Life

ล้วงลับจับความจริงจากสิ่งที่อีกฝ่ายพูดแบบไม่เปลืองแรง ด้วย “การมองตา”คู่สนทนาของเรา

By: unlockmen November 12, 2018

ฟังคำพูดมาเป็นร้อยเป็นพันคำ แต่ก็แยกไม่ออกเลยว่ามันจะเป็นจริงสักกี่เปอร์เซ็นต์ เลยต้องมาตกตะกอนกันว่าไอ้หมอนั่นพูดจริงสักแค่ไหน แต่การเอ่ยปากถามตรง ๆ ว่ามึงโม้ป่าววะ ? มันช่างดูไม่มีชั้นเชิงเอาเสียเลย UNLOCKMEN ขอเสนอเทคนิคเจ๋ง ๆ ที่เราไม่ต้องเป็นนักสืบมือดี FBI ตัวท็อป ไม่ต้องมีลูกไม้หลอกล่ออะไร ก็สามารถประเมินความจริงจากปากฝ่ายตรงข้ามได้ ด้วยการ “มองตา” นั่นเอง มาดูกันว่า นอกจากดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจแล้ว มันจะสามารถบอกความจริงในคำพูดได้ยังไงกันบ้าง

Word Don’t But Eye Contact Says

เราอาจจะคุ้นชินกับประโยค Cliché ที่ว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” และตอนนี้ University of Tampere Conducted ก็ได้ยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน จากการศึกษาเกี่ยวกับ Eye Contact ของคนเราโดยตรง แล้วพบว่านอกจากการสังเกตอาการต่าง ๆ ของดวงตาว่าอีกฝ่ายพูดจริงแค่ไหน เรายังสามารถบังคับอีกฝ่ายแบบทางอ้อมได้ด้วยการมองตา เท่ากับว่า นี่ไม่ใช่แค่การหาความจริงแต่สามารถบีบบังคับให้อีกฝ่ายพูดความจริงได้ด้วยสายตาอีกด้วย

การศึกษาที่ว่านี้ ทำการทดสอบด้วยกลุ่มทดลอง 51 คน อายุตั้งแต่วัยเลือดร้อน 19 ปีไปจนถึงวัยทำงาน 37 ปี มาเล่นเกมกัน ในเกมนี้พวกเขาได้รับอนุญาตให้สามารถโกหกได้ พวกเขาจะมานั่งตรงข้ามกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน พอเกมเริ่มดำเนินไป พบว่าคนที่กล้ามองตาอีกฝ่ายตรง ๆ แบบไม่หลบตาเลยสักนิด มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นคนที่พูดความจริงทุกคำ

“นี่เป็นการศึกษาแรกที่ยืนยันถึงผลลัพธ์ของการใช้ Eye Contact กับอีกคนที่เราสนทนาแบบที่น่าเชื่อถือขึ้นมาหน่อย เพราะมันเป็นการทดลองในสถานการณ์จริง” Jonne Hietanen นักศึกษาแพทย์ของ University of Tampere ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า พอมันเปลี่ยนเป็นการเล่นเกมแบบสนุก ๆ แล้วเนี่ย ฝ่ายที่ถือความจริงก็รู้สึกเหมือนถือไพ่เหนือกว่า เลยมีความมั่นใจในความถูกต้องของตัวเอง

หากเราเปิดฉากจ้องมองอีกฝ่ายแล้วล่ะก็ เขาก็รู้ตัวเหมือนกันว่าเขากำลังถูกตรวจสอบหาความจริง และเราเองก็จะได้รู้เหมือนกันว่าเขาโกหกหรือไม่ เว็บไซต์ Psychology Today ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่าคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการจ้องมองกันแบบโกรธ ตาแข็ง อันนี้หมายถึงการโกหก ส่วนการหลบตาอาจจะเกิดจากความเขิน ความอับอายก็ได้

แต่สำหรับคนที่โกหก ก็ใช่ว่าทุกคนจะหลบตากันเสียหมด บางคนรู้ทริกนี้ว่าการหลบตามันคือจุดอ่อน เลยพยายามมองตาอีกฝ่าย แล้วดันมองมากเกินไปอีกต่างหาก สังเกตง่าย ๆ คือตั้งใจกับการมองจนลืมกระพริบตา ร่างกายช่วงบนไม่ขยับ แถมยังมีรอยยิ้มแห้ง ๆ ที่ดูยังไงก็ไม่จริงใจเอาเสียเลย

แม้ว่าวิธีเหล่านี้ อาจจะไม่ได้บอกเราได้แบบคำต่อคำว่าคำนี้โกหก คำนี้พูดจริง แต่เราจะประเมินอาการของเขาได้คร่าว ๆ ว่าเขากำลังโกหกหรือไม่ จากอาการที่เราบอกไปอย่างการหลบตา กระพริบตาถี่เกินไป หรือการพยายามกลบเกลื่อนอาการเหล่านี้ ด้วยการมองตาแบบแข็งทื่อ จนลืมกระพริบ ง่าย ๆ ก็คืออาการที่มันไม่เป็นธรรมชาตินั่นอง และการมองตาอีกฝ่ายโดยที่ทั้งคู่มี Eye Contact จะช่วยให้เขาเผยความจริงออกมาได้ง่ายมากขึ้น เพราะถ้าหากเรามั่นใจในความจริงจนอีกฝ่ายไม่มีหนทางชนะแล้วล่ะก็ เขาอาจจะยอมยกธงขาวไวขึ้นนั่นเอง

ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายแง้มความลับออกไป หรือเป็นฝ่ายตามล่าหาความจริงก็ตาม การโกหกอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกเรื่อง เพราะทุกครั้งที่เราโกหก เราก็ต้องจำเรื่องเหล่านั้นให้แม่นยำ เพื่อที่พูดครั้งต่อไปจะได้พูดให้ตรงกันทุกครั้ง หากพลาดขึ้นมาแล้วมันกระทบถึงความน่าเชื่อถือของเราอย่างมากเช่นกัน

SOURCE

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line