสตูดิโอถ่าย personal portrait ตามสไตล์ของตัวเอง มันจะภูมิใจสุด ๆ ตอนที่มีคนมาชมและบอกว่าขอมาถ่ายแบบนี้บ้างสิ แสดงว่าเขาชอบงานเรา หลังจากพี่ก็ซื้อกล้องแต่รับจ้างถ่ายเฉพาะที่ตัวเองอยากถ่ายได้เงินคืนค่ากล้อง ที่เหลือก็เป็นกำไรชีวิตแล้ว

HP-6

นี่เป็นเหตุผลหรือเปล่าว่าทำไมบางคนได้ทำงานที่ตัวเองชอบแล้วแท้ ๆ  แต่ก็ยังไม่มีความสุข?

พี่ว่าใช่นะถ้าเราไม่แข็งในตัวเราไม่รู้จักความเป็นตัวเอง ซึ่งตอนแรกมันจะยาก ต้องใช้ความพยายามหน่อยในการหาตัวเองให้เจอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมาอินดี้มากเงินไม่มีไม่เป็นไร เพราะต้นทุนชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างพี่ไม่มีภาระอะไร พ่อแม่แข็งแรงไม่ได้เป็นหนี้เป็นสินก็บ้าบิ่นได้เต็มที่ แต่บางคนพ่อก็แก่แม่ก็ไม่สบาย น้องหญิงต้องเล่าเรียน มันก็เป็นอีกกรณีหนึ่งอย่างเช่นเพื่อนพี่ที่ทำเพลงเชิง mass ไว้ขาย และก็ทำเพลงตัวเองไว้บาลานซ์ความสุขของตัวเอง

HP-13

จากที่ 1 ไร่ เห็นว่าพี่โอ๋กำลังจะไปทำสวนที่ หนองจอก ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าแบบนั้นกลัวจะเสียความตั้งใจในการพอเพียงไปหรือเปล่า?

ไม่กลัวถ้าตราบใดที่ยังโตแบบออแกนิค ธุรกิจก็โตแบบออแกนิคได้เช่นกัน เพราะพี่เคยผ่านจุดนั้นมาทีหนึ่ง ตอนปลูกโหระพาอิตาลีเพื่อแปรรูปเป็น Pesto Sauce ในการทำครั้งหนึ่งพี่ก็ต้องไปซื้อกระดาษก่อนและไปปริ้นฉลากแล้วขนของทั้งหมดไปทำบ้านแม่ ทำเสร็จก็ขนกลับมาติดฉลากเสร็จทั้งหมดก่อนจะเข้าตู้เย็นถึงจะนอนได้เบ็ดเสร็จ 20 ชั่วโมง

HP-21 

ทำไปเริ่มเหนื่อยล้า เริ่มไม่พอดีละ เกินความจำเป็น เพื่อนถามเราขายได้เท่าไหร่เราก็บอกไป เพื่อนบอกกลับว่าทำได้เท่านี้จ้างได้แล้วนะ เราก็ไปหาคนที่อยากมาเป็นพันธมิตรไม่ใช่ลูกจ้างก็ไปดึงเอาแม่บ้านที่เคยทำสนามบอลกลับมาทำ ก็สามารถขยับขยายไปได้

HP-29

ต่อมามีคนอยากจะรับไปขาย นั่นทำให้เรามีปัญหาการผลิตหละ ก็ต้องมาซื้อเครื่องปั่นเพื่อร่นระยะเวลาการผลิตลง ตราบใดที่มันโตที่ละอย่างมันก็จะอยู่อย่างยั่งยืน และที่เราต้องย้ายไปอีกเหตุผลหนึ่งคือพี่รู้ชะตากรรมตัวเอง เพราะไร่ที่ลาดพร้าวเนี่ยเราทำมาแล้ว 5 ปี ต้นไม้ยืนต้นที่เคยลงไว้มันจะเริ่มโตทำให้เราปลูกพืชผักไม่ได้เลยหงิกหงอหมด เราเลยต้องย้ายและที่ตรงหนองจอกก็เป็นของพ่อแม่ พี่ไม่ได้ต้องไปลงทุนอะไรเพิ่มเนี่ยมันเป็นการโตแบบออแกนิกค่อย ๆ ไปทีละขั้น

HP-26

แล้วสวนที่ลาดพร้าวนี้จะทำเป็นอะไรต่อไป?

ที่นี่ก็เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เด็กเพื่อแบ่งปันและก็ให้คนที่อยากทำ workshop มายืมใช้งานแล้วพืชผลจากสวนนี้ก็ทำใช้ในร้าน แจกจ่ายเพื่อนฝูง สำหรับสินค้าแปรรูปก็มี Pesto โหระพาอิตาลี กับเนยถั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถ้าช่วงไข่ไก่เยอะก็จะทำน้ำสลัดญี่ปุ่นด้วย

สุดท้าย UNLOCKMEN เชื่อว่าหลังจากที่คนได้มาอ่านบทสัมภาษณ์นี้ จะต้องมีความคิดว่า เฮ้ย หรือจะลาออกมาเป็นเกษตรกรแบบพี่โอ๋ อยากให้ฝากถึงคนที่กำลังมีแนวคิดแบบนี้อยู่หน่อยครับ

อย่าออก คนเราภาระไม่เท่ากันตอนที่พี่ทำได้อย่างบ้าบิ่นเพราะพี่ไม่มีภาระอะไรเลย แต่คนที่อยากจะออกจากงาน ก็รู้หละ งานมันเครียดถ้าไม่เครียดจะไม่มีความคิดที่อยากจะออกเลย ลองถามตัวเองก่อนว่าเงินเดือนที่ได้มาเนี่ยเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ถ้าเกิดเป็นค่าเลี้ยงดูครอบครัวและมันยังจำเป็นต้องใช้อยู่ อย่าออก อยากจะมาทำแบบนี้เราต้องเช็คก่อนเรามีต้นทุนอะไร ต้นทุนในที่นี่ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงองค์ความรู้และปัจจัยโดยรอบ

HP-15

ถ้าคุณมีบ้านจัดสรรและพอเหลือพื้นที่ แค่นั้นคุณก็ปลูกผักได้แล้ว ปลูกเสาร์-อาทิตย์ ก็ได้มันไม่ได้ใช้เวลาเยอะขนาดนั้น ถ้าเกิดปลูกไปเรื่อย ๆ แล้วเกิดชอบมาก จะไปหาที่ทางถูก ๆ ไม่ไกลกรุงเทพฯ ก็โอเคนะไปทำสวนวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ต้องออกจากงานเลย มีรายได้เพิ่มด้วย

HP-1

HP-16

จากบทสัมภาษณ์ ทางทีมงานต้องขอขอบคุณโอ๋-ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล  ที่วันนี้มาให้ข้อคิดพร้อมประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้จริง หากเรารู้จักสมดุลย์ความสุขของตัวเอง ไม่มากไปแล้วก็ไม่น้อยจนเกินไป ถ้าเกิดใครอยากจะลองมาเยี่ยมชมฟาร์ม  Hip Incy ก็สามารถเดินทางมาได้ที่ซอย 11 นาคนิวาส 30 ลาดพร้าว 71 สวนจะอยู่สุดซอยเพราะที่ร้านก็เปิดเป็นคาเฟ่บรรยากาศชิล ๆ พร้อมอาหารที่ทำจากออแกนิกในฟาร์ม Hip Incy เองทั้งหมด (เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์) หรือจะอุดหนุนซอสแปรรูปก็สามารถติดต่อได้ที่  Facebook :  Hip Incy 

HP-3

HP-32

HP-2

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line